Skip to main content
sharethis

นอกเหนือจากประเด็น "พระพุทธศาสนา" ควรเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ และประเด็นเกี่ยวกับส.ว./ส.ส.ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในเวลานี้แล้ว ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ


 


ถ้าจำกันได้ในรัฐบาลนายทุนชุดที่แล้ว การเคลื่อนไหวคัดค้านการทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ "เอฟทีเอ" นั้น เป็นไปอย่างเข้มข้น เคยชุมนุมประท้วงกันเป็นหมื่นคนที่เชียงใหม่เพื่อต่อต้านการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ กรณีล่าสุดคือ เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่เพิ่งลงนามกันไปสดๆ ร้อนๆ ในรัฐบาลข้าราชการสีเขียว ก็ได้รับเสียงคัดค้านจากเอ็นจีโอ นักวิชาการในหลายประเด็นเช่นเดียวกัน


 


สิ่งสำคัญที่สุดในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ กระบวนการเจรจาและลงนามที่ยังไม่โปร่งใส ไม่สามารถตอบสนองต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าประชาชนที่ว่านั้นจะเป็นกลุ่มใด มองเห็นประเด็นความขัดแย้งในตัวร่างความตกลงอย่างไร หรือกระทั่งเห็นด้วยกับกระบวนการโลกาภิวัตน์หรือไม่


 


บรรดาผู้ต่อต้านแนวทางการทำการค้าเสรีแบบไร้การตรวจสอบถ่วงดุลอย่างที่เป็นมาต่างก็หวังจะเห็นศักราชใหม่ที่ดีกว่าเรื่องการทำความตกลงระหว่างประเทศปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งถูกยกร่างโดยรัฐบาลของรัฐประหารที่อ้างความจำเป็นในการโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" และเน้นเศรษฐกิจพอเพียง


 


แม้จะมีการเพิ่มเติมให้ยาวกว่าเดิม แต่มันกลับทำให้ความหวังของภาคประชาชนพังทลายลงไม่เหลือชิ้นดี เมื่อกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) ที่ประกอบด้วยเอ็นจีโอและนักวิชาการหลายสาขา, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยที่แข็งขันในการตรวจสอบและคัดค้านเอฟทีเอมาตลอด กลับออกปากเองว่า "ไม่มีรัฐธรรมนูญนี้ยังดีเสียกว่า" หรือ "งานนี้ถูกรัฐบาลแบลคเมล์"


 


ข้อบกพร่องคืออะไร สิ่งที่ควรจะเป็นหน้าตาเป็นแบบไหน และทางออกเฉพาะหน้าอยู่ที่ใด ติดตามได้จากการเสวนาเรื่อง "รัฐธรรมนูญ : กับการรับมือโลกาภิวัตน์" ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา


 










รัฐธรรมนูญ ปี 2540


ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550


 


 มาตรา 224 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ


 


 หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา


 


 


 


 


 มาตรา 186 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำสนธิสัญญาสันติภาพ สนธิสัญญาสงบศึก และสนธิสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ


 


 สนธิสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามสนธิสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสนธิสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างร้ายแรง ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา


 


 ก่อนการดำเนินการเพื่อทำสนธิสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับสนธิสัญญานั้น


 


 เมื่อลงนามในสนธิสัญญาใดแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของสนธิสัญญานั้น และกรณีที่การปฏิบัติตามสนธิสัญญาก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม


 


 


0 0 0 0


 


 


การถ่วงดุลที่แท้คือ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น


ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า นัยยะที่สำคัญของการปฏิรูปรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่ที่การตีกรอบควบคุมทุนนิยม และหนุนนำให้เกิดการกระจายอำนาจในการปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งเป็นต้นทุนของคนทั้งประเทศ การทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งจะทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจที่แท้จริง


 


อย่างไรก็ตาม ศ.เสน่ห์ไม่เห็นด้วยนักในการอภิปรายถกเถียงกันในรายละเอียดแบบรายมาตรา แทนที่จะมองปัญหาอย่างเชื่อมโยงในระดับมหภาค


 


"ถ้าไปเถียงเป็นรายมาตรา เราก็ตกหลุมคนร่าง และถูกแบลกเมล์ด้วยว่า ถ้าไม่ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้บ้านเมืองจะเกิดความวุ่นวาย ทั้งที่การมีส่วนร่วมมันต้องเริ่มต้นที่ว่า ประชาชนคิดว่าการปฏิรูปการเมืองคืออะไร ต้องการอะไร ไม่ใช่ยกร่างกันเสร็จตามวาระซ่อนเร้นของผู้ร่างแล้วให้มาพูดกันตามนั้น ที่จริงผมไม่สนใจเลยมาตราของกฎหมาย ตราบเท่าที่โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมืองไทย ไม่ได้การถ่วงดุลอย่างแท้จริง เราจะถกเถียงให้ตัวหนังสือมีความสมบูรณ์ยังไงก็ไม่เวิร์ค ถ้าไม่มีพลังให้ตัวหนังสือนั้นเป็นจริงได้"


 


 


ยืนยันไม่รับถ้าไม่แปรญัตติแก้ไข เสนอใช้รัฐธรรมนูญ 40


บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร ระบุว่า รัฐธรรมนูญใหม่นี้ยังคงเปิดช่องต่อการตีความทำให้รัฐบาลไม่ต้องนำข้อตกลงเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเช่นเดิม นอกจากนี้วรรคสุดท้ายก็ให้ความหมายความว่าประชาชนจะเข้าถึงสนธิสัญญาได้ก็ต่อเมื่อลงนามไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหายิ่งในกรณี JTEPA ที่เพิ่งลงนามไป ภาคประชาชนจะให้ความเห็นได้อย่างไร ถ้าเข้าไม่ถึงข้อมูล


 


บัณฑูร กล่าวว่า ประเด็นสำคัญตอนนี้คือทำอย่างไรให้มีการการแปรญัตติเพื่อแก้ไขประเด็นนี้ แต่ก็มีการประเมินกันว่ามีความเป็นไปได้ไม่มากนัก เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายเรื่องร้อนที่เป็นข้อถกเถียง และส.ส.ร. 100 คนก็อาจไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการแก้ไขเรื่องนี้ก็คงรับไม่ได้กับรัฐธรรมนูญ และมีข้อเสนอทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ ให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ แต่ตัดคำว่า "ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด" ออกไปในทุกมาตราเพราะที่ผ่านมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาก


 


"แปรญัตติได้หรือไม่ได้ มันเป็นเดิมพันของบ้านเมือง มันอาจสำคัญเสียยิ่งการที่ส.ว.มากจากไหนที่เป็นกลไกส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับโลกาภิวัตน์ที่เราต้องสูญเสียหลายอย่าง คิดว่าจะเสนอใช้รัฐธรรมนูญ 2540 แล้วกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ได้แปลว่าไม่เอาอันนี้แล้วต้องเอาอันที่คมช.เลือก" ศ.เสน่ห์ กล่าว


 


 


ทุกอย่างผ่านสภา ให้สิทธิผู้ได้รับผลกระทบฟ้องร้องรัฐเยียวยา


นันทน อินทนนท์ การเขียนมาตรา 186 ส่วนที่เป็นปัญหาคือการระบุว่า "สนธิสัญญาที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมอย่างร้ายแรงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา" หากมันมีความเสียหายอย่างร้ายแรงแน่นอนชัดเจนแล้วจะไปลงนามทำไม ถ้าจะแก้ไขก็ต้องตัดคำว่า "อย่างร้ายแรง"ออก เพราะเพียงแต่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมก็ควรต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว


 


ในวรรคสาม ต้องให้ความชัดเจนว่าเป็นการเปิดเผยความตกลงก่อนที่จะมีการลงนาม เพราะคำว่า "ก่อนการดำเนินการทำสนธิสัญญา" นั้นยังไม่ชัดนักว่าจะเริ่มนับต้นตั้งแต่เมื่อไร จึงควรแก้เป็นว่า ก่อนการลงนามตามวรรค 2 ครม.ต้องเปิดเผยสาระสำคัญของสนธิสัญญาอย่างเพียงพอ และการกำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นนั้นอยากให้เพิ่มเติมว่า "อย่างรอบด้าน" และต้องมีระยะเวลาในการเปิดเผยพอสมควร อย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อให้รัฐสภา ประชาชนทำการศึกษา


 


"ผมอยากเห็น ครม.หรือ คณะเจรจาจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้อดี ข้อเสีย ของสนธิสัญญาก่อน แล้วนำรายงานนั้นต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา พร้อมกับแนวทางการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน"


 


นันทน กล่าวว่า วรรคสุดท้ายเขียนว่า ครม.ต้องเยียวยาแก้ไขผู้ได้รับผลกระทบ แต่เขียนเท่านี้ไม่พอ เพราะมันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่อยากเห็นสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบในการฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการตามมาตรการแก้ไข ซึ่งรัฐบาลได้เสนอต่อรัฐสภาในเบื้องต้นแล้ว ประเด็นสุดท้าย คือ ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญให้ชัดเรื่องการออกพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ


 


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี นำเสนอปัญหาสำคัญที่ผ่านมาว่าคือการแก้กฎหมายก่อนลงนาม เช่นของสหรัฐ เราดูแล้วต้องแก้ไขเป็น 10 ฉบับ แต่ก็ทยอยแก้ก่อนแล้วจึงลงนาม ทั้งนี้ ทางออกที่เกี่ยวข้องในรัฐธรรมนูญ เสนอ 3 ประเด็น 1.รัฐสภาต้องชัดเจนว่าข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบ รัฐสภาจะต้องมีบทบาทเห็นชอบในกระบวนการเจรจาในทุกขั้นตอนและอย่างมีคุณภาพ


 


2.การควบคุมอำนาจฝ่ายบริหาร ในส่วนที่ไม่ใช่สภา เช่น บทบาทของศาล ตัวอย่างรูปธรรมคือ การยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกรณี JTEPA ศาลบอกว่าไม่ใช่อำนาจของศาลทั้งๆ ที่วิญญูชนเห็นกันอยู่ว่าทำผิดกติกาเรื่องการรับฟังประชาพิจารณ์ เรียกว่าเกิดช่องว่างอะไรขึ้นในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร


 


นอกจากนี้ภาคประชาชนต้องทำให้กระบวนการทั้งหมดรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของประชาชน ในกรณี JTEPA มีสถาบันทางการเมืองน้อยมากที่มีบทบาทในเรื่องนี้ สนช.ก็ไม่ทำหน้าที่


 


 


รัฐธรรมนูญเขียนขัดกันเอง


เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดี ฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาท้องถิ่น กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาของโลกาภิวัตน์ซึ่งสะท้อนผ่านระบบกฎหมายนั้น ในช่วงรัฐบาลที่แล้วได้เกิดปัญหาชัดเจนในวิถีปฏิบัติได้แก่ 1.ฝ่ายบริหารที่ผ่านมามักลงนามไปก่อน แล้วมาขอความเห็นชอบทีหลัง 2.ฝ่ายบริหารเข้าใจเอาเองว่า อำนาจในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นอำนาจฝ่ายบริหาร 3.การปกปิดการทำข้อตกลง ไม่มีการตรวจสอบ 4. แก้ไขกฎหมายภายในเสียก่อน เพื่อให้รับกับความตกลงระหว่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการนำเข้าสภา 5.การพิจารณาเขตอำนาจแห่งรัฐจำกัดเฉพาะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ไม่ยอมนับรวมการออกกฎหมาย การบังคับใช้นโยบาย 6.การดำเนินการไม่มีความโปร่งใส ไม่มีการมีส่วนร่วมและไม่ต้องรับผิดชอบภายหลัง


 


หากจะขจัดปัญหาดังกล่าว กระบวนการปฏิรูปการเมืองต้องทำ 2 ระดับ คือ 1.สร้างหลักสำคัญไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันในกระบวนการหาความรู้ การหาฉันทามติ 2.รัฐธรรมนูญต้องสร้างความเชื่อมโยงไปสู่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะวางกติกาขั้นตอนเพื่อให้กระบวนการมีส่วนร่วม การใช้ความรู้ ฯลฯ เกิดขึ้นจริง แต่ในมาตรา 186 ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ปรากฏแต่อย่างใด


 


ทั้งนี้ นายเจริญยังระบุว่ามาตรา 186 ไม่สะท้อนหลักการที่ควรจะเป็น ทั้งยังเขียนขัดแย้งกับมาตราที่ 3 เนื่องจากการสร้างความผูกพันระหว่างประเทศ เป็นการกระทำของรัฐที่ส่งผลต่ออำนาจประชาธิปไตยของชาติ ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ได้ก่อตั้งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น ผ่านทางรัฐสภา ครม. และศาล


 


นอกจากนี้รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ยังระบุว่า เรื่องแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะลักลั่นขัดแย้งกัน เหมือนเอาทุกอย่างมารวมกันหมดโดยไม่มีหลักคิดที่แน่ชัด เช่น มาตรา 82 ที่ระบุถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่มาตรา 83 กลับสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด ทั้งที่มันเป็นปัญหาของการพัฒนาประเทศ โดยมีการกำหนดด้วยว่าต้องยกเลิกและละเว้นกับการตรากฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายความว่าควบคุมธุรกิจไม่ได้ อยู่เหนือการบริหารประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net