Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 50 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดแถลงข่าว "กรณีการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสนามบินสุวรรณภูมิ" โดยมี นายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เป็นผู้แถลงข่าวและตอบข้อซักถามต่อสื่อมวลชน ณ อาคารสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีตัวแทนชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้ารับฟังการแถลงข่าวด้วย


จากกรณีที่นายวันชาติ มานะธรรมสมบัติ ผู้ได้รับผลกระทบจากสนามบินสุวรรณภูมิ ยื่นจดหมายร้องเรียนเรื่องปัญหามลภาวะทางเสียงและอากาศรอบสนามบิน ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่ และสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดูแลและตรวจสอบข้อเท็จจริง และลงพื้นที่เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา


นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กล่าวข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสนามบินสุวรรณภูมิ โดยได้มีมติกำหนดข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 2 ข้อ คือขอให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 50 ซึ่งออกมาแก้ไข มติครม.เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2549 แต่ทำให้มีประชาชนบางส่วนไม่ได้รับการดูแล โดยให้กลับไปใช้มติครม.เดิม  และสองให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือราษฎร ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 40 NEF จำนวนกว่า 71 หลังคาเรือน ซึ่งมีความคืบหน้าล่าช้า รวมกับที่มีการสำรวจเพิ่มล่าสุด 154 หลังคาเรือน


นอกจากนี้นายวสันต์ ได้ผลสรุปของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ตั้งขึ้น เพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้ลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของประชาชน พบว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน โดยปัญหามลภาวะทางสียงที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.49 ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทั้งที่ก่อนการก่อสร้างสนามบินไม่เคยมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาผลกระทบเหล่านี้ขัดแย้งกับสิ่งที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้เคยโฆษณาไว้ว่า ประชาชนในพื้นที่จะมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น


ด้านนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากการแถลงข่าวแล้ว ในวันนี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงนามหนังสือถึง พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งรัดแนวทางการแก้ไขปัญหามลภาวะทางเสียง ที่มีชาวบ้านได้รับผลกระทบจำนวนมากให้ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  


"เรื่องนื้เมื่อนำเสนอให้รัฐบาล ผ่านนายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็ต้องรับไปดำเนินการ เพราะการปล่อยให้มีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับการแก้ปัญหา โดนละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป รัฐบาลก็จะมีความผิดเข้าข่ายละเมิด ถือเป็นความผิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ" นายเสน่ห์ กล่าว


ในส่วนการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นอกจากจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลต่อไปทั้งในเรื่องของผลกระทบของผู้อาศัยในพื้นที่ระดับแนวเสียงเส้น NEF 30-40 และอาจมีการเชิญ ทอท.รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยวาจา ซึ่งลำดับขั้นตอนทั้งหมดต้ออาศัยเวลา แต่ก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เสร็จสิ้นก่อนที่คณะกรรมการชุดนี้จะหมดวาระลง นายเสน่ห์ กล่าวว่าจะมีการเสนอเรื่องไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้เรื่องขยายวงกว้าง และต้องการจะทราบว่า สนช.จะมีการดำเนินการอย่างไรในฐานะทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐสภา


ทั้งนี้ นายเสน่ห์ยอมรับว่า กรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นกรณีตัวอย่างของหลายเรื่องที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาล นักการเมือง และนักธุรกิจ ที่หวังจะใช้ทรัพยากรเพื่อแลกกับตัวเงิน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการทุจริตได้


นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าที่ผ่านมาเมื่อคณะกรรมการทำเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการอะไร พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนผู้ประสบปัญหาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำงาน เพื่อระงับถึงต้นเหตุของปัญหา รวมทั้งร่วมผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง


ส่วนกรณีการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในระยะที่ 2 ซึ่งจะมีการก่อสร้างทางขับ (รันเวย์ที่ 3 ) เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น โดย ทอท. มีแผนการลงทุนมากกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านได้มีการร้องเรียนให้ระงับการก่อสร้างนั้น นายเสน่ห์ กล่าวว่า โครงการเดิมก็เป็นการกระทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมชัดเจน เพราะตามกฎหมายที่ระบุว่า การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในแต่ละโครงการต้องทำให้เสร็จก่อนโครงการ เปิดใช้งาน 5 เดือน แต่โครงการเปิดใช้ไปแล้วกว่า 1 ปี การแก้ปัญหามลภาวะทางเสียงที่เกิดจากรันเวย์ที่ 1 และ 2 ยังไม่คืบหน้า หากปล่อยให้มีการก่อสร้างรันเวย์ที่ 3 ต่อไป จะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น


จากข้อมูลเดิมสนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ก.ย.49 โดยระบุว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามเส้นทางการบินของเครื่องบินได้รับความเดือดร้อน เพราะเสียงของเครื่องบินดัง รบกวนการดำเนินชีวิต ชาวบ้านไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เหมือนชุนชนปกติในบริเวณโดยรอบ และมีการตรวจสอบพบว่าอาคารบ้านเรือนที่อ่อนไหวต่อผลกระทบด้านเสียงในพื้นที่ระดับNEF 30-40 หรือเสียงระดับ 60-70 เดซิเบล มีอยู่จำนวน 18,293 อาคาร/เรือน และพื้นที่ผลกระทบเสียงอยู่ในระดับ NEF 40 หรือเสียงระดับ 70 เดซิเบล มีอยู่จำนวน 766 อาคาร/เรือน


นอกจากนี้มีการรายงานด้วยว่า ในวันที่ 17 ต.ค. 50 คณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีนายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม จะมีการประชุมร่วมกับชาวบ้านอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าของการแก้ปัญหา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net