Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม : จำคุกคนรับเงิน - ตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 5 ปี: ความไร้น้ำยาของรัฐ (และนักวิชาการ) สู่ความเสี่ยงภัยของประชาชน?


 


กานต์ ทัศนภักดิ์


 


ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งแก่ประชาชน ทางรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง เมื่อคืนวันอังคารที่ 23 ตุลาคม 2550 ความว่า


 


ตามกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ ประชาชนที่ยอมรับเงิน สิ่งของ หรือผลประโยชน์ ซึ่งให้โดยมีเจตนาเพื่อซื้อเสียง หรือหวังผลต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ไม่ว่ารับแล้วจะปฏิบัติตาม "คำขอ" ของผู้ให้หรือไม่ ต้องรับโทษจำคุก 1 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโดนตัดสิทธิเลือกตั้งถึง 5 ปี


 


ซึ่งสิ่งที่อาจารย์ปริญญากล่าวถึงก็คือ มาตรา 77 และ มาตรา 152 ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550(1)


 


มาตรา 77 ห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกตั้งหรืองดเว้นไม่ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใด


 


มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 71 วรรคสอง มาตรา 72 มาตรา 74 มาตรา 76 หรือมาตรา 77 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี


 


ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่งเป็นผู้รับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ถ้าได้แจ้งถึงการกระทำดังกล่าวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง หรือภายหลังวันเลือกตั้งไม่เกินเจ็ดวัน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษและไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


 


เนื่องจากเห็นว่า หลังจากที่ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนแล้ว อาจารย์ปริญญาผู้ซึ่งเป็นนักกฎหมายชื่อดังไม่ได้แสดงข้อวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ (นอกจากบอกว่ามีความแตกต่างจากพ.ร.บ.เลือกตั้งฉบับที่แล้วๆ มา ซึ่งประชาชนที่รับเงินไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย) ผมจึงขออนุญาตตั้งข้อสังเกตและแสดงความคิดเห็น ในฐานะประชาชนผู้ต้องตกอยู่ใต้กฎหมายดังกล่าว ดังนี้


 


แม้ในด้านหนึ่งดูเหมือนว่า กฎหมายดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่สะท้อนความพยายามของรัฐ ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะการซื้อสิทธิ์ - ขายเสียง


 


แต่อีกในด้านหนึ่ง ผมกลับมองว่า กฎหมายนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไร้น้ำยาของรัฐและกกต. ที่ไม่สามารถป้องกัน/ปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้งได้ จนต้องหันมาปัดความรับผิดชอบและโยนความเสี่ยงให้กับประชาชนแทน


 


เพราะในทางปฏิบัติ แม้คนชั้นกลางในเมืองอาจจะไม่ถูกกระทบใดๆ แต่สำหรับประชาชนในชุมชนเล็กๆ เช่น ตามหมู่บ้านในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว การปฏิเสธที่จะรับเงิน "ซึ่งๆ หน้า" นั้น ทำได้ยากและเสี่ยงต่ออันตรายจากอิทธิพลมากกว่าการ "รับเงินไปแล้วไม่ลงคะแนนให้" หลายเท่านัก


 


อย่าลืมว่า ที่ผ่านมาแม้จะไม่มีกฎหมายมาควบคุมกดดันถึงเพียงนี้ ก็ยังมีประชาชนทั้งที่เป็น "ชาวบ้านธรรมดาๆ" และ "หัวคะแนน" ต้อง "ประสบอันตราย" จากอิทธิพลมืด เพราะรับเงินแล้วไม่ไปใช้สิทธิ์และ/หรือยอดไม่ถึงเป้า อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ต้องพูดถึงการปฏิเสธแบบซึ่งๆ หน้า


 


ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า เราควรสนับสนุนให้ประชาชนรับเงิน หรือใช้มาตรการ "ดัดหลังโจร" (ที่บางท่านเรียกว่า "โกงสู้โกง" คือรับเงินมาแล้วดัดหลังผู้ให้โดยไม่ "เลือก" หรือไม่ปฏิบัติตาม "คำขอ")


 


แต่อยากจะถามว่า รัฐบาลและกกต.ไม่มีน้ำยาที่จะควบคุมการแจกเงินซื้อเสียงถึงเพียงนี้เชียวหรือ? จึงต้องใช้วิธีโยนบาปให้ประชาชนเลือกหนทางผจญชะตากรรมเอาเอง ว่า


 


จะเสี่ยงภัยกับการคุกคามโดยอิทธิพลมืด หรือกฎหมายบ้านเมือง หรืออาจพูดแบบ "บ้านๆ" ว่า "จะเอาลูกปืนหรือจะเอาคุก"


 


อย่าบอกนะครับว่า บ้านเมืองมีขื่อมีแป และผู้รักษากฎหมายย่อมคุ้มครองประชาชนผู้เป็นพลเมืองดีได้ทั่วทุกคน เพราะนอกจากจะค้านกับข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ยังชวนให้ตั้งคำถามต่อไปอีกว่า หากขื่อแปมีน้ำยาขนาดนั้น เหตุใดจึงไม่ใช้มันเพื่อปราบปรามการซื้อเสียงที่ต้นเหตุให้ได้ แทนที่จะโยนความเสี่ยงให้ประชาชนอย่างนี้?


 


แน่นอนว่า กฎหมายดังกล่าวสะท้อนถึงอคติของผู้ร่างที่มีต่อ "ชาวบ้าน" หรือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นการร่างบนวิธีคิดที่อยู่ภายใต้บรรทัดฐานทางศีลธรรมของคนจำนวนหนึ่ง โดยมองไม่เห็น (หรือทำเป็นมองไม่เห็น) ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ และไม่ยี่หระต่อสวัสดิภาพของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ


 


แต่การที่กฎหมายนี้สามารถผ่านการพิจารณาออกมาบังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศได้ โดยปราศจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านจากนักวิชาการด้านกฎหมาย ซ้ำบางท่านยังเป็นทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์กฎหมายนี้ให้กับรัฐเสียอีก นั้น ยังชวนให้ตั้งคำถามว่า


 


นอกจากประชาชนจะไม่สามารถฝากความหวังไว้กับน้ำยาของหน่วยงานรัฐได้แล้ว ยังไม่สามารถหวังพึ่งน้ำยาของนักวิชาการด้านกฎหมายได้อีกด้วย - ใช่หรือไม่?


 


การเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 จึงไม่เพียงส่อเค้าความวุ่นวายโกลาหล แต่ยังอาจเท่ากับการนับถอยหลังเข้าสู่สถานการณ์ที่เสี่ยงต่อสวัสดิภาพของประชาชนจำนวนไม่น้อย -- โดยหวังพึ่งใครไม่ได้?


 


-----


หมายเหตุ


ในตอนท้ายรายการ อาจารย์ปริญญาได้แนะนำว่า ทางออกที่กฎหมายนี้มีให้แก่ประชาชน คือการ "นิรโทษกรรมตัวเอง" ด้วยการแจ้งกกต.ถึงการกระทำดังกล่าว (ดู มาตรา 152 วรรคสอง) ซึ่งผู้แจ้งจะได้รับการยกเว้นความผิด โดยจะแจ้งหลังเลือกตั้งก็ได้ (ภายใน 7 วัน)


 


ซึ่งผมเห็นว่า แม้การเข้าแจ้ง (มอบตัว) ต่อกกต.จะทำให้ประชาชนรอดตัวจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไปได้ แต่ก็ไม่ได้รับประกันความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของประชาชนจากอิทธิพลมืดได้เลย (ในบางกรณีอาจยิ่งเป็นการก่อให้เกิดความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ)






(1)ดูทั้งฉบับได้ที่ http://www.ect.go.th/thai/download50/post152.pdf


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net