Skip to main content
sharethis

ประชาไทภาคเหนือ รายงาน


 



 


ประชาไท, 29 มิ.ย. 50 โครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2526 โดยมีเป้าหมายเปิดพื้นที่เหมืองเพื่อขุดเอาถ่านหินลิกไนต์ในเนื้อที่ประมาณ 3,500 ไร่ ซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมไปทั้ง 3 ตำบล คือ ต.เปียงหลวง ต.แสนไห และ ต.เมืองแหง ของ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เพื่อทำการขนย้ายมาให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง


 


และต่อมาได้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐ คือ กฟผ. และข้าราชการท้องที่ กับ ชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากชาวบ้านเวียงแหงไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และเข้าขัดขวางโครงการสำรวจของ กฟผ. และทีมศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นับตั้งแต่ปี 2546 นั้น


 


ล่าสุด ฝ่ายของ กฟผ. ยังคงเดินหน้าเพื่อเปิดโครงการเหมืองลิกไนต์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดย สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่าเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมาสถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบด้านสังคม (เอสไอเอ) ให้กับโครงการเหมืองลิกไนต์ดังกล่าว ได้จัดเวทีประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นครั้งที่ 3 ของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ที่โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่


 


โดยการจัดเวทีดังกล่าวเป็นการนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และผลกระทบด้านสังคม(เอสไอเอ)


 


นักวิชาการชูผลการศึกษาเปิดเหมืองข้อดีมากกว่าข้อเสีย


โดย ศ.ดร.มนัส สุวรรณ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้รับผิดชอบการศึกษาผลกระทบด้านสังคม (เอสไอเอ) กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ไม่ได้บอกว่าจะเปิดเหมืองหรือไม่ เพราะเรื่องนี้อำนาจอยู่ที่รัฐบาล แต่ตนทำหน้าที่แค่นำเสนอผลการศึกษาเท่านั้น ขณะที่โครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหงนั้นถือเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่มีการศึกษาผลกระทบทางสังคม(เอสไอเอ) ควบคู่ไปกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) อีกทั้งยังพยายามให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินการมากที่สุดแม้จะถูกต่อต้านในพื้นที่บ้างก็ตาม


 


ศ.ดร.มนัส กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาโครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหงนั้นสามารถสรุปได้ว่าหากมีการเปิดเหมืองลิกไนต์จะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะสาธารณูปโภคต่างๆ จะมีการพัฒนามากขึ้น อาทิ ไฟฟ้าที่ปริมาณกระแสไฟฟ้าจะคงที่มากขึ้น ประปาก็จะดีกว่าปัจจุบันเพราะการประปาส่วนภูมิภาคจะเข้ามาให้บริการ อีกทั้งการคมนาคมและการสื่อสารก็จะมีการพัฒนามากขึ้นตามไปด้วย


 


นอกจากนี้ เรื่องการท่องเที่ยวก็จะเฟื่องฟูมากขึ้น กล่าวคือเวียงแหงเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หากมีการเปิดเหมือง มีการพัฒนาถนนหนทาง และสาธารณูปโภคต่างๆ ธุรกิจการท่องเที่ยวที่นี่ก็จะบูม ขณะที่บริเวณเหมืองภายหลังการพัฒนาก็อาจมีการปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย


 


"โดยภาพรวมของผลกระทบนั้นจะเป็นบวกมากกว่าเป็นลบ จะมีผลดีมากกกว่าผลเสีย ขณะที่ผลเสียหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นก็สามารถจัดการแก้ไขได้" ศ.ดร.มนัส กล่าวทิ้งท้าย.


 



ที่มาของภาพ : สำนักข่าวประชาธรรม


 


ชาวบ้านบุกค้านถึงที่ประชุม


อย่างไรก็ตาม ในวันระดมความคิดเห็นดังกล่าว ที่บริเวณหน้าห้องสัมมนาได้มีชาวบ้านจาก อ.เวียงแหง อีกกลุ่มหนึ่ง นำโดยชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เวียงแหง ชมรมองค์กรส่วนท้องถิ่น อ.เวียงแหง อาทิ นายก อบต. ประธานสภา อบต. สมาชิก อบต. รวมทั้งเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแตงตอนบน และตัวแทนชาวบ้านจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 100 คน ได้จัดแถลงข่าวขอคัดค้านโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์ และผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)


 


นายพยอม คารมณ์ นายก อบต.เมืองแหง อ.เวียงแหง ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านโครงการได้อ่านแถลงการณ์ระบุใจความว่า ตามที่ กฟผ.ได้ว่าจ้างสถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาเหมืองถ่านหินลิกไนต์ พวกเราในนามตัวแทนของชุมชน อ.เวียงแหง ขอแถลงการณ์และข้อเรียกร้องดังนี้ (ดูเอกสารประกอบ)


 


1.ขอประณามการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลที่ได้ไม่ได้เกิดมาจากความยินยอมของพี่น้องในชุมชนเรา และพี่น้องในชุมชนไม่มีส่วนร่วม คณะผู้จัดเก็บข้อมูลมีพฤติกรรมปล้นข้อมูลเยี่ยงโจร


2.เวทีการนำเสนอข้อมูลอีไอเอผิดวัตถุประสงค์ของโครงการที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อชาวบ้านและสาธารณะชน และจะต้องให้ความสำคัญกับชุมชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้ใส่ใจ กลับมาจัดเวทีนอกพื้นที่


3.ขอให้ยุติทุกกระบวนการที่จะนำไปสู่การเปิดเหมืองลิกไนต์ และเราขอยืนยันว่าจะคัดค้านการดำเนินการจนถึงที่สุด เราจะไม่ยอมเป็นเหยื่อการพัฒนาที่ไม่มีส่วนร่วมจากชุมชน


 


หลังการอ่านแถลงการณ์เสร็จ นายพยอม กล่าวว่า การมาอ่านแถลงการณ์คัดค้านโครงการในวันนี้ชาวบ้านซึ่งมีทั้งประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประธานสภา อบต. สมาชิก อบต. และชาวบ้านที่วิตกปัญหาที่จะเกิดจากการเปิดเหมืองลิกไนต์เรามาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะที่ผ่านมานั้นการดำเนินการต่างๆ รวมทั้งการจัดเวทีในพื้นที่ อ.เวียงแหงไม่เคยมีสักครั้ง ชาวบ้านเวียงแหงไม่เคยมีส่วนร่วมในกระบวนการใดๆ แม้แต่น้อย ขณะเดียวกันชาวบ้านเองไม่เคยเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดมาเก็บข้อมูลอย่างจริงๆจังๆ แต่อยู่ๆ วันนี้กลับมีการเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมรวมทั้งผลกระทบด้านสังคมขึ้นมา ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีความไม่ชอบมาพากล


 


ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตทำเหมืองที่เวียงแหง แต่ถ่อจัดเวทีเชียงใหม่


นายพยอม กล่าวต่อว่า ที่สำคัญในการจัดเวทีของสถานบริการวิศวกรรม วันนี้ยังมีการว่าจ้างชาวบ้านในพื้นที่มาด้วยคนละ 500 บาทให้มานั่งในห้องประชุม และหากชาวบ้านคนใดมีรถยนต์และนำมาด้วยก็จะได้คันละ 2,000 บาท ค่าน้ำมันต่างหาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปัจจุบันกำลังจะสร้างความแตกแยกในชุมชน ดังนั้นหนทางเดียวที่จะยุติปัญหาต่างๆ คือการยกเลิกโครงการเหมืองลิกไนต์


 


นายอ่อง จองเจน ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เวียงแหง กล่าวว่า ที่มาในวันนี้เพราะต้องการยืนยันไม่ให้มีการเปิดเหมืองลิกไนต์ ที่ผ่านมาคณะผู้จัดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่เคยแจ้งหรือเชิญชาวบ้านเข้าร่วม อีกทั้งตนก็เคยทำหนังสือไปถึงนายอำเภอเวียงแหงเพื่อให้ประสานกับคณะนักวิชาการผู้รับผิดชอบการทำอีไอเอให้ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ อ.เวียงแหงบ้าง เพราะชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเดินทางมาไกลถึงตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ก็พบว่าการจัดเวที 2 ครั้งที่ผ่านมารวมทั้งครั้งนี้ด้วยก็เป็นการจัดนอกพื้นที่ทั้งสิ้น


 


ชาวบ้านแคลงใจขวางอีไอเอตลอด แล้วนักวิชาการได้ข้อมูลไปอย่างไร


เกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ อ.เวียงแหงนั้น วานนี้ (28 มิ.ย.50) นายคำ ตุ่นหล้า สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ และผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำแตงตอนบน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เมื่อชาวบ้านเวียงแหงทราบเรื่องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตร่วมกับสถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาอีไอเอแล้ว ชาวบ้านไม่เป็นอันหลับอันนอน ต่างสอบถามกันว่าเราจะเอาอย่างไรกันดี


 


ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการเหมืองลิกไนต์ มีการรณรงค์คัดค้านมาตลอด ชาวบ้านในเวียงแหงขึ้นป้ายไม่เอาทีมอีไอเอ เมื่อมีเครื่องมือขุดสำรวจชาวบ้านก็พากันยกออกไปให้พ้นจากพื้นที่ นี่ไม่ทราบเหมือนกันว่านักวิชาการกลุ่มนี้มีข้อมูลเพื่อนำเสนอผลการศึกษาอีไอเอได้อย่างไร เพราะชาวบ้านไม่เคยให้เข้าพื้นที่ ไม่รู้ว่าทหารทำหรือเปล่า เพราะทหารเข้ามาในพื้นที่ตลอด หรือนักวิชาการพวกนี้เอาข้อมูลมาจากวงกาแฟ 9 คน 10 คน แล้วให้ค่าตอบแทน


 


ชี้ร้อยละ 95 ไม่เอาเหมือง-หวั่นเหมืองกระทบวิถีชีวิต-สุขภาพ


นายคำกล่าวถึงกระแสการคัดค้านของชาวบ้านว่า ที่ผ่านมาปี 2546 กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ใน อ.เวียงแหง เคยทำการสำรวจความเห็นของชาวบ้านพบว่าร้อยละ 95 ไม่ต้องการให้มีการขุดเหมืองลิกไนต์ในพื้นที่ และชาวบ้านเคยไปติดตามปัญหาดังกล่าวที่เหมืองลิกไนต์แม่เมาะในปี 2547 ชาวบ้านเห็นแล้วก็ยิ่งไม่เอาใหญ่ แต่ผลการศึกษาของนักวิชาการดังกล่าวระบุว่าชาวบ้านร้อยละ 95 เห็นด้วย ชาวบ้านก็งง ไม่รู้ว่าเอาข้อมูลมาจากไหน


 


ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำแตงตอนบนผู้นี้ ยังให้เหตุผลที่ชาวบ้านคัดค้านโครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์ของ กฟผ. ว่า เพราะชาวบ้านหวาดกลัวว่าโครงการเหมืองดังกล่าว จะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบในการดำรงวิถีชีวิต ชาวบ้านในเวียงแหงปลูกกระเทียม ซึ่งต้องอาศัยน้ำในการเพาะปลูก หากมีเหมือง แหล่งน้ำจะถูกกักไปใช้ในกิจการเหมือง และการขุดเจาะเหมืองต้องขุดลงไป 800 - 2,000 เมตรเพื่อเอาเนื้อแร่ โดยธรรมชาติน้ำจะซึมลงไปในที่ต่ำ น้ำจะซึมไปในหลุมที่ขุดเจาะนั้น ซึ่งจุดนี้เอง ชาวบ้านเกรงว่าจะทำให้แม่น้ำแม่แตง ซึ่งมีตาน้ำอยู่ที่ อ.เวียงแหง และเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำปิง ที่มีจุดบรรจบกันที่ อ.แม่แตง จะแห้งขอด


 


นายคำยังกล่าวต่อว่า อ.เวียงแหงมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ ดังนั้นฝุ่นละอองในฤดูแล้งจึงไม่มีทางระบาย ต้องรอฝนตกลงมาชะฝุ่นละอองอย่างเดียว ชาวบ้านจึงมีความกังวลว่าหากเกิดเหมืองลิกไนต์ ปัญหาฝุ่นละอองจากเหมืองจะยิ่งซ้ำเติมชาวเวียงแหงมากขึ้นไปอีก


 


นอกจากนี้ชาวบ้านยังเกรงว่าพระธาตุแสนไห ซึ่งเป็นของคู่บ้านคู่เมือง ตามตำนานบอกเล่าของชาวบ้าน กล่าวว่าต้องหมดข้าวเป็นแสนไหจึงจะสร้างพระธาตุสำเร็จนี้ อยู่ใกล้กับบริเวณปากเหมืองแร่ลิกไนต์เพียง 480 เมตร ดังนั้นหากมีการทำเหมือนขึ้นจริง เกรงว่าแรงระเบิดจากการขุดเจาะเหมืองจะทำให้องค์พระธาตุร้าว นายคำกล่าว


 


คนแม่เมาะขอให้คนเวียงแหงเอาชะตากรรมชาวบ้านแม่เมาะเป็นตัวอย่าง


นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองลิกไนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า อยากให้นักวิชาการที่ศึกษาอีไอเอที่เวียงแหงคิดดีๆ ว่า คุ้มค่าหรือไม่กับการลงทุนนำถ่านหินลิกไนต์จากเวียงแหงมาใช้ที่แม่เมาะ เพราะแม้ถ่านหินจะมีราคาถูกจริง แต่จะคุ้มค่ากับการขนส่งหรือไม่ คุ้มค่ากับอันตรายที่เกิดจากการขนส่งหรือไม่เพราะทางไปเวียงแหงเป็นภูเขาสูงจึงมีความลาดชัน หากเกิดอุบัติเหตุจะเกิดความเสียหายไหม


 


นอกจากนี้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจากการทำเหมือง จะทำให้ชาวบ้านเวียงแหงได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเหมือนกับชาวบ้านแม่เมาะหรือไม่ ทั้งนี้ แม้เหมืองเวียงแหงจะผ่านอีไอเอ แต่ไม่สามารถเป็นหลักประกันให้ชาวบ้านได้ เพราะ กฟผ. อาจไม่ทำตามเงื่อนไข


 


ตนฝากบอกคนเวียงแหงว่าอย่าให้มีเหมืองเวียงแหงเกิดขึ้น ขอให้ดูชะตากรรมของคนแม่เมาะเป็นตัวอย่าง เอาชีวิตคนที่ตายที่นี่เป็นตัวชี้วัด ไม่อยากมีชะตากรรมแบบคนแม่เมาะ ขอให้ป้องกันไม่ให้เกิดเหมืองลิกไนต์เสียแต่บัดนี้ นางมะลิวรรณกล่าวในที่สุด


 


ข่าวประกอบจากประชาธรรม


ท้องถิ่นเวียงแหงรวมพลังต้าน"เหมืองลิกไนต์", สำนักข่าวประชาธรรม, 25 มิ.ย.50


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


มาแว้ววว! ประชุม EIA เหมืองเวียงแหง เหตุประชุมนอก อ.เวียงแหง จึงไร้เงากลุ่มต้านเหมือง, ประชาไท, 20 ต.ค. 2549


กลุ่มหนุน "เหมืองเวียงแหง" ร้องเร่งทำ EIA, 2 เมษายน 2548


รายงานพิเศษ ศึกกรณีพิพาท กฟผ. - เวียงแหง ที่ไม่รู้จบ, ประชาไท, 26 ก.พ. 2548


ลำดับเหตุการณ์กรณีเหมืองถ่านหิน อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ (2526-2548), ประชาไท, 5 ก.พ. 2548


ณัฐนิติ วุฒิธรรมปัญญา สัมภาษณ์พิเศษ, ประชาไท, 5 ก.พ. 2548


คนเวียงแหงจวกทีมอีไอเอ มช.ไม่เป็นกลาง, ประชาไท, 2 ก.พ. 2548


"เวียงแหง" แตกกันหนัก จัดม็อบไล่กันเอง, ประชาไท, 24 ม.ค. 2548


เวียงแหงวุ่น ชาวบ้านม๊อบไล่ทีมคุ้มกันทำอีไอเอเหมือง, ประชาไท, 22 ม.ค. 2548


ชาวเวียงแหงฮือไล่ทีม EIA, ประชาไท, 20 ม.ค. 2548


เปิดเวทีคนไม่เอาถ่านต้านประชุมถ่านหินโลก, ประชาไท, 17 ม.ค. 2548


เน้นเข้ามามวลชนปรับทัศนคติเหมืองเวียงแหง, ประชาไท, 19 พ.ย. 2547


หรือเวียงแหงจะเปลี่ยนไป เพราะเหมืองลิกไนต์!?, โดยฟ้า เวียงอินทร์, ประชาไท, 4 พ.ย. 2547

ปธ.บอร์ดกฟผ. รับแก้พิพาทชาวบ้าน 6 โครงการ, ประชาไท, 9 ก.ย. 2547

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net