Skip to main content
sharethis




เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 50 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ร่วมกับกลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 และคนเดือนตุลาไม่เอาเผด็จการ จัดงานรำลึก 34 ปี 14 ตุลา




กิจกรรมเริ่มต้นขึ้น ด้วยการอ่านแถลงการณ์และบทกวี พร้อมทั้งแสดงละครล้อเลียน ณ บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้เข้าร่วม อาทิ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นพ.เหวง โตจิราการ นายเกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข


 





โดยละครล้อเลียนนั้น ได้เสียดสีอดีตคนเดือนตุลา โดยมีคนสวมหน้ากากเป็นนายธีรยุทธ บุญมี นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายประพันธ์ คูณมี และทำพิธีจุดธูปอัญเชิญดวงวิญญาณจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อคารวะขอขมาที่เคยขับไล่ในสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยมีบุคคลที่สวมหน้ากากนายธีรยุทธ เป็นผู้นำในการทำพิธีดังกล่าว และช่วงท้าย ได้ให้คนสวมหน้ากาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ยืนให้อดีตแกนนำคนเดือนตุลาก้มลงเลียรองเท้าทหารพร้อมทั้งตะโกนว่า เผด็จการจงเจริญ


 


ถัดจากนั้น เป็นการอภิปรายเนื่องในโอกาส 34 ปี 14 ตุลา ในหัวข้อ "เจตนารมณ์ 14 ตุลา กับสถานการณ์ปัจจุบัน" ผู้ร่วมอภิปราย อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีตนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปี 2519, วิจิตร ศรีสังข์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม มธ. และอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2517, ณัฐวุฒิ วัชรกุลดิลก อดีตกรรมการสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้ช่วยบรรณาธิการเครือนชั่นกรุ๊ป อดีตสมาชิกวงดนตรีต้นกล้า และสมาชิกสภาองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2517 ดำเนินรายการโดย จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตผู้ก่อตั้งสภาหน้าโดม มธ. และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ล่าสุดเพิ่งถูกถอดถอนไปหลังเข้าร่วมกิจกรรมต้านรัฐประหาร


 


วิจิตร ศรีสังข์ กล่าวว่า อุดมการณ์ 14 ตุลา เป็นเรื่องต้องการรัฐธรรมนูญ ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีอำนาจตัดสินใจการบริหารประเทศ และไม่ต้องการรัฐทหาร ไม่ต้องการให้ทหารใช้อาวุธมายึดอำนาจ เพราะมันก็คือการปล้นประเทศชาติ เท่านั้นเองคือสิ่งที่คิดกันเมื่อ 14 ตุลา ถ้าเทียบกับสถานการณ์ทุกวันนี้ สถานการณ์มันซับซ้อนมากขึ้นว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน


 


"บางที คนอย่างคุณคำนูณ (สิทธิสมาน) หรือประพันธ์ (คูณมี) เขาอาจเข้าใจว่า กำลังสู้กับเผด็จการอยู่ก็ได้"


 


วิจิตรกล่าวว่า ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า "อำมาตยาธิปไตย" ซึ่งเข้าใจว่าชาวบ้านร้อยละ 90 ไม่เข้าใจว่ามันแปลความหมายว่าอะไร แต่ที่จะพูดถึงประเด็นนี้คือ ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็มี "อำมาตยาธิปไตย"เหมือนกัน เพราะไม่เชื่อว่าพลังนักศึกษาอย่างเดียวจะไปล้มจอมพลถนอม จอมพลประภาสได้


 


มาวันนี้ จึงมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายกันไปหมด แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ล้มอำมาตยาธิปไตย มีจำนวนน้อยลงทุกที


 


"ปัญหาคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสเข้าร่วมมากกว่านี้ ซึ่งผมคิดว่ามันต้องเป็นเรื่องของพรรคการเมืองอยู่ดี


 


"พูดกันอย่างนี้แล้วกันว่า ปี 2519 พรรคประชาธิปัตย์ทำท่าจะเติบโต ตอนนั้นมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้า เขาก็ทุบทิ้ง มาวันนี้ พรรคไทยรักไทยทำท่าจะเติบโต ก็ถูกทุบทิ้ง"


 


ต่อเรื่องพรรคการเมืองนั้น วิจิตรกล่าวว่า พรรคการเมืองบ้านเราจะเป็นรัฐบาลผสมที่แข็งแรงไม่ได้ ประเทศไทยมีอำนาจรัฐบาลซ้อนรัฐบาลอยู่ตลอด แล้วเทวดาที่ไหนก็บริหารประเทศไมได้ ไม่มีอีกแล้ว ต้องเข้าไปทำความเข้าใจให้เห็นว่า ปัญหาที่ว่า "อำมาตยาธิปไตย" คืออะไรให้คนเขาเข้าใจ


 


เขาย้ำพร้อมกับถามทิ้งท้ายไว้ว่า เจตนารมณ์ 14 ตุลา คืออยากได้รัฐธรรมนูญ ไม่ชอบรัฐทหาร ไม่อยากให้ทหารปฏิวัติ แล้วตอนนี้ เราต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน ประชาธิปไตยแบบไหนที่ประชาชนต้องการ


 


ด้านจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวว่า การเรียกหาเสรีภาพ ใช้เวลามานานมาก ตั้งแต่ปี 2490 มาจนปี 2516 ก็ใช้เวลาตั้ง 26 ปีที่เมืองไทยอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร มีการร่างรัฐธรรมนูญครั้งละนานๆ หลายปี แล้วก็ใช้ฉบับละสั้นมากๆ ก่อนจะมีการยึดอำนาจอีก


 


อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยกล่าวว่า การปกครองแบบเผด็จการทหารที่ยาวนานสร้างปัญหากับประเทศมาก แล้วก็รับเอาแนวคิดประชาธิปไตยมา ผ่านทางปัญญาชนไทย มีการเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการผ่านทางมหาวิทยาลัย มีการเรียกร้องเกี่ยวกับปากท้องของประชาชน เช่น ประท้วงการขึ้นค่ารถเมล์ และการเคลื่อนไหวอีกหลายๆ อย่าง นั่นคือ เป็นสภาพที่ไม่พอใจเผด็จการที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การเรียกร้องเคลื่อนไหวต่างๆ  ไม่ทรงพลัง จนกระทั่งมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และผู้เรียกร้องถูกจับเป็น 13 กบฏ


 


"ประเด็นใหญ่ที่ขมวดให้คนมารวมกันได้คือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ"


 


จาตุรนต์กล่าวว่า แม้แรงผลักดันรัฐธรรมนูญ จะมาจากความไม่พอใจในการใช้อำนาจบาตรใหญ่ การทำอะไรที่นอกกฎหมาย แต่เรายังมีสิ่งที่พัฒนาความคิดกันไม่ชัดเจนนัก ว่าที่แท้แล้ว เราต้องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญไปทำไม และแม้ว่าผู้ไปยื่นเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ถูกจับไปด้วยนั้นจะเข้าใจหรือไม่ก็ตาม แต่ความหมายสำคัญของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ คือการปกครองโดยนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งประเทศไทยไม่มี


 


เขากล่าวว่า มาถึงวันนี้ เจตนารมณ์ 14 ตุลา อยู่ในสถานะที่ถูกอธิบายแบบสับสน คนกลุ่มหนึ่งอาจจะมีคำอธิบายแบบหนึ่ง แล้วก็เชื่อว่าไม่สับสน แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ตีความว่า ขอให้ได้ต่อต้านรัฐบาล


 


"และบางกลุ่ม เลยเถิดไปว่า ถ้ารัฐบาลไม่ดี นโยบายไม่ดี ก็รับไม่ได้ และข้าขอเป็นผู้ตัดสิน แล้วไปร่วมกับเผด็จการ" จาตุรนต์กล่าว


 


จาตุรนต์กล่าวต่อไปว่า ความคิดที่ว่า "ยอมไม่ได้ ข้าขอเป็นผู้ตัดสิน" คือการไม่ยอมรับในระบอบรัฐธรรมนูญ บอกว่าคนส่วนหนึ่งสามารถตัดสินประเทศได้ ทหารมายึดก็ไม่เสียหายอะไร จะมาจากเผด็จการก็ไม่เป็นไร ขอแค่ได้รัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งการพูดแบบนี้คือการไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ประเทศเป็นนิติรัฐ วิธีคิดเช่นนี้ นอกจากทำให้เจตนารมณ์เดือนตุลาสับสนแล้ว ยังทำให้ความหมายของคนเดือนตุลาเกือบจะหาคำนิยามไม่ได้


 


อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยตั้งคำถามว่า ทำไมคนจำนวนมากย้ายข้างไปสนับสนุนเผด็จการ คนเดือนตุลาจำนวนไม่น้อย ปัญญาชนจำนวนมาก ได้ย้ายข้างไปสนับสนุนเผด็จการ ในทางการเมืองผมถือว่าน่าเสียใจอย่างที่สุดที่ปัญญาชนผู้เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หันไปสนับสนุนเผด็จการ แถมยังอ้างว่าเป็นคนเดือนตุลา


 


จาตุรนต์กล่าวว่า คนจำนวนหนึ่งคิดว่า ถ้ามีรัฐบาลที่ทุจริต ไม่มีจริยธรรม ก็เอาคนดีมาปกครอง จะล้มรัฐธรรมนูญก็ได้ แล้วรัฐธรรมนูญใหม่จะดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องคนเขียน ทั้งนี้บ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่นั้น เป็นเรื่อง "ระบบการปกครอง" แต่คนไทยจำนวนมากเหลือเกินในประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับระบบ ระบอบ แต่ไปเน้นที่ตัวบุคคล ไปเน้นในสิ่งที่เป็นนามธรรม


 


เขาได้เสนอทิ้งท้ายว่า คงต้องมาถกถึงเจตนารมณ์ 14 ตุลา แล้วสร้างองค์ความรู้ใหม่ สร้างกติกาว่า อะไรคือระบอบรัฐธรรมนูญ นิติรัฐคืออะไร นิติธรรมคืออะไร เสรีภาพคืออะไร เสรีภาพสื่อคืออะไร ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ระบบพรรคการเมืองสำคัญแค่ไหน


 


เขาเสนอว่า สังคมไทยต้องรวบรวมคนที่คิดอะไรได้ ปัญญาชน มารวมกัน ดีกว่าจะให้สังคมไทยเรียนรู้จากประสบการณ์ทางตรงที่ใช้เวลายาวนาน เหมือนสมัยปี 2490 ที่ต้องใช้เวลาถึง 26 ปี ให้ความเลวร้ายสะสมถึงเกิด 14 ตุลา ขึ้นมา แล้วสังคมเรา ถ้าให้คมช.ยึดอำนาจไปห้าปีสิบปี ทุกคนคงเรียนรู้กันหมดว่ามันเลวร้ายจริงๆ แต่เวลานี้ ปัญญาชนย้ายข้างไป


 


"รากฐานความคิดมันไม่แน่น ที่ผมเสนอคือ มาช่วยกันคิด สร้างความเข้าใจ อย่าปล่อยให้สังคมไทยเรียนรู้ทางตรงจนใช้เวลานานถึงสิบปีกว่าจะมาเรียนรู้ว่า เผด็จการมันเลวร้ายจริงๆ จะทำอย่างไรให้มันมีทางลัด แทนที่จะผ่านประสบการณ์ทางตรงที่ใช้เวลายาว ก็ต้องมาเร่งสร้างองค์ความรู้" จาตุรนต์กล่าว


 


นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เจตนารมณ์ 14 ตุลา ไม่ชัดเจน เราไม่เคยพูดเรื่องหลักการ มีแต่อารมณ์ เราจึงไม่เคยมีหลักการเรื่องประชาธิปไตย จึงไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร มีแต่การพูดเพื่อโก้เก๋ที่เรียกร้องเสรีภาพ แต่เป็นเสรีภาพของตัวเองเท่านั้นเอง


 


"ดังนั้น ประชาธิปไตยของสังคมไทย ก็เป็นของคนมีสตางค์และมีอำนาจ" นิธินันท์กล่าว


 


นิธินันท์กล่าวว่า การจะทำความเข้าใจหลักการของประชาธิปไตย ต้องไม่ลืมสองหลักใหญ่ของเจตนารมณ์ 14 ตุลา คือหลักประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐ


 


ในเรื่องหลักประชาธิปไตยนั้น คือหลักของประชาชน อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ที่จะใช้ปกครองตัวเอง ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงนำไปสู่ความเสมอภาค, เป็นการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ที่เคารพเสียงส่วนน้อย ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ปิดปากคนส่วนน้อย และไม่ใช่เสียงส่วนน้อยที่ไปกระทืบคนที่คิดไม่ตรงกัน


เพราะการเคารพเสียงส่วนน้อย นำไปสู่การตรวจสอบ


 


"สิ่งที่เราต้องทำต่อไป แทนที่จะมารำลึกวีรชน เราต้องมาแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงหลักการอย่างจริงจังเสียทีว่า ประชาธิปไตยคืออะไร" นิธินันท์กล่าว


 


ในเรื่องหลักนิติรัฐนั้น คือการปกครองโดยกฎหมาย กฎหมายต้องประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีองค์กรตรวจสอบถ่วงดุล สิทธิขั้นพื้นฐานคือสิทธิพลเมืองที่รัฐให้การรับรอง เป็นหลักประกันความเสมอภาค คำถามคือ เรามีจริงเหรอ


 


นิธินันท์ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีอะไรบ้างนอกจากเปลี่ยนหน้าคนปกครอง พร้อมทั้งเรียกร้องกับสื่อ ไม่เว้นสื่อที่นิธินันท์สังกัดอยู่ว่า ต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย ทำความเข้าใจให้มากไปกว่าการเดินขบวนขับไล่รัฐบาล ที่ผ่านมา หากคนมีอำนาจไม่ไล่กันเอง ประชาชนก็ไม่มีทางชนะ แล้วสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทำลงไป ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศเลย นอกจากความฉิบหาย


 


ด้านณัฐวุฒิ วัชรกุลดิลก อดีตกรรมการสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย เล่าถึงเพื่อนคนเดือนตุลา ที่ไปเข้าร่วมกับเวทีพันธมิตรว่า รู้สึกเจ็บปวดที่ต้องมาทะเลาะกับพรรคพวกที่ไปสนับสนุนรัฐประหาร


 


เขากล่าวว่า เราต้องเจาะลึกสังคมไทยพอสมควร สังคมไทยเป็นสังคมที่ปากว่าตาขยิบ กายกับใจไม่ตรงกัน เป็นสังคมแห่งอารมณ์ ไม่มีหลักการ ไม่มีเหตุผล นอกจากนี้ สังคมไทยยังใช้วีรบุรุษเปลืองอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net