Skip to main content
sharethis

9 พ.ย.50 ในงานสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ประจำปี พ.ศ. 2550 ซึ่งจัดขึ้นที่ บ้านกลางดอยรีสอร์ท อ.หางดง จ.เชียงใหม่ "กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ" ได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องข้อเสนอเบื้องต้นกับยุทธศาสตร์ภาคประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองการเลือกตั้ง


 


โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า ในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ สังคมไทยจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการอนุรักษ์นิยมก่อการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา     


 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคใดจะเป็นพรรคนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตามแต่ สังคมไทยคงได้รัฐบาลผสม อันเนื่องมาจากการจัดการเขตเลือกตั้งแบบใหม่  การแตกตัวของพรรคไทยรักไทย ตลอดทั้งการที่อำนาจรัฐปัจจุบันสกัดกั้นกลุ่มอำนาจเก่าของทักษิณ


 


รัฐบาลผสมในอนาคตนั้นจะมีความอ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพ ท่ามกลางกฎหมายอีกหลายฉบับที่ให้อำนาจกับระบบราชการโดยเฉพาะกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้จัดให้ไว้แล้ว   


 


และแน่นอนว่าสังคมไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 50 นั้น อำนาจรัฐที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกกำกับโดยระบอบราชการที่มีศาลเป็นใหญ่ โดยการหนุนหลังของอำนาจทหาร หรือ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ครอบงำสังคมไทย 


 


ขณะเดียวกัน ทางด้านการเมืองการเลือกตั้งนั้น ได้มีการประมูล ต่อรอง ซื้อตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง การย้ายพรรควันต่อวัน นาทีต่อนาทีของผู้สมัครรับเลือกตั้ง การยุบรวมของพรรคการเมืองของชนชั้นนายทุนต่างๆนั้น ตามสำนวนนักการเมืองไทยที่ว่า "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร" และ "มีแต่ผลประโยชน์เท่านั้นที่พวกเขาเคยอยู่คนละขั้วกลายเป็นมิตรกันได้"


 


อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองของนายทุนต่างๆได้มีข้อสรุปร่วมแล้วว่า ต้องมี "นโยบายประชานิยม"หรือทำนองเดียวกับประชานิยมของพรรคไทยรักไทยในอดีต ที่พวกเขามองว่าประสบผลสำเร็จในการเลือกตั้งในยุคที่ผ่านมาซึ่งพวกเขาคงคิดว่า ต้องมีนโยบายนี้เพื่อหาเสียง เพื่อขายให้กับประชาชน   เช่น   การศึกษาฟรี รักษาพยาบาลฟรีฯลฯ  


 


นโยบายดังกล่าวนั้น ล้วนเป็นเพียงนโยบายโฆษณาชวนเชื่อ หรือสามารถทำได้จริงก็เพียงทำนองการสังคมสงเคราะห์ ไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีคุณภาพ ไม่ทั่วถึง ถ้วนหน้า เหมือนเช่นแนวคิดรัฐสวัสดิการ     เนื่องจากไม่มีงบประมาณของรัฐเพียงพอที่จะทำได้อย่างแท้จริง


 


เราในนาม"กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ" มีความคิดเห็นและข้อเสนอต่อองค์กรประชาชนในสังคมไทยต่อยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนภายใต้สถานการณ์การเมืองการเลือกตั้งในครั้งนี้ ดังนี้


 


1.แม้ว่าสังคมไทยเพิ่งจะมีรัฐธรรมนูญ2550 มาได้ไม่นานก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นเกิดจากอำนาจเผด็จการระบบราชการที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนแต่อย่างใดเลย รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงให้อำนาจกับระบบราชการโดยเฉพาะอำนาจศาลอย่างเบ็ดเสร็จ แม้ว่าจะมีบทบัญญัติให้ดูเหมือนให้เสรีภาพกับประชาชน ยอมรับสิทธิชุมชน แต่กลับหมกเม็ดและบิดเบือนเนื้อหาและรูปธรรมที่จะปฏิบัติได้อย่างแท้จริง   


 


ขณะที่รัฐธรรมนูญปี2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์การเมือง   แต่กลับสร้างเงื่อนไขให้พรรคการเมืองนายทุนผูกขาดอำนาจ


 


เรามีความคิดเห็นว่า  องค์กรประชาชนทั้งหลายต้องผลักดันให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันร่วมกันเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยแต่งตั้งคณะกรรมการหลายฝ่ายจัดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ทำนองเดียวกับสมัยนายกรัฐมนตรีบรรหาร ที่ได้สร้างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี40 โดยมีหลักการที่สำคัญคือ "ลดอำนาจระบบราชการ และอำนาจกลุ่มทุนพรรคการเมืองเพิ่มพื้นที่ภาคประชาชน


   


2.นโยบายประชานิยม หรือทำนองเดียวกับประชานิยม ของพรรคการเมืองต่างๆนั้น ถ้าปฏิบัติได้จริง ก็ล้วนเป็นนโยบายแบบสังคมสงเคราะห์เท่านั้น ขณะที่ช่องว่างความแตกต่างทางชนชั้น ความแตกต่างของรายได้ ความแตกต่างด้านทรัพยากรในสังคมไทยมีช่องว่างมากขึ้น และถ้าตราบใดที่สังคมไทยไม่มีนโยบายการเก็บ"ภาษีที่ก้าวหน้า" ในด้านต่างๆ เช่น รายได้ มรดก ที่ดิน เป็นต้น   สังคมไทยก็จะไม่มีความเสมอภาค ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ 


 


อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าพรรคการเมืองของนายทุนทั้งหลายไม่ยอมมีนโยบายภาษีที่ก้าวหน้า เนื่องจากพวกเขาล้วนแต่เป็นคนรวยที่ต้องเสียภาษีมากขึ้นด้วย จึงขัดแย้งกับผลประโยชน์โดยตรงของพวกเขา 


 


ดังนั้นองค์กรภาคประชาชนทั้งหลาย จึงต้องร่วมกันรณรงค์ผลักดัน คิดค้นกระบวนการต่างๆเพื่อปักธงประเด็นภาษีที่ก้าวหน้านี้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย


 


"แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเก็บภาษีที่ก้าวหน้า"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net