Skip to main content
sharethis

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ รายงาน


อาจมีบางคนได้สรุปไปแล้วว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย ด้วยเหตุผลเรื่องการบริหารประเทศ และการปฏิบัติตามเหตุผลในการรัฐประหารล้มเหลว ซึ่งดูคล้ายกับความคิดหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ว่า รัฐประหารโดย รสช.เมื่อ 23 ก.พ. 2534 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย และความคิดความเชื่อดังกล่าว ได้ทำให้คนในสังคมลืมเลือนเหตุการณ์การรัฐประหาร ความรุนแรง ผู้เสียชีวิตและผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรม ไปในเวลาอันรวดเร็ว และฝันร้ายซ้ำซากก็ได้กลับมาเยือนสังคมไทยอีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า


 


กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 นสพ.ประชาทรรศน์ ร่วมกับศูนย์วิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเวทีอภิปรายเรื่อง "จาก รสช.สู่ คมช.: จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 ณ คณะศิลปศาสตร์ มธ. โดยมีนางประทีป อึ๊งทรงธรรม (ฮาตะ) ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ น.พ.กิติภูมิ จุฑาสมิต และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ร่วมเสวนา "ประชาไท" จึงขอเรียบเรียงเนื้อหาโดยย่อในการอภิปรายดังต่อไปนี้


 



ดร.สุธาชัย- น.พ.กิติภูมิ- นายจรัล- นางประทีป


"ถ้าไม่อยากให้มีการรัฐประหารครั้งต่อไป
ต้องนำตัวผู้ก่อการรัฐประหารมาลงโทษ"


น.พ.กิติภูมิ จุฑาสมิต กลุ่มปีกซ้ายพฤษภา กล่าวว่า เราได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่ถือว่าฝ่ายประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ จากการสรรหา ส.ว. ที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า ในขณะที่ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรได้ อภิชนก็สามารถแต่งตั้ง ส.ว.ได้เช่นกัน และตราบใดที่รัฐธรรมนูญและกฏหมายเผด็จการยังคงอยู่ การต่อสู้จะยังไม่จบ การรัฐประหารก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อีก ตราบใดที่คนทำรัฐประหารไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไรเลย และยังได้บำเหน็จรางวัลและตำแหน่งที่สูงขึ้น


การรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534 โดยคณะทหารที่นำโดย พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นเพียงแค่การรำลึกถึงคนที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น ไม่มีใครรำลึกหรือสืบสาวเอาความกับคนที่สั่งฆ่าประชาชน ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ ใครๆ ก็คงอยากทำรัฐประหาร ฉะนั้นถ้าอยากให้การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เป็นครั้งสุดท้าย จะต้องเอาผู้มีส่วนร่วมในการรัฐประหารมาลงโทษ ทั้งทางกฏหมาย ทางวินัย และทางสังคม


สังคมไทยสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขในการรัฐประหารขึ้นในอนาคต ได้ดังนี้


1.ต้องจำกัดงบประมาณด้านความมั่นคงของประเทศที่มีเยอะมากจนเกินไป และไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณในการป้องกันประเทศไม่ควรเกินกว่างบประมาณที่จัดสรรให้ในด้านการศึกษา เพราะการศึกษาคือการสร้างคน แต่อาวุธสงครามที่ใช้งบฯ มหาศาลถูกซื้อเข้ามาเพื่อรอวันเสื่อมสภาพ มีไว้สำหรับใช้ในงานวันเด็กและใช้ในการรัฐประหารเท่านั้น


2.ตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินนายทหารในระดับนายพล เปิดเผยต่อสาธารณะเช่นเดียวกับนักการเมือง เมื่อดูจากกรณีทรัพย์สมบัติของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อเข้ามาเป็นนายกฯ มีถึง 90 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินมูลค่า 20 ล้านบาท ในนั้นเป็นเครื่องเพชร ทำให้มีข้อสงสัยว่าคุณสุรยุทธ์เป็นทหารอาชีพ ไม่ทราบว่าท่านได้ทรัพย์สินเหล่านี้มาจากไหน หรือในกรณีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งมีมากกว่าพลเอกสุรยุทธ์อีก ซึ่งหากพวกเขาไม่ได้เข้ามาเป็น นายกฯ หรือ รองนายกฯ แล้ว ประชาชนคงจะไม่มีโอกาสได้รับรู้เลย เราต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่แต่นักการเมืองเท่านั้นที่มีปัญหาคอร์รัปชัน แต่ข้าราชการเองก็มีปัญหาคอร์รัปชันมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน


3.บันทึกในแบบเรียนและเอกสารวิชาการถึงข้อเท็จจริงว่า ปัญหาทางการเมืองไทยเกิดจากการรัฐประหารโดยทหารมาโดยตลอด และการรัฐประหารทุกครั้งก็เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งประเด็นนี้มีข้อมูลหลักฐานและทุกคนก็รับรู้ แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่าไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติ


4.หากไม่ให้สิทธิประชาชนในการครอบครองอาวุธเพื่อให้ทหารมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นในการทำรัฐประหารแล้ว  ก็ควรที่จะจัดตั้งให้มีอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตย ด้วยความสมัครใจของประชาชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ ให้มีการฝึกอบรมในด้านการต่อต้านการรัฐประหาร และการใช้ความรุนแรงโดยยึดในแนวทางสันติวิธี ทั้งนี้ บทบาทของอาสาสมัครต้องรวมถึงการติดตามพันธะสัญญาต่างๆ ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ไว้กับประชาชนด้วย แต่ทั้งนี้ย่อมไม่ได้รวมถึงวีธีการที่ขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย เช่น การขอพระราชทานนายกฯ หรือการสร้างเงื่อนไขเชิญชวนให้ทหารออกมาทำการรัฐประหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือพรรคประชาธิปัตย์ชอบใช้


 


 


***โปรดติดตาม เสวนา "จาก รสช.สู่ คมช." "จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร(2)
ประทีป อึ๊งทรงธรรม "
7องคาพยพที่บกพร่องของสังคมไทย:ปัจจัยสนับสนุนการรัฐประหาร"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net