Skip to main content
sharethis


วันที่ 10 ม.ค. คณะรัฐศาสตร์และรัฐศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้จัดเสวนาในหัวข้อ "ก้าวต่อไปการเมืองไทยจะเดินหนาหรือถอยหลัง" ณ ห้องประชุมใหญ่คณะสังคมศาสตร์ มช. โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมเสวนาอย่างคับคั่ง


ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาถือเป็นการทำรัฐประหารครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดวิวาทะขึ้นในสังคมไทย โดยเกิดขั้วความคิดใหญ่ๆ ขึ้นสองขั้วคือ ฝั่งที่สนับสนุนการรับประหาร และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจนอกระบบแบบนี้ ทำให้การพูดคุยกันเรื่องการเมืองของคนในสังคมเหมือนเรื่องศาสนาที่แสดงความคิดเห็นกันได้ยากมากขึ้น


คณบดีนิติศาสตร์ มช. กล่าวต่อว่า การเมืองที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นช่วงม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือการรัฐประหารของทหาร ไม่ได้เป็นความเปลี่ยนแปลงจากประชาชนอย่างที่จริง ประชาชนเป็นเพียงเบี้ยของกระบวนการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำเท่านั้น


ส่วนประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ผศ.สมชาย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังอยู่ในกระบวนการร่างอยู่นั้น เป็นฉบับที่คิดว่าจะมีจุดอ่อนสำคัญอยู่ 3 ประการคือ ประการแรกเนื่องจากการร่างนั้นมาจากแนวคิดที่ต้องการขจัดระบอบทักษิณทำให้การร่างจะหลงลืมประเด็นอื่นที่มีความสำคัญไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายอำนาจ เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าชาวบ้านหรือท้องถิ่นไม่สามารถเขาถึงอำนาจได้ซึ่งตนคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย


นอกจากนี้ กระบวนการร่างดังกล่าวไม่ใช่การทำภายใต้แนวคิดแบบประชาธิปไตยเพราะไม่รับฟังเสียงของคนที่ถูกเรียกว่าคลื่นใต้น้ำ และสุดท้ายคิดว่าใช้อ้างอิงว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนไม่ได้เพราะประชาชนแทบจะไม่มีส่วนร่วมใดๆ เพราะอำนาจกระบวนการคัดเลือกและสัญหาสมาชิกกระจุกตัวอยู่เพียงส่วนกลางเท่านั้น


"ผมคิดว่าสังคมไทยควรเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น โดยไม่ไปเหมาว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารคือกลุ่มคนที่สนับสนุนคุณทักษิณ เราต้องให้โอกาสเขาอธิบายเหตุผลว่าทำไมไม่เห็นด้วย หากเริ่มต้นได้แบบนี้ความขัดแย้งจะค่อยๆ พบทางออกมากขึ้น แต่หากยังเป็นอยู่แบบนี้ผมคิดว่าเหตุการณ์ระเบิดทั้งระเบิดจริงและระเบิดทางความคิดจะมีต่อไปเรื่อยๆ" ผศ.สมชาย กล่าวในตอนท้าย


นายเอกกมล สายจันทร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มช. กล่าวว่า ไม่เชื่อว่ากฎหมาย หรือตัวรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างสามารถกำหนดหรือมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ได้ เพราะที่ผ่านมาถือว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากกว่าสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีการกำหนดเรื่องราวต่างๆ ลงไปในรัฐธรรมนูญมากกว่าแต่ก็ยังเกิดปัญหาด้านการเมืองและต้องแก้ไขตัวบทกฎหมายลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง คิดว่าสังคมไทยน่าจะให้กระบวนการทางการเมืองได้พัฒนาไปด้วยตัวของมันเองจะดีกว่า เพราะเท่าที่ผ่านสังคมไทยได้เข้าไปทำให้กระบวนการดังกล่าวชะงักอยู่บ่อยครั้ง


ในเรื่องสมาชิกวุฒิสภานั้นนายเอกกมล แสดงความคิดเห็นว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่แตกต่าง มีลักษณะพิเศษกว่าการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะหากยังเป็นรูปแบบเดิมผลการเลือกตั้งก็ยังคงเป็นออกมาแบบเดิม ปรากฏการสภาเครือญาติก็จะกลับมาได้อีก


"หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ผมอยากเห็นรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อประชาชน ต้องเป็นรัฐบาลที่อยู่ข้างประชาชนคอยปกป้องดูแลสิทธิของประชาชนไม่ใช่ร่วมกับกลุ่มอำนาจต่างๆ เข้ามาหาผลประโยชน์เหมือนที่ผ่านมา" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ฯ มช.กล่าว


พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย อดีต ส.ว.เชียงใหม่ กล่าวว่า การที่พูดถึงว่า ส.ว., ส.ส. หรือรัฐบาลควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่นั้นคิดว่าไม่สำคัญเท่ากับว่าจะทำให้อย่างไรให้มีกลุ่มคนใหม่ๆ ที่หลากหลายได้เข้าไปบริหารประเทศไม่ใช่ประชาธิปไตยแค่ 2,000 คนแบบปัจจุบัน ทั้งยังรวมไปถึงที่ต้องดูว่าประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมตรงไหน อย่างไร พร้อมกับควรมีระบบที่จะสร้างองค์กรคู่ขนานเพื่อตรวจสอบระบบรัฐสภาเพื่อถ่วงดุลอำนาจ


อดีต ส.ว.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ตอนนี้กลุ่มอำนาจเก่าเริ่มสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง ก่อให้เกิดความแตกแยกภายใน รัฐบาลควรมีมาตรการกดดันทางการเมือง หรือควรมีกฎหมายออกมาชัดเจนเพื่อแช่แข็งกลุ่มคนดังกล่าวไปเลยจะดีกว่า


นายบัณรส บัวคลี่ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ศูนย์ข่าว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 นั้นไม่ผิด แต่คิดว่าไม่พอ ไม่พอในที่นี้หมายถึงไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นคิดว่าควรมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเพื่อรับกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปให้เท่าทัน


ต่อประเด็นความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศปัจจุบันนั้น นายบัณรส กล่าวว่า อำนาจของรัฐบาลทุกประเทศนั้นแบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ อำนาจด้านเศรษฐกิจ อำนาจด้านวัฒนธรรม อำนาจด้านการสื่อสาร และ อำนาจทางการทหาร ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ระเบิดวันที่ 31 ธ.ค.2549 ที่ผ่านมานั้น จะพบว่ากลุ่มอำนาจเก่าได้พยายามลดทอนความเชื่อมั่นของรัฐบาลผ่านใน 3 อำนาจแรก แต่การวางระเบิดเหมือนครั้งที่ผ่านมาเป็นเหมือนการหยั่งเชิงอำนาจด้านการทหารของรัฐบาลชุดนี้ซึ่งรัฐบาลควรโต้ตอบกลับไปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน.


ที่มา : สำนักข่าวประชาธรรม                           



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net