Skip to main content
sharethis

"ซีไอเอสงค์" ปักธง ส.ว.สรรหา


ที่รัฐสภา น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ทางอนุกรรมาธิการยกร่างกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับกำลังดำเนินการอยู่  ซึ่งมีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณากันมากและแต่ละฉบับยังไม่ได้เข้าสู่กรรมาธิการคณะใหญ่ เพราะต้องรอดูว่ารัฐธรรมนูญทั้ง 299 มาตรามีมาตราใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ฉะนั้นการออกกฎหมายลูกจะต้องทำในลักษณะที่ต้องรับฟังความคิดเห็นด้วย


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าในวันที่ 17 พ.ค.จะมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญเลยหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า จะต้องรอฟังความเห็นจากกรรมาธิการทั้ง 3 กรอบ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 12 องค์กรว่ามีความเห็นอย่างไร ซึ่งจะนำความเห็นต่างๆเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ ส่วนจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรนั้นยังตอบไม่ได้ แต่ยืนยันว่าความคิดเห็นที่ส่งมาจะพิจารณาด้วยความเป็นธรรมมากที่สุด และจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนประเด็นไหนที่ตกลงกันได้ทางกรรมาธิการยกร่างฯก็จะพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย


 


เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯยังคงยืนยันว่าส.ว.ต้องมาจากการสรรหามากกว่ามาจากการเลือกตั้งใช่หรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ต้องดูว่าที่ผ่านมา ส.ว.เป็นอย่างไร และดูว่าเหมาะสมกับสถานการณ์แค่ไหน การเลือกตั้งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยจริง แต่หากกระบวนการเป็นไปด้วยความไม่บริสุทธิ์ ได้เข้ามาด้วยอำนาจเงินหรืออิทธิพล กระบวนการประชาธิปไตยแบบนี้ก็รับไม่ไหว ซึ่งที่ผ่านมา ส.ว.มีความเป็นอิสระแต่ถูกซื้อตัว เวลาโหวตในที่ประชุมก็เป็นไปตามที่นักการเมืองต้องการ อย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างไรก็ตาม นอกจากการสรรหาเพียงอย่างเดียวแล้วก็ยังมีอีกทางเลือกคือสรรหาจากกลุ่มอาชีพทั่วทุกภาคทุกจังหวัดแล้วให้ประชาชนเลือกตั้งจากที่เราสรรหา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นรายละเอียดที่กรรมาธิการยกร่างฯจะต้องพิจารณากันต่อไป


 


สปป.จี้จัดประชุมร่วม รัฐ กกต. ส.ส.ร. ถกข้อกังขา รธน.50 


เมื่อเวลา 11.00 น.วัน ที่ 15 พ.ค.นี้ กลุ่มสมาพันธ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปสู่การเลือกตั้ง (สปป.) นำโดยพล.ท.อัครชัย  จันทรโตสะ  ประธาน สปป.เข้ายื่นหนังสือ เพื่อเสนอแนวทางในการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อผ่านประชามติแล้วนำไปสู่การเลือกตั้งตามที่รัฐบาลกำหนดต่อนายเดโช สวนานนท์ รองประธาน สภาร่างรัฐธรรมนูญ


 


พล.ท.อัครชัย กล่าวว่า สปป. เห็นว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการในขณะนี้มีบางมาตรานำมาซึ่งความเห็นไม่ตรงกัน อีกทั้งรัฐ ธรรมนูญฉบับยกร่างนี้ได้กำหนดว่าต้องทำประชามติ ซึ่งต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน  ดังนั้น เพื่อความสมานฉันท์ของคนในชาติและหาแนวทางร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้ผ่านการลงประชามติจากประชาชนทั้งประเทศ จึงเรียนเสนอเป็นข้อสังเกตในประเด็นที่ไม่ตรงกันคือ 1.การลดจำนวน ส.ส. จาก 500 เหลือ 400 คน 2. การเลือกตั้ง ส.ส.พวงใหญ่ 3. ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 4. มาตรา 68 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการแก้วิกฤต 5.การกำหนดบทบัญญัตินิรโทษกรรม


 


สมาพันธ์เห็นว่าควรประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนรัฐบาล สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และพรรคการเมืองเพื่อรับฟังความคิดเห็นนำไปสู่แนวทางสมานฉันท์ และนำไปสู่การเลือกตั้ง ในเดือนธันวาคม 2550 นี้ พร้อมทั้งให้จัดตั้งคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ขึ้น เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ และทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจในการทำประชามติ


 


ด้านนายเดโช กล่าวว่า ผู้ใหญ่ในสภาร่างฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประชามติ จึงตั้งกรรมาธิการเกี่ยวกับการทำประชามติขึ้นมา 2 คณะ ได้แก่ คณะที่ควบคุมนโยบายประสานงานสนับสนุนการทำงานของ กกต.ซึ่งประกอบด้วยประธานสภาร่างฯ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก 2  คน ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ และประธานกรรมาธิการยกร่างหลักเกณฑ์วิธีการออกเสียงประชามติ และการออกเสียงประชามติ ส่วนอีกคณะเป็นกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ชี้แจงเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเข้าใจก่อนการทำประชามติ เพื่อให้การทำประชามติมีความชัดเจนและเป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น


 


"สลัม 4 ภาค" บี้ กมธ.ยกร่างฯ รธน.คุ้มครองประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย


เมื่อเวลา 11.30 น. สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค ประมาณ 50 คนนำโดยนายสุชิน เอี่ยมอินทร์ ประธานเครือข่ายฯ ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในกฎหมายรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยมีน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกมธ. และน.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกมธ.เป็นผู้รับหนังสือ


 


ทั้งนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ยื่นเอกสารระบุว่า ทางเครือข่ายฯได้เห็นเนื้อหารัฐธรรมนูญร่างแรกแล้วมีความรู้สึกไม่เป็นที่พอใจ โดยเฉพาะเนื้อหาในมาตรา 54 ที่ว่าด้วยสิทธิที่อยู่อาศัยของประชาชน มีเนื้อหาไม่ครอบคลุมปกป้องสิทธิของประชาชนได้ จึงขอเรียกร้องให้บัญญัติใหม่ว่า "บุคคลย่อมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเพียงพอ มีความปลอดภัย มีความสงบสุขและมีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการปกป้องและคุ้มครองจากการถูกบังคับขับไล่หรือรื้อย้ายให้ออกจากที่อยู่อาศัยโดยพลการ รัฐต้องจัดหาที่ดินเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยแก่บุคคลผู้ไร้ที่อยู่อาศัยที่ยากไร้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของบุคคลเหล่านั้นเป็นสำคัญ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net