Skip to main content
sharethis


โดย www.thaiclimate.org


 


 


เริ่มจากวันนี้ไปตลอดทั้งสัปดาห์ ผู้แทนกว่าพันคนจาก 190 ประเทศ จะเริ่มเจรจาถกมาตรการแก้ไข และรับมือปัญหาโลกร้อนรอบใหม่ที่กรุงเทพฯ หลังจากได้ข้อตกลงเบื้องต้นมาจากบาหลีเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่อย่าว่าแต่คนไทยทั่วไปจะไม่ได้ยินเกี่ยวกับการประชุมนี้ คนกรุงเทพฯ ที่ผ่านไปมาแถวถนนราชดำเนินนอกที่ตั้งของตึกสหประชาชาติก็อาจจะไม่ทราบว่าข้างในเขากำลังต่อรองเรื่องที่กำลังจะมีผลกระทบต่อมนุษย์และโลกใบนี้มหาศาล


 


"ทำไมนักข่าวไทยไม่สนใจการประชุมนี้เลย" ดร.สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ตามติดปัญหาโลกร้อน แสดงความแปลกใจหลังจากที่เห็นมีนักข่าวเพียงสามคนไปงานสัมมนาที่เตรียมสำหรับสรุปชี้ประเด็นการประชุมเพื่อช่วยนักข่าวไทยทำการบ้าน  ที่ห้องประชุมที่มีขนาดจุ 40-50 คนที่จุฬาฯ เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา


 


นักข่าวที่ไปร่วมประชุมในวันนั้นยังไม่ทันตอบ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ผู้โด่งดังในวงการวิชาการโลกร้อนของไทยก็ตอบแทนว่า แต่อย่าว่าแต่นักข่าวไม่มา ผู้แทนจากสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ที่นำทีมเจรจาของไทย ซึ่ง ดร.สิตานนท์เชิญมาให้ความรู้กับนักข่าวว่าไทยเราเตรียมประเด็นอะไรบ้างที่สำคัญกับประเทศก็ยังไม่มา


 


ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเจ้าภาพใหญ่ของประเด็นโลกร้อนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Framework Convention on Climate Change -UNFCCC) ได้เปิดให้ประเทศและองค์กรต่างๆ เสนอความคิดเห็นล่วงหน้าสำหรับ ประเด็นที่จะมาถกกันที่กรุงเทพฯ และการเจรจารอบต่อๆ ไปเพื่อจัดทำแผนรับมือโลกร้อนหลังจากพิธีสารเกียวโตจะหมดการบังคับใช้ลงในปี 2012 ในขณะที่หลายประเทศยื่นข้อเสนอกันคึกคัก เพื่อวางกรอบการเจรจาที่จะให้ผลประโยชน์กับประเทศตัวเองมากที่สุด ไทยเรากลับไม่ได้เสนออะไรเลย


 


กระนั้นก็ตามยังมีข่าวชิ้นเล็กๆ จากสำนักข่าวไทยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ ดร.เกษมสันต์ จิณาวาโส เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ว่า ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมโลกร้อนรอบใหม่เพราะเราจริงจังแก้ปัญหามาตลอด เรามีแผนยุทธศาสตร์รับมือกับปัญหาในประเทศ แถมยังมีโครงการซื้อขายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้กลไก Clean Development Mechanism (CDM) ตั้ง 15 โครงการแล้วด้วย


 


ใครที่ติดตามการรับมือปัญหาโลกร้อนในไทย คงแปลกใจกับคำกล่าวของดร.เกษมสันต์  ว่าไทยเราทำอะไรไปมากมาย เพราะว่าเอาเข้าจริง จนถึงขณะนี้ที่โลกร้อนเป็นประเด็นมาสิบกว่าปี ไทยเรายังไม่มีแผนที่มีรูปธรรมในทางปฏิบัติ นอกจากมีตัวเลขเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ว่ากรุงเทพฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ตั้งไว้สูงจนกระทั่งนักวิชาการคนเขียนแผนเองยังสงสัยว่าจะทำได้อย่างไร เพราะ กทม. ขาดอำนาจที่จะดำเนินการตามมาตรการส่วนมากที่กำหนดไว้ในแผน โครงการต่างๆ ภายใต้ CDM ก็เป็นโครงการของภาคเอกชนที่ทำมาเพื่อขายคาร์บอนเครดิตให้ต่างชาติที่ไม่ต้องการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศตัวเอง หาได้ทำมาเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทยเองไม่


 


ส่วนประเด็นที่ว่าทำไม UNFCCC เลือกมาจัดประชุมครั้งนี้ที่กรุงเทพฯ ทางผู้จัดไม่ได้ให้เหตุผลชัดเจน แต่เหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะการประชุมครั้งเดือนธันวาที่บาหลี เป้าหมายจริงคือมาจัดกรุงเทพฯ เพราะไทยไปเสนอตัวและถูกรับเลือกจากเหตุผลที่ไทยพร้อมกว่าเรื่องสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก แต่เมื่อไทยเจอรัฐประหาร 19 กันยา UNFCCC จึงกลับลำไปเลือกบาหลีแทน เพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศที่เสนอตัวเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ฝรั่งหลายคนไม่เต็มใจไปเพราะยังจำภาพเหตุการณ์ระเบิดใหญ่จากการก่อการร้ายได้อยู่


 


ที่บาหลี ถึงแม้จะเป็นการประชุมที่ใกล้บ้าน แต่มีนักข่าวไทยไปไม่เกิน 5 คนจากกองทัพนักข่าวนานาชาติเกือบทุกสำนักหลายพันคน คนไทยจึงได้รับรู้เรื่องนี้อย่างฉาบฉวยจากการรายงานข่าวที่แปลมาจากสำนักข่าวต่างประเทศ รัฐบาลไทยที่ส่งผู้แทนไป (เที่ยว) บาหลีตั้ง 50 กว่าคนก็เลยสบายไม่ต้องมานั่งให้สัมภาษณ์นักข่าวว่าตัวเองมาทำอะไร


 


การที่สังคมไทยให้ความสนใจเรื่องการเจรจาระหว่างประเทศน้อย อาจเป็นเพราะคนไทยพร้อมจะเชื่อแบบเดิมๆ (และขี้เกียจๆ) ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาไกลตัว และเป็นเรื่องของประเทศรวย ความจริงหลายประเทศกำลังพัฒนาก็คิดแบบนี้เหมือนกัน นักกิจกรรมจากอินโดนีเซียที่มาประชุมที่กรุงเทพๆ ก็แฉรัฐบาลตัวเองเหมือนกันว่าเพิ่งจะมาสนใจเรื่องโลกร้อนก็เมื่อมารู้ตัวว่าจะได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่บาหลีเมื่อปีที่ผ่านมา


 


แต่ว่าเราจะเพิกเฉยแบบนี้ไปได้อีกนานเท่าไหร่กัน รายงานประเมินความเสียหายจากภาวะโลกร้อนหลายต่อหลายฉบับสรุปตรงกันว่าประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะที่ติดทะเล ประเทศที่เป็นหมู่เกาะ จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศไม่น้อยไปกว่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่จะต่างก็ตรงที่เรามีทรัพยากรในการรับมือและปรับตัวน้อยกว่า คนของเราจึงอาจได้รับผลกระทบมากกว่า ดังเช่น ผลงานวิจัยล่าสุด ของ OECD ชี้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองอันดับที่เจ็ดของโลก ซึ่งจะได้รับผลกระทบด้านอุทกภัยอย่างรุนแรงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทรุดตัวของแผ่นดิน


 


ถ้าจะเกี่ยงรอให้ประเทศรวยรับผิดชอบเรื่องนี้ก่อนก็ไม่แน่ว่าจะหวังได้มากนัก การประชุม UNFCCC ที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้จะมีวาระหลักอันหนึ่งว่าด้วยการหามาตรการช่วยให้ประเทศพัฒนาแล้วที่มีพันธะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโตภายในปี 2012 ทั้งนี้เนื่องจากหลายประเทศเช่นแคนาดา เยอรมันนี มีแนวโน้มว่าจะลดไม่ได้ตามเป้า เรื่องนี้ ดร.อานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกร้อนของไทยเตือนทีเล่นทีจริงให้จับตาดูว่าประเทศรวยเหล่านี้จะใช้เวทีกรุงเทพฯเป็นที่ฮั้วกันลดเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคนิควิธีการหรือศัพท์แสงใหม่ๆหรือเปล่า


 


นอกจากนี้ประเทศรวย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่นอกจากไม่ยอมมีพันธะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโตแล้ว ยังตั้งป้อมว่าพวกประเทศกำลังพัฒนาต้องมีพันธะกรณีลดก๊าซในข้อตกลงใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากพิธีสารเกียวโตสิ้นสุดการบังคับใช้ในปี 2012 ด้วย จริงอยู่จีน กับ อินเดีย บราซิล อาจโดนก่อน แต่ไทยจะรอดลอยลำได้อีกนานสักแค่ไหน เพราะเราเป็นอันดับที่ 22 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขณะนี้ ซึ่งสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาเกือบทั้งหมด


 


เหล่านี้เป็นเรื่องที่คนไทยควรต้องช่วยกันตัดสินใจว่าควรผลักดันให้สังคมและรัฐบาลจริงจังกับปัญหานี้หรือยัง


 


 


 


 


*ติดตามความเคลื่อนไหว ทำความเข้าใจโลกร้อนในมุมที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย โดยทีมนักข่าวที่เกาะติดประเด็น ที่ www.thaiclimate.org


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net