Skip to main content
sharethis


 


ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ แห่งเวเนซุเอลา และประธานาธิบดีราฟาเอล คอเรอา แห่งเอกวาดอร์แถลงข่าวประณามรัฐบาลโคลัมเบีย ร่วมกันที่ทำเนียบมีราฟรอเรสในกรุงคารากัสเมืองหลวงประเทศเวเนซุเอลาเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: REUTERS/Edwin Montilva)


 


ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ กล่าวหาประเทศโคลัมเบียซึ่งมีพรมแดนติดกันว่าเป็น "อาชญากรรมสงคราม" ในขณะที่เวเนซุเอลาและเอกวาดอร์ต่างทำให้ความขัดแย้งต่อรัฐบาลโบโกตาตึงเครียดยิ่งขึ้น หลังจากที่กองทัพของโคลัมเบียโจมตีค่ายของกลุ่มกบฎที่ตั้งอยู่ในดินแดนของเอกวาดอร์


 


"อาชญากรรมสงคราม เกิดขึ้นที่นี่" ชาเวซกล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 มี.ค.) ในการแถลงข่าวร่วมกันที่กรุงคารากัส ของเวเนซุเอลา กับประธาธิบดีราฟาเอล คอเรอา (Rafael Correa) แห่งเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากที่ทั้งสองได้หารือกันถึงวิกฤตดังกล่าว


 


"เราทั้งสองต้องการสันติภาพ แต่เราไม่สามารถยอมรับข้อแก้ตัวของรัฐบาลโคลัมเบียที่เข้ามาใช้ดินแดนของเอกวาดอร์ปลูกฝังลัทธิจักรวรรดินยม" ซึ่งคำพูดของชาเวซกล่าวพาดพิงไปถึงพันธมิตรของโคลัมเบียคือสหรัฐอเมริกา


 


ประธานาธิบดีคอเรอาแห่งเอกวาดอร์ยังเรียกร้องให้นานาชาติประณามโคลัมเบียด้วยท่าทีที่แจ้งชัดกว่านี้ หลังจากที่โคลัมเบียที่รุกล้ำเข้ามาในพรมแดนประเทศอื่น ซึ่งขณะนี้ทั้งเวเนซุเอลาและเอกวาดอร์ต่างเสริมกำลังประชิดชายแดนโคลัมเบีย


 


คอเรอา แสดงความยินดี ที่แถลงการณ์ของ 34 ประเทศแห่งองค์การรัฐอเมริกา (Organization of American States - OAS) ได้ประณามโคลัมเบียว่ารุกรานอธิปไตยของเอกวาดอร์ โดยนายคอเรอากล่าวว่านี่เป็นขั้นตอนสำคัญก้าวแรก แต่เขาได้เรียกร้องมากกว่านั้นว่า


 


"ถ้าเอกวาดอร์ยังไม่ได้รับความพึงพอใจ เราอาจต้องดำเนินมาตรการของเราเอง และหากบรรดาองค์กรรัฐอเมริกาและประชาคมนานาชาติยังคงนิ่งเงียบและละเลย นี่ก็จะเป็นข้อตำหนิอีกประการหนึ่ง" นายคอเรอากล่าว


 


เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (1 มี.ค.) โคลัมเบียได้โจมตีค่ายของกบฎฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านรัฐบาลโคลัมเบีย ซึ่งตั้งฐานอยู่ในดินแดนของเอกวาดอร์ การโจมตีครั้งนี้ได้สังหารผู้นำกบฎอันดับสอง และก่อให้เกิดวิกฤตระหว่างประเทศขึ้น


 


หลังการยึดคอมพิวเตอร์แล็บทอประหว่างการบุกถล่มค่ายของกลุ่มกบฎดังกล่าว รัฐบาลโคลัมเบียยืนยันว่ามีหลักฐานที่เอกวาดอร์และเวเนซุเอลาให้การสนับสนุน กองกำลังปฏิวัติแห่งโคลัมเบียหรือ "ฟาร์ค" (the Revolutionary Armed Forces of Colombia - FARC) ซึ่งต่อสู้กับรัฐบาลโคลัมเบียมากว่า 4 ทศวรรษ


 


ทั้งรัฐบาลเวเนซุเอลาและเอกวาดอร์ต่างปฏิเสธคำอ้างดังกล่าว ทั้งยังขับทูตโคลัมเบียออกจากประเทศ และตัดความสัมพันธ์ทางการทูต


 


ทั้งเอกวาดอร์และเวเนซุเอลาต่างเคลื่อนกำลังทหารเข้าใกล้พรมแดนด้านที่ติดกับโคลัมเบีย ซึ่งโคลัมเบียเองก็ได้รับสุ้มเสียงสนับสนุนมาจากสหรัฐอเมริกา ที่เสนอให้ใช้บทบาททางการทูตลดชนวนความขัดแย้ง


 


เจ้าหน้าที่ในกองทัพเวเนซุเอลายืนยันว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 มี.ค.) ได้มีการส่งทหารราว 10 กองพัน ประมาณ 6,000 นายเข้าใกล้พรมแดนโคลัมเบีย


 


ด้านรองประธานาธิบดีโคลัมเบีย นายฟรานซิสโก ซานโตส (Francisco Santos) กล่าวที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยมว่า ประเทศของเขาไม่ต้องการให้ "อารมณ์โทสะเข้ายึดครอง" ขณะที่ทำเนียบขาวแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวว่า "ยังไม่ถึงเวลาอันควร" ในการพิจารณาช่วยเหลือทางทหารแก่โคลัมเบีย


 


ขณะที่ประธานาธิบดีโคลัมเบีย อัลวาโร อูริเบ (Alvaro Uribe) เรียกร้องให้ชาเวซใช้กระบวนการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อต่อสู้กับข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลเวเนซุเอลาจ่ายเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับกลุ่มกบฎฟาร์ค ดังที่ปรากฏหลักฐานจากเอกสารที่พบในคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปที่ยึดได้จากกลุ่มกบฎ


 


เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโคลัมเบียผู้นี้ได้พบกับผู้เชี่ยวชาญ 4 คน เพื่อร่างข้อเรียกร้องที่เป็นทางการ หนึ่งในข้อเรียกร้องนั้นระบุว่า รัฐบาลโคลัมเบียมี "ข้อมูลที่เพียงพอ" ที่จะแสดงให้เห็นว่า ชาเวซให้ความช่วยเหลือองค์กรก่อการร้าย "อย่างตั้งใจ และเป็นระบบ"


 


ขณะที่ชาเวซกล่าวว่า กระบวนการฟ้องร้องผ่านศาลยุติธรรมระหว่างประเทศของอูริเบ ทำให้เขาหัวเราะ


 


"ผมท้าให้อูริเบดูหน่อยว่าควรประณามใครที่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความรุนแรง แทกรแซงทางทหาร และรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน ผมนับแทบไม่ถ้วน"


 


แต่อย่างไรก็ตาม ชาเวซกล่าวว่าแทนที่จะหาเรื่องวิวาทกับโคลัมเบีย เขาน่าจะเริ่มดำเนินการให้กลุ่มกบฎฟาร์คปล่อยตัวประกันเพิ่มขึ้น


 


ที่ผ่านมา กลุ่มกบฎได้ปล่อยตัวประกัน 6 รายให้กับชาเวซ แต่ขณะที่พวกเขายังควบคุมตัวประกันมากกว่า 700 คน ในจำนวนนี้มี นางอินกริด เบอร์ตังกูท์ (Ingrid Betancourt) ชาวโคลัมเบียเชื้อสายฝรั่งเศสซึ่งเคยสมัครชิงตำแหน่งประธานาธบดีโคลัมเบีย ซึ่งนางถูกลักพาตัวไปตั้งแต่ พ.ศ.2545


 


ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายนิโกลา ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์ของโคลัมเบียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา สนับสนุนให้กลุ่มฟาร์สดำเนินยุทธศาสตร์ "ปล่อยด้วยมนุษย์ธรรม"


 


ต่อมา รายการโทรทัศน์ดังกล่าว ได้แพร่ภาพเจ้าหน้าที่ทางทหารของโคลัมเบียที่ประกาศว่ากบฎฟาร์กสได้ปล่อยตัวนักท่องเที่ยวชาวโคลัมเบีย 4 คน ที่ถูกจับไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของโคลัมเบียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาแล้ว


 


ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก


Venezuela accuse Colombia of war crimes by Victor Flores, AFP, 6 Mar, 2008

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net