Skip to main content
sharethis

ร้อยดาว / เรื่องและภาพ


รายงานจากทะเลตรัง


 


 



 


"ทะเลเมืองตรังสวยแบบสงบ" หลายคนที่เคยไปเยือนบอกเล่าไว้ปากต่อปาก และนิยามเช่นนี้ยังคงเดิม ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปี และไม่ว่าจะมีวิถีการพัฒนารูปแบบใดเข้าไปทำลายความสงบบางประการอยู่บ้าง


 


สิ่งที่ยืนยันชัดว่าลักษณะความไร้ร้างในมุมการท่องเที่ยวกลับกลายเป็นทุนการเรียนรู้ถาวรในมุมการดำรงอยู่ของคนพื้นถิ่น คือดอกผลจากการรวมกลุ่มรักษาทรัพยากรอย่างไม่เคยขาดตอนของชุมชน  


 


แนวเขตจาก เขาหยงหลิง - แหลมนางเงือกของเกาะมุกด์ และ หัวแหลมโกก๊อก - ถึงปากคลองฉางหลาง เป็นแนวเขตสองด้านทางทะเล ที่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านใน 4 หมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่รอบๆ อ่าวเกาะมุกด์ คือ บ้านน้ำราบ บ้านควนตุ้งกู บ้านฉางหลาง และบ้านเกาะมุกด์ กำหนดให้เป็นเขตภูมินิเวศน์ทางการประมงเดียวกัน โดยยึดทุ่นแนวเขตทางทะเลเป็นจุดสังเกตด้วยสายตา


 



 


การกำหนด "แนวเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน 4 หมู่บ้าน" เป็นความร่วมมือของทั้งสี่ชุมชน เพื่อรักษาทะเลหน้าบ้านด้วยการใช้เครื่องมือประมงแบบง่ายๆ หากินไม่ไกลจากชายฝั่งน้ำตื้น ซึ่งรูปแบบเช่นนี้เป็นความปรารถนาที่ชาวประมงท้องถิ่นต้องการจะร่วมดูแล ฟื้นฟู อนุรักษ์ และป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


 


แนวเขตอนุรักษ์ฯ ถูกเรียกกันติดปากด้วยภาษาท้องถิ่นว่า "เขตเลเสบ้าน" คำว่า เส ในภาษาใต้ของคนตรัง คือ เลขสี่ ที่เรารู้จักนั่นเอง และหากมองในรัศมีทิศตะวันออกจากเกาะกระดาน หรือจะมองในทิศเหนือจากเกาะลิบง จะเห็นที่ตั้งของ บ้านน้ำราบ อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลทรัพย์ในน้ำ โดยเชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาด้านประมงอย่างยั่งยืน


..........................................


 


ช่วงสายของวันที่ไม่มีฝนกระหน่ำในปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) มูลนิธิซีเมนต์ไทย เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน และเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน ทำให้แพปลาซึ่งเป็นท่าน้ำของบ้านน้ำราบ แน่นขนัดไปด้วยเยาวชนจากทั่วภาคใต้ ซึ่งได้ลงเรือล่องหาความจริงในน่านน้ำ ได้สัมผัสผืนน้ำที่ไม่เพียงพบแต่รสเค็มของน้ำทะเล


 


การบ้านนอกห้องเรียนของเด็กๆ ในวันนั้นคือ การศึกษาเรียนรู้การทำวิจัยปูม้าในคลองบ้านน้ำราบ...


 


 



 


แล่นเรือออกไปไม่ไกลจากจากท่าเรือมากนัก ผู้นำทางให้แวะบริเวณกระชังปูม้า ซึ่งมีการจัดทำ "ธนาคารปูม้า" โดยเกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่างชาวประมงที่มีอาชีพจับปูม้าทั้งหมดในบ้านน้ำราบ


 


มีวิธีการคือ ปล่อยปูม้าลงไปในกระชังของแต่ละคนซึ่งมีขนาดช่องละ 1 ตารางเมตร แล้วรอให้ปูเขี่ยไข่ที่แก่ออกไปจนหมด จากนั้นจึงนำปูม้าที่เป็นแม่พันธุ์ของตนเองออกมาจำหน่ายต่อไป ในการทำธนาคารปูนี้จะขยายพันธุ์ปูครอบคลุมลำคลองระหว่างบ้านน้ำราบ และบ้านควนตุ้งกู


 


ที่น่าสังเกตคือ ไซปูในกระชังมีขนาดความถี่ของอวน 2 นิ้วต่อตา การถี่ห่างของไซ จะใช้เป็นข้อตกลงร่วมกันในเขตเลเสบ้านด้วย โดยหวังว่าเมื่อผ่านไปหนึ่งปี ขนาดของปูที่จับได้จะใหญ่มากขึ้น และปริมาณก็จะเพิ่มขึ้นด้วย


 



 


แต่กว่าจะปรับเปลี่ยนให้ผู้ใช้เครื่องมือ เข้าใจในความสำคัญของขนาดอวน ก็ต้องร่วมกันจัดทำ "กองทุนปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมง" และสร้างจิตสำนึกในการรักษาทะเลร่วมกันก่อน โดยตั้งต้นที่หลักการ "มีชีวิตจากทะเล ต้องรักษาทะเล" ซึ่งคาดว่าเมื่อผ่านไป 4 เดือน ชาวบ้านจะสามารถเปลี่ยนตาอวนเป็นขนาด 2 นิ้วพร้อมกันหมด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะถูกบันทึกเป็นบทเรียนจากกระชังเป็นระยะๆ


 


ได้เห็นความตั้งใจในการลงมือทำของชาวประมงเลตรังแล้ว เด็กๆ ยังได้เห็นว่าในกระชังที่ถูกกำหนดให้มีแต่ปูนั้น ยังมีสัตว์น้ำชนิดอื่นหลงเข้ามา กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ทางอ้อมที่น่าศึกษาอีกด้วย


 


ถึงปากคลองบ้านน้ำราบ คราวนี้ เด็กๆ สนุกสนานกันทั้งลำเรือ เมื่อได้ทดลองชักไซปูม้าด้วยตัวเอง คนไหนที่ไม่ได้สาวเชือกชักไซด้วยตัวเอง ก็คอยลุ้นว่าในไซจะมีปูติดมามากน้อยเท่าไร


 



 


จากเรือทั้งสี่ลำที่ลงศึกษาและเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยไปในขณะเดียวกัน พบว่าในจำนวน 4-5 จุดของไซ มีปูม้าติดมาเกือบสิบตัว ชาวบ้านให้ความเห็นว่าเพราะเราออกเรือสายไปหน่อย จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีใครมาดูไซไปแล้วครั้งหนึ่ง


 


เรือจอดพักที่หาดสั้นใกล้เขาหยงหลิง ชาวบ้านน้ำราบนำกล้องส่องทางไกลออกมาให้เด็กๆ ได้ทดลองส่องดูท้องน้ำที่ว่างามแบบสงบอย่างพินิจด้วยตัวเอง โดยกล้องนี้มีประโยชน์ในการตรวจตราผู้ที่ละเมิดข้อตกลงรอบๆ อ่าว ไม่ว่าจะใช้เครื่องมือผิดประเภท หรือใช้เครื่องมือทำลายล้าง หรือจับสัตว์น้ำในช่วงวางไข่และระยะเติบโต ซึ่งหลักการเหล่านี้จะสำเร็จด้วยดีไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้วย


..........................................


 


ถามจากเยาวชนหลายๆ คนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนั้น จะเห็นจุดร่วมของความเป็นเยาวชนคือ ทั้งหมดที่มาเป็นกลุ่มเด็กที่มีพ่อแม่เป็นคนทำงานเพื่อสังคม โดยงานครั้งนี้ มี กป. อพช.ใต้ ร่วมกับ มูลนิธิซีเมนส์ไทย จัดให้ผู้นำทางสังคมจากพื้นที่รับผิดชอบทั่วภาคใต้มารวมกัน เพื่อให้รางวัลแก่คนทำงานที่มุ่งมั่นสรรค์สร้างสังคม สลัดความเป็นตัวตนของตนออกไป เหลือเพียงการก้าวย่างเพื่อท้องถิ่นบ้านตัวเอง


 


จากการถ่ายทอดประสบการณ์สู่กัน พบจุดต่างที่เด็กบางคนอยู่ในพื้นที่ทะเล เด็กบางคนมาจากพื้นที่ป่า แต่ทั้งหมดต่างมีหัวใจแห่งการเรียนรู้เป็นจุดร่วมให้กลับไปทำอะไรดีๆ เพื่อบ้าน เพื่อชุมชน และหากยังไม่ได้ลงมือทำในวันนี้ พวกเขาก็ยังจะได้เห็นตัวอย่างหนึ่งของการพัฒนาที่ในห้องเรียนไม่มีแบบฝึกหัดและไม่มีคำตอบให้


 


กิจกรรมผ่านไป แต่เนื้อหาทางสังคมวิทยาที่ บรรจง นะแส เลขาธิการ กป.อพช.ใต้ ตั้งคำถามกับเยาวชนยังอยู่ "ข้อสรุปหรือการเรียนรู้ทางสังคมวิทยา ไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปตายตัว หรือข้อสรุปตามสูตรทั่วไป เช่น 1+1 = 2 ในทางคณิตศาสตร์ แต่ถ้า 1 คือ ป๊ะ + 1 คือ ม๊ะ ก็เท่ากับ 1 ครอบครัว"


 


สาระที่เยาวชนจะกอบเก็บได้จากห้องเรียนผืนน้ำแห่งนี้ จะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไรนั้น จึงไม่สำคัญเท่าเกิดการลงมือทำอะไรในน่านน้ำตรังของ พ.ศ.นี้


 


หากจะว่าไป 1 บ้านน้ำราบ + 1 บ้านควนตุ้งกู  + 1 บ้านฉางหลาง + บ้านเกาะมุกด์ ก็คงไม่จำเป็นต้อง = 4 หมู่บ้าน เพียงเพราะเป็นข้อสรุปตามสูตรที่ตายตัว!!


 


 


 


 


----------------------------------------------------------


หมายเหตุ : ขอขอบคุณข้อมูลจากเอกสารแนวเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน 4 หมู่บ้าน กับรูปแบบของความร่วมมือของชุมชนในการรักษาทะเลหน้าบ้าน โดยเครือข่ายองค์กรชุมชน เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนสี่หมู่บ้าน และองค์กรภาคี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net