Skip to main content
sharethis

เสร็จไปแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาสำหรับการพิจารณาร่างกฎหมายป่าชุมชน โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 25 คน มี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน เริ่มประชุมกันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550


 


ร่างกฎหมายป่าชุมชน เป็นกฎหมายที่วนเวียนอยู่ในการพิจารณาของสภาหลายยุคหลายสมัย และในสมัยนี้ก็มีการนำเสนอให้ สนช. รับหลักการ จนมันได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ โดยมีการเสนอตั้งต้น 2 ฉบับเพื่อพิจารณา คือ ร่างกฎหมายของรัฐบาล จัดทำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งได้รับการวิพากษ์อย่างมากว่าถอยหลังไปกว่า 18 ปี กับอีกร่างหนึ่งเป็นของ สนช. ซึ่งปรับปรุงจากร่างกฎหมายของภาคประชาชนเดิม  


 


ในช่วงแรกของการพิจารณานั้น ภาคประชาชนที่ผลักดันเรื่องป่าชุมชนมาตั้งแต่ต้นค่อนข้างเป็นกังวลมาก เนื่องจากกฎหมายโน้มเอียงไปทางร่างของรัฐบาล ซึ่งให้อำนาจกับภาคราชการเป็นหลักในการพิจารณาอนุญาตให้จัดตั้งป่าชุมชน และไม่อนุญาตให้จัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงแล้วมีชุมชนมากมายที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ โดยจัดตั้งชุมชนกันมาก่อนจะมีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์  


 


จนกระทั่งเมื่อ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 บังคับใช้แล้ว ตัวแทนชาวบ้านจากเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ จึงยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง เพื่อเสนอให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะ มาตรา 25 และ 34 นั้นได้ลิดรอนสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ซึ่งอาจขัดแย้งกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และ 67 ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตัวเอง


 


ล่าสุด บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ ให้ข้อมูลว่า ที่ประชุมกรรมาธิการฯ ได้ลงมติให้มีการทบทวนร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ด้วยเกรงว่าจะมีบางมาตราขัดกับสิทธิชุมชนที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ ท้ายที่สุด ที่ประชุมได้แก้ไขในมาตราสำคัญ เช่น มาตรา 25 ได้ปรับแก้ให้มีการขอจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่านอนุรักษ์ได้ แต่เงื่อนไข 4 ประการ คือ 1. คือ ชุมชนต้องตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์ 2.ชุมชนต้องดูแลจัดการป่ามาอย่างน้อย 10 ปีก่อนวันที่มายื่นขอจัดตั้ง 3.ชุมชนต้องดูแลป่ามาต่อเนื่องจนมาถึงวันที่มายื่นขอจัดตั้ง 4.ต้องดูพฤติกรรมของชุมชนว่ามีวิถีชีวิตที่เกื้อกูลกับการดูแลรักษาป่า


 


อย่างไรก็ตาม บัณฑูรระบุว่า เงื่อนไขที่สองได้มีการแก้ไขในการประชุมครั้งท้ายนี้ จากเดิมที่กำหนดว่าชุมชนต้องดูแลป่ามาอย่างน้อย 10 ปีก่อนวันที่กฎหมายประกาศใช้ ได้แก้ไขมาเป็น 10 ปีก่อนวันที่มีการยื่นขอจัดตั้งป่าชุมชน ทั้งนี้ ร่างกฎหมานี้ยังระบุต่อด้วยว่า เมื่อกฎหมายนี้ประกาศใช้ ก็ให้มายื่นขอจัดตั้งได้ภายใน 5 ปี ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนที่ยังดูแลป่ามาระยะหนึ่งแต่ยังไม่ถึง 10 ปีได้ขอจัดตั้งป่าชุมชน


 


ส่วนข้อถกเถียงสำคัญก่อนหน้านี้ที่กฎหมายอนุญาตให้เฉพาะชุมชนที่มีถิ่นที่ตั้งอยู่ในป่าอนุรักษ์มีสิทธิขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ได้ ในขณะที่ชุมชนที่มีถิ่นที่ตั้งนอกเขตป่าอนุรักษ์แต่ไปดูแลป่าชุมชนในป่าอนุรักษ์กลับไม่มีสิทธิขอจัดตั้งป่าชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ บัณฑูรกล่าวว่า ล่าสุดตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่มีการจำแนกกรณีพวกนี้ แต่กำหนดโดยรวมคือ ชุมชนตั้งถิ่นฐานมาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์


 


นอกจากนี้ในมาตรา 34 ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก ร่างกฎหมายนี้ปรับแก้จากเดิมที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์จากไม้เฉพาะป่าชุมชนที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ และต้องเป็นบริเวณที่กำหนดเป็นพื้นที่ป่าใช้สอยภายในป่าชุมชนเท่านั้น เปลี่ยนมาเป็น ให้มีการใช้ประโยชน์จากไม้ได้ในเขตป่าใช้สอยของป่าชุมชน ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์หรือนอกเขตอนุรักษ์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระเบียบการใช้ไม้ซึ่งคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนระดับชาติจะเป็นผู้กำหนดต่อไป


 


ถึงตอนนี้ แม้คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่จะลงมติให้มีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนในเนื้อหาสาระสำคัญ แต่คณะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยซึ่งเป็นภาคราชการนั้นยังคงขอสงวนคำแปรญัตติ และหากมีการบรรจุในวาระเพื่อให้ สนช.พิจารณาภายในต้นเดือนพฤศจิกายนตามที่คาดไว้ ก็ต้องลุ้นกันอีกทีว่า สนช.จะลงมติเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อยหรือเสียงข้างมาก


 


"ความเป็นไปได้ในการปฏิบัติได้จริง ก็ต้องผ่านด่านอีกพอสมควร ในแง่สาระว่าป่าชุมชนอยู่ที่ไหน มีการจัดการอย่างไรอันนี้ไม่ต่างจากประชาชน แต่เมื่อพิจารณาไป ด้วยความกังวล ความเป็นห่วงจากกลุ่มอนุรักษ์ ภาคราชการ ทำให้เพิ่มเงื่อนไขเข้ามา จะให้แบบ "คัดเลือกมาดีที่สุด" มันมีเงื่อนไขเพิ่มมาทุกครั้งไม่ว่าในสภาชุดไหน การปฏิบัติมันขึ้นอยู่กับกฎกระทรวง ว่าจะเอื้อให้เกิดความคล่องตัวให้เกิดการใช้กฎหมายนี้แค่ไหน มันก็เป็นเรื่องอนาคตแล้ว" บัณฑูรกล่าว


 


 


เรื่องนี้ทำให้ "เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์" นักวิชาการอิสระ และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ซึ่งติดตามเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน และมีโอกาสเป็นกรรมาธิการฝ่ายประชาชนเข้าไปพิจารณากฎหมายนี้ในสภาหลายต่อหลายสมัย แสดงความกังวลว่า ภาคราชการยังคงไม่มีความเข้าใจที่ดีขึ้นเรื่องป่าชุมชน และอาจทำให้ท้ายที่สุดกฎหมายฉบับนี้จะถูกคว่ำ และออกมาเป็นร่างของฝ่ายรัฐซึ่งล้าหลัง และขัดต่อหลักการสิทธิชุมชน


 


"ผมคิดว่ากฎหมายนี้มันมีวิบากกรรม คงจะผ่านสภานี้ออกไปยาก ถึงจะผ่านออกไปก็เป็นไปในลักษณะที่ชาวบ้านไม่ค่อยชอบใจ แต่พอทนได้ แต่ผมกลัวว่าสุดท้ายมันจะคว่ำ และไปหยิบอีกฉบับที่กำหนดว่าการจัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์จะกระทำไม่ได้ ถ้ากฎหมายออกมาอย่างนี้ก็ยิ่งซ้ำเติมชุมชนเข้าไปใหญ่ ยิ่งตอกย้ำความไม่เป็นธรรม ความไม่ยอมรับเรื่องสิทธิชุมชน"


 


เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือกับเครือข่ายป่าชุมชนทั่วประเทศเพื่อวางแผนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินตามสิทธิในมาตรา 28 (3) เพื่อให้ศาลตัดสินว่าชุมชนมีสิทธิจัดการป่าชุมชนได้หรือไม่ ตามสิทธิชุมชนในมาตรา 66 และ 67 ของรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ยังไม่มี พ.ร.บ.ป่าชุมชน


 


"เงื่อนไขแบบนี้มันไม่มีใครทำได้หรอก  อีก 5 ปีก็ไม่เกิดป่าชุมชน เพราะเงื่อนไขมันเข้มมาก เหมือนกับออกกฎหมายบนฐานของความไม่ไว้วางใจ ใช้ระเบียบเป็นตัวที่ทำให้ชุมชนผิดกฎระเบียบอยู่ตลอด"


 


"เราหาทางสู้ทุกวิถีทาง มันเหนื่อยสู้กับอำนาจรัฐ และสู้กับพวกอนุรักษ์ที่ไม่เข้าใจชุมชน มันเหนื่อย แล้วชาวบ้านเขาก็เบื่อแล้ว ไม่เอากฎหมายก็ได้ ก็จัดการกันไปอย่างนั้น แล้วก็สู้กันอยู่ในพื้นที่ แต่ส่วนมากแล้วจะโดนจับ เพราะมีชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์เยอะ มีอะไรก็โทษชาวบ้าน"  


 


ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2532 ภายหลังการยกเลิกสัมปทานทำไม้ ร่างกฎหมายป่าชุมชนถูกยกร่างเมื่อปี 2536 โดยศยามล ไกรยูรวงศ์ เอ็นจีโอคนสำคัญที่ผลักดันเรื่องนี้ระบุว่า ร่างกฎหมายแรกของประชาชนเริ่มต้นด้วยการยกร่างไม่กี่มาตรา และมองรูปแบบการจัดการป่าชุมชนจากข้อเท็จจริง การออกกฎหมายเพื่อมารองรับสิทธิการจัดการป่าชุมชน ทั้งอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดูแลป่าอีกแรงหนึ่ง


 


 


 


 






 


มาตรา 66 ระบุว่า บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน


 


มาตรา 67 ระบุว่า สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม


 


การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้นสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว


 


สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรืองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ ย่อมได้รับความคุ้มครอง


 


 


 


 



ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net