Skip to main content
sharethis

อรนุช ผลภิญโญ รายงาน


 


เมื่อวันที่ 19 -20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติภาคอีสาน โดยการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้จัดประชุมวิเคราะห์สถานการณ์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 และนโยบายของรัฐบาล เพื่อประกอบการวางแผนยุทธศาสตร์งานทรัพยากรภาคอีสาน ที่ศูนย์อบรมสาธารณสุข อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี


 


นายจักรวรรดิ เลิศสงคราม ประธานเครือข่ายทรัพยากรภาคอีสานเปิดเผยว่า "การประชุมในครั้งนี้ถือว่าเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดการทรัพยากรของภาคอีสาน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งข้อมูลเชิงนโยบายของรัฐบาลชุดที่มาจากการเลือกตั้งในประเด็นด้านการจัดการทรัพยากรยังกำกวม ไม่ชัดเจน อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ที่มีแนวทางในการพัฒนาภาคอีสานด้านการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือว่าจะส่งผลกระทบกับภาคอีสานอย่างร้ายแรง"


 


เครือข่ายทรัพยากรภาคอีสานเห็นว่า ในการกำหนดแผนหรือนโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับคนอีสาน ทั้งปัญหาความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร ดิน, น้ำ, ป่า จะสูงขึ้นกว่าเดิม เช่น การเตรียมประกาศพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มเติมในขณะที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข, การเร่งออก พรบ.น้ำ, โครงการผันน้ำโขงมาใช้โดย ผ่านอุโมงค์, การรื้อฟื้นโครงการปลูกต้นยูคาลิปตัส และการกำหนดพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้เครือข่ายทรัพยากรมองว่า มีปัญหาแน่นอน และส่งผลกระทบกับพี่น้องอีสานชัดเจนมาก


           


ทิศทางหรือยุทธศาสตร์ที่เครือข่ายทรัพยากรได้กำหนด คือ การสร้างรูปธรรม หรือพื้นที่ต้นแบบในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า, การนำเอาองค์ความรู้ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรมาปรับใช้ เช่น การจัดการน้ำ ซึ่งมีระหัดวิดน้ำ, ระเบิดเพื่อเปลี่ยนทิศทางน้ำไม่ให้เซาะตลิ่งพัง, การทำฝายหินทิ้ง เป็นต้น ที่สำคัญคือการหนุนเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการพัฒนา


           


ทางด้าน นายพิชาญ ทิพย์วงศ์ ที่ปรึกษาเครือข่าย กล่าวว่า "โดยแนวทางการดำเนินงานตอนนี้ ทางเครือข่ายทรัพยากรได้ประสานกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงทรัพยากรเพื่อนำเสนอแนวทางการทำงานและพื้นที่รูปธรรมเพื่อถวายแด่ในหลวง 99 พื้นที่ทั่วประเทศภาคอีสานมีพื้นที่นำร่องเสนอ 21 พื้นที่ นอกจากนี้เครือข่ายคิดว่าแนวทางการดำเนินงานระยะสั้นจะเป็นการรณรงค์ให้พี่น้องได้รับข้อมูลข่าวสาร จะได้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และเครือข่ายทรัพยากรภาคอีสานจะจัดเวทีใหญ่สักครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันเป็นขบวนต่อไป"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net