Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 51 สถาบันการศึกษาทางเลือกจัด "เวทีรับฟังความคิดเห็น กรณีโรงถลุงเหล็ก" ณ วัดนาผักขวง ต.กำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากกรณีความขัดแย้งในชุมชนเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กของบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีจำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำเสนอความคิดตามวิถีทางสิทธิชุมชนที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


แม้ว่าอุตสาหกรรมเหล็กจะเป็นความหวังในการพัฒนา และถูกใช้เป็นแนวโยบายเพื่อมุงสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ ของหลายๆ ประเทศ แต่ที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศที่ดำเนินกิจกรรมอุสาหกรรมนี้ ต่างประสบกับภาวะมลพิษจากการพัฒนาซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็น "ภัยพิบัติที่กำลังคุกคามโลก" อยู่ในขณะนี้


"ชัชวาล ปุญปัน" อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ไว้ พร้อมข้อเสนอต่อกรณีการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย


 


ชัชวาล ปุญปัน


ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 


00000


อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นอุตสาหกรรมที่มีปัญหาก่อมลภาวะในอันดับต้นๆ ของโลก ในแต่ละประเทศที่เป็นผู้ผลิตเหล็ก จะมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมมาก แม้ในประเทศที่เจริญมากที่สุด ดังรายงานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมือง (PERI) แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาจูเสต (1) ในสหรัฐอเมริการะบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กของบรรษัท US Steel Corporation เป็นผู้ปล่อยมลภาวะทางอากาศสูงเป็นอันดับสองในอเมริกา กล่าวคือในปี 2002 (2545) อุตสาหกรรมของบรรษัทนี้ได้ปล่อยสารพิษถึง 1.26 ล้านกิโลกรัม ประกอบด้วย แอมโมเนีย กรดไฮโดรคลอริค เอธิลีน สารประกอบสังกะสี เมธานอล และเบนซีน รวมทั้ง แมงกานีส ไซยาไนด์และสารประกอบโครเมี่ยม ฯลฯ (2)


โดยที่บรรษัทมักละเมิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น US Steel ในรัฐอินเดียน่า ต้องยอมจ่ายเงินถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการทำความสะอาดสารปนเปื้อนจากของเสีย ที่บรรษัทยังคงปล่อยทิ้งลงแม่น้ำและทะเลสาบ (3)


ในประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่รายหนึ่งของโลก มีอัตราการผลิตประมาณ 140 ล้านตัน ในปี2000 (2543) และเพิ่มขึ้นเป็น 419 ล้านตัน ในปี 2006 (2549) (4) ขณะเดียวกันก็ได้สร้างปัญหาตามมาอย่างอยากที่จะแก้ไข


องค์กรปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐประชาชนจีน (SEPA) เปิดเผยว่า มีโครงการอุตสาหกรรมถึง 82 โครงการที่ก่อมลภาวะสูง (5) โครงการเหล่านี้ใช้เงินลงทุน 112.3 พันล้านหยวน (14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 12 ประเภท เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมเคมี และโรงไฟฟ้า ครอบคลุมในหลายจังหวัดของประเทศ


ขณะเดียวกัน ผลจากการทำลายระบบนิเวศ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 511.08 พันล้านหยวน ในปี 2004 (2547)  คิดเป็น 3.05% ของ GDP


ในปี 2007 (2550) ธนาคารโลกเตรียมรายงานถึงการเสียชีวิตของประชาชนจีนถึงปีละ 750,000 คน อันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ แต่ข้อมูลนี้ได้ถูกตัดออกไป (6)


SEPA กล่าวว่า ในขณะที่ประเทศจีน เป็นผู้นำในด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการลงทุนในต่างประเทศ แต่จีนก็กลายเป็นผู้บริโภคถ่านหิน น้ำมัน เหล็ก สูงที่สุด และกลายเป็นผู้ปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ และทำลายออกซิเจนมากที่สุด


ในประเทศอินเดีย บรรษัท Tata Steel ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่เป็นอับดับ 5 ของโลก (7) เป็นผู้ก่อมลภาวะเป็นพิษต่อชีวิตและสังคม อุตสาหกรรมเหล็ก Tata ปล่อยของเสียจากการทำเหมืองโครไมต์ ที่มีสาร hexavalent chromium ที่เป็นอันตรายสูงมากเพราะทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ เพียงแค่หายใจเข้าไป จนรัฐบาลอินเดียต้องสั่งยกเลิกการทำเหมืองโครไมต์ในรัฐโอริสสา (8)


ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมหนัก 250 แห่ง ในรัฐอันธรประเทศ สามารถจ้างงานได้ 25,000 ตำแหน่ง แต่คน 30,000 คน กำลังเผชิญกับความตาย จากน้ำใต้ดินเป็นพิษ อุตสาหกรรมอันตรายนี้ในที่สุดแล้วให้ตำแหน่งความตายมากกว่าตำแหน่งงาน


 


ข้อเสนอต่อคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น


กรณีการดำเนินกิจการอุตสาหกรรมเหล็กของบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีจำกัด (มหาชน)


1. อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่หิวพลังงาน (Energy hungry) ต้องบริโภคพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด พร้อมกับปล่อยมลภาวะไปสู่ดิน น้ำ และอากาศ ที่สูงมากจะเป็นรองก็เฉพาะจากอุตสาหกรรมการขนส่งและยวดยานพาหนะ ด้วยเหตุนี้ต้นทุนที่แท้จริงของอุตสาหกรรมเหล็กจึงสูงกว่าที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กประกาศ เพราะไม่ได้รวมค่าเสียหายจากการทำลายทุนทางธรรมชาติเข้าไปด้วย


2. ความพยายามย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่ผลิตเหล็กจากทรัพยากรภายในโดยตรง มายังประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นร่วมลงทุนหรือลงทุนเองก็ตาม มีลักษณะของนโยบายส่งออกมลภาวะ (Pollution Export Policy) ที่ต้องการย้ายอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงไปยังประเทศอื่น


3. รัฐต้องไม่สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมหิวพลังงาน ที่ตอบสนองเฉพาะความมั่งคั่งของกลุ่มอุตสาหกรรมบางประเภท แต่ควรสร้างเงื่อนไขที่ดีที่สุด สำหรับการค้าขายในระยะยาวนั่นคือระบบธรรมาภิบาลแบบประชาธิปไตย ที่ตั้งอยู่บนความต้องการของประชาชน ไม่ใช่ความต้องการของภาคธุรกิจ


เราควรให้ความสนใจกับวิธีคิดในเรื่อง ทุนนิยมธรรมชาติ (9) ที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์จากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่ว่า


'บริษัทต่างๆ สามารถเพิ่มขีดความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลิตสินค้าในปริมาณมากกว่าเดิม ส่งไปขายในตลาดที่กำลังขยายตัว'


ซึ่งได้ตระหนักแล้วว่าเป็นวิธีคิดที่ล้มเหลว หากแต่ควรเปลี่ยนไปเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ว่า


'สิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเพียงต้นทุนอันดับรองในการผลิตหากเป็นระบบอันซับซ้อน ที่หุ้มห่อหล่อเลี้ยง และรักษาเศรษฐกิจทั้งโลก ดังนั้นข้อจำกัดที่แท้จริงในการพัฒนาเศรษฐกิจคือความอุดมสมบูรณ์ของทุนธรรมชาติ โดยเฉพาะระบบนิเวศต่างๆ ที่ไม่สามารถทดแทนได้และยังไม่มีมูลค่าตลาด'


เราต้องสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางว่า ทรัพยากรแร่ธาตุทั้งหลายมิใช่มีไว้เพื่อที่จะถูกขุด ดูด เจาะขึ้นมาใช้เท่านั้น แท้ที่จริงแล้วสิ่งนั้นกำลังทำหน้าที่อะไรอยู่ในธรรมชาติ  น้ำมันดิบ ถ่านหิน แร่เหล็ก สารกัมมันตรังสี กระแสน้ำ ตลอดจนก๊าซธรรมชาติ ทั้งหมดทำหน้าที่เอื้อประโยชน์ใต้พื้นพิภพอย่างไร ที่ทำให้โลกดำรงอยู่ได้ยาวนาน และเกื้อกูลแก่สรรพชีวิต


เพราะความรู้เช่นนี้ จะทำให้เราไปพ้นจากภัยพิบัติที่กำลังคุกคามโลกอยู่ ดังภัยพิบัติจากอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น


 


อ้างอิง


(1) Top Corporate Air Polluters Named  By Michael Ash The Political Economy Research    Institute  (2) http://www.rtknet.org/new/tox100/toxic100.php?company1=13659&chemfac=chem&advbasic


=bas


(3) http://en.wikipedia.org/wiki/U.S._Steel


(4) http://en.wikipedia.org/wiki/Special:Search?search=economy+of+the+people+republic +of+china&go=Go


(5) http://english.sepa.gov.cn/News_service/news_release/200709/t20070930_109798.htm


The State Environmental Protection Administration of China [SEPA]


(6) http://en.wikipedia.org/wiki/Pollution


(7) http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_steel_producers


(8) http://en.wikipedia.org/wiki/Tata_Steel Tata "s environmental record


"Sukinda, Orissa", The World's Worst Polluted Places: The Top Ten (of The Dirty Thirty), Blacksmith Institute (September, 2007), pp. 16, 17


(9)  สฤณี อาชวานันทกุล Paul Hawken หนึ่งในผู้บุกเบิกกระบวนทัศน์ ทุนนิยมธรรมชาติhttp://www.onopen.com/wp-print.php?p=649


 


ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง


แม่รำพึงจัดเวทีใหญ่ รื้อบังเกอร์คลายสถานการณ์, ประชาไท, 17 ก.พ. 51


แถลงการณ์ห้าพันธมิตรสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบฯ, ประชาไท, 17 ก.พ. 51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net