Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 3 มี.ค. 2550 เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 มีนาคม ที่คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการจัดเสวนาเรื่องการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งคนสงขลาต้องตัดสินใจ นำเสวนาโดยนายสมบูรณ์ พรพิเนตรพงษ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายบรรจง นะแส เลขาธิการคณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ โดยมีนักศึกษา นักวิชาการ ข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสงขลาเข้าร่วมประมาณ 60 คน


 


นายบรรจง เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ทางกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม จะจัดเวทีประชาพิจารณ์โครงการสำรวจและออกแบบเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยจะเสนอโครงการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา ด้วยการสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบหินทิ้งเรียงเป็นแถวหน้าชายหาดเป็นเส้นประ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าต่อไปหาดทรายจะหายไป เหลือแต่หาดหิน โดยเฉพาะหาดสมิหลา ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา


 


นายบรรจง กล่าวว่า เหตุที่เชื่อเช่นนั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้จัดเวทีประชาพิจารณ์แล้วที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเสนอแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในรูปแบบดังกล่าว ตรงบริเวณบ้านเนินน้ำหัก ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก ถึงบ้านหน้าโกฏิ ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง งบประมาณ 700 กว่าล้าน ซึ่งเขาได้เข้าร่วมอยู่ด้วย ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เช่น เจ้าของเหมืองหิน ตัวแทนองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่



นายบรรจง เปิดเผยต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนั้น เขาเสนอว่าควรให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลรอบด้าน จากนักวิชาการที่หลากหลายก่อนตัดสินใจทำโครงการ เนื่องจากในภาวะที่ชาวบ้านเดือดร้อน ย่อมยอมรับได้ทุกอย่าง เมื่อมีคนเสนอทางแก้ปัญหาให้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อชาวบ้านในภายหลังได้


 


นายบรรจง เปิดเผยด้วยว่า ยกตัวอย่างกรณีชาวบ้านบ่ออิฐ ตำบลเกาะแต้ว จังหวัดสงขลา ที่ถูกคลื่นซัดจนบ้านพัง ยอมที่จะขายที่นาเพื่อซื้อหินมาถมที่ชายหาดหน้าบ้าน เพื่อป้องกันคลื่น ตามข้อเสนอของนักการเมืองในพื้นที่ แต่หารู้ไม่ว่าจะส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ถัดไปทางเหนือ ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะ ทำให้เกิดปัญหาไม่จบสิ้น ยิ่งเมื่อรัฐต้องการสร้างเขื่อนกันคลื่น ชาวบ้านก็จะยิ่งดีใจ เพราะไม่ต้องออกเงินไปซื้อหินเอง


 


นายบรรจง เปิดเผย กล่าวว่า ดังนั้นก่อนที่กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จะตัดสินใจทำโครงการดังกล่าว ขอให้ชาวสงขลาเรียนรู้ข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่า เหมาะสมหรือไม่ หรือว่าจะปล่อยให้อนาคตชายหาด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเหลือแต่หาดหิน ต่อไปเมื่อมีคลื่นแรงเข้ามาอีกก็อาจต้องแก้ปัญหา โดยใช้กระสอบทรายมาถมเต็มชายหาดอีกครั้ง


 


นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ถามว่าการแก้ปัญหาในแบบดังกล่าว ต้องการป้องกันอะไร ถ้าต้องการป้องกันชายหาด รับรองไม่เหมาะสมแน่นอน เพราะไม่สามารถป้องกันชายหาดได้ โดยเฉพาะหาดทรายที่จะหายไปเหลือแต่หาดหิน แต่ถ้าต้องการป้องกันแผ่นดินไม่ให้ถูกกัดเซาะหายไป ก็สามารถทำวิธีการดังกล่าวได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net