Skip to main content
sharethis

อำนาจเรา อำนาจทีวี...  สิ่งที่ดูเหมือนจะธรรมดาอย่างที่สุด มีกันทุกบ้าน ดูกันทุกเพศวัยอย่างทีวีหากมองลึกลงไปกลับไม่ใช่เป็นแค่เทคโนโลยี นอกจากละครตบจูบหรือ AF4  ทีวี ยังมี "อำนาจ" ที่กระทำลงมามากกว่าที่ตามองเห็น


 


เสาร์ที่ 29  มีนาคม 2551 กลุ่ม we change และองค์กรร่วมจัด ได้ร่วมจัดงานแถลงข่าว สัปดาห์ปิดทีวี ฮ่า ฮ่า ฮ่า  ปี 2 ณ ภัตราคารดรากอน ราชดำริ


 


เวลาบ่ายโมงเศษนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา และกลุ่มละครมะขามป้อม โหมโรงด้วยละครสั้น "รักกันสนั่นเขา" ละครเชิงเสียดสีคนดูที่เชื่อเนื้อหาจากทีวีอย่างงมงาย จากนั้นต่อเนื่องด้วยวงเสวนา "อำนาจทีวี อำนาจเรา"  วิทยากรแลกเปลี่ยนได้แก่ โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการนิตยสารจีเอ็มและคอลัมนิสต์ , ตุล ไวฑูรย์เกียรติ์ นักร้อง นักแต่งเพลง กวี และกิตติชัย งามชัยพิสิฐ จากกลุ่ม we change และ สถาบันต้นกล้า


 


โตมรเปิดประเด็นจากเรื่องวัฒนธรรม โดยมองว่าสังคมไทยไม่ใช่วัฒนธรรมการอ่าน แต่คือการดูมหรสพ การละเล่นจนต่อเนื่องมาถึงการดูทีวี วัฒนธรรมทีวีจึงเป็นเรื่องใหญ่และค่อนข้างแข็งแกร่ง ส่วนตุลมองว่าวัฒนธรรมทีวีกำลังจะสลายด้วยสื่ออื่นที่เข้ามาแทนที่อย่างอินเทอร์เน็ต และบางลักษณะของทีวีเองก็ทำลายตัวเอง 


 


"สิ่งที่ถูกทำลายง่ายคือสิ่งที่กว้าง ถ้าเราอ่านหนังสือมากเท่าดูทีวีจนกลายเป็นแมสมีเดีย  โฆษณาคงวิ่งไปหานักเขียนเหมือนกัน" ตุลย์กล่าว และว่า


 


ปัจจุบันดูเหมือนผู้บริโภค จะเปลี่ยนแปลงจากผู้ดูไปสู่ผู้เลือกและมีส่วนร่วมมากกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นผ่าน SMS การลงคะแนนให้ผู้แข่งขัน AF หรือ The Star แต่สิ่งเหล่านี้น่าจะยังไม่อาจเรียกได้ "เต็มปาก" ว่าทีวีไทยมีพัฒนาการไปอีกขั้นแล้ว หรือผู้ดูได้เข้าไปมีส่วนร่วมคิดร่วมกำหนดได้อย่างแท้จริง


 


ช่วงหนึ่งของวงเสวนา ประเด็นแลกเปลี่ยนได้เคลื่อนไปสู่เรื่องการเป็น "active และ passive" - - ผู้กระทำหรือผู้รับที่เฉื่อยชาโดยตั้งประเด็นไปที่คำถามว่า หากเนื้อหาและสิ่งที่อยู่ในนั้นมีแต่ "น้ำดี' การเสพสารจากทีวีหรือการใช้ชีวิตอยู่หน้าจอสี่เหลี่ยมในส่วนมากของชีวิตก็จะไม่มีปัญหาใด อย่างนั้นหรือ ???


 


กิตติชัยเห็นว่า "การเกิดขึ้นของไทยพีบีเอส (ทีวีสาธารณะ)เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ทีวีคือเทคโนโลยีที่ทำให้คนเป็น passive (การเป็นผู้รับ)  โดยตัวมันเองอยู่แล้ว ถึงตัวเนื้อหาดีก็ต้องให้คนระวัง"


 


การปฏิเสธทีวี (ปิด) 7 วัน ของกิตติชัยจึงเป็นมากกว่าการไม่ดู แต่คือการทบทวนและปฏิเสธการเป็นพลเมืองที่เฉื่อยชา  ด้านคอลัมนิสต์อย่างโตมรก็เห็นคล้ายกันว่าการเป็น "ผู้ดู"จนเคยชิน ส่วนหนึ่งจะเป็นการบ่มเพาะวัฒนธรรมการ "ยอมรับ" อะไรง่ายๆ


 


ต่อคำถามถึงทางเลือกออกจากทีวี หรือการสื่อสารทางเดียวที่เป็น "แมส"  โตมรนำเสนอว่าหากภาพรวมของสังคมยังให้คุณค่าบนฐานของความเป็นมวลชน (mass)ทางออกก็เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก


 


"เราหาทางออกได้ลำบากตราบเท่าที่เรายังเชื่อในประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยคือการปกครองโดยเสียงที่เป็นแมส ซึ่งส่วนใหญ่อะไรที่เป็นแมสมันจะดูรสนิยมไม่ค่อยดี เรายังให้คุณค่ากับแมสมาก ทั้งที่แมสที่ดีจะต้องได้ยินเสียงเล็กเสียงน้อยด้วย ที่น่าสนใจเลยเป็นเรื่องว่า เราจะอยู่กับแมสแบบนี้อย่างไรมากกว่า เหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง เรื่องอยู่กับมาร มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะลุกขึ้นมาบอกว่าอย่าทำอย่างนี้  แล้วไม่มีทางออกให้  ในเว็บwechange555 ที่มีกิจกรรมให้เลือกทำถ้าไม่ดูทีวี นั่นก็น่าสนใจ"


 


โตมรยังแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ไปไกลกว่าการดูหรือไม่ดูทีวีหนึ่งสัปดาห์ แต่ยังเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในการพยายามไม่ทำอะไรเลยในหนึ่งเดือน ซึ่งนำมาสู่คำถามว่า ทำไมเราอยู่นิ่งๆกันบ้างไม่ได้


 


"ทำไมเราไม่มีศิลปะในการไม่ทำอะไรเลยบ้าง ถ้าเจ็ดวันนี้เราลองไม่ทำอะไรเลย ทำไมต้องเปิดโทรทัศน์ให้อะไรต่อมิอะไรวิ่งเข้ามากระทบเรา ลองมีชีวิตแบบก้อนหิน แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายกับการไม่ทำอะไรเลย ลองพยายามให้สิ่งต่างๆเข้ามากระทบเราน้อยที่สุด"


 


ส่วนศิลปินอย่างตุล ที่อาจจะกล่าวได้ว่าอยู่ในพื้นที่ของแมส และถูกทำให้เป็นแมสในขณะเดียวกัน เห็นว่าเรามีทางเลือกตลอดเวลา และเราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธอะไร แต่สำคัญที่เราจะจัดการกับมันอย่างไรมากกว่า


 


"ผมว่าทางเลือกมันมีตลอดเวลา ทีวีคือเครื่องมือสื่อสารเหมือนวิทยุ มือถือ อินเทอร์เน็ต แต่อีกอย่างคือการพูดคุยกับคนข้างๆ มันมีการรับการส่ง เป็นการสื่อสารชนิดหนึ่ง ปิดทีวีแล้วหันไปคุยกับคนข้างๆบ้างๆ ผมก็ยังคงจะดูทีวีอยู่ เพียงแต่จัดการให้มันไม่มาทำให้ชีวิตเราลำบากยังไง ทั้งการต่อต้านและการติดยึดมันทำให้ชีวิตไม่สนุก เราต้องรู้รสนิยมตัวเองมากกว่า ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน ประสาทสัมผัสทำให้เราตกเป็นเหยื่อได้ทั้งนั้นแม้เราจะไม่เสพอะไรเลย"


 


ก่อนจบเสวนาเพื่อเคลื่อนไปสู่กิจกรรมปล่อยลูกโป่งหน้าจอทีวียักษ์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิร์ลพลาซ่า  กิตติชัย ในฐานะตัวแทนผู้จัดรณรงค์ ทิ้งท้ายว่า การจะดูหรือปิดทีวีมันอยู่ในขอบข่ายของอำนาจทั้งสิ้น แต่ละคนสามารถไปออกแบบรูปแบบและเหตุผลของการไม่ดูทีวี 7 วันได้เอง แต่มีหลักการคือเพื่อสร้างอำนาจของเราขึ้นมา ให้สัปดาห์ปิดทีวีนี้เป็นโอกาสในการเริ่มต้นค้นหาหนทางสร้างสรรค์ชีวิตในรูปแบบอื่นบ้าง ให้เวลากับตัวเอง และสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ


 


ต่อคำถามว่าสัปดาห์ปิดทีวีนี้จะมีไปถึงเมื่อไหร่ กลุ่มผู้รณรงค์มองว่าจนกว่า "จะไม่ต้องเป็นตัวตั้งตัวตีจัด           สัปดาห์นี้เองอีกต่อไป" เมื่อถึงช่วงเวลานี้ของทุกปี จะเกิดกระแสปฏิเสธการเป็นแต่เพียงผู้เสพ และเกิดบรรยากาศของการแสวงหาทางเลือกอันสดใหม่ให้ชีวิต รวมทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษ์ด้วยกันเอง ที่คล้ายจะถูกกลืนหายไปในกระแสธารเทคโนโลยีทุกทีๆ


 


 หลังจากนั้นเป็นปฏิบัติการ "บังรัศมี"  ด้วยการปล่อยลูกโป่งสีดำสามร้อยลูกให้ลอยไปบังจอทีวียักษ์ เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์และสร้างสีสันให้รณรงต์ปิดทีวี ปี 2 นี้


                                                                                  


สัปดาห์ปิดทีวี ปี 2 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-27 เมษายน 51


 


ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม


www.wechange555.com หรือ www.tonkla.org  โทร. 02-437-9445

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net