Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 เม.ย.2550 เครือข่ายเกษตรกรรมภาคใต้ อันประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกชุมพร   , เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนลุ่มน้ำ จ. ชุมพร, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกระนองเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุราษฎร์ธานี, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกนครศรีธรรมราช, เครือข่ายเกษตรยั่งยืนสงขลา, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดตรัง, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเมืองลุง, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกระบี่, เครือข่ายรวมใจเร่งรัดพัฒนาปัตตานี และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสตูล รวมตัวกันเพื่อออกจดหมายเปิดผนึก แสดงจุดยืนคัดค้านการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างประเทศไทยและฐี่ปุ่น เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ เครือข่ายเกษตรกรรมฯ ระบุว่าการลงนามในเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น จะส่งผลกระทบในประเด็นสิทธิบัตรจุลชีพ  สิทธิบัตรพันธุ์พืช, ประเด็นขยะ ของเสียอันตราย, ประเด็นการบริการสาธารณะสุขการดึงบุคลากรทางการแพทย์จากภาคชนบท และประเด็นการผูกขาดยา ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณา หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่ออนาคตของประเทศได้


 


นอกจากนี้ เครือข่ายเกษตรกรรมฯ ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่ารัฐบาลนี้ไม่มีสิทธิ์ลงนามในข้อตกลงที่เป็นเรื่องระหว่างประเทศ เพราะเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวเท่านั้น


 


 


จดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายเกษตรกรรมภาคใต้ ต่อกรณี FTA ไทย-ญี่ปุ่น


 


เราไม่เอารัฐบาล หากลงนาม เอฟทีเอ ไทยญี่ปุ่น


                          


ตามที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อลงนามเอฟทีเอไทยญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน นี้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรเกษตรกรที่ดำเนินการพัฒนาระบบเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม  11 เครือข่าย  ในพื้นที่ภาคใต้


 


เราขอให้รัฐบาล หยุดการลงนาม ในครั้งนี้  โดยรัฐบาลต้องตระหนักว่า รัฐบาลนี้เป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราว ไม่มีสิทธิในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่มีผลผูกพันต่ออนาคตของประเทศ 


 


            การเจรจาและการจัดทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ต้องดำเนินไปบนหลักการเสมอภาค โปร่งใส ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ต้องมีส่วนร่วมถึงระดับการตัดสินใจ


           


วิกฤติทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณ เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ่งกับปัญหาความโปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสาธารณะที่สำคัญ หนึ่งในปัญหานั้นคือ กระบวนการเจรจาและการจัดทำความตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมถึง เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น ที่กีดกันการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของสาธารณะ  จนทำให้ประชาชนจำนวนมาก เกิดความระแวงสงสัย ถึงระดับ ไม่ไว้วางใจรัฐบาล จนขับไล่รัฐบาล


 


สิ่งที่เป็นข้อกังวลหลายประเด็น ใน ข้อตกลง อาทิ ประเด็นสิทธิบัตรจุลชีพ  สิทธิบัตรพันธุ์พืช, ประเด็นขยะ ของเสียอันตราย, ประเด็นการบริการสาธารณะสุขการดึงบุคลากรทางการแพทย์จากภาคชนบท ประเด็นการผูกขาดยา ฯลฯ


 


            รัฐบาลนี้  ต้องเปิดเผยร่างความตกลงให้กับประชาชนทุกกลุ่มได้เห็น ร่างความตกลงฉบับภาษาไทย และมีเวลาได้ศึกษาวิเคราะห์อย่างเพียงพอ ก่อนทำประชาพิจารณ์ที่เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร์ที่จะเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญใหม่ ปรับแก้ไขนำกลับสู่การตัดสินใจของประชาชนโดยการลงประชามติ


 


            เครือข่ายเกษตรกรรมทางลือก ภาคใต้   มีมติร่วมกันว่า  หากรัฐบาลลงนามในข้อตกลง เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น เราจะถือว่ารัฐบาลนี้ตระบัตสัตย์ ต่อเกษตรกร และประชาชน รวมถึงไม่คารพต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เราจะไม่เอากับรัฐบาลอีกต่อไป


                                                                       


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  ภาคใต้  


31 มีนาคม 2550


 


รายนามองค์กรสมาชิกที่ร่วมประกาศ


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกชุมพร                


เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนลุ่มน้ำ จ. ชุมพร       


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกระนองเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุราษฎร์ธานี  


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกนครศรีธรรมราช          


เครือข่ายเกษตรยั่งยืนสงขลา                      


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดตรัง      


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเมืองลุง


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกระบี่   


เครือข่ายรวมใจเร่งรัดพัฒนาปัตตานี 


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสตูล


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net