Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการเภสัชกรรม ประจำปี 2551 จัดโดยเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีเภสัชกรจากภาครัฐและเอกชน บริษัทและร้านขายยาทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม


 


นายไชยากล่าวช่วงหนึ่งถึงองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า เป็นหน่วยงานสำคัญที่จะผลิตยาให้ประชาชนในประเทศ และจากการไปตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตยาของอภ.เห็นควรจะต้องมีการพัฒนาให้มากกว่านี้ เพื่อให้ผลิตยาส่งออกไปต่างประเทศได้ แต่เท่าที่ดูคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เห็นว่า ยังไม่มีตัวแทนจากภาคเอกชนเข้าร่วม เพื่อดูในเรื่องมาตรฐานการผลิต ดังนั้น คงต้องมีการรื้อบอร์ด และตนได้พูดคุยกับนายกสมาคมฯ ว่า อาจเชิญไปร่วมนั่งในบอร์ด เพื่อขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ไปพร้อมๆ กัน


 


ภายหลังการประชุม รมว.สาธารณสุขให้สัมภาษณ์ถึงการรื้อบอร์ด อภ.ว่า เป็นเพียงการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง แทนบอร์ดที่ลาออกไป ไม่ได้รื้อ ซึ่งการที่เสนอให้นายธีระ ฉกาจนโรดม นายกเภสัชกรรมสมาคมฯ เข้าไปนั่งในบอร์ด อภ.นั้น เป็นการนำคนในรายวิชาชีพมาช่วยขับเคลื่อนเรื่องการผลิตยา โดยโรงงานผลิตยาเอกชนบางแห่งสามารถส่งออกได้ เพราะมีมาตรฐานการผลิตที่ได้คุณภาพ ดังนั้น จึงควรพัฒนาโรงงานผลิตยาเพื่อส่งขายในต่างประเทศด้วยช่วยนำรายได้เข้าประเทศ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นเรื่องยา รองรับบริการรักษาพยาบาล ซึ่งไทยมีชื่อเสียง


 


เมื่อถามถึงกระแสต่อต้านหากมีการแต่งตั้งนายกเภสัชกรรมสมาคมฯ ร่วมเป็นบอร์ด อภ. เพราะมาจากภาคเอกชน ซึ่งส่งผลต่อ อภ. ในฐานะองค์กรผลิตยาของรัฐ นายไชยา กล่าวว่า อภ.ก็เป็นเอกชน ไม่ได้เป็นของภาครัฐ เมื่อถามต่อว่าจะมีปัญหาในการทำงานหรือไม่ เพราะที่ผ่านมานายธีระมีส่วนสำคัญในการคัดค้านการทำซีแอล เนื่องจากเป็นนายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) แกนนำเคลื่อนไหว นายไชยากล่าวว่า ขอดูก่อนอย่าพึ่งคิด ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม


 


ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานคณะกรรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า นายไชยามีอำนาจแต่งตั้งนายธีระเข้าร่วมเป็นบอร์ดใน อภ. โดยเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ แต่ควรพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า นายธีระเป็นตัวแทนบริษัทยาข้ามชาติ ซึ่งตามหลักการไม่ควรเชิญร่วมเป็นบอร์ด อภ. เนื่องจากสวนทางกับหลักการ อภ. ที่ต้องเป็นองค์กรส่งเสริมประเทศชาติพึ่งพาตนเองในด้านยามากที่สุด แต่นายธีระไม่ได้เป็นตัวแทนคนไทย


 


"ที่ผ่านมานายธีระแสดงออกหลายครั้งว่า เป็นตัวแทนบริษัทยาข้ามชาติชัดเจน โดยเฉพาะการออกมาขัดขวางไม่ให้ไทยทำซีแอล ดังนั้น การแต่งตั้งเช่นนี้จึงไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ในอภ.มีเภสัชกรที่มีความรู้ความสามารถอยู่มาก ไม่จำเป็นต้องดึงนายธีระเข้าร่วม" นพ.วิชัยกล่าวและว่า การทำเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อนายไชยา และไม่เป็นผลดีต่อ อภ. เพราะเหมือนมีตัวแทนจากบริษัทยาที่เป็นคู่แข่ง อภ.เข้ามาเป็นไส้ศึก ล้วงข้อมูล ที่ผ่านมาก็มีหลักฐานชัดเจนว่าบริษัทยาข้ามชาติขัดขวางไม่ให้ อภ. ผลิตยาแข่งขัน ดังนั้น ถ้ามีตัวแทนบริษัทยาเอกชนเข้ามานั่งในบอร์ด อภ. จะทำให้มีปัญหาตามมามากมาย และเชื่อว่าจะมีการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านแน่นอน


 


ส่วนความเคลื่อนไหวหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้ว่าขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เพราะถือหุ้นเกิน5% โดยไม่แจ้งป.ป.ช.ภายใน 30 วัน นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ประกาศบนเวทีการประชุมวิชาการเภสัชกรรมประจำปี 2551 ยืนยันว่าไม่ถอดใจลาออกจากตำแหน่ง แม้ว่าขณะนี้ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ประธาน 4 องค์กรยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่กรณีไม่แจ้งการถือหุ้นเกิน 5% ของภรรยา


 


 


 


ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net