Skip to main content
sharethis



ป่าชายเลนบ้านท่ากำชำ


 


"ท่ากำชำ" เป็นหมู่บ้านประมงพื้นบ้านในเครือข่ายอนุรักษ์รอบอ่าวปัตตานี ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เคยได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านยากจนหมู่บ้านหนึ่ง ไม่เพียงจะเคยได้รับผลกระทบจากเรือประมงทำลายล้างและการบุกรุกทำลายป่าชายเลนอันเป็นแหล่งหากินที่สำคัญเท่านั้น วันนี้ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบด้วย


 


เมื่อทรัพยากรถูกทำลาย หลายสิบครัวเรือนจึงต้องอพยพออกไปหากินที่อื่น รวมทั้งในประเทศมาเลเซีย


 


แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากชาวบ้านได้ช่วยกันฟื้นฟูป่าชายเลนของหมู่บ้าน โดยความช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และองค์กรพัฒนาเอกชน ความอุดมสมบูรณ์จึงกลับมาดีกว่าเดิม


 


ทำให้มีถึง 10 ครอบครัวที่อพยพไปทำงานในมาเลเซีย ได้อพยพกลับมาตั้งถิ่นฐานเดิม ด้วยเพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นหลักประกันว่า พวกเขาจะไม่อดตาย


 


แต่แล้ววันหนึ่ง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ พื้นที่รอบๆ หมู่บ้านของพวกเขาได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ หลายครั้ง ทั้งการลอบยิงชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ การเผาทำลายสถานที่ราชการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในหมู่บ้านด้วย


 


ยิ่งไปกว่านั้น ทางการระบุว่า ในพื้นที่ตำบลท่ากำชำ มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยพบหลุมที่เตรียมฝังระเบิด โดยเจาะลอดเข้าไปใต้ผิวถนนมากถึง 50 หลุม ยิ่งทำให้ทางการและคนทั่วไประแวงสงสัยต่อคนในหมู่บ้านมากขึ้น


 


ในจำนวนหลุมที่มีการขุดไว้เพื่อเตรียมวางระเบิดนั้น พ.ท.วรพล วรพันธ์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 2 ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ค่ายลูกเสือ ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก ระบุว่า ในช่วงเดือนตุลาคมปี 2549 เดือนเดียวพบหลุมระเบิดมากถึงประมาณ 30 หลุม จากนั้นทยอยพบมาเรื่อยๆ ในจำนวนนี้มีระเบิดฝังอยู่และสามารถเก็บกู้ได้เพียง 5 ลูกเท่านั้น


 


จะเกิดอะไรขึ้นหากทั้ง 50 หลุมมีระเบิดฝังอยู่


 


พ.ท.วรพล บอกว่า ในพื้นที่ตำบลท่ากำชำ เคยมีการตรวจค้นและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาแล้วหลายกลุ่ม เมื่อปี 2547 โดยนำมาพูดคุยซักถามแล้วก็ปล่อยตัวกลับไป กลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อเหตุ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุร้ายเกิดขึ้นอีกในพื้นที่ตำบลท่ากำชำและพื้นที่ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงก็จำเป็นต้องเข้าตรวจค้นตามที่ได้รับข้อมูลมา โดยเฉพาะหมู่บ้านท่ากำชำ


 


 



พ.ท.วรพล วรพันธ์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 2


 


แม้ว่าภายในหมู่บ้านท่ากำชำ จะไม่เคยเกิดเหตุร้ายใดๆ เลย แต่เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นรอบๆ ได้ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของคนทั่วไปมาก ไม่ว่า เหตุการณ์ยิงคนรับซื้อเศษทองเมื่อปี 2548 เหตุคนร้ายบุกเผาศาลาที่ทำการของสมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีและเรือตรวจการณ์ ที่บ้านตันหยงเปาว์ หมู่ที่ 4 ตำบลท่ากำชำ เมื่อคืนวันที่ 18 เมษายน 2550


 


เหตุการณ์ฆ่าตัดคอและเผานั่งยางนายปรีชา นวลทอง อายุ 30 ปีและ ด.ช.ดุสิต นวลทอง อายุ 14 ปี ซึ่งเป็นหลานนายปรีชา ชาวอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี บนถนนบริเวณ หมู่ที่5 บ้านดอนนา ตำบลบางเขา อำเภอหนองจิก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550


 


ล่าสุดเกิดเหตุคนร้ายซุ่มโจมตีทหารชุดรักษาความปลอดภัยครูโรงเรียนบ้านดอนนา ชุด มว.2341 เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 สิงหาคม 2550 พร้อมกับตัดต้นไม้ วางวัตถุต้องสงสัย โรยตะปูเรือใบ บนถนนสายบ้านคลองขุด - บ้านตันหยงเปาว์, สายบ้านปรัง - บ้านท่ายามู, สายบ้านท่ายามู - บ้านทุ่งนเรนทร์


 


เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ครู 6 โรงเรียน ในพื้นที่ตำบลท่ากำชำและตำบลบางเขา ได้แก่ โรงเรียนบ้านตันหยงเปาว์, โรงเรียนบ้านแคนา, โรงเรียนบ้านสายหมอ, โรงเรียนบ้านท่ากำชำ, โรงเรียนบ้านบางทัน และโรงเรียนบ้านดอนนา ไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาเคลียร์พื้นที่จนสามารถเปิดทางได้ในเวลาประมาณ 18.00 น.ของวันเดียวกัน


 


หลังเกิดเหตุดังกล่าว 2 วัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นหมู่บ้านท่ากำชำและควบคุมผู้ต้องสงสัยไปได้ 9 คน ตามอำนาจในกฎอัยการศึกษาและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2550 พร้อมกับยึดปืนพกสั้นไปได้ 1 กระบอก ที่บ้านของนายมะมิง ดามิ อายุ 63 ปี อาชีพเลี้ยงไก่และเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการประมงบ้านท่ากำชำ พร้อมกับวัตถุต้องสงสัยอีกจำนวนหนึ่ง


 


ทั้งนี้มีรายงานว่า หลังจากถูกควบคุมตัว 4 วัน เจ้าหน้าที่ระบุว่า จากการตรวจสอบหัวกระสุนปืนที่พบในที่เกิดเหตุยิงถล่มทหารชุดคุ้มครองครูตรงกับปืนของเขา ขณะที่มะมิงยืนยันว่า ปืนของเขามีใบอนุญาตถูกต้องและไม่เคยให้คนอื่นยืมไปใช้ตั้งแต่ปี 2546


 


ส่วนคนอื่นๆ ที่ถูกเชิญตัวไปสอบสวนด้วย ประกอบด้วย นายอับดุลเลาะ มูซอ อายุ 25 ปี อาชีพรับจ้างงานก่อสร้างและทำการประมงพื้นบ้านในทะเลใกล้หมู่บ้านในช่วงว่างงาน เป็นผู้นำเยาวชนในการร่วมฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน ของเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการประมงบ้านท่ากำชำ ร่วมกับเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์อ่าวปัตตานี จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3


 


นายอับดุลตอเละ ระยะหลง อายุ 27 ปี อาชีพเป็นพนักงานเก็บขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลท่ากำชำ นายแวหามะ มามะ อายุ 30 ปี เป็นพนักงานโรงงานยางพารา พื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านปรัง ตำบลท่ากำชำ


 


นายนุลี อาแว อายุ 23 ปี และนายนาแว อาแว น้องชาย ทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) นายยะยาห์ สุหลง อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนปอเนาะส่งเสริมอิสลามศึกษา บ้านท่ายามู ตำบลท่ากำชำ กำพร้าพ่อแม่ อาศัยอยู่กับพี่สาว





บ้านพักของนาแวและนุลี


 


 


นายอาหามะกาแม บือราเฮง ชาวตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เข้ามาแต่งงานกับชาวบ้านท่ากำชำได้สองเดือนก่อนถูกควบคุมตัว มีอาชีพหาปลา และนายตอเละ มอลอ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "มะ มาโบะ" อายุ 23 ปี อาชีพเลี้ยงวัว


 


ต่อมาทั้งหมดถูกส่งตัวเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพที่ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะเวลา 4 เดือน ยกเว้นนายหามะกาแม ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร


 


ส่วน"มะ มาโบ๊ะ" นั้นวันที่เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้น เขากำลังเลี้ยงวัว 3 ตัว อยู่บริเวณทุ่งนาข้างหมู่บ้านริมถนนทางไปบ้านบางทัน สายบ้านท่ายามู - บ้านทุ่งนเรนทร์


 


 



มะ มาโบ๊ะ


 


มะ เป็นคนปัญญาอ่อน ถูกทหารเข้ามาควบคุมตัวภายในบ้าน ซึ่งตอนนั้นมีนายอาแว ยูโซ๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านท่ากำชำอยู่ด้วย ซึ่งอาแวพยายามยืนยันกับทหารชุดตรวจค้นว่า มะเป็นคนดี ไม่มีทางที่จะไปก่อเหตุร้ายได้ เพราะเป็นคนสติไม่สมประกอบ


 


อาแว บอกว่า ทหารกลุ่มดังกล่าวก็ยังต้องการควบคุมตัวเขาให้ได้ เนื่องจากขณะเจ้าหน้ากำลังตรวจค้นในบริเวณดังกล่าวอยู่นั้น "มะ" กำลังเดินกลับมาถึงบ้าน เมื่อเห็นว่ามีทหารยืนอยู่หน้าบ้านหลายนาย เขาจึงวิ่งเข้าบ้านทางประตูด้านหลัง


 


เมื่อเห็นดังนั้นทหารกลุ่มดังกล่าวจึงต้องการเข้าไปควบคุมตัว "มะ" มาสอบถาม เนื่องจากมีพฤติกรรมน่าสงสัย หลังจากอาแว พยายามยืนยันว่า ไม่ใช่คนร้าย แต่ไม่เป็นผล เพราะทหารกลุ่มตังกล่าวต้องการตัวมาสอบถามอยู่ดี เขาจึงพาทหารเข้าไปในบ้าน เอาตัว "มะ" ออกมา


 


อาแว บอกว่า เมื่อเอานำตัว "มะ" ออกมาอยู่หน้าบ้าน เจ้าหน้าที่จึงเอาเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ตรวจสอบตามตัว "มะ" ปรากฏว่า เครื่องชี้ว่ามีสารประกอบระเบิดตามตัวถึง 4 จุด ซึ่งมากกว่า คนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวไปด้วยกัน นายทหารหัวหน้าชุดตรวจค้นยืนยันว่า จำเป็นต้องควบคุมตัวไปด้วย


 


"ผมรู้สึกน้อยใจมากที่ทหารพวกนั้นไม่เชื่อผม ผมยืนยันเองว่าเขาเป็นคนที่ดียิ่งกว่าคนดีทั่วไปเสียอีก น้ำตาผมตกเลย"


 


อาแว บอกอีกว่า แม้แต่ในกลุ่มทหารที่เข้ามาตรวจค้นในวันนั้นยังพูดกันเลยว่า มีการจับเต่าเข้าแล้ว เพราะเชื่อว่าเขาน่าจะเป็นคนที่มีสติไม่สมประกอบจริง ต่อมาทั้งหมดก็ถูกนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก


 


แม้ว่า "มะ" จะถูกปล่อยตัวกลับมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 รวมระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัว 7 วัน แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2550 กลุ่มชาวบ้านท่ากำชำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติกับผู้ที่ถูกควบคุมตัว กว่า 40 คน นำโดย อาแว ได้เดินทางไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ถูกควบคุมตัวทั้งหมด ต่อ พล.ต.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าสำนักงานแม่ทัพภาคที่ 4 โดยขอให้ปล่อยตัวทั้งหมดโดยเร็ว


 


พร้อมทั้งขอให้สอบสวนพฤติกรรมของนายทหารชุดตรวจค้นและย้ายออกจากพื้นที่ เนื่องจากมีพฤติกรรมก้าวร้าว รวมทั้งขอให้ทบทวนกระบวนการควบคุมตัวชาวบ้าน และการใช้เครื่องตรวจวัตถุระเบิดดังกล่าว เป็นต้น


 


ทั้งนี้ในเอกสารบันทึกลำดับเหตุการณ์ควบคุมตัวชาวบ้านที่แนบไปพร้อมกับหนังสือขอความเป็นธรรมนั้น ระบุว่า ขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว 3 คน เป็นพิเศษ คือ นายมะมิง ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ นายตอเละห์ (มะ มาโบ๊ะ) มีสติไม่สมประกอบ และนายยะยาห์ นักเรียนโรงเรียนปอเนาะส่งเสริมอิสลามศึกษา


 


โดยเห็นว่า การควบคุมตัวทั้ง 3 คน ทำให้ชาวบ้านเสียใจ เศร้าใจและคับแค้นเจ้าหน้าที่รัฐมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตัว มะ มาโบ๊ะ ทำให้ผู้ชายและเยาวชนในหมู่บ้านหลายคน ได้ออกจากหมู่บ้านไปพักที่อื่นชั่วคราว เพราะเกรงว่าจะถูกจับเหมือน มะ มาโบ๊ะ


 


นอกจากนี้ในเอกสารบันทึกลำดับเหตุการณ์ ยังระบุด้วยว่า ในการควบคุมตัวครั้งนี้ มีการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ คล้ายเครื่องเอ็กซเรย์ประกอบการตรวจค้น เมื่อเข็มของเครื่องมือดังกล่าวชี้ไปที่ตัวบุคคลใด ก็จะถูกควบคุมตัว ซึ่งทหารบอกว่า เครื่องมือดังกล่าวตรวจพบเขม่าดินปืนที่ตัวชาวบ้าน


 


เครื่องมือนี้มีเสียงร้องขึ้นเมื่อมีทหารที่ถือเครื่องมือดังกล่าว เข้าไปยืนใกล้ลูกสาวของผู้ใหญ่บ้านซึ่งกำลังตั้งครรภ์และมีอาชีพขายลูกชิ้นปิ้ง รวมทั้งเข็มยังชี้ไปที่ตัวนายมะมิง ซึ่งมีอาชีพเลี้ยงไก่ระบบฟาร์ม นายนาแว ซึ่งมีเหล็กดามที่ขา ซึ่งแพทย์ได้ใส่ไว้หลังจากผ่าตัดเนื่องจากอุบัติเหตุ นายยะยาห์ และนายแวอามะ ขณะนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักเที่ยงของโรงงานยางพาราที่เขาทำงานอยู่ จึงเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกคุกคามด้วยเครื่องมือชนิดนี้


 


ทั้งนี้ เครื่องตรวจสารระเบิดดังกล่าว เรียกว่า "ทีโม" (Themo) มีราคาเครื่องละ 1.5 ล้านบาท


 


ส่วนอีก 4 คนที่ถูกควบคุมตัวไป ในเอกสารดังกล่าวระบุด้วยว่า นายอับดุลเลาะ มูซอ ถูกควบคุมตัวขณะกำลังแบกอวนเตรียมออกทะเลพร้อมกับนายหามะ กาแม นายอับดุลตอเละห์ ถูกจับขณะเดินอุ้มลูกและแกว่งไปมา นายนุลีถูกจับขณะนอนอยู่พร้อมน้องชายคือนายนาแว


 


สำหรับนายหามะกาแมนั้น ข้อมูลจากฝ่ายทหารระบุว่า เป็นคนร้ายตัวจริง เพราะมีหมายจับของจังหวัดสงขลาถึง 4 คดี ทำหน้าที่ชักชวนเยาวชนในพื้นที่บ้านท่ากำชำ เข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ โดยเป็นผู้นำการสาบานตน หรือ ซุมเปาะ


 


ข้อน่าสังเกตก็คือว่า ถ้าเป็นคนร้ายตัวจริง แล้วทำไมถึงถูกปล่อยตัว เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา อันเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาควบคุมตัว ตามกฎอัยการศึก 7 วัน และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ระยะเวลาอีก 30 วัน โดยไม่ดำเนินคดี


 


ทั้งๆ ที่ขณะเข้าควบคุมตัว ฝ่ายทหารระบุว่า หามะกาแม กำลังจะหนีลงเรือ โดยมีนายอับดุลเลาะวิ่งตามไป


 


สำหรับเหตุที่ "มะ" ถูกควบคุมตัวไปด้วยนั่น อาแว บอกว่า น่าจะมาจากบริเวณที่เขาเลี้ยงวัว อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุคนร้ายยิงเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองครูเมื่อสองวันก่อนหน้านั้น บนถนนสายบ้านท่ายามู - บ้านทุ่งนเรนทร์ ประมาณ 300 เมตร เขม่าดินปืนอาจยังคงฟุ้งกระจายอยู่ แล้วไปตกที่ตัวมะ


 


ในวันที่เข้าไปควบคุมตัวชาวบ้าน มีทหารเข้าไปตรวจสอบบริเวณที่ มะ เลี้ยงวัวอยู่ และไล่ มะ กลับบ้าน เมื่อกลับมาถึงบ้านก็มาเจอทหารหลายนายยืนอยู่หน้าบ้าน มะ เลยหลบเข้าบ้านทางประตูด้านหลัง แทนที่จะเข้าทางประตูหน้าบ้าน จึงทำให้ทหารชุดตรวจค้นเกิดความสงสัยเข้าไปควบคุมตัว


 


อีกเหตุผลหนึ่งที่ มะ ถูกควบคุมตัวไป อาแวบอกว่า เนื่องจากเขาไม่ได้อาบน้ำมาหลายวันแล้ว เครื่องตรวจสารระเบิดจึงพบสารระเบิดตามตัวเขา เพราะเนื้อตัวสกปรก ไม่รู้ว่ามีสารอะไรต่อสารอะไรติดอยู่


 


"ก็คนสติไม่สมประกอบ ใครจะไปช่วยอาบน้ำให้เขา เนื้อตัวเหม็น เครื่องตรวจก็เลยพบสารระเบิดเยอะกว่าเพื่อน เขาไม่ค่อยพูด ยิ่งเวลามีคนอยู่มากๆ เขาจะหนีไปเลยไม่กล้าเข้าใกล้ แล้วจะไปก่อเหตุได้อย่างไร จะถามเขาก็คงตอบไม่ถูก"


 


สำหรับ 7 วันที่ถูกควบคุมตัวนั้น "มะ" บอกสั้นๆ เป็นภาษามลายูท้องถิ่นว่า "กลัว" บวกกับแสดงอาการเขินๆ อายๆ


 


เมื่อถามต่อว่าอยู่ที่ค่าย ทหารถามอะไรบ้าง


 


มะ ทำหน้างงเล็กน้อย ก่อนจะตอบว่า ไม่ถาม ซึ่งเมื่อถามต่อไป มะ ก็ไม่มีคำตอบอีกแล้ว ยกเว้นรอยยิ้มอายๆ เท่านั้น


 


ขณะที่แม่ของ มะ ซึ่งมีอายุเกือบ 60 กว่า ปีแล้ว บอกว่า วันที่ทหารมาคุมตัวไป ตนก็ได้แต่มอง ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน ทหารถามว่าทำงานอะไร ตอบว่าทำนา และมะบอกว่าจะไม่ไปเลี้ยงวัวในที่เดิมอีกแล้ว


 


"เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม่ต้องเอาคนสติไม่สมประกอบไปด้วย"


 


แม้ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่ามีสติที่ไม่สมประกอบ แต่ก็มีเพียงใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ พ.ศ.2548 (แบบ สด.43) เท่านั้นที่ระบุว่า สมองโตช้า สมควรเป็นบุคคลจำพวกที่ 4 ซึ่งไม่สามารถเข้ารับราชการทหารได้


 


อาแว บอกว่า การควบคุมตัว มะ ไปพร้อมคนอื่นๆ อีก 8 คนนั้น ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังต่อเจ้าหน้าที่รัฐมาก เพราะไม่เชื่อว่า "มะ" จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุร้าย และชาวบ้านเชื่อว่าทำให้คนที่บริสุทธิ์รู้สึกหวาดกลัวไปด้วย เพราะขนาดคนสติไม่สมประกอบยังถูกควบคุมตัวได้ แล้วนับประสาอะไรกับคนดีๆ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้นทำให้มีชาวบ้านบางส่วนย้ายออกไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว ไม่กล้าอยู่ที่บ้าน เพราะกลัวจะถูกควบคุมตัวไปด้วย


 


เขาบอกว่า ชาวบ้านที่นี่ก็ต้องการให้ทางการจับกุมผู้กระทำผิดให้ได้ด้วยเช่นกัน หากมีหลักฐานชัดเจนก็จับกุมไปได้เลย เพราะชาวบ้านที่นี่ต้องการอยู่อย่างสงบด้วยเช่นกัน ไม่อยากให้เกิดเหตุร้ายขึ้นในหมู่บ้าน รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ด้วย


 


เขาเปรียบเทียบเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า นี่ไม่ใช่การเหวี่ยงแหจับกุม แต่เป็นอวนลากของพวกนายทุน ที่ลากทุกสิ่งทุกอย่างไป ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทะเล แล้วจะให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างมีความสุขได้อย่างไร


 


ด้าน พ.อ.วันชัย พ่วงขุมทรัพย์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 2 พูดถึงเรื่องนี้ว่า มีความเป็นไปได้ว่า เขม่าดินปืนหรือสารระเบิดอาจฟุ้งกระจายอยู่แล้วไปถูกคนที่ผ่านไปมาในบริเวณที่เกิดเหตุได้ เพราะสามารถฟุ้งกระจายไปได้ถึง 200 เมตร


 


แต่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย หากตรวจพบว่า มีสารประกอบระเบิดตามร่างกายหรือเสื้อผ้า ก็ต้องเชิญตัวไปซักถามก่อน ดังนั้น การพบสารผลิตระเบิดตามตัวหรือเสื้อผ้า ไม่ได้หมายความว่า เป็นผู้กระทำผิด แต่ต้องมีการนำสารที่พบตามตัวไปตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง เพื่อแยกประเภทของสาร และสามารถยืนยันได้ว่าเป็นผู้กระทำผิดจริง


 


"ตอนนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร ถ้าพบสารตามตัวก็ต้องควบคุมตัวไปก่อน ยิ่งในการซักถาม ถ้าพบพิรุธก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยก็ต้องควบคุมตัวต่อไปอีกเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัด แต่ถ้าเป็นคนสติไม่ดีก็ต้องมีหลักฐานทางการแพทย์มายืนยันเราถึงจะเชื่อ"


 


ไม่เพียงการควบคุมตัว มะ มาโบ๊ะ ไปเท่านั้น ที่สร้างความรู้สึกผิดหวังให้กับชาวบ้าน ผู้ถูกควบคุมตัวอีกหลายคนมีบทบาทเป็นแกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการประมงบ้านท่ากำชำ โดยเฉพาะอับดุลเลาะ และนายมะมิง ส่วนคนอื่นๆ ก็มีส่วนในการสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าชายเลนของหมู่บ้านด้วย


 


"นาวีวัฒน์ หะยีบาซอ" แกนนำเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการประมงบ้านท่ากำชำ บอกว่า นายมะมิง มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้รู้สภาพแวดล้อมของชุมชนเป็นอย่างดี เพราะประกอบอาชีพประมงมาก่อน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าชายเลนของหมู่บ้าน ยิ่งขณะนี้ทางเครือข่ายฯ กำลังจะได้รับงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จากสำนักงานกองทุนสนับการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) จำนวนหนึ่ง หากขาดเขาไปหนึ่งคนก็คงจะทำงานยากขึ้น


 


ส่วนอับดุลเลาะนั้น มีบทบาทสำคัญในการนำนักศึกษาที่มาทัศนศึกษาในพื้นที่ป่าชายเลน พาชมตามจุดต่างๆ ของป่าชายเลนประจำหมู่บ้าน


 


นาวีวัฒน์ ระบุว่า พื้นที่ป่าชายเลนของหมู่บ้านมีประมาณ 1,500 ไร่ ประกอบด้วย ป่าเสม็ด และป่าโกงกาง โดยบางส่วนของป่า เดิมเป็นพื้นที่โล่งน้ำขึ้นถึง ต่อมาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าชายเลนขึ้นมาโดยการช่วยเหลือของนักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และองค์กรพัฒนาเอกชน


 


จากความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านสามารถหาปลาเลี้ยงชีพได้อย่างพอเพียง อีกทั้งยังมีชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ เข้าจับปลาด้วย แต่ก็มีพื้นที่บางส่วนได้กันออกเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์ โดยขอความร่วมมือชาวบ้านไม่ให้จับสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าว


 


เขาบอกว่า แม้ในพื้นที่รอบๆ หมู่บ้านจะเกิดเหตุร้ายบ่อย แต่ในหมู่บ้านก็ยังไม่เคยเกิดเหตุร้ายขึ้น แม้แต่ชาวไทยพุทธที่เข้ามาจับปูเปี้ยวในป่าชายเลนของหมู่บ้านเป็นสิบๆ ปีมาแล้ว ก็ยังเข้ามาได้เช่นเดิม พวกเขาเองก็ไม่เชื่อว่าคนในหมู่บ้านถูกควบคุมตัวไป เพราะต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ


 


เขาบอกต่อว่า จากการควบคุมตัวดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านคิดที่จะประท้วงโดยปิดถนนสาย 43 (หาดใหญ่ - ปัตตานี) แต่ก็เกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับคนอื่นอีกมาก จึงไม่ทำ ส่วนคนที่หนีไปหลังจากคนในหมู่บ้านถูกควบคุมตัวไป ได้พยายามติดต่อให้กลับมาแล้ว แต่จนวันนี้พวกเขาก็ยังไม่กล้ากลับมาบ้าน


 


"เกิดเหตุร้ายในหมู่บ้าน แต่เจ้าหน้าที่มาควบคุมตัวคนในหมู่บ้านไป ทั้งที่ในหมู่บ้านก็ไม่เคยเกิดเหตุร้ายขึ้นเลย ในอดีตชาวบ้านหากินไม่ได้ ต้องย้ายออก แต่วันนี้เรามีที่หากิน แต่หากินไม่ได้ เพราะกลัวเจ้าหน้าที่ ต้องย้ายออกไปด้วย เหมือนกับศักดิ์ศรีของหมู่บ้านถูกทำลายไปแล้ว เพราะที่ผ่านมาพวกเราให้ความร่วมมือกับรัฐมาตลอด" นั่นคือสิ่งที่เขาถ่ายทอดความรู้สึกออกมา


 


แม้ล่าสุด นายยะยาห์ ถูกส่งกลับมาบ้านแล้ว เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2550 นายหามะกาแม ถูกส่งกลับเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2550 ส่วนนายมะมิง ที่ปรึกษาสำคัญของชาวบ้าน ถูกส่งตัวกลับในวันที่ 13 กันยายน 2550 แล้ว


 


ทว่า ร้อยปริแยกที่มองไม่เห็นระหว่างรัฐกับชาวบ้านจะยิ่งถ่างห่างออกไปทุกที หากไม่รีบหาทางบรรเทาก่อนจะสายเกินแก้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net