Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (18 มิ.ย.50) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการสัมมนา "การบังคับสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL): สังคม เศรษฐกิจไทยได้อะไร?"


 


จอน อึ๊งภากรณ์  ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนเคยชินกับระบบสิทธิบัตรจนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่เป็นการส่งเสริมการประดิษฐ์ แต่ตามประวัติศาสตร์ของมนุษย์นั้นพัฒนามาได้โดยไม่มีระบบสิทธิบัตร แม้แต่ช่วงแรกของระบบสิทธิบัตร ประเทศในยุโรป เช่น สวีเดน สวิสเซอร์ แลนด์ อิตาลี ก็ไม่มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งจำเป็นของชีวิตอย่างยาจนกระทั่งปี 1978 ประเทศสเปนไม่มีการจดสิทธิบัตรยาจนปี 1992  ขณะที่ปัจจุบันนี้เป็นโลกที่มหาอำนาจใหญ่เรียกร้องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐไม่ได้โตด้วยอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว แต่โตด้วยการประดิษฐ์คิดค้น ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อใช้ระบบนี้กับสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตเช่นยารักษาโรค เพราะเกิดการผูกขาด ทำให้บริษัทที่ถือสิทธิบัตรสามารถกำหนดราคายาได้ตามอำเภอใจ


 


"ขอยืนยันว่า ทั่วโลกสิทธิบัตรยาฆ่าคน เพราะทำให้ราคายาเกินจากต้นทุนการผลิตหลายสิบเท่า" จอนกล่าว


 


โลกหาระบบกองทุนร่วม แก้ปัญหาผูกขาดราคายา


เขาชี้ด้วยว่า เราต้องส่งเสริมการผลิตคิดค้นยาและการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ในทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ระบบสิทธิบัตร แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว เพราะขณะนี้หลายองค์กรทั่วโลกกำลังคิดค้นระบบอื่น เช่น ระบบรางวัล โดยจะให้ทุกประเทศในโลกร่วมกันนำภาษีส่วนหนึ่งไปเป็นกองทุนส่งเสริมการพัฒนายาและสิ่งจำเป็นต่อชีวิต ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เข้าถึงยาอย่างเท่าเทียมแต่จ่ายตามศักยภาพ


 


"ระบบแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว เพราะความอยุติธรรมของระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อการเข้าถึงยาเป็นปัญหาระดับโลก ประเทศที่ยากจนกว่าไทยมีมากมาย  ราคายาเป็นปัจจัยตัดสินระหว่างการมีชีวิตและเสียชีวิต" จอนระบุ


 


จอนยกตัวอย่างว่าเขาเคยเยี่ยมผู้ติดเชื้อตามบ้านและพบคนที่กำลังตายด้วยเชื้อราในสมอง ซึ่งหมอให้กินยาเม็ดละ 250 วันละ 2 เม็ด แต่ครอบครัวไม่มีเงินจ่าย ยานั้นที่แพงไม่ใช่เพราะมีสิทธิบัตร แต่เพราะรัฐบาลสหรัฐตกลงกับรัฐบาลไทยปกป้องไม่ให้มีการแข่งขันกับยาใหม่ที่เข้ามาในช่วง 2-3 ปีแรก หลังจากพ้นช่วงนั้นแล้วมีบริษัทไทยแข่ง 2-3 บริษัท ราคายาได้ลดลงเหลือเม็ดละ 6 บาท


 


เขากล่าวด้วยว่า ปัจจุบันนี้แคนาดามีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้แคนาดาจึงตั้งตัวเป็นประเทศที่จะใช้ซีแอลนำเข้ายาและส่งไปประเทศอื่นๆ


 


รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการพูดถึงการแสวงหาระบบอื่นที่ไม่ใช่ระบบทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีข้อสรุปว่า การวิจัยพัฒนายาน่าจะมีระบบดูแลแยกออกมา มีเป้าประสงค์เพื่อการแก้ปัญหาสาธารณสุขอย่างแท้จริง และเพื่อให้ราคายาควรแตกต่างตามความสามารถในการจ่ายของแต่ละประเทศ โดยอาจตั้งเป็นกองทุนที่มีการลงขันตามสัดส่วน GDP ผู้ที่วิจัยก็จะได้รางวัลทั้งชื่อทั้งกล่อง


 


นักธุรกิจชี้ "จีเอสพี" ไม่เสียหายเท่าที่พูดกัน  


สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สิทธิพิเศษด้านภาษี (จีเอสพี) เป็นเครื่องมือของประเทศพัฒนาแล้วในการกำกับประเทศอื่น ในเงื่อนไขการพิจารณาให้สิทธิจีเอสพีของสหรัฐเขาก็ต้องได้ประโยชน์เช่นกันคือ ต้องเปิดตลาดสินค้าและบริการให้สหรัฐ ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ คุ้มครองสิทธิแรงงานในระดับสากล ถ้าประเทศนั้นพัฒนามาก มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% ก็จะยกเลิก นโยบายการลงทุนต้องชัดเจนว่าจะยกเลิกข้อจำกัดทางการค้าที่มีต่อสินค้าอเมริกัน สนับสนุนสหรัฐในการต่อต้านผู้ก่อการร้าย


 


"เราใช้สิทธิจีเอสพีปีหนึ่ง 4,000 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าไม่ได้จีเอสพีในสินค้าหลายพันรายการนั้นเฉลี่ยแล้วต้องเสียภาษี 3.5% หรือประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น ไม่ใช่ 4,000 ล้านเหรียญ ขณะที่การมียาต้านไวรัสเราลดการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยเอชไอวีตั้งแต่ปี 2544-2548 จาก 8,000 เหลือ 2,000 คน"


 


สุทธิชัยระบุด้วยว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ สหรัฐจะมีการพิจารณาจีเอสพี 19 รายการซึ่งอาจถูกตัดจริง  โดยอ้างเรื่องที่ไทยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไม่เข้มงวดพอ


 


"เคยถามผู้ประกอบการอัญมณีซึ่งเป็นรายการที่จะโดนตัดจีเอสพีว่าจะกระทบแค่ไหน เขาบอกกระทบจริงเพราะมันเกิดในปีนี้ที่ค่าเงินบาทแข็ง 25% แล้วตั้งแต่ต้นปีที่แล้วถึงปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี ถ้าโดนจีเอสพีก็จะหนักขึ้น มันจึงอาจมีเสียงดังขึ้นอีกรอบว่าเพราะซีแอล เราจึงต้องเร่งให้ความรู้กับสังคม ว่าเราเสียแค่ไหนและได้อะไรคืนมาบ้าง เราได้ชีวิตคืนมาอีกหลายพันคน เราได้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกัน เพราะที่ผ่านมาเรารับเงินเขาที่บอกว่าเงินกินเปล่า แต่ต้องฟังเขาตลอดว่าต้องไปทางไหน เขายุ่งกับการกำหนดกติกาของเรา เราได้ความเข้มแข็ง ไม่ปีนี้เสียจีเอสพี อีกไม่กี่ปีก็ต้องเสียไป" สุทธิชัยกล่าว


 


สปสช.แจงทำไมต้องทำซีแอล


ภก.สรชัย จำเนียนดำรงการ  ผู้เชี่ยวชาญสำนักนโยบายและแผน สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การโจมตีการประกาศซีแอลของกระทรวงสาธารณสุขนั้นเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วที่บอกว่าทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อยืนยันข้อกฎหมายทั้งของไทยและกติกาสากลก็มีเสียงสะท้อนว่าแม้จะถูกต้องแต่ไม่พยายามคุยก่อน และท้ายที่สุดมีการกดดันว่าจะตัด จีเอสพี


 


เขากล่าวถึงเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการทำซีแอลว่า เป็นเพราะมีการรุกคืบจากสหรัฐเรื่องเอฟทีเอที่มีข้อเรียกร้องเกินกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก จึงมีการหารือกันในคณะกรรมการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.)ว่า น่าจะลองใช้สิทธิอันเดิมที่กำหนดไว้ในทริปส์ดูบ้าง เพราะยังมียาแพงหลายรายการที่ต้องจัดการให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น


 


สังคมไทยได้อะไรจากการทำซีแอล สรชัยกล่าวว่า มันทำให้คนไทยเข้าถึงยาจำเป็นมากขึ้น และใช้กับโรคร้ายแรงอันตรายถึงชีวิต เอดส์มีอัตราตายสูงเป็นอันดับ 7 โรคหลอดเลือดอันดับ 3 เป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่องมาแล้ว


 


"สังคมไทยเข้มแข็งขึ้น ผิดคาดมาก ตอนแรกกระทรวงสาธารณสุขคิดว่าคงต้องต่อสู้ลำพัง แต่เรากลับได้รับการร่วมมือมากมาย แม้กระทั่งกลุ่มนักศึกษาที่ได้รับการปรามาสว่าไม่สนใจบ้านเมือง สังคมไทยยังได้รับการยอมรับ ส่งผลกระทบทั่วโลกที่เห็นไทยเป็นแบบอย่าง สุดท้ายประชาชนจะมั่นใจได้ว่า สธ.เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนมากกว่าสิทธิบัตร"


 


ความคืบหน้าซีแอลยา 3 ตัว


ภก.สรชัย กล่าวถึงความคืบหน้าในยาต่างๆ ด้วยว่า ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเลนซ์ นำเข้าล็อตแรกมาแล้ว กำลังจะกระจายไปตามรพ.หากล๊อตเก่าหมดลง ส่วนยาต้านไวรัสสูตรสำรองคาเลทตรา ได้ไปพ่วงกับมูลนิธิคลินตันในการซื้อยาล็อตใหญ่จากอินเดียวพร้อมกันหลายประเทศ เป็นยาชื่อสามัญแต่เป็นรูปแบบใหม่ ซึ่งต้องทำการศึกษาจะต้องประกาศซีแอลเพิ่มหรือไม่เพราะที่ประกาศซีแอลไปนั้นเป็นยารูปแบบเก่า ส่วนยาละลายลิ่มเลือดพราวิกซ์ บริษัทซาโนฟี่ฯ เสนอตั้งโครงการให้ยาพราวิกซ์ ซึ่งปกติ สปสช.จะซื้อยานี้เม็ดละ 73 บาทให้คนไข้ได้ประมาณ 10,000 คน ซาโนฟี่เสนอจะให้ยาเพื่อครอบคลุมคนไข้ 34,000 คน ในราคาเดิม เท่ากับได้ยาที่ราคาลดลงเหลือเม็ดละ 12 บาท แต่มีข้อแม้ว่าต้องยกเลิกซีแอล ซึ่งเงื่อนไขนี้อาจทำให้ไทยอาจตัดสินใจซื้อยาจากอินเดียที่มีราคาประมาณ 5 บาทเท่านั้น


 


ก้าวที่พลาดของไทยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา


รศ.ดร.จิราพร ยังท้าวความถึงความผิดพลาดของรัฐไทยในเรื่องการจัดการระบบทรัพย์สินทางปัญญาตั้งแต่อดีตว่า เดิมกฎหมายไทยไม่ให้สิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ยา เพราะเราเป็นอุตสาหกรรมยาขั้นกลาง และอายุสิทธิบัตรก็ 15 ปี จนกระทั่งปี 2529 อุตสาหกรรมยาเจริญเร็วมาก ดีกว่าอินเดียวเยอะ แต่สหรัฐก็มากดดันให้เข้มงวดขึ้น คือ ให้คุ้มครอง 20 ปี ให้คุ้มครองผลิตภัณฑ์ แล้วเรามาแก้กฎหมายปี 2535 มีข้อมูลข่าวสารเยอะมากว่าไทยเป็นโจรสลัดปล้นสิทธิบัตรยา การอธิบายที่ต้องใช้เทคนิคความรู้ทำได้ลำบาก และสหรัฐใช้ special 301 ในการกดดันเรื่องถอน GSP ช่วงนั้นยังดีว่ามีกรรมการสิทธิบัตรยา เพื่อควบคุมราคายาสิทธิบัตร ต่อรองราคากัน จนถึงปี 2542 สหรัฐออกเลิกกรรมการสิทธิบัตรยา


 


"ณ ขณะนี้ มีการพยายามแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตรอีก 1 ฉบับ อาจทำให้เกิดการเข้มงวดมากขึ้นของการให้เกิดการคุ้มครอง เช่น ไม่ให้มีระบบการคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร และยังสอดคล้องกับสิ่งที่สหรัฐเรียกร้องในเอฟทีเอสหรัฐ" รศ.ดร.จิราพรกล่าว


 


บริษัทยาตั้งโครงการลดราคา ข้อแม้ไทยต้องยกเลิกซีแอล


นอกจากนี้ รศ.ดร.จิราพร ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขด้านการต่อรองราคายากับบริษัทเอกชน ยังระบุถึงประเด็นการตอบแทนการใช้สิทธิว่า บริษัทที่ถูกบังคับใช้สิทธิไม่สนใจจะมาต่อรองค่าตอบแทน แต่มักมีการเสนอโครงการลดราคาแทน เช่น บริษัทซาโนฟี อเวติส ที่จำหน่ายละลายลิ่มเลือดหัวใจ ซึ่งขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคมซื้อยาเขาล้านกว่าเม็ด บริษัทยื่นเงื่อนไขว่าถ้ารัฐบาลไทยยกเลิกซีแอล จะตั้งโครงการให้ยาดังกล่าว 3 ล้านกว่าเม็ดให้ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่จ่ายในราคาล้านกว่าเม็ด โดยบริษัทจะทำเป็นยาชื่อสามัญด้วยโรงงานเขาเอง แต่คิดราคาเป็นยาต้นแบบ


 


กลยุทธ์ใหม่บริษัทยา ผูกขาดยาชื่อสามัญต่อ


รศ.ดร.จิราพร ระบุว่ากลยุทธ์ที่บริษัทใหญ่เริ่มหันมาผลิตยาสามัญเองนั้นเริ่มแพร่หลาย แล้วก็จะมีการให้สินบนบริษัทอื่นว่าอย่าผลิต คล้ายเป็นข้อตกลงระหว่างกัน มีกรณีฟ้องร้องเกิดขึ้น ในกฎหมายสหรัฐถือเป็นการทำผิดในการแข่งขันไม่เป็นธรรม 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net