Skip to main content
sharethis


เก็บความจากการสัมมนาวิชาการในหัวข้อ "หนึ่งทศวรรษแห่งความหน่อมแน้มของรัฐไทยในการจัดการเศรษฐกิจ (พ.ศ.2540-2550)" (Weak State and Political Economy of Thailand : Ten Years after the Crisis) โดย ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 


0000


 


 


รายงานโดย ณภัค เสรีรักษ์


 


 


 


วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดในช่วงปี 2540 หรือที่รู้จักกันในนาม "วิกฤติต้มยำกุ้ง" เราๆ ท่านๆ คงจำเหตุการณ์ในห้วงเวลานั้นได้ดี แต่เมื่อเวลาเดินทางผ่านไปครบ 10 ปี เศรษฐกิจไทยก็ใช่ว่าจะฟื้นตัวอย่างที่ควรจะเป็น


 


เมื่อคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาเรื่อง "หนึ่งทศวรรษแห่งความหน่อมแน้มของรัฐไทยในการจัดการเศรษฐกิจ (พ.ศ.2540-2550)" (Weak State and Political Economy of Thailand : Ten Years after the Crisis) โดย ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. "ประชาไท" จึงไม่ลังเลและรีรอที่จะไปเก็บความมาให้เราๆ ท่านๆ ได้อ่านกัน เพื่อจะได้ลองทำความเข้าใจกันว่า "รัฐไทย" ที่เราอาศัยกันอยู่นี้ "หน่อมแน้ม" อย่างไร


 


 


000


 


ระบบทุนนิยมนายธนาคาร


ผศ.ดร.อภิชาต เริ่มต้นโดยกล่าวถึงรูปแบบการสะสมทุน (Mode of Capital Accumulation) ของไทยในอดีตว่า ตั้งแต่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์เป็นต้นมา ก็เป็นแบบ "ทุนนิยมนายธนาคาร" (Banker Capitalism) คือ การเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจของไทยเกิดขึ้นจากการที่ธนาคารเป็นตัวแสดงจัดสรรทุน-จัดสรรการลงทุน (Capital Allocation), จัดสรรสินเชื่อ (Credit Allocation), ประสานการลงทุน (Investment Coordination) และระบบนี้เริ่มถูกทำลายไปตั้งแต่การเปิดเสรีการลงทุนในปี 2533 และนำไปสู่การลงทุนที่ล้นเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ซึ่ง ผศ.ดร.อภิชาต เรียกว่าเป็น "งานศพ" ของระบบทุนนิยมนายธนาคารไทย


 


เมื่อระบบนี้ถูกทำลายจึงต้องมีการปฏิรูประบบใหม่ คำถามที่ตามมาจึงอยู่ที่ว่า รูปแบบใหม่สำหรับการสะสมทุนคืออะไร อะไรจะมาแทนที่ระบบทุนนิยมนายธนาคารไทย และจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด


 


ผศ.ดร.อภิชาต ตอบโจทย์ดังกล่าวโดยการประเมินระบบหรือรูปแบบใหม่ที่มาแทนระบบทุนนิยมนายธนาคารซึ่งหมายถึงการเดินตาม "พิมพ์เขียว" ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ที่เป็นแนวทางแบบ "เสรีนิยมใหม่" (Neoliberal Mode of Capital Accumulation) ของรัฐไทยว่าเป็นอย่างไร


 


"พิมพ์เขียว" ของ IMF กับการแก้วิกฤติ


แนวทางของ IMF ประกอบไปด้วยสองส่วนใหญ่ๆ โดยส่วนแรกคือการปรับปรุงให้ระบบธนาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการจัดการความเสี่ยงที่ดีขึ้น และส่วนที่สอง คือการเพิ่มหน้าที่การจัดสรรทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้มีสัดส่วนมากขึ้น หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ การพยายามเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจไทยจาก bank-based economy ให้มีความเป็น market-based economy มากขึ้น


 


ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวต่อว่าการประเมินความสำเร็จของ "รัฐไทย" วางอยู่บนฐานว่าสามารถเดินตาม "พิมพ์เขียว" นี้ได้มากน้อยเพียงไรในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังวิกฤติใหม่ๆ ก็ต้องมีแก้ปัญหาระยะสั้นด้วย ดังนั้น ผศ.ดร.อภิชาต จึงนำเสนอโดยประเมินสถานการณ์ในทั้งสองระยะ ระยะแรก ว่าด้วยความพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลชวน และระยะที่สอง ว่าด้วยความพยายามสร้างสถาบันใหม่ สร้างกฎหมายหรือกฎกติกาใหม่ๆ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ


 


ว่าด้วย "ความหน่อมแน้ม"


ผศ.ดร.อภิชาต มีข้อสมมติที่ว่า ถ้า "รัฐ" เป็นรัฐที่อ่อนแอหรือหน่อมแน้ม (Weak State) ก็จะทำให้การปฏิรูป (reform) โครงสร้างระบบเศรษฐกิจไม่สำเร็จ เมื่อการปฏิรูปไม่สำเร็จ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจึงค่อนข้างช้า หรือกล่าวอีกอย่างก็คือทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติช้า กระนั้นก็ตาม ผศ.ดร.อภิชาตย้ำว่า ความหน่อมแน้มไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ทว่าก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง


 


ผศ.ดร.อภิชาต ให้คำอธิบายว่า รัฐที่อ่อนแอหรือหน่อมแน้มในความหมายนี้ หมายถึง "รัฐ" ที่มีความสามารถต่ำ (Low Capacity/Low Ability) โดยความหน่อมแน้มนั้นขึ้นอยู่กับสองส่วน คือ "ความเป็นอิสระ (Autonomy)" ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และ การแปรนโยบายนั้นไปปฏิบัติอย่างมี "ประสิทธิผล(Effectiveness)"


 


"เวลาผมบอกว่ามันหน่อมแน้ม มันหน่อมแน้มในสองความหมาย ความหมายที่หนึ่งคือ รัฐไทยมีความเป็นอิสระเชิงนโยบายที่ต่ำ อันที่สองคือมันไม่ค่อยมีประสิทธิผลในการผลักดัน ต่อให้มันต่อรองสำเร็จมันก็ผลักดันไม่สำเร็จ ความอ่อนแอของรัฐไทยมันเป็นความอ่อนแอในสองระดับคือ Autonomy และ Effectiveness"


 


ความหน่อมแน้มของ "รัฐบาลไทย"(1) : ความหน่อมแน้มของรัฐบาลชวน


ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวเริ่มต้นในส่วนนี้ว่า ส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลชวนอ่อนแอคือปัจจัยเรื่องกรอบกติกาทางการเมือง โดยเฉพาะในส่วนของ "รัฐธรรมนูญ" หรือถ้ากล่าวให้เจาะจงกว่านั้น ก็คือรัฐธรรมนูญฉบับก่อนปี 2540 ดังนั้น ความอ่อนแอดังกล่าวจึงไม่เพียงแต่เกิดกับรัฐบาลชวน รัฐบาลก่อนๆ นั้นก็อ่อนแอเช่นกัน


 


"ในแง่หนึ่งความอ่อนแอของรัฐไทยโดยตลอดทุกรัฐบาล ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลชวน มันเกิดขึ้นเพราะกรอบกติกาทางการเมือง นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 เป็นต้นมา มันผลิตรัฐบาลที่อ่อนแอมาโดยตลอด"


 


ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวถึงภาระหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้วิกฤติว่าคือ ต้องแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPLs) กับ ปัญหาที่ธนาคารไม่ function ซึ่งทำได้โดยการเพิ่มทุนให้ธนาคาร เพื่อให้ธนาคารมีทุนที่เพียงพอ และเมื่อธนาคารมีทุนเพียงพอ จึงจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชนได้ ซึ่งทั้งการเพิ่มทุนและการปรับโครงสร้างหนี้นั้นแบ่งได้เป็นสองวิธีการใหญ่ๆ คือ วิธีการที่ใช้ตลาดนำ (market-led approach) และวิธีการที่ใช้รัฐนำ (state-led approach)


 


หลังวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลชวนเลือกแนวทางที่ใช้ตลาดนำ โดยรัฐจะมีทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนับสนุน(Facilitator) กล่าวคือ รอให้ธนาคารเพิ่มทุนเอง และให้ธนาคารจัดการกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans-NPLs) ของภาคเอกชนเอง ส่วนรัฐก็จะแก้ไขกฎหมายให้มีประสิทธิภาพขึ้น ให้สอดรับกับการแก้วิกฤติมากขึ้น เป็นต้น ขณะที่บางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เลือกใช้อีกแนวทาง ที่ให้รัฐเป็นตัวนำในการแก้วิกฤติ ซึ่งหลังจากวิกฤติ รัฐบาลเกาหลีใต้จัดตั้งสถาบันมาเพิ่มทุนให้ธนาคารมีทุนที่เพียงพอ ทั้งให้เพื่อปล่อยกู้ต่อไปได้ และแก้ปัญหาหนี้เสียของภาคเอกชนด้วย


 


อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่า แท้ที่จริง รัฐบาลชวนต้องการใช้แนวทางที่รัฐเป็นตัวนำในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤติ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆประการ โดยเฉพาะความอ่อนแอทางการเมืองของตัวรัฐบาล ทำให้รัฐบาลชวนไม่กล้าที่จะใช้แนวทางดังกล่าว แต่ไปเลือกใช้แนวทางที่ใช้ตลาดนำแทน


 


ตัวอย่างของการใช้แนวทางตลาดนำนั้น ดูได้จาก "แผน 14 สิงหา 2541" ซึ่งรัฐบาลมีเงินเตรียมไว้ประมาณ 300,000 ล้านบาทเพื่อเพิ่มทุนให้ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ โดยมีเงื่อนไขข้อจำกัดหรือข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างให้ต้องปฏิบัติตาม แต่ไม่ได้บังคับให้ธนาคารที่ทุนไม่พอมาเพิ่มทุน ผลก็คือแผนเพิ่มทุนนี้มีผู้เข้าร่วมน้อยมาก และใช้เงินไปเพียง 70,000 กว่าล้าน


 


"คำถามก็คือทำไมรัฐบาลชวนไม่บังคับให้ธนาคารเพิ่มทุนล่ะ ผมกำลังจะบอกว่าก็เพราะรัฐบาลชวนมีความอ่อนแอเกินไปที่จะบังคับธนาคารให้เพิ่มทุนนั่นเอง"


 


"ในแง่นี้แล้ว การเพิ่มทุนที่ไม่สำเร็จ จึงนำไปสู่การแก้ปัญหา NPLs ไม่สำเร็จ ในความหมายที่มันช้าไป ตราบใดที่ยังแก้ปัญหา NPLs ไม่สำเร็จ ตราบใดที่ธนาคารยังไม่มีทุนพอ ตราบนั้นธนาคารก็ยังไม่สามารถปล่อยกู้ได้ใหม่ ตราบนั้นการลงทุนใหม่ก็ไม่สามารถเกิดขึ้น ตราบนั้นการเจริญเติบโตฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นไปไม่ได้"


 


"กฎหมายล้มละลาย" กับวลีทอง "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย"


ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่า เงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งสำหรับการแก้ปัญหา NPLs แบบใช้ตลาดนำก็คือต้องมีกระบวนการบังคับหนี้ที่เข้มแข็ง เช่น การมีกฎหมายล้มละลายที่มีทิศทางในการให้เจ้าหนี้มีอำนาจต่อรองมากกว่าลูกหนี้ เพื่อที่จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ได้ เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้กฎหมายล้มละลายให้สถาบันการเงินมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น แต่ในช่วงระหว่างการแก้กฎหมายดังกล่าวนั้น คนจำนวนหนึ่งก็เข้าไปอยู่ในฐานะ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วก็เติมข้อความไปว่า ถ้าบุคคลธรรมดาถูกศาลสั่งให้เป็น "บุคคลล้มละลาย" ก็จะมีภาวะนั้นอยู่เพียง 3 ปี เมื่อครบกำหนดก็คืนสภาพบุคคลธรรมดา หมายความว่า ในช่วง 3 ปีนั้น สถาบันการเงินยึดทรัพย์ไปได้เท่าไร ก็เท่านั้น


 


"มีคนหนึ่งเป็นหนี้พันกว่าล้าน ถูกศาลสั่งล้มละลาย แล้วถูกยึดทรัพย์ไป 13 ล้าน เมื่อครบกำหนด 3 ปี เป็นอันเจ๊ากันไป เพราะธนาคารมีสิทธิ์ยึดทรัพย์แค่ 3 ปี คนๆ นี้ก็กลับมาทำธุรกิจได้ใหม่จนถึงทุกวันนี้ อย่างนี้เป็นต้น"


 


ผศ.ดร.อภิชาต เห็นว่า การแก้กฎหมายล้มละลายไปในทำนองนี้ ยิ่งทำให้อำนาจต่อรองของเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้น้อยลงไปอีก จึงเกิดสภาวะที่เรียกว่า "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" และเมื่อนายธนาคารไม่สามารถบังคับการเจรจาได้ NPLs ก็แก้ไขได้ช้า


 


"เงื่อนไขที่จำเป็นของการใช้แนวทางตลาดนำคือต้องแก้กฎหมายล้มละลายให้เข้มแข็งขึ้น กลับแก้ให้อ่อนแอลง ผลก็คือ เมื่อธนาคารไม่ถูกบังคับเพิ่มทุน ทุนในการรองรับการจัดการปัญหา NPLs ก็ไม่เพียงพอ ในอีกทางหนึ่งกฎหมายที่อ่อนลงก็ทำให้แก้ปัญหา NPLs ได้ช้าเช่นกัน เศรษฐกิจไทยก็จมปลักต่อวิกฤติเศรษฐกิจต่อไปเรื่อยๆ"


 


ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวสรุปถึงตัวอย่างของความอ่อนแอของรัฐบาลชวนสองประการว่าประกอบไปด้วย ประการแรก รัฐบาลชวนไม่มีแม้กระทั่ง Autonomy ในการจัดการ ทั้งๆ ที่รู้ว่าการแก้วิกฤติต้องมีกฎหมายล้มละลายที่เข้มแข็งก็ไม่สามารถทำได้ และประการที่สองก็คือแม้ว่ารัฐบาลชวนอยากใช้การแก้ปัญหาในทางที่รัฐเป็นตัวนำแต่ก็ไม่กล้าที่จะทำ


 


ความหน่อมแน้มของ "รัฐบาลไทย"(2) : ความหน่อมแน้มของรัฐบาลทักษิณ


ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวถึงภาระของรัฐบาลทักษิณว่า อยู่ที่การปรับโครงสร้างของตลาดทุน, ตลาดเงิน เพื่อที่จะให้มีกรอบกติกาใหม่ๆ ที่สอดรับไปกับการเปลี่ยนรูปแบบของการสะสมทุน แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลทักษิณจะเป็นรัฐบาลที่ถือได้ว่ามีอำนาจมหาศาล กระบวนการนี้ก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้


 


กล่าวคือ กฎหมาย 3 ฉบับ อันประกอบไปด้วยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย, พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ และ พ.ร.บ.สถาบันประกันเงินฝาก ซึ่งพยายามแก้ไขกันมาตั้งแต่หลังวิกฤติก็ยังไม่สามารถผ่านออกมาได้ (ในท้ายที่สุดใช้เวลาถึง 11 ปี นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจ กฎหมายค่อยผ่านออกมาสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์) ซึ่งประเด็นนี้ ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวว่าเกิดจากความขัดแย้งของ technocrats กับตัวรัฐบาลทักษิณ


 


ประเด็นโต้เถียงหลักอยู่ที่ระดับความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวคือ รัฐบาลไม่ต้องการให้ ธปท. มีอิสระเท่ากับที่ ธปท. ต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องการวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนผู้ว่าการธปท. และประเด็นถัดมาคือ ใครคือผู้ดูแล, กำกับ, ตรวจสอบ สถาบันการเงิน เพราะรัฐบาลต้องการดึงอำนาจการจัดการออกมาจากธปท. และจัดตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมาเพื่อจัดการ แต่ธปท.ก็ไม่ยอม


 


ความหน่อมแน้มของรัฐไทยภายใต้ความเข้มแข็งของรัฐบาลทักษิณ


ผศ.ดร.อภิชาต เห็นว่า รัฐบาลทักษิณคือตัวแทนของชนชั้นนายทุนส่วนหนึ่งที่มาจากภาคการผลิต (real sector) ดังนั้นรัฐบาลทักษิณจึงมีแรงจูงใจที่จะไม่ให้ธปท.เป็นอิสระ แต่จะมีแรงจูงใจที่จะทำตามผลประโยชน์ของกลุ่มของตนมากกว่า ตัวอย่างกรณีนี้ก็เช่น การแก้กฎหมายล้มละลายให้เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้มากขึ้นไปอีก เป็นต้น


 


"รัฐไทยภายใต้ทักษิณมันก็หน่อมแน้มมากขึ้นในความหมายที่ขาด autonomy เพราะว่านโยบายของทักษิณถูกครอบงำโดยส่วนหนึ่ง (fraction) ของชนชั้นนายทุนไทย เป็นประโยชน์แก่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ใช่ชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้น แต่ในอีกทางหนึ่ง รัฐบาลทักษิณก็เป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ (effective) มากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนซึ่งสำเร็จหรือไม่สำเร็จเถียงกันได้ประเมินกันได้คือ รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลแรกที่สามารถจัดการกับข้าราชการ คือสามารถที่จะรวมศูนย์อำนาจ (centralized) เข้าสู่ตัวนายกได้ค่อนข้างสูง"


 


"ความหน่อมแน้ม" นำไปสู่อะไร?


ผศ.ดร.อภิชาต หยิบยกผลการวิจัยมาอภิปรายว่า โดยเฉลี่ยแล้วการขยายตัวของสินเชื่อน้อยกว่าเงินฝาก นอกจากนี้แล้ว การจัดสรรสินเชื่อก็ไม่สมดุลระหว่างสาขา กล่าวคือในภาคการผลิตซึ่งถือได้ว่ามีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product-GDP) มากตั้งแต่อดีต กลับได้รับการจัดสรรสินเชื่อน้อยลง ขณะที่ภาคการเงิน, อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ซึ่งมีสัดส่วนใน GDP น้อยกว่า แต่ได้รับการจัดสรรสินเชื่อมากขึ้น


 


"ตัวกลางในการจัดสรรการเงินไม่สามารถจัดสรรสินเชื่อไปสู่ภาคที่มีความสำคัญได้อย่างพอเพียง"


 


นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของภาพรวมของระบบเศรษฐกิจไทย ผศ.ดร.อภิชาต ชี้ให้เห็นว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ อีกทั้งสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ก็ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนเอกชน ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนที่เกิดขึ้นในระยะหลังส่วนใหญ่ก็เป็นการลงทุนในการทดแทน (replacement) ค่าเสื่อมราคา (depreciation) ไม่ได้เป็นการลงทุนที่เพิ่มเครื่องจักรใหม่ๆ หรือสินค้าทุนใหม่ๆ


 


"ผมกำลังบอกว่าการจัดสรรทุนที่ยังไม่ลงตัว นำไปสู่การที่การลงทุนยังไม่กลับเข้าสู่ที่เดิม ความเจริญเติบโตของผลิตภาพ (productivity growth) ก็ช้าลง"


 


"งานวิชาการอีกอันหนึ่งที่มาบรรยายที่นี่ของ Prof. Laurids Lauridsen ชาว Denmark ที่ทำการศึกษาเรื่องความเข้มแข็งของรัฐกับความเข้มแข็งในภาคอุตสาหกรรม*> ก็พบว่าเป็นไปในทำนองเดียวกันกับการศึกษาชิ้นนี้ กล่าวคือ แม้กระทั่งในรัฐบาลทักษิณซึ่งมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ไม่สามารถยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเจริญเติบโตของผลิตภาพของไทยมันยังขยายตัวน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน"


 


นอกจากนี้ ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวเสริมอีกว่าการที่รัฐบาลทักษิณมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ตัวทักษิณเอง และเขาได้ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง ในท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน ที่นักวิชาการไทยศึกษาอย่าง Duncan McCargo เรียกว่าเป็นการรัฐประหารที่นำโดยเครือข่ายข้าราชบริพาร (network monarchy)


 


ทำไมรัฐไทยจึงหน่อมแน้ม?


"ถ้าให้พูดตอนนี้ซึ่งผมยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดพอ เท่าที่ผมทำตอนนี้ก็ชี้ไปที่กระบวนการ "democratization" ของไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2521 เป็นต้นมา เพราะมันผลิตรัฐบาลที่อ่อนแอ ผ่านวิธีการกำหนดเขตเลือกตั้ง และการคานอำนาจของส.ว. เป็นต้น เขตเลือกตั้งพวงใหญ่โดยตัวมันเองมันสนับสนุนการดำรงอยู่พรรคขนาดเล็ก เมื่อเป็นพรรคขนาดเล็กก็ต้องเป็นรัฐบาลผสม เมื่อเป็นรัฐบาลผสมแน่นอนว่าเสถียรภาพก็น้อย การมองปัญหาก็มองในระยะสั้น ขณะเดียวกันอำนาจต่อรองของนายกรัฐมนตรีกับหัวหน้ามุ้งก็น้อย ในแง่นี้รัฐธรรมนูญปี 40 แก้จุดอ่อนตรงนี้ การที่รัฐไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นในแง่หนึ่งการปฏิรูปรัฐธรรมนูญในปี 2540 จึงประสบความสำเร็จ เพราะเจตนารมณ์หลักในตอนนั้นคือการทำให้รัฐไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่มันก็กลับไม่ประสบความสำเร็จในแง่ที่ว่าการถ่วงดุลอำนาจถูกทำลายไป" ผศ.ดร.อภิชาต กล่าว


 


อนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทย...ยังหน่อมแน้มเหมือนเดิม?


ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวต่อมาว่าการแก้ปัญหาที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 40 ที่ก่อให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็งนั้นไม่ใช่การที่ทำให้ฝ่ายบริหารที่อำนาจอ่อนลงดังที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 50 ไม่ว่าจะโดยการกลับไปใช้เขตเลือกตั้งพวงใหญ่ที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของพรรคขนาดเล็ก หรือการที่ให้รัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่ง ส.ส. ได้พร้อมๆ กัน มันเป็นการลดอำนาจต่อรองของตัวนายกรัฐมนตรีกับหัวหน้ามุ้ง


 


"ดังนั้นรัฐบาลก็จะไร้เสถียรภาพต่อไปเรื่อยๆ การวางแผนระยะยาวก็จะทำไม่ได้ไปเรื่อยๆ ประสิทธิภาพของรัฐบาลก็น้อยลง" ผศ.ดร.อภิชาต กล่าวสรุป


 


 


 


อ้างถึง :


*> สัมมนา "The Politics and Policies of Industrial Upgrading in Taiwan and Thailand: A Comparison" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ วันที่ 7 มกราคม 2551 (ย้อนฟังเสียง, ดูสไลด์ประกอบ, เอกสารประกอบ)


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net