Skip to main content
sharethis


ตติกานต์ เดชชพงศ แปลจาก บทสัมภาษณ์ Josh Hong นักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองจากมาเลเซียกินี โดย Mubin Sa"adat


 


ที่มา : Radio Singapore International


 

 

 


 


(ภาพจาก MCOT)



 


ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (28-30 มิถุนายน 2550) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ต้อนรับ ฮามิด อัลบาร์ รมต.ต่างประเทศของมาเลเซีย เพื่อหารือเรื่องแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย


 


สื่อต่างประเทศแสดงความสนใจในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ระหว่างไทยและมาเลเซียครั้งนี้ เป็นอย่างมาก เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่หลายฝ่ายมองว่าต้องได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรกๆ


 


ด้วยเหตุนี้ นักข่าวจาก Radio Singapore International ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ จอช หง (Josh Hong) นักวิเคราะห์ชาวมาเลเซียที่เชี่ยวชาญเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง และมีบทวิเคราะห์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องในเวบไซต์สื่ออิสระชื่อดังอย่างมาเลเซียกินี เพื่อขอความเห็นในประเด็นดังกล่าว ซึ่งประชาไทได้นำบทสัมภาษณ์มาแปลและเรียบเรียง ดังนี้


 


 


0 0 0


 


 


+การหารือเรื่องปัญหาความมั่นคงระหว่าง รมต.ต่างประเทศของมาเลเซียกับนายกรัฐมนตรีของไทย น่าสนใจอย่างไร


          จอช หง: ผมคิดว่าปัญหาความมั่นคงในภาคใต้มีมูลความจริง มันครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดในเขตชายแดน แต่ตอนนี้ปัญหาได้บานปลายไปถึงจังหวัดสงขลาแล้ว และจากข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐทั้งสี่ทางตอนเหนือของมาเลเซียล้อมรอบประเทศไทยอยู่ ภัยต่อความมั่นคงจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ และเราก็ได้รับรายงานมากมาย ทั้งจากสื่อและจากกลุ่มต่างๆ ที่บอกว่าการโจมตีซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยถูกวางแผนในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย รวมถึงตรังกานูและกลันตัน ถึงแม้เราจะมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าไม่มีฐานฝึกสำหรับสิ่งที่เรียกว่า "กระบวนการก่อการร้าย" ในมาเลเซียก็ตาม


 


 


+ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงในภาคใต้


จอช หง: ผมคิดว่าก้าวแรกที่จะช่วยแก้ไขในประเด็นนี้คือการแก้ปัญหาเรื่อง "บุคคลสองสัญชาติ" (Dual Nationality) อย่างที่เรารู้ๆ กันว่าภาคใต้ของไทยและภาคเหนือของมาเลเซียมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเชื่อมโยงกันของภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และเชื้อชาติ ประชากรส่วนใหญ่ในมาเลเซียเป็นชาวมาเลย์ พวกเขาพูดภาษามาเลย์ นับถือศาสนาอิสลาม และมีความเชื่อพื้นฐานที่เหมือนๆ กัน        


 


นอกจากนี้ ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ประชาชนชาวมาเลเซียและชาวไทยในภาคใต้จำนวนมากเป็นบุคคลสองสัญชาติ นั่นหมายถึงว่าพวกเขาเป็นทั้งคนสัญชาติไทย และได้รับการยอมรับจากมาเลเซียว่าเป็นคนเชื้อชาติมาเลย์ด้วย หรือในทำนองเดียวกัน พวกเขาอาจจะได้รับสิทธิพลเมืองของทั้งสองประเทศพร้อมกันเลย


 


          เพราะฉะนั้น ก้าวแรกของการแก้ปัญหาก็คือการขจัดความสับสนเรื่องสิทธิพลเมืองของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่อนุมัติให้ประชาชนของตัวเองถือสิทธิ์การเป็นบุคคลสองสัญชาติ เพื่อที่การข้ามแดนไปยังอีกฝั่งจะได้ไม่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายนัก ผมคิดว่านี่คือก้าวแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ และเป็นเรื่องที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศต้องรับมือ ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลไทยคงคิดที่จะจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้สักระยะหนึ่งแล้ว เพราะมันเป็นประเด็นที่ยังคาราคาซังอยู่


 


 


+การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อแผนความร่วมมือนี้หรือไม่


          จอช หง: ผมคิดว่าคงเป็นอย่างนั้น เรารู้ดีว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และคนมุสลิมก็มีเพียงแค่ร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ผมคิดว่าความรู้สึกที่กำลังครอบงำชาวไทยพุทธในตอนนี้ก็คือความรู้สึกแปลกแยกที่พวกเขามีต่อสิ่งที่เรียกว่า "การสมานฉันท์" ซึ่งรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันพยายามใช้ในการแก้ปัญหาจลาจลที่ภาคใต้


 


          พูดกันตรงๆ ก็คือว่าถ้าหากประชาชนที่เป็นชาวไทยพุทธลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นว่าไม่เอาพรรคที่รัฐบาลทหารให้การสนับสนุนอยู่ มันก็คงจะสร้างความสั่นสะเทือนต่อแผนการสร้างสันติภาพที่รัฐบาลทหารกำลังทำอยู่อย่างมากทีเดียว


 


 


+เราพอจะคาดหวังอะไรได้บ้างจากโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่เขตชายแดนใต้ของไทยและตอนเหนือของมาเลเซีย


          จอช หง: ผมว่าเราคงไม่สามารถคาดหวังอะไรได้มากในสภาวะแบบที่เป็นอยู่นี้ เพราะการก่อการร้ายยังเป็นปัญหาใหญ่ และคุณคงไม่คิดหรอกนะว่าปัญหานี้จะหายไปภายในเวลาชั่วข้ามคืน แต่เราสามารถเริ่มต้นได้ที่มาตรการเสริมสร้างความมั่นใจในระดับเล็กๆ ไปก่อน อย่างเช่น การเสนอให้ความช่วยเหลือจากมาเลเซียสู่ประชาชนที่อยู่ชายแดนใต้ของไทย


 


ตัวอย่างหนึ่งก็ได้แก่เรื่องของการศึกษา ถ้ารัฐบาลมาเลเซียมีความตั้งใจจริง เราอาจช่วยชาวไทยในภาคใต้ได้ด้วยการให้ความรู้ จัดตั้งโรงเรียนขึ้นมา รวมถึงการเสนอโอกาสทางอาชีพการงาน เพื่อให้เกิดกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจขนาดเล็กขึ้นในตอนเหนือของรัฐในมาเลเซียและภาคใต้ของไทย


 


ผมไม่รู้ว่าทำไมคนไทยที่อยู่ภาคใต้ถึงไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปหางานทำในมาเลเซีย และนักลงทุนชาวมาเลเซียก็ไม่สามารถไปลงทุนที่ภาคใต้ของไทยได้ ผมคิดว่าเราจะต้องเริ่มต้นที่ก้าวเล็กๆ ก่อน เราคงยังไม่อาจพูดถึงการลงทุนระดับมหภาคได้ในตอนนี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นยังดำเนินอยู่และกำลังขยายตัวออกไปเสียด้วย


 


 


0 0 0


 


 


หลังจากการประชุมหารือระหว่างไทยและมาเลเซียสิ้นสุดลง มีรายงานเพิ่มว่า นิตย์ พิบูลสงคราม รมต.ต่างประเทศของไทย ลงนามในบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 10 ซึ่งระบุว่าความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย และบริเวณ 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย ประกอบด้วย การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ การสร้างโอกาสในการจ้างงาน และการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดยความร่วมมือดังกล่าวได้แตกออกไปเป็น 9 สาขา ได้แก่


 


          1.การพัฒนาโครงสร้างสาธารณูป โภคและการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่ง


          2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา


          3.การท่องเที่ยว


          4.วัฒนธรรม


          5.การค้าและการลงทุน


          6.การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และชลประทาน


          7.การเงินและการคลัง


          8.พลังงาน


          9.การบรรเทาสาธารณภัย 


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net