Skip to main content
sharethis

อุษามาศ เฉลิมวรรณ์


             "ทุนชีวิต" ของชาวเลใน จ.ระนอง ผูกโยงอยู่กับระบบประมงพื้นบ้าน ซึ่งถือเป็นหลักประกันให้กับความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนกระทั่งมีกระแสการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติระนอง ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณที่ดินป่าคลองหัวเขียว ป่าคลองเกาะสุย ป่าเกาะช้าง ป่าคลองหินกอง และป่าคลองม่วงกลวง รวมแล้วกว่าสามแสนไร่ เป็นผลให้ชาวบ้านที่เคยชินกับอุปกรณ์หาสัตว์น้ำทางทะเล ต้องหันหน้ามาจับปากกาและใช้ปากเรียกร้องสิทธิในการทำกิน



            กลุ่มพิทักษ์สิทธิชุมชนตำบลราชกรูด ก่อตั้งขึ้นเฉพาะกิจเพื่อสื่อสารกับสาธารณะถึงการเข้ามาเก็บกินโดยรูปแบบของการออกอุทยานฯ ว่า เป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจากตั้งต้นจากความไม่เข้าใจของชาวบ้าน และนำไปสู่การทำลายฐานทางทรัพยากรที่เป็นทุนชีวิต


            ตำบลราชกรูด เป็นตำบลที่มีทิศตะวันตกติดทะเลอันดามัน และหากออกทะเลไปไม่ห่างฝั่งนัก จะพบเกาะน้อยใหญ่ ทั้งที่ถูกจับจองเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเกาะพยาม และจุดที่ไม่มีผู้ใดเข้าไปจับจองและสงวนไว้สำหรับการหลบลมทะเลยามออกเรือ อย่าง เกาะสน อ่าวอ่าง อ่าวยายกิ้ม เป็นต้น


ชาวบ้านกว่าร้อยละ 80 ในตำบลราชกรูด ประกอบอาชีพประมงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และยังมีท่าเรือราชกรูด ซึ่งเป็นท่าเรือเก่าแก่ ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้คนจากหมู่บ้านอื่น สามารถเข้ามาหากินได้อย่างเสรีโดยไม่มีข้อขัดแย้งกันมาเนิ่นนาน


            เหตุที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิชุมชนตำบลราชกรูด ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งอุทยานฯ ข้อหนึ่งมาจากการที่ตำบลราชกรูดมีลักษณะเป็นเขาสูงชัน มีหาดทรายน้อย ไม่เหมาะกับการท่องเที่ยว ซึ่งหากถูกจัดให้อยู่ในเขตอุทยาน อาชีพดั้งเดิมก็จะสูญหาย สิทธิในการอยู่กินในบ้านของตัวเองก็จะหมดลง


"ความเข้าใจเรื่องความชอบธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมองในมิติของสิทธิเชิงซ้อน เนื่องจากการมองในเรื่องสิทธิเชิงซ้อนนั้นเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับการจัดการทรัพยากรประเภทที่ต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน"  ข้อความนี้สรุปจากข้อเขียน ฐานทรัพยากรในฐานะทุนชีวิต ของ อานันท์ กาญจนพันธุ์ ซึ่งตีพิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ


            อ.อานันท์ ยังยกตัวอย่างการจัดการอุทยานแห่งชาติ ที่ระบบกฎหมายไทยใช้หลักการตามความคิดสิทธิเชิงเดี่ยว โดยมอบสิทธิเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการดูแลไว้ที่กรมป่าไม้เพียงกรมเดียว ซึ่งอันที่จริง ควรจะเปิดให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการมากขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือและการตรวจสอบถ่วงดุลไปพร้อมๆ กัน


ชาวบ้านในตำบลราชกรูด ชี้แจงในแถลงการณ์คัดค้านการจัดตั้งอุทยานฯ ชัดเจนว่า การหากินแบบเดิม ชาวบ้านใช้เรือขนาดเล็ก (เรือพลีส) และเรือหางยาวขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อหากินเท่านั้น ซึ่งเรือดังกล่าวเหมาะกับพื้นที่ในบริเวณอ่าวและลำคลอง หากประกาศเขตอุทยาน จะทำให้ชาวบ้านต้องออกไปหากินในทะเลลึกนอกเขต เรือดังกล่าวจะไม่สามารถแล่นได้เพราะมีคลื่นใหญ่


การเลือกใช้เรือในขนาดพอประมาณ เพื่อหากินแบบพอเพียงและสวนทางกับการพัฒนาที่มากขึ้นเช่นนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่จะช่วยให้ทรัพยากรยั่งยืน ซึ่งในการให้คุณค่าแล้ว การได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ถือเป็น "ทุนทางเศรษฐกิจ" ที่ถือว่าไม่ใช่เศรษฐกิจในแง่ที่เป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นเศรษฐกิจของส่วนรวม ในแงนี้ทรัพยากรจึงถือเป็น "ทุนทางสังคม" ด้วย ตามนัยยะก็คือ ชุมชนมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ แต่ไม่มีสิทธิยึดไว้เป็นเจ้าของ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและป้องกันการผูกขาด


ในแง่ของการไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของเหมือนที่ชาวบ้านเองไม่มีโฉนดทางน้ำ นับเป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพและไม่คิดจะละเมิด ด้วยเหตุว่าทุกวันนี้ แค่ได้ทำกิน มีรายได้ และใช้ชีวิตกับอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตอยู่แล้ว การออกเอกสารสิทธิเพื่อรุกที่ทางน้ำจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ


ระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในกรณีนี้ ก็เกี่ยวพันกับทุนทั้งสามประเภทซ้อนกันอยู่ เฉพาะทุนทั้งสามเป็นเงื่อนไขของกันและกันในความสัมพันธ์กับระบบภายนอก โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับรัฐ เช่น ถ้ารัฐห้ามไม่ให้ชุมชนใช้ทุนทางเศรษฐกิจของทะเล ก็อาจส่งผลให้ทุนทางสังคมโดยเฉพาะอำนาจขององค์กรชุมชนอ่อนแอลง เพราะชุมชนไม่มีสิทธิและอำนาจในการรักษาทะเลด้วยระบบภูมิปัญญาเดิมได้


ตรงกันข้าม หากรัฐสร้างความมั่นคงให้กับทุนทางเศรษฐกิจ ด้วยการรองรับความชอบธรรมในการใช้ประโยชน์จากทะเล ก็จะจูงใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยให้ทุนทางสังคมมีประสิทธิภาพ และทุนของชีวิตมั่นคงตามไปด้วย


จากบทความของ อ.อานันท์ น่าสนใจตรงที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและชุมชน มักเป็นไปในขั้วตรงข้ามกันเสมอ และจะทำอย่างไรให้สิทธิเชิงเดี่ยวที่อยู่ในระบบคิดของภาครัฐไม่เข้ามาครอบงำสิทธิชุมชนจนทำลายรากวัฒนธรรมอันดีงาม และทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรในฐานะทุนของชีวิตร่วมกันได้อย่างไม่เกิดความขัดแย้ง


ทั้งสองคำถาม ต้องอาศัยการทลายกำแพงของการถือความเป็นเจ้าของลงเสียเป็นเบื้องต้นก่อน จึงจะทำให้คำตอบค่อยๆ คืบตามมา


อ.อานันท์ สรุปไว้มีใจความว่า "...สิทธิชุมชนไม่ได้ดำรงอยู่ได้โดดๆ ในสังคม แต่ผูกโยงกับบริบทเชิงโครงสร้างต่างๆ มากมาย ดังนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้กับสิทธิชุมชนจึงต้องเชื่อมโยงกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ด้วย อย่างแยกกันไม่ออก การแยกออกมาเคลื่อนไหวผลักดันเฉพาะด้านสิทธิชุมชน หรือเฉพาะด้านโครงสร้างเพียงด้านใดด้านหนึ่งแต่เพียงด้านเดียว ก็คงจะไม่สามารถสร้างเสริมการพัฒนาให้เกิดความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง"



การดำรงอยู่ของสิทธิชุมชนคนราชกรูด ยังเดินหน้าบอกเล่าเรื่องราวความคับแค้นใจของการแสวงหาทรัพยากรเพื่อการอยู่รอด ขณะเดียวกับที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างขนานใหญ่ให้พื้นที่อีกส่วนหนึ่งของ จ.ระนอง กลายเป็นเขตอุทยานฯ ก็กำลังขยายความชัดเจนขึ้น


จ.ระนอง ที่เคยสงบ และรอการไปเยือนของผู้ที่ตั้งใจไปค้นพบธรรมชาติที่ยังคงเดิมอยู่มาก จะเปลี่ยนร่างแปรรูปไปในทิศทางใด และจะเหลือพื้นที่ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จริงมากน้อยขนาดไหน คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net