Skip to main content
sharethis

 


 


ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อาจารย์พิเศษวิชากฎหมายเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


ประชาไท - 28 มิ.ย.50  ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดเสวนาเรื่อง ทางเลือกและทางรอดไอทีไทย ที่สำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา


 


นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ อาจารย์พิเศษวิชากฎหมายเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวถึงพระราชบัญญัติการเอาผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 ก.ค. 50 นี้ว่ากฎหมายฉบับนี้ อาจจะมองว่าเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ที่ไม่ใช่เพียงกับคนไทยเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตและโอกาสของกระทรวงไอซีทีด้วย


 


เขากล่าวถึงข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ว่า ต่อจากนี้ไป การปล่อยจดหมายขยะ (Spam) การปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์แต่ละครั้ง มีโทษปรับหนึ่งแสนบาท และเช่นกันการฟอร์เวิร์ดคลิปผิดกฎหมายต่างๆ เช่น กรณีคลิปไฮโซอื้อฉาวก็มีความผิดตามพ.ร.บ.นี้ทันที


 


อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้กลางเดือนหน้า สิ่งที่ "ผู้ที่ให้บริการ" ต้องทำคือ ต้องเก็บสำรองข้อมูลอย่างต่ำ 90 วัน -1 ปี แล้วผู้ให้บริการคือใคร? คือทุกคนที่เอื้อให้คนเข้าสู่บริการอินเตอร์เน็ตได้ นั่นคือ ทั้งไอเอสพี และยังรวมทั้งอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ สมาคมห้างร้าน กระทรวง ทบวง กรม ล้วนอยู่ในคำนิยามของผู้ให้บริการที่ต้องเก็บสำรองข้อมูลอย่างต่ำ (Back Up) 90 วัน ถ้าไม่ทำตามนี้ มีโทษปรับ 5 แสนบาท


 


นายไพบูลย์กล่าวว่า สิ่งทีไอซีทีและรัฐบาลต้องมาพิจารณาคือ ภาครัฐจะมีมาตรการอะไรที่นำมาใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และเตรียมรับมือกับกฎหมายฉบับใหม่นี้บ้าง อาทิ หน้าที่การมอนิเตอร์ว่าใครทำผิดหรือไม่ เพราะเพียงการฟอร์เวิร์ดเมล์นั้นผู้ให้บริการก็อาจมีความผิดได้


 


เขายกตัวอย่างมาตรการของรัฐ เช่น ในต่างประเทศจะใช้มาตรการสนับสนุน (Subsidize) ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่มีระบบสำรองข้อมูล


 


นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า กฎหมายจะประกาศเดือนหน้าแล้ว แต่ตอนนี้ยังหาตำรวจตำรวจอินเตอร์เน็ต (Cyber Cop) ไม่ได้ และเวลานี้ไอซีทีทำหน้าที่นี้ทั้งที่ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการทำคดีใดๆ แต่เพราะยังหาหน่วยงานมาดูแลไม่ได้


 


เขากล่าวว่า อีกราวครึ่งเดือน ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้ บริษัทของเขา ซึ่งต้องเจอปัญหาจากสแปมทุกวัน ก็เตรียมเอาไว้แล้วว่าจะไปฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้ปล่อยสแปมเหล่านั้น แต่ว่ามีองค์กรไหนมาดูแล


 


เวลานี้ หน่วยงานที่ใช้อำนาจมาดูแลสอบสวนสืบสวนมีเยอะ ทั้งตำรวจ กระทรวงไอซีที กรมสืบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ รวมทั้งเนคเทค แต่ตามกฎหมายฉบับนี้ คนเดียวที่มีอำนาจ คือนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจสั่งว่าบุคคลใดจะเข้ามาดูแล


 


เขากล่าวว่า ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาในกฎหมายเอาผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ยังมีเยอะ ซึ่งสุดท้าย ถ้าทำไม่ดี ก็เป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net