Skip to main content
sharethis

วันที่ 22 ก.พ.51 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "ซีแอล : กฎหมาย การค้า และสุขภาพ"


 


คณะทำงาน WHO ยอมรับไทยทำซีแอล แนะปรับระบบภายในด้วย


โดยในช่วงต้น รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวสรุปรายงาน 30 หน้าของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เข้ามาตรวจสอบการทำซีแอลในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่า การประกาศซีแอลนั้นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ และรัฐบาลได้ทำถูกต้องตามขั้นตอน ทั้งยังจ่ายค่า royalty ในยามะเร็ง 4 ตัวที่ประกาศซีแอลถึง 4% ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สูงมากเทียบเท่ากับเกณฑ์ของประเทศพัฒนาแล้วอย่างนอร์เวย์


 


นอกจากนี้คณะทำงานจาก WHO ยังกล่าวถึงการปรับปรุงระบบภายในเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยาของประชาชน เช่น ระบบคัดค้านสิทธิบัตรก่อนได้รับการคุ้มครอง (pre-Grant opposition) รวมไปถึงมาตรการอื่นอย่างการนำเข้าซ้อน (parallel import)


 


สภาหอการค้าแนะเร่งลบภาพใช้ซีแอลไม่สิ้นสุด


บัณฑูร วงศ์สีลโชติ ตัวแทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) นั้นไม่ค่อยซีเรียสกับการทำซีแอลของไทยผิดกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้น แม้การประกาศซีแอลในยามะเร็ง 3 ตัวจะเป็นของบริษัทในยุโรปทั้งหมดก็ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนกับสหรัฐนั้นเข้าใจว่าประเด็นสำคัญคือไทยไปสร้างภาพว่าการใช้ซีแอลของเราจะไม่สิ้นสุด จึงสร้างความไม่พอใจให้สหรัฐและกังวลกันมากว่าอาจนำไปสู่การถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP)


 


บัณฑูรนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเรื่อง GSP ว่า GDP ของไทยร้อยละ 70 มาจากการส่งออก และตลาดสหรัฐนั้นมีมูลค่าสูงถึง 19 พันล้านเหรียญหรือราว 13% ของการส่งออกทั้งหมด ลดลง 2% จากปี 2006 ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัด GSP ของไทยไป 3 รายการเมื่อปีที่แล้วคือ ทองคำ ทีวีสี และ Polyethylene ซึ่งเหตุผลที่โดนตัดเพราะสินค้าเหล่านี้มีความสามารถในการแข่งขันสูงแล้ว


ทั้งนี้ ประเทศที่ได้สิทธิ GSP จากสหรัฐนั้นมีหลายประเทศไม่ว่าจะอินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย ตุรกี ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ เวเนซุเอลา อาเจนตินา รัสเซีย และไทยใช้สิทธินี้มากเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย โดยได้ GSP ในสินค้า 3,400 รายการ และจะได้สิทธินี้ไปจนถึง 1 ก.ค. 2552 และอยู่ที่สหรัฐว่าจะพิจารณาต่ออายุให้หรือไม่


 


ปัญหาอยู่ที่การบริหารค่าเงินบาท มากกว่าสิทธิพิเศษทางภาษี(GSP)


เขากล่าวด้วยว่า เงื่อนไขหนึ่งของการตัด GSP นั้นคือการถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญหาได้ไม่ดี โดยขณะนี้ไทยถูกจัดอยู่ในสถานะประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ซึ่งประเทศคู่แข่งทางการค้าของไทยก็ถูกจัดอยู่ในชั้นเดียวกันทั้งนั้น


 


อย่างไรก็ตาม บัณฑูรกล่าวถึงคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันที่ชี้แจงกับหอการค้า ซึ่งระบุว่า


ซีแอลไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาจัดให้ไทยเป็น PWL แต่เป็นเรื่องการไม่ปราบปรามการขายเทปผีซีดีเถื่อน ซึ่งทำให้สหรัฐสูญเสียเกือบ 400 ล้านเหรียญต่อปี และมีแนวโน้มมากขึ้น อันที่จริงสหรัฐต้องการให้ไทยอยู่ PWL ก่อนหน้านี้แล้วแต่ติดที่กำลังเจรจา FTA กันในช่วงนั้น


 


บัณฑูร กล่าวว่า GSP ไม่ใช่ส่วนสำคัญนักของการส่งออกสินค้าไทยเพราะภาษีนำเข้าของสหรัฐไม่สูงอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ค่าเงินบาที่แข็งค่ามาโดยตลอดต่างหาก ซึ่งเป็นส่วนผลักดันให้ GSP เริ่มสำคัญมากขึ้น


 


"การที่เงินแข็งค่าแปลว่าสินค้าไทยแพงกว่าสินค้าในประเทศอื่นๆ โดยไม่จำเป็น ถ้าเราดูแลเงินบาทได้ดี ไม่ต้องมีจีเอสพีก็ได้ เราแข่งขันได้ ส่วนสำคัญของปัญหาคือขาดความสามารถในการดูแลค่าเงิน"


 


สหรัฐกังขา-เพิ่มงบทหาร ทำลายความชอบธรรม "ซีแอล"


บัณฑูรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ทางสถานทูตสหรัฐยังยอมรับว่าไทยมีสิทธิใช้ซีแอล และแต่ละประเทศสามารถกำหนดได้เองว่าอะไรคือภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องประกาศซีแอล แต่ประเด็นสำคัญที่สหรัฐติดใจคือ หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน มีการปรับลดงบด้านสาธารณสุข 12 ล้านเหรียญ แต่ไปเพิ่มงบด้านกลาโหม 900 ล้านเหรียญหรือราว 40,000 ล้านบาท ทำให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ใช่ไม่มีเงินไปสร้างการเข้าถึงยา เพราะเงินที่ประหยัดจากการใช้ซีแอลปีหนึ่งเพียง 400-500 ล้านบาท


 


"ผมสรุปว่า ถ้าจะใช้ซีแอล รอหลังเดือนเม.ย.ก่อน ค่อยคิดอีกทีดีไหม ควรให้โอกาสเจ้าของสิทธิบัตรในการเจรจาต่อรอง และแจ้งให้สถานทูตสหรัฐ และคณะกรรมาธิการยุโปรทราบก่อน"บัณฑูรกล่าว พร้อมระบุวิธีแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชนว่าสามารถทำได้ 2 แบบคือ การใช้ซีแอล หรือไม่ก็ให้ภาครัฐนำเงินเข้ามาช่วยในระบบมากขึ้น ซึ่งอย่างหลังจะเป็นทางออกที่คุ้มกว่า


 


จะยอมให้บริษัทยาตั้งราคายาตามใจ ?


รศ.ดร.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ กล่าวว่า เราใช้มาตรา 51การใช้ซีแอลภาคบังคับโดยรัฐ  (ซื้อเทคโนโลยี โดยเสียค่าใช้สิทธิ-เกิดการแข่งขัน-เพื่อประโยชน์สาธารณะ) โดยรัฐได้มอบให้องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) เป็นคนดำเนินการโดยไม่ทำกำไร อภ.อาจจะเคยทำกำไร แต่เมื่อทำในกรณีไม่ได้ทำกำไร สหรัฐจะมาอ้างว่ าอภ.เป็นองค์กรที่ทำกำไรจึงไม่สามารถทำซีแอลได้นั้นไม่ถูกต้อง เป็นความพยายามบิดเบือน


 


ประเด็นสำคัญคือ ยารักษาโรคมะเร็งนั้นแพงมาก เช่น ยารักษาโรคมะเร็งปอด (Docetaxel) เข็มละ 25,000 บาท ขณะที่ยาชื่อสามัญคุณภาพเดียวกันราคาเข็มละ 4,000 บาท แล้วเราจะยอมให้บริษัทยาตั้งราคาไปตามที่เขาต้องการหรือ


 


"อุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมที่ขูดรีดประชาชน เพราะการตั้งราคาไม่ยุติธรรมเลย เขาหาว่าริบทรัพย์เอกชน ทำไมทริปส์จึงกำหนดให้มีข้อยืดหยุ่นได้ ถ้าไม่ยอมก็ควรไปต่อสู้ให้แก้ในทริปส์ ในดับบลิวทีโอ"


 


ข้อจำกัดตัดตอนการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในประเทศ


ส่วนประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามกับอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยที่สามารถพัฒนาได้เท่าที่ควรนั้น รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่า เป็นเพราะติดอในข้อตกลงทริปส์ของ WTO ที่กำหนดให้คุ้มครองสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ยาด้วย แล้วไทยยังแก้กฎหมายก่อนทริปส์จะมีผลบังคับตั้ง 8 ปีด้วยแรงกดดันของสหรัฐ ทำให้เสียโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ โดยสหรัฐกดดันมาตั้งแต่ปี 2528 และในปี 2535 ก็จัดให้ไทยอยู่ในประเทศสถานะประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาก (PFC) พร้อมขู่จะตัดจีเอสพี แต่เมื่อไทยแก้กฎหมายสิทธิบัตรก็ไม่ได้ปรับการจัดลำดับนั้นแต่อย่างใด  นอกจากนี้ฐานข้อมูลเรื่องสิทธิบัตร ก็ไม่เอื้อสำหรับอุตสาหกรรมยาในประเทศ ที่อยากจะผลิตยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว


 


สธ.ประกาศทบทวนซีแอลเสีย 2 เด้ง อินเดียระงับการขายยาโรคหัวใจแล้ว !


นอกจากนี้รศ.ดร.จิราพร ยังกล่าวถึงกรณที่รมว.สาธารณสุขคนใหม่ออกมาให้ข่าวว่าจะทบทวนซีแอลว่าเป็นการเสียทั้งสองด้าน เพราะนอกจากจีเอสพียังถูกตัดตามปกติแล้ว ยังกระทบกับยารักษาโรคหัวใจที่ประกาศซีแอลไปก่อนหน้านี้ เพราะบริษัทยาชื่อสามัญของอินเดียของเลื่อนการส่งยามาให้ไทย 1 เดือน เนื่องจากไม่แน่ใจในนโยบายของไทยเรื่องซีแอล ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่สามารถได้ยาราคาถูกลงได้ทั้งที่ประกาศซีแอลไปแล้ว


 


ซีแอล-ก้าวแรกการสร้างกฎหมายจารีต ใช้ข้อยืดหยุ่นให้คนเข้าถึงยา


วีรวิทย์ วีรวรวิทย์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเคยอยู่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ในความตกลงทริปส์มีสิ่งเพิ่มเติมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจากอนุสัญญากรุงปารีส ซึ่งระบุว่าประเทศสมาชิกสามารถใช้ซีแอลได้ตามความหมาะสม เช่น หากยามีราคาสูงเกินไป การกีดกันอุตสาหกรรมในประเทศ การจดสิทธิบัตรไม่มีวันตาย ฯลฯ แต่ประเทศพัฒนาแล้วกลับไม่เคยอ่านตรงนี้ ตีกรอบดูเพียงข้อ 31 ว่ารัฐจะทำอะไรไม่ได้บ้าง โดยไม่ดูวัตถุประสงค์และหลักการของทริปส์เลย


 


นอกจากนี้คำประกาศโดฮา บอกว่า ประเทศสมาชิกต้องตีความทริปส์ด้วยความยืดหยุ่น ต้องไม่ตีความจนไม่สามารถใช้ซีแอลได้ เป็นมติที่ประเทศพัฒนาแล้วก็เห็นด้วย


 


ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่การปรับสถานะของสหรัฐ แต่มันมีความหมายต่อการตีความทริปส์ในปัจจุบันและอนาคต เพราะตั้งแต่มีทริปส์ยังไม่มีใครดำเนินอย่างจริงจังในเรื่องความยืดหยุ่น ในแอฟริกาเคยขู่ว่าจะใช้ซีแอลจนบริษัทยายอมลดราคามากกว่า 10 เท่าตัว แต่ไทยดำเนินการจริง ก่อให้เกิดกฎหมายจารีตประเพณีในเรื่องความยืดหยุ่นในการใช้ข้อตกลงทริปส์ให้มนุษยชาติเข้าถึงยาได้


 


 


……………………………………


อ่านประกอบ


5 เหตุผล ทำไมไม่ควรล้ม "ซีแอล" ยามะเร็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net