Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (8 ส.ค.50)  องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลด้านการแพทย์นานาชาติได้ยื่นหนังสือคัดค้านขอให้บริษัทยา โนวาร์ติส ยุติการฟ้องร้องรัฐบาลอิเดีย โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 420,000 ราย โดยยื่นต่อบริษัทโนวาร์ติส สำนักงานใหญ่ ณ กรุงบาเซล หลังจากเมื่อวันจันทร์ (6 ส.ค.) ที่ผ่านมา ศาลได้พิจารณาตัดสินให้บริษัทโนวาร์ติสแพ้คดีฟ้องร้องกฎหมายสิทธิบัตรอินเดีย

"คำพิพากษาของศาลอินเดียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้นมีความสำคัญยิ่งต่อแพทย์อย่างเราๆ ทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น ที่ยังสามารถพึ่งพาประเทศอินเดียในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตยาราคาถูกสำหรับผู้ป่วยเราต่อไปได้" นพ.คริสตอฟ ฟอนเนีย ประธานองค์การหมอไร้พรมแดนสากล กล่าว



"เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ยินว่าบริษัทโนวาร์ติสจะไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อ โดยองค์การฯ ได้เรียกร้องให้บริษัทยุติการกดดันหรือท้าทายกฎหมายสิทธิบัตรอินเดียในที่ประชุมองค์การการค้าโลกหรือที่อื่นๆ"

บริษัทโนวาร์ติสฟ้องร้องบทบัญญัติหนึ่งในกฎหมายสิทธิบัตรอินเดียที่ไม่อนุมัติคำขอสิทธิบัตรสำหรับยาที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนหรือผสมยาที่มีอยู่ก่อนแล้ว โดยโต้แย้งว่าบทบัญญัตินี้ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดองค์การการค้าโลกและขัดต่อรัฐธรรมนูญอินเดีย ทว่าศาลพิจารณาไม่รับข้อโต้แย้งนี้ของบริษัท ทั้งนี้ หาก บริษัทชนะผลคืออินเดียต้องให้สิทธิบัตรแก่ยาอย่างกว้างขวางและง่ายดายขึ้นมาก ซึ่งเท่ากับเป็นการจำกัดการผลิตยาชื่อสามัญโดยปริยาย

"เราขอขอบคุณทุกท่านอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพลังมวลชนทั่วโลกเพื่อต่อต้านการฟ้องร้องของบริษัทโนวาร์ติสในอินเดีย"นพ. ฟอนเนีย กล่าว


"ทั้งหมดนี้เกิดจากพลังประชาชนนับแสนจากหกทวีปทั่วโลก ทำให้อินเดียยังคงบทบาทสำคัญในฐานะ
"ร้านขายยาของประเทศกำลังพัฒนา" ได้ต่อไป"

ทั้งนี้ รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาและองค์กรสากลอย่างยูนิเซฟและมูลนิธ

ิคลินตันต่างต้องพึ่งพาการนำเข้ายาราคาถูกจากประเทศอินเดียเป็นอย่างมากกว่าร้อยละ 84 ของยาต้านไวรัสที่องค์การหมอไร้พรมแดนใช้รักษาผู้ป่วยทั่วโลกได้มาจากอุตสาหกรรมการผลิตยาชื่อสามัญในประเทศอินเดีย

"บริษัทโนวาร์ติสอ้างความวิตกกังวลว่าคำตัดสินนี้จะส่งผลลบต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม" Pere-Joan Pons เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา องค์การหมอไร้พรมแดนประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าว



"แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายสิทธิบัตรที่เข้มงวดมากขึ้นนั้นกลับไม่ได้ช่วยสร้างสรรค์พัฒนายาและเวชภัณฑ์ซึ่งเป็นที่ต้องการของพลเมืองยากไร้ในประเทศยากจนแต่อย่างใด"

จากรายงานขององค์การอนามัยโลกฉบับเดือนเมษายน 2549 พบว่าการเพิ่มความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศกำลังพัฒนากลับไม่ได้ช่วยเพิ่มพูนการวิจัยและการพัฒนา (R&D) ในโรคภัยที่ส่งผลกระทบสำคัญโดยเฉพาะต่อประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องช่วยสนับสนุนให้มีการร่วมหารือกันในระดับสากลเพื่อคิดค้นหาหนทางใหม่ในการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาที่มุ่งตอบสนองความต้องการด้านสาธารณสุข อีกทั้งรับรองให้มีการเข้าถึงนวัตกรรมด้านการแพทย์นั้นๆ ด้วยในขณะเดียวกัน

"เราหวังว่าคำตัดสินของศาลที่ปกป้องกฎหมายสิทธิบัตรอินเดียจะกลายเป็นบรรทัดฐานและประเทศอื่นๆ
จะตัดสินใจใช้กฎหมายที่ส่งสริมทั้งการเข้าถึงยาจำเป็นและการพัฒนายาใหม่ๆ ซึ่งยังเป็นที่ขาดแคลนของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา" นาย Pons กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net