Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งขั้วรุนแรงในสังคมไทย  ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ  ที่พยายามปฏิเสธทั้งสองฝ่าย   คัดค้านอำนาจนิยมของระบอบทักษิณและปฏิเสธการรัฐประหาร


 


รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  ที่กลายเป็น  "เชียร์ลีดเดอร์"  ของคณะรัฐประหาร


 


นักวิชาการและ NGO ซึ่งเกาะกลุ่มมาเหนียวแน่นตั้งแต่ครั้งไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ   พยายามเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้กระบวนการตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาอีกครั้ง โดยยอมรับว่าจะต้องแก้มาตรา 237 เพื่อไม่ให้มีการยุบพรรค   ไม่ให้การเมืองถึงทางตัน


 


วันนี้ลองมาคุยกับ 2 คนรุ่นใหม่ใน "ฝ่ายที่สาม" ซึ่งคงไม่มีใครกล่าวหาได้ว่าเป็นพวกทักษิณ เพราะรายแรกคือน้องชายโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองเลขาธิการ สนนท.ช่วงพฤษภาทมิฬ และเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาวาย ตอนนี้เขากลับเมืองไทยชั่วคราว เป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์พันธมิตรฯ มาตั้งแต่เริ่มเรียกร้อง ม.7 และนำไปสู่รัฐประหาร ส่วนรายหลังคือจำเลยคดีชินคอร์ปฟ้อง 400 ล้านร่วมกับไทยโพสต์



 


0 0 0


 


ศิโรตม์  คล้ามไพบูลย์


  


"เขียนรัฐประหาร?"


 



"เป้าหมายของพันธมิตรฯ ก็คือการสร้างสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์พิเศษขึ้นมาเพื่อทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้วิธีการพิเศษเข้ามาแทรกแซงเช่นศาล, การรัฐประหาร,  การพูดเรื่องพระราชอำนาจแบบมาตรา  7 เรื่องแบบนี้จะกลับมาได้อีก"


 


"ประเด็นที่ผมคิดว่ามีปัญหากับพันธมิตรฯ  คือ ในด้านหนึ่งก็ทำให้ประชาชนตื่นตัว   แต่ในอีกด้านหนึ่งพันธมิตรฯ  ทำให้วาระทางการเมืองของชาติมันเท่ากับปัญหาบางอย่างที่เป็นปัญหาของชนชั้นสูงเป็นหลัก  ไม่ใช่ของคนทั้งหมดในสังคม  ยกตัวอย่างพี่สมศักดิ์เป็นตัวแทนของกรรมกร  เข้าไปในนามตัวแทนกรรมกร   แต่เข้าไปแล้วไม่มีบทบาทชัดเจนพูดปัญหาของกรรมกรเลย  มันน่าสนใจว่าอะไรทำให้คนที่เป็นตัวแทนชั้นล่างเข้าไปร่วมกับพันธมิตรฯ  และคิดว่ากำลังทำเพื่อสังคม แต่ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นประเด็นของชนชั้นนำเป็นหลัก"


 



ทำไมมองว่าเป็นเรื่องของชนชั้นนำ


 



"พันธมิตรฯ  รอบแรกพูดเรื่องอะไรบ้าง  ที่เป็นทางการคือพูดเรื่องไล่ทักษิณ   ในแง่ที่ไม่เป็นทางการก็พูดเรื่องการขายหุ้น  เรื่องสถาบันหลักๆ เรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์   แต่ไม่เคยพูดถึงคนระดับล่างเลย   เรื่องคนชั้นล่างหายไปเลยจากวาระของพันธมิตรฯ  เรื่องที่พันธมิตรฯ  สนใจในรอบสองก็พยายามทำตัวเป็นตำรวจรัฐธรรมนูญ   ไม่ต้องการให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเด็ดขาด   ซึ่งถ้าเรามองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในทัศนะชนชั้นล่าง   ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม   มันมีข้อบกพร่องเต็มไปหมด และถ้าเราเชื่อว่าการต่อสู้ทางการเมือง   คือการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนจนคนด้อยโอกาส   คำถามคือพันธมิตรฯ  ทำอะไรอยู่กับประเทศในเวลานี้"


 


"ท่าทีพันธมิตรฯ  เหมือนเป็นตำรวจรัฐธรรมนูญมากเกินไป  ทั้งๆ ที่มองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งในแง่นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์  มันหาเหตุผลดีๆ ที่จะไม่แก้รัฐธรรมนูญได้ยาก   ยกเว้นเราจะบอกว่าไม่แก้เพราะถ้าแก้แล้วทักษิณจะกลับมา ถ้าแก้แล้วพรรคพลังประชาชนจะไม่โดนยุบ  ซึ่งมันไม่ใช่เหตุผลที่มีน้ำหนักพอ"


 


"บางคนบอกว่าแก้แล้ว  คตส.ยังมีอยู่ต่อไปหรือเปล่า   การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา  309 คือมันไปล็อกว่าองค์กรต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาตามคำสั่ง  คมช.ชอบด้วยกฎหมาย   ไม่สามารถล้มล้างได้   บทบัญญัติแบบนี้ผิดแน่ๆ   แต่ถึงยกเลิก 309 คตส.ไม่ได้ถูกยุบไปด้วย  แต่มันอาจจะถูกตั้งคำถามมากขึ้น  เช่น  อาจจะมีคนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญดูว่าคตส.ผิดหลักรัฐธรรมนูญหรือเปล่า แต่โดยการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เท่ากับการยุบ  คตส."


 


"คนที่คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญสร้างสมการผิดๆ ขึ้นมาหลายเรื่อง เช่น แก้รัฐธรรมนูญเท่ากับทักษิณกลับมา แก้รัฐธรรมนูญเท่ากับ  คตส.ถูกยุบ  แก้รัฐธรรมนูญเท่ากับพลังประชาชนอยู่รอด  นี่เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้หลายๆคนไม่สะดวกใจที่จะเชียร์พันธมิตรฯ เพราะมันมีลักษณะของการสร้างสมการทางการเมืองที่บิดเบี้ยว และถ้าคิดระยะยาวเราตั้งคำถามว่า   มันดีกับประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า  คือโดยหลักการแล้วการที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองเป็นเรื่องดี แต่ว่าการตื่นตัวทางการเมืองภายใต้การ  manipulate บางอย่าง   ภายใต้การให้ข้อมูลบางอย่าง   ภายใต้การสร้างสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงบางอย่าง   มันจะนำไปสู่อะไร   เราผ่านรัฐประหาร  19  ก.ย.มาแล้ว   ก็เห็นชัดว่ามันเกิดจากวาระทางการเมืองที่พันธมิตรฯ  สร้างขึ้นมา บอกว่ารัฐประหารเพื่อสถาบันหลักของชาติ รัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ   ท้ายที่สุดเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาในรอบ  2  ปีทั้งนั้น"


 



มันก็มีคำถามว่าแล้วจะต่อสู้กับรัฐบาลพลังประชาชนอย่างไร


 



"มีการแก้รัฐธรรมนูญแล้วมันจะต่อสู้กับพรรคพลังประชาชนไม่ได้ตรงไหน มีใครห้ามว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วห้ามต่อสู้กับพรรคพลังประชาชนไหม  ผมคิดว่า 2  เรื่องนี้มันคนละเรื่องกัน  การที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าพรรคพลังประชาชนเข้มแข็งเกินไป  เลยต้องมีรัฐธรรมนูญที่จะให้ยุบพรรคได้ง่ายขึ้น   ประเด็นหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึง  คือ   ความต้องการยุบพรรคเป็นเจตจำนงของประชาชนทั้งประเทศหรือเปล่า  และมันสมเหตุสมผลหรือเปล่าในการร่างกฎหมายหลักของประเทศขึ้นมาเพื่อบล็อกพรรคการเมืองพรรคนี้ คือพรรคพลังประชาชนดีหรือไม่ดีก็เถียงกันได้เยอะ  ในแง่ตัวบุคคลก็มีคนที่ผมไม่อยากคุยด้วยเยอะ   แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะยุบพรรคเขา  เพราะในที่สุดความดีหรือไม่ดี   ความชอบหรือไม่ชอบมันก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล   มันไม่ใช่เจตจำนงของชาติ   หรือวาระทางการเมืองของชาติจะต้องเป็นแบบนี้"


 



"อีกประเด็นที่คนไม่พูดถึง  คือเราไม่ค่อยพูดว่าสิทธิการรวมกลุ่มทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่   เรากำลังพูดถึงการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองไม่ว่าจะดีหรือเลว   จะเป็นนายทุนท้องถิ่นหรือเจ้าพ่อ   แต่ข้อสำคัญคือ  มีคนจำนวนมากชื่นชอบเขา   ไม่ว่าเขาจะยุบพรรคไปกี่ครั้ง  จะห้ามเขาไม่ให้ลงเล่นการเมืองยังไงก็ตามแต่   คนพวกนี้ก็จะชนะการเลือกตั้งกลับมา   เพราะฉะนั้นถ้าโจทย์เราอยู่ที่การบล็อกพลังประชาชน   ปัญหาของบ้านเมืองมันก็จะแก้ผิดไปเรื่อยๆ  คือบล็อกคนที่ยังไงก็บล็อกไม่ได้"


 


"19ก.ย.หรือรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและคลาสสิกมาก  ว่ารัฐหรือคนที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร หรือผู้นำภาคประชาชน ปัญญาชนต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐประหาร  พยายามบล็อกพลังประชาชนเต็มที่ ใช้กฎหมาย  ใช้วิธีนอกกฎหมาย   เขียนรัฐธรรมนูญ   แต่ก็ยังบล็อกไม่ได้   เพราะปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้พลังประชาชนชนะไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ  แต่เป็นเรื่องของการมีอำนาจของทุนท้องถิ่น"


 


"การต่อสู้กับอำนาจทุนท้องถิ่นเป็นสิ่งที่รัฐราชการไทยพยายามทำมาตลอด ชนชั้นนำของไทย   คนกรุงเทพฯ คนที่มีการศึกษาพยายามทำมาตลอด   และไม่เคยประสบความสำเร็จเลย   ลองนึกย้อนไปปี  2534 ที่คนกรุงเทพฯ  สนับสนุนให้  พล.อ.สุจินดารัฐประหาร   เพราะเกลียดคุณชาติชาย   เกลียดคุณเสนาะ   พฤษภา 2535 คนจำนวนมากที่ออกไปต่อต้านสุจินดา  ไม่ใช่แค่เพราะไม่ชอบคุณสุจินดา   แต่ไม่ชอบบรรหาร  ไม่ชอบเสนาะ   เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้เป็นศัตรูทางการเมืองของชนชั้นนำในกรุงเทพฯ   มาสิบ-ยี่สิบปีแล้ว   พยายามจะล้มเขามาสิบ-ยี่สิบปีแล้ว   แต่ไม่เคยสำเร็จ   เพราะฉะนั้นโจทย์นี้มันถูกหรือเปล่า"


 


"พอโจทย์ไม่ถูกมันก็จะทำให้การแก้ปัญหาวนไปเรื่อยๆ ปี 2534 สนับสนุน รสช.ยึดอำนาจ  ปี  2549 สนับสนุน  คมช.ยึดอำนาจ  มันก็จะเป็นโจทย์แบบนี้ไปเรื่อยๆ เราต้องเชื่อว่าประชาธิปไตยมีกระบวนการคลี่คลายตัวมันเอง ถ้าเรารู้สึกว่าคนต่างจังหวัดถูกครอบงำด้วยทุนท้องถิ่น   เราก็ต้องเชื่อว่าในที่สุดกระบวนการที่ความขัดแย้งระหว่างคนท้องถิ่นกับทุนท้องถิ่นมันจะปะทุออกมา  แล้วจะทำให้สังคมเคลื่อนตัวได้ ไม่ใช่คิดแต่ว่าทุนท้องถิ่นครอบงำประชาธิปไตย   ต้องตัดประชาธิปไตยทิ้งไป"


 


"โจทย์เรื่องบล็อกพรรคพลังประชาชนเป็นปัญหาของพันธมิตรฯ เป็นโจทย์ของพันธมิตรฯ แต่ไม่ควรเป็นโจทย์ของประเทศไทย เพราะคนที่เขาเลือกพรรคพลังประชาชนก็ครึ่งๆ อย่างผมเลือกพลังประชาชนครึ่งหนึ่ง ประชาธิปัตย์ครึ่งหนึ่ง ผมไม่ได้รู้สึกว่าโจทย์การบล็อกพลังประชาชนเป็นปัญหาของผม ผมรู้สึกว่าปัญหาของประเทศไทยมันคือคนไม่มีความเท่าเทียมกัน กรรมกรถูกเอาเปรียบค่าแรง การศึกษาไม่เท่าเทียม ชาวนาไม่มีที่ดิน อันนี้คือโจทย์ของประเทศไทย ไม่ใช่โจทย์พลังประชาชนจะมาหรือไม่มา"


 



"เรื่องสำคัญอีกเรื่องก็คือ การเล่นการเมืองแบบพันธมิตรฯ มันลดทอนปัญหาทางการเมืองระดับประเทศให้เท่ากับการมีทักษิณเป็นนายกฯ  หรือไม่มี เป็นโจทย์ที่ผิดแน่นอน   ประเทศเราเป็นโลกที่สาม   พึ่งพิงต่างประเทศเยอะ   การรวมพลังของคนในชาติในเวลา 2ปี แล้วบอกว่าปัญหาของชาติเกิดจากทักษิณเป็นนายกฯ  ผมคิดว่าไม่  make  sense  เลย  เรากำลังเอาพลังงานของคนทั้งประเทศไปทำอะไรกัน   เรากำลังรวมพลังคนในประเทศเพื่อทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศจริงๆ  หรือเปล่า"


 


"ปัญหาประเทศเรามันง่าย   แล้วมันเกิดขึ้นด้วยคนคนเดียวหรือ-ไม่ใช่  ทุกครั้งที่เราพยายามคิดว่าปัญหาเกิดจากคนคนเดียว   มันก็นำไปสู่การพยายามจะสร้างคนบางคนให้เป็นผู้ร้ายของประเทศ แล้วต้องมาแก้กฎหมายเพื่อไล่ผู้ร้ายอยู่เรื่อยๆ โจทย์นี้ไม่เคยแก้ปัญหาได้จริงๆ ปัญหาหลายอย่างที่คนไม่พอใจทักษิณ  เช่น  ขายหุ้น,  ขายชาติ   มันไม่ใช่ประเด็นเรื่องคุณทักษิณ   แต่ประเทศไทยโยงกับเศรษฐกิจโลกมาก   มันมีกลไกของตลาดทุนที่เติบโตคุณทักษิณไปแล้วแต่กติกาขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษีก็ยังอยู่ ทำไมไม่มีใครพูดบ้างว่าคนที่ซื้อขายหุ้นต้องเสียภาษีด้วย  พันธมิตรฯ  พยายามปลุกกระแสเรื่องชาตินิยม  เรื่องไทยจะเป็นเมืองขึ้นสิงคโปร์  เมืองขึ้นอเมริกา   แต่ไม่มีคุณทักษิณประเทศไทยก็ยังอยู่ในโมเดลนี้เหมือนเดิม"


 



"พันธมิตรฯ  เล่นกับ sentiment  บางอย่างที่เหมือนกับว่าคุณทักษิณเป็นคนก่อปัญหา  คนที่เข้าไปต่อสู้ในพันธมิตรฯ  รู้สึกว่าตัวเองทำเพื่อบ้านเมือง  แต่ว่าปัญหาของบ้านเมืองเท่ากับไล่คุณทักษิณหรือเปล่า เช่น  การต้องการให้ไทยเป็นอิสระจากต่างชาติ   โจทย์มันง่ายแค่ไล่คุณทักษิณหรือเปล่า-ไม่ใช่แน่นอน   ความรู้สึกว่ารัฐบาลนายทุนผูกขาดอำนาจ  ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่ใช่คุณทักษิณโจทย์นี้ก็อยู่ต่อ   สมัยประชาธิปัตย์เราก็รู้สึกว่าเป็นตัวแทนกลุ่มทุนป่าไม้   กลุ่มทุนอุตสาหรรมบางกลุ่ม  คือปัญหากลุ่มทุนครอบงำการเมืองมันเป็นปัญหาการเมืองไทยมาตลอดอยู่แล้วเพราะการเมืองไทยไม่มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นโดยให้คนชั้นล่างมีอำนาจโดยตรง  ต่อให้ไล่นายกฯ  ไปกี่คนปัญหานี้ก็อยู่ต่อไป"


 


"ในแง่นี้คนที่ไล่ทักษิณบอกว่าเป็นประชานิยมจึงต้องไล่ผมมีความรู้สึกว่ากลุ่มที่ไล่ทักษิณก็ไล่โดยความรู้สึกประชานิยมบางอย่างเหมือนกัน  คือเอาปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประชาชนระดับล่าง   ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานแล้วมาบอกว่าเกิดขึ้นเพราะคุณทักษิณ   เพราะฉะนั้นทั้งฝ่ายโปรทักษิณและไล่ทักษิณใช้สำนวนโวหารเดียวกัน   คือมีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาว่าทำแบบนี้แล้วแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง   ซึ่งมันไม่จริง"


 



สถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนยับยั้งไม่ได้แล้ว ฝ่ายพลังประชาชนเก็บกดมาปีกว่า   พอกลับมาก็เอาคืน   มันจะนำไปสู่การปะทะไหม


 



"ผมไม่คิดว่าจะถึงขั้นนั้นเพราะคนไทยอยู่กับการเผชิญหน้ามา 2 ปี มันก็เหนื่อยเหมือนกัน   คนที่อยากปะทะ พวกฮาร์ดคอร์ของพันธมิตรฯ  กับพลังประชาชนก็คงมี   แต่โอกาสที่ทั้ง  2  ฝ่ายจะดึงสังคมไทยไปปะทะกัน   ไม่คิดว่าจะเยอะเหมือนอย่างรอบที่แล้ว  มันมีการรัฐประหารไปแล้วและมันเจ๊งกันไปหมด   หลายฝ่ายก็ไม่อยากทุ่มเทหมดหน้าตักเหมือนอย่างที่ผ่านมา"


 



"ถ้ามีการเผชิญหน้าจะเกิดจากฝ่ายพันธมิตรฯ  มากกว่า เพราะพันธมิตรฯ  มีข้อเรียกร้องบางเรื่องซึ่งแข็งเกินไปและไม่ตอบปัญหาสังคมไทย เช่น  บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ได้แม้แต่มาตราเดียว   ทั้งๆ  ที่ตอนลงประชามติก็บอกเองว่าให้รับไปก่อนแล้วค่อยแก้   แต่พอมาตอนนี้บอกว่าแก้ไม่ได้สักมาตราเดียว   ในทางการเมืองข้อเรียกร้องที่แข็งและตายตัวแบบนี้จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากันอยู่แล้ว"


 


"พลังประชาชนมีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ   แต่ไม่ตายตัวเท่าพันธมิตรฯมันมีความเปะปะอยู่ เช่น  คุณจาตุรนต์ก็พูดว่าใช้ ส.ส.ร.  บางคนก็บอกว่าแก้ไม่กี่มาตรา   บางคนบอกแก้ยกแพ็กเกจ   เพราะฉะนั้นมันมีความเปะปะความหละหลวมอยู่โอกาสที่ฝ่ายพลังประชาชนจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าจะน้อยกว่าฝ่ายพันธมิตรฯ ถ้าดูจากข้อเรียกร้องทั้ง 2 ฝ่าย"


 


"การสร้างโจทย์ทางการเมืองลักษณะทำให้เกิดการเผชิญหน้ามากๆ อย่างนี้   พันธมิตรฯ  ต้องการดำเนินการทางการเมืองแบบไหน ผมมีความรู้สึกว่าการชุมนุมพันธมิตรฯ  มีกระบวนการหลายๆ อย่าง   ซึ่งพยายามจะสร้างสถานการณ์แบบก่อน 19 ก.ย.ขึ้นมาใหม่ ให้นักวิชาการออกมาพูดว่ารัฐบาลคุณสมัครเลวร้ายอย่างไรบ้าง  รังแกข้าราชการประจำอย่างไรบ้าง  มีการพูดเรื่องคอมมิวนิสต์ขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง   ดึงสถาบันขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง  การเล่นกันแบบนี้คล้ายๆ กันมากกับช่วงก่อน 19  ก.ย.  ที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ผมเรียกว่าการเขียนรัฐประหารขึ้นมา  เขียนความรู้สึกให้คนในสังคมรู้สึกว่ามีเหตุผลมากพอให้ก่อรัฐประหาร เช่น  บ้านเมืองวิกฤติ, นักการเมืองโกงกิน  ในที่สุดแล้วการเขียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ  มันก็คือการสร้างการหลอนตัวเองให้คนในสังคมคิดว่า  เอ๊ะ-หรือว่าการรัฐประหารรอบใหม่มันจะจำเป็น"


 



"ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่คล้ายกันมากกับ 19 ก.ย. แต่อย่างไรก็ตามผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่าโจทย์นี้จะติดอีกครั้งหนึ่ง เรื่องการรัฐประหารคือจะมีคนทำหรือเปล่านี่ผมไม่รู้   แต่ว่าความพยายามจะสำเร็จหรือเปล่า  ผมว่าโอกาสน้อยที่จะเท่ารอบที่แล้ว"


 


"อีกประเด็นที่สำคัญคือ   พยายามบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วพรรคการเมืองจะไม่ถูกยุบ  คำถามก็คือ   ทำไมพันธมิตรฯ  ต้องการให้พลังประชาชนถูกยุบพรรคมากขนาดนี้  พันธมิตรฯ  สร้างโจทย์ขึ้นมาเหมือนกับว่า   ปัญหาของประเทศต้องแก้ด้วยการยุบพลังประชาชน   เป็นการหมกมุ่นทางการเมืองในการยุบพรรค   ซึ่งเท่ากับไปตอกย้ำระบบการเมืองแบบเทวดาที่มีอรหันต์  กกต.5  คนมาจากไหนไม่รู้   เป็นคนที่มีอำนาจยุบการเลือกตั้ง   ยุบพรรคการเมืองได้"


 



พันธมิตรฯ  ก็รู้อยู่แล้วว่ายุบพรรคยังไง  พรรคพลังประชาชนรวมกันใหม่ก็กลับมาชนะเลือกตั้ง   สิ่งที่พันธมิตรฯ  ต้องการคืออะไร


 



"ก็คือการสร้างสถานการณ์ฉุกเฉิน-สถานการณ์พิเศษขึ้นมา เพื่อทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมด  แล้วใช้วิธีการพิเศษเข้ามาแทรกแซงได้  เช่น  ศาล,  การรัฐประหาร,  การพูดเรื่องพระราชอำนาจแบบมาตรา  7  เรื่องแบบนี้จะกลับมาได้อีก"


 



รัฐประหารดูเหมือนเป็นไปได้ยาก


 



"วิเคราะห์เชิงภาพรวมเป็นไปได้ยาก  แต่วิเคราะห์ในแง่จิตใจ ในแง่ความเป็นมา เรากำลังพูดถึงสังคมที่ผ่านรัฐประหารไม่ถึง 2 ปี ตัวละครเดิมๆ ยังอยู่หมด  ไม่มีการลงโทษคนเหล่านี้  ไม่มีการลดอำนาจกองทัพอย่างเป็นระบบ   ในหลายประเทศที่มีการรัฐประหาร  รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะลงโทษคนที่ก่อรัฐประหาร  ไม่ลงโทษบุคคลก็ในแง่การปรับโครงสร้างกองทัพ   แต่พลังประชาชนไม่ทำ   ซึ่งในอนาคตจะอันตรายกับพลังประชาชนเอง  เพราะฉะนั้น   โครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เกิดการรัฐประหารมันยังมีอยู่เหมือนเดิมหมด  คุณอนุพงษ์บอกว่าทหารยุคนี้ไม่ทำรัฐประหารแล้ว  ผมไม่เข้าใจเพราะท่านก็เป็นหนึ่งใน คมช.  แล้วบอกว่าทหารยุคนี้ไม่ก่อรัฐประหาร   ยุคนี้มันห่างจากยุค  2549  กี่ปีเชียว   เพราะฉะนั้นตัวละครที่ยังอยู่   ผมไม่คิดว่าจะหยุดคิดเรื่องการรัฐประหารง่ายๆ"


 



รัฐประหาร  2549  มันล้มเหลวในความรู้สึกของทุกฝ่าย


 


"ผมมีความรู้สึกว่าคนที่ก่อรัฐประหาร  2549  ได้ทำทุกอย่างได้หมด คนที่ก่อรัฐประหารในเงื่อนไขการเมืองโลกแบบนั้น  เศรษฐกิจโลกแบบนั้น  เขาคงมีวิธีคิดแบบที่เราไม่เข้าใจ  เขายังเชื่อว่าทหารแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้"


 



ถ้าทำอีกทีก็ต้องเป็นเผด็จการแบบสฤษดิ์   ต้องกวาดจับยกใหญ่


 



"ถ้าเขาทำอีกเขาก็คงไม่ mind  คนที่ทำรัฐประหาร  2549  ได้ก็ทำอะไรที่แย่กว่านั้นได้โดยที่ไม่รู้สึกผิด เรากำลังพูดถึงคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญ  คนที่ตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมายุบพรรค  คนที่เขียนรัฐธรรมนูญใหม่   นี่คือคนที่มี  common  sense  ทางการเมืองไม่ทำแน่ๆ มันเป็นเรื่องน่าอาย"


 


"ผมไม่แปลกใจที่จะมีรัฐประหาร  และไม่แปลกใจถ้าเกิดจากคนกลุ่มเดิม   มันไม่มีอะไรเลยที่จะทำให้เขาเปลี่ยนใจ  เขาไม่เคยถูกลงโทษ  ไม่เคยถูกจำกัดอำนาจอะไรเลย  ทุกวันนี้เวลาที่เขามองการเมืองไทย   เขาก็จะเห็นว่าพรรคพลังประชาชนที่เป็นศัตรูกับเขากำลังจะถูกยุบโดยกติกาที่เขาเป็นคนเขียน   พลังทางการเมืองฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าพันธมิตรฯ ประชาธิปัตย์   เพื่อแผ่นดิน   เล่นการเมืองบนกติกาที่เขากำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นมา  ไม่มีอะไรให้เขาละอายใจที่จะก่อรัฐประหารอีกครั้ง"


 


"เพราะฉะนั้น   ในแง่นี้การแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากขึ้น  เพราะมันเป็นโอกาสเดียวที่คนในสังคมไทยจะรวมกันบอกว่าเราไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร  รัฐประหาร 2549  มันผิด   เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลของรัฐประหารโดยตรง  ไม่ว่าจะอ้าง  ส.ส.ร. อ้างประชามติ  มันคือผลของ  2549  โอกาสเดียวที่คนในสังคมจะบอกว่ารัฐประหาร 2549 เป็นเรื่องที่รับไม่ได้   คือต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้   ไม่ใช่แก้เพื่อพลังประชาชนยังอยู่หรือให้ทักษิณกลับมาแต่เพื่อให้คนที่มีอำนาจในกองทัพ   หรือคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารรับรู้ว่าเราไม่เห็นด้วย  ความจริงอาจจะเป็นแค่เหตุผลเดียวในการแก้รัฐธรรมนูญ   คือจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องรัฐประหารรู้ว่า   คนในสังคมไทยไม่เอากับรัฐประหารแล้ว  เพื่อส่งสารไปถึงการเมืองในอนาคตด้วยว่าอย่ามายุ่งกับพวกเราอีก ถ้าเราทะเลาะกันก็ให้พวกเราทะเลาะกันเอง   อย่าเอาทหารมายุ่ง   มายุ่งทำไมชาวบ้านเขาจะทะเลาะกัน"


 



คนที่กลัวก็มองว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้   พลังประชาชนจะคุมอำนาจได้หมด


 



"ผมไม่คิดว่าพลังประชาชนจะคุมอำนาจได้ทั้งหมด   เพราะถ้าเรานึกถึง  factor  ทางการเมืองทั้งหมดจะเห็นว่าพลังประชาชนคุมอำนาจในสภาฯ  ได้จริง แต่อำนาจในการกำหนดวาระทางการเมืองของชาติ พลังประชาชนคุมไม่ได้เลยอาจเป็นเพราะวาระทางการเมืองของชาติมันโยงกับวาระของชนชั้นนำ วาระทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ  มากจนอย่างไรก็ตาม   พลังประชาชนไม่สามารถกำหนดญัตติสาธารณะทางการเมืองได้เลย"


 


"ต่อให้พลังประชาชนแก้รัฐธรรมนูญได้   เขาก็คุมอำนาจไม่ได้แต่ในทางกลับกันถ้าไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ   มันมีคนบางกลุ่มผูกขาดอำนาจได้ต่อไป  คนกลุ่มที่ตั้ง  กกต. คนกลุ่มที่ตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่   คนที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้   คือคนที่บอกว่าพลังประชาชนผูกขาดอำนาจ   ลืมข้อเท็จจริงไปว่าทุกวันนี้เรามีคนบางกลุ่มผูกขาดอำนาจอยู่แล้ว   คือคนที่ทำรัฐประหาร   คนที่เขียนกติกาซึ่งไม่มีใครมีส่วนร่วม   และเขาบังคับให้พวกเราอยู่ในกติกานี้   นี่คือการผูกขาดอำนาจจริงๆ  ซึ่งยังอยู่"


 



ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร   มีความขัดแย้งกันต่อไปอย่างนี้   สังคมไทยจะคลี่คลายไปแบบไหน


 



"โอกาสที่จะคลี่คลายมันเคยมีสั้นๆ หลังเลือกตั้งที่มีรัฐบาลคุณสมัครเป็นนายกฯ มันมีอยู่แป๊บหนึ่งแล้วมันหายไปแล้วเพราะพันธมิตรฯ  กับพรรคฝ่ายค้านเล่นการเมืองในลักษณะที่ต้องการให้เผชิญหน้ากันมากขึ้น  โอกาสที่มันจะคลี่คลายเลยไปแล้ว   คงไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ  นี้ ยกเว้นว่าจะเกิดปัญหาใหญ่ของชาติ   ซึ่งทำให้ทุกคนเห็นว่าต้องหยุดเล่นการเมือง  ไม่อย่างนั้นคงยาก  มันเป็นแบบที่นักทฤษฎีการเมืองบางคนใช้คำว่า   สงครามช่วงชิงที่มั่นทางความคิด ก็คือทั้ง 2 ฝ่ายเผชิญหน้ากัน   และต่างฝ่ายต่างพยายามสร้างเหตุผลทางการเมืองเพื่อคนในสังคมเห็นด้วยกับตัวเองมากที่สุด  ผมว่ามันจะเดินไปในลักษณะนั้นมากกว่า   ฝ่ายพลังประชาชนทุกวันนี้เริ่มมีคนที่ชอบทักษิณออกมาพูดมากขึ้น  ซึ่งก่อน 19 ก.ย.พวกนี้ไม่กล้าพูด   นักวิชาการเมื่อก่อนคิดว่าออกมาพูดสนับสนุนทักษิณไม่ได้  แต่หลัง 19  ก.ย.มีปรากฏการณ์นี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   ดังนั้นคนที่มีลักษณะผู้นำทางความคิดทั้ง  2  ฝ่ายจะเผชิญหน้ากันมากขึ้น   สถานการณ์อย่างนี้จะอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง   จนกว่าจะมีปัญหาใหญ่ที่ทุกคนคิดว่าต้องหยุดได้แล้ว"


 



ถึงอย่างไรคนชั้นกลางก็ไม่เอานักการเมืองทุนท้องถิ่นอยู่ดี มันก็คากันไปอย่างนี้


 



"คนกรุงเทพฯ  มันคากับความเกลียดเสนาะ  เกลียดเนวินมากี่ปีแล้ว  แต่ตอนนั้นมันไม่มีคนที่บอกว่าเราสามารถไล่คนพวกนี้ได้ด้วยทุกวิถีทาง  ไม่ว่าจะเป็นวิธีรัฐธรรมนูญหรือนอกรัฐธรรมนูญ   แต่ตอนนี้มีคนเคยชี้ทางนี้แล้วว่าเฮ้ย-ทำได้  ไล่ไอ้พวกชั่วด้วยวิธีนอกรัฐธรรมนูญทั้งหมดได้   ใช้อำนาจนอกระบบได้   เรื่องพวกนี้พอเกิดแล้วมันอยู่ในใจคนว่าเออ-ทำได้  เพราะฉะนั้นมันก็กลับมาที่รัฐธรรมนูญ   ถ้าไม่มีการส่งสารว่าการรัฐประหารผิด   คนจำนวนมากก็ไม่คิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นปี  2549  เป็นเรื่องผิด"


 



"จุดลงตัวในความเห็นของผมมี 2  แบบ  แบบแรกคือต้องเกิดปัญหาใหญ่มากๆ  ขึ้นมาจนทุกฝ่ายหยุดเล่นการเมือง อันที่สองก็คือ   อย่าลืมว่าคุณทักษิณเคยเป็นฮีโร่ของคนกรุงเทพฯ ของคนไทยทั้งประเทศ   จุดที่ทำให้คุณทักษิณพังลงไปคือ   เรื่องการใช้อุดมการณ์หลักๆ  เข้าไปเล่นงานคุณทักษิณ   เพราะฉะนั้นถ้ามีผู้นำในลักษณะอย่างคุณทักษิณ มันมีความเป็นไปได้ที่จุดลงตัวจะเกิด ถ้าไม่เอาเรื่องอุดมการณ์หลักมาเล่นงานกัน"


 



ตรงนี้เขาบอกว่าไม่ใช่แค่ผู้นำ  "แบบทักษิณ"  แต่อาจจะเป็นตัวทักษิณเอง


 



"พูดจริงๆ แล้ว ผมยังคิดว่าคุณทักษิณอาจจะได้กลับมาเป็นนายกฯ  รอบใหม่  โดยที่คนกรุงเทพฯ  แฮปปี้ด้วยก็ได้  ถ้าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาในเรื่องชาติ ศาสน์  กษัตริย์   ครั้งหนึ่งคนกรุงเทพฯ  ดูถูกพรรคประชาธิปัตย์   รอบแรกที่คุณทักษิณชนะ   คนกรุงเทพฯ  พูดด้วยซ้ำว่าคนภาคใต้โง่ที่ไปเลือกประชาธิปัตย์"


 


"ปัญหาของคุณทักษิณคือคนกรุงเทพฯ  ในเขตเมืองซึ่งแบ็กกราวด์ด้านความสามารถในธุรกิจของคุณทักษิณ   มันมีองค์ประกอบบางอย่างที่จะทำให้คุณทักษิณมีโอกาสจะกลับมาอยู่ในความนิยมคนกรุงเทพฯ  ได้"


 



ถ้ากระแสนิยมตีกลับไปหาทักษิณ   สังคมไทยจะไปกันอย่างไร


 



"ถ้าถึงจุดนั้น คนกรุงเทพฯ  หรือชนชั้นนำทั้งหลายต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้   ที่จะอยู่กับคนที่ตัวเองไม่ชอบให้มากขึ้น  ชนชั้นนำไม่เคยเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่ตัวเองเกลียดเลย   ในสมัยหนึ่งก็เล่นงาน  อ.ปรีดี  ทำให้ท่านต้องไปตายนอกประเทศ  สมัยหนึ่งฆ่านักศึกษาตอน 6  ตุลา  ชนชั้นนำไม่เคยเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนที่ตัวเองไม่ชอบ รู้แต่ต้องกำจัดมันออกไปให้หมด  เพราะฉะนั้นปัญหาที่จะอยู่กับคุณทักษิณอย่างไร   เป็นปัญหาที่ชนชั้นนำจะต้องปรับตัว  เพราะถ้าไม่ปรับตัวเขาก็จะกลับมาเขย่าประตูหน้าบ้านคุณเรื่อยๆ  ไล่ยังไงเขาก็ชนะการเลือกตั้ง"


 


"มันเห็นภาพชัดที่คุณทักษิณกลับมาโดยไม่มีตำแหน่งอะไรเลย เป็นข่าวมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์   เป็นข่าวมากกว่านายกฯ แปลความได้อย่างเดียวคือ   เรากำลังพูดถึงคนที่มีฐานประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์  เพราะฉะนั้นไล่ยังไงเขาก็จะกลับมา   บางคนพูดถึงว่าฆ่าเขาให้ตายซะ   เราจะเล่นการเมืองแบบนั้นจริงๆหรือเปล่า ต่อให้ทำอย่างนั้นคิดว่าจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า  ในที่สุดแล้วทุนท้องถิ่นกับชาวบ้านมันแน่นแฟ้น   ขนาดที่ต่อให้ฆ่าผู้นำไปผมคิดว่าเขาก็ต้องกลับมา"


 



เป็นไปได้ไหมที่จะมีผู้นำคนอื่นขึ้นมาแต่อยู่ในบุคลิกลักษณะนี้


 



"คุณทักษิณให้คาแรกเตอร์ของผู้นำ   ซึ่งใครที่จะได้ความนิยมก็จะต้องเลียนแบบพฤติกรรมของคุณทักษิณเช่น  รอบที่แล้วทุกพรรคก็ใช้นโยบายเหมือนคุณทักษิณในการหาเสียงเลือกตั้ง ทุกคนก็ทำตัวเป็นเงาของคุณทักษิณ  ไม่เว้นกระทั่งพรรคการเมืองที่ต่อต้านคุณทักษิณ   ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าละอาย   เพราะฉะนั้นผู้นำที่จะครองใจคนได้  โอกาสที่จะต้องเป็นคนลักษณะแบบคุณทักษิณเลี่ยงได้ยาก   อาจจะเป็นคนอื่นก็ได้ที่ประนีประนอมกับสถาบันหลักๆ ได้มากขึ้น   ทำให้ชนชั้นนำในกรุงเทพฯ  พอใจมากขึ้น   ทำให้คนมีการศึกษาในกรุงเทพฯ  รู้สึกว่าเขาเป็นภัยคุกคามน้อยลง  แต่ความเป็นผู้นำแบบคุณทักษิณจะไม่หมดไป  เพราะนี่คือโมเดลที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองอย่างมาก เพราะฉะนั้น   ใครที่อยากจะมาเป็นผู้นำก็ต้องใช้โมเดลแบบคุณทักษิณ"


 



แล้วก็ต้องจับมือกับทุนท้องถิ่น


 



"ประชาธิปัตย์ก็ไม่เคยโจมตีทุนท้องถิ่นอยู่แล้ว  ถึงที่สุดแล้วไม่มีพรรคการเมืองไหนโจมตีทุนท้องถิ่น   แม้กระทั่งพันธมิตรฯ  ก็ไม่เคยโจมตีทุนท้องถิ่น  ยังพยายามจะเอาทุนท้องถิ่นมาเป็นแนวร่วม การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ  ในต่างจังหวัด   พยายามดึงเอาทุนท้องถิ่นที่มีความขัดแย้งกับทุนท้องถิ่นที่มีอำนาจมา แล้วเคลมว่านี่คือตัวแทนคนบุรีรัมย์ที่ไม่เอาทักษิณคนโคราชที่ไม่เอาไทยรักไทย แต่มันก็คือทุนท้องถิ่น   ความพยายามคุมท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ส่วนกลางพยายามทำมาแล้วตั้งแต่สมัย  ร.5แต่ไม่เคยทำสำเร็จเลย   เพราะมันทำไม่ได้และก็ไม่มีทางทำได้ด้วย   คือพันธมิตรฯ  พยายามจะสร้างโจทย์แต่ละอันซึ่งทำไปก็ไม่ชนะ   แล้วทำให้ประเทศทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง"


 



เราไม่มีทางชนะทุนท้องถิ่นได้ในระยะอันใกล้แน่นอน


 



"ไม่มีทาง-ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมือง   ไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น   ถ้าตราบใดที่ยังไม่มีเลือกตั้งผู้ว่าฯ  อำนาจท้องถิ่นก็ผูกขาดต่อไปเรื่อยๆ  ภาคอีสานบางจังหวัดคนที่ลงแข่ง  อบจ.,  นายกเทศมนตรี   ก็ญาติพี่น้องกันทั้งนั้น  อากง อาม่า อาอึ้ม  รอบที่แล้วอากงเป็น   รอบนี้อาอึ้มจะลง   เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ต้องทำให้การเมืองท้องถิ่นเปิด ก็คือต้องกระจายอำนาจอย่างเด็ดขาดเลย คนกรุงเทพฯ  มีอำนาจในการตัดสินตัวเองยังไง   คนท้องถิ่นก็ต้องมีแบบเดียวกัน"


 



ถ้าไปไม่ถึงรัฐประหาร พันธมิตรฯ จะอยู่ในสภาพไหน


 



"เขาก็มีแฟนประจำอยู่   แต่จะได้แฟนเพิ่มหรือเปล่าคงไม่เยอะ   เพราะรอบที่แล้วถ้าพันธมิตรฯ  ไม่มีตัวช่วยอย่างคุณทักษิณขายหุ้นกับอุดมการณ์หลักเข้ามาก่อนวันที่คุณทักษิณขายหุ้น  คุณสนธิแทบจะประกาศยุติการชุมนุมแล้ว แต่พอมีประเด็นขายหุ้นก็มีการใช้เรื่องชาติ  ศาสน์ กษัตริย์ตลอดเวลา  รอบนี้จะเป็นเรื่องน่าเศร้าของพันธมิตรฯ  ปีกที่ต่อสู้เพื่อประชาชน  เพราะในที่สุดแล้วคนเหล่านี้จะกลับมาสู่ความเป็นจริงทางการเมือง   ว่าคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่ได้สนใจเสียงคนชั้นล่างอย่างแท้จริง  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปฏิรูปที่ดิน   การเก็บภาษีมรดก  ภาษีที่ดิน   คนชั้นกลางไม่เอาเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว"


 



ถ้าพันธมิตรฯ  คว่ำ ภาคประชาชนก็อาจจะคว่ำไปด้วยกัน


 



"แต่ภาพพันธมิตรฯ  มันไม่เท่ากับภาคประชาชน  มีภาคประชาชนเยอะแยะที่อยู่นอกพันธมิตรฯ  ผลอันหนึ่งของรัฐประหารรอบนี้ คือทำให้ภาคประชาชนแยกขั้วกันมากขึ้น   ภาคประชาชนฝ่ายที่อยู่ในพันธมิตรฯ  กับภาคประชาชนที่ไม่เอาพันธมิตรฯ  มันเห็นได้ชัดเจน  ผมกลับมาเมืองไทยรอบที่แล้ว  ผมถูกเชิญไปพูดโดยภาคประชาชนที่ไม่เอารัฐประหารเยอะมาก เช่น  กลุ่มคนงานระดับล่าง, กลุ่มชาวนา คือกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวจริงจังในระดับท้องถิ่นและเขาไม่เอาพันธมิตรฯ ถึงจุดหนึ่งแล้วผมคิดว่าภาคประชาชนเป็นคำที่เราอาจจะใช้ไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าใครอยู่ในสังกัดนี้  มันยังมีอยู่จริงหรือเปล่า   อย่าง  สนนท.ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา   คนมองว่า  สนนท.อยู่ภายใต้  ครป.  เมื่อวานนี้เลขาฯ  สนนท.แถลงข่าวโจมตีสุริยะใสและ  ครป.  ว่าทำไมพันธมิตรฯ  ถึงปกป้องรัฐธรรมนูญ   มันสะท้อนว่าภาคประชาชนแตกกันมากแล้ว  และจุดแตกคือเรื่องรัฐประหาร  ซึ่งมันกลับมาคุยกันใหม่ไม่ได้  มันไม่ใช่จุดแตกในเรื่องของผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือว่าเครือข่ายทางการเมือง  แต่มันเป็นเรื่องรัฐประหารซึ่งเป็นเรื่องใหญ่"


 



คนภายนอกมองไม่เห็น   เพราะคนที่มีชื่อเสียงของภาคประชาชนไปอยู่กับพันธมิตรฯ  เชียร์


พันธมิตรฯ


 



"นั่นเป็นปัญหาเรื่องของรุ่นของผู้นำภาคประชาชน  คือผู้นำรุ่นที่สนับสนุนพันธมิตรฯ  มีอยู่จริง แต่เป็นอีกรุ่นหนึ่ง  ไม่ใช่คนอย่างรุ่นผมหรือรุ่นก่อนผมนิดหน่อย   พูดง่ายๆ  อย่างคุณสุภิญญา เราจะบอกว่าเป็นพวกพันธมิตรฯ  หรือไม่เป็น  ช่วงหนึ่งคนก็มองเป็นพันธมิตรฯ แต่หลังรัฐประหารเขาก็ไม่เคยร่วมกิจกรรมกับพันธมิตรฯ  เลย  ไปปีนสภาฯ  ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ   ผมคิดว่ามันมีการแตกตัวแบบนี้จริง   เพียงแต่ด้วยความที่รุ่นผู้นำของภาคประชาชนมันยังคงถูกผูกขาดโดยคนอายุ 40+  50+  มันก็เลยไม่เห็นภาพนี้ปรากฏออกมาในที่สาธารณะ   แต่หลังจากนี้ไปมันจะเห็นชัด"


 



ภาคประชาชนฝ่ายที่  3  จะโตขึ้นไหม


 



"ผมคิดว่ามันโตขึ้นแล้ว  มันมีคนใหม่ๆ  มากขึ้น   มีแนวทางการเคลื่อนไหวที่เราไม่เคยเห็น   มันเป็นความคิดของคนอีกรุ่นหนึ่งที่เขาไม่พอใจรัฐประหาร ไม่พอใจกับหลายๆ ฝ่ายที่เขาเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร   ผมคิดว่ารัฐประหาร  19  ก.ย.มีผลมาก   และผลนี้ก็จะอยู่ไปอีกนาน"


 



ย้อนกลับมาเฉพาะหน้า เชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จไหม


 



"ผมคิดว่าน่าจะแก้สำเร็จ  แต่คงสำเร็จแบบพลังประชาชน แบบ  ส.ส.ร.เป็นแบบที่ผลักดันโดยคนที่ไม่มีพลังทางการเมือง  จากนักวิชาการ จาตุรนต์   ไม่มีพลังทางการเมืองอะไร   แบบพลังประชาชนมันก็เกิดสถานการณ์การเมืองอีกแบบหนึ่ง    มันดีในแง่ที่เรามองเรื่องนี้โยงกับการเมืองก่อนรัฐประหาร  19  ก.ย.  แต่รัฐธรรมนูญ  2540  ก็มีปัญหาบางอย่างจริง   การแก้รัฐธรรมนูญแบบพลังประชาชนคือการไม่พูดถึงปัญหาของปี  2540  นี่จะเป็นปัญหาใหม่อีกแบบหนึ่ง   อย่าลืมว่า  2540  เป็นปัญหาที่ในที่สุดแล้ว   มันรุนแรงเพราะมีปัจจัย  2  ตัวมาเจอกันคือ  ตัวคุณทักษิณ  กับการที่ถูกโยงเข้ากับเรื่องชาติ  ศาสน์  กษัตริย์"


 



"ถ้าโชคดีก็อาจจะมีการประนีประนอมระหว่าง 2  ฝ่าย  เอา  2540  เป็นตัวตั้งแต่ยอมแก้ในส่วนที่ไม่ดีจริงๆ แต่ปรากฏการณ์ที่คนยอมตายเพื่อรัฐธรรมนูญปี2550น่าจะน้อยลงไปเยอะ  คือให้คนไทยยอมตายเพื่อรัฐธรรมนูญก็น้อยอยู่แล้ว  นี่ยังเป็นรัฐธรรมนูญ  2550  ผมว่ายิ่งน้อยไปกันใหญ่   มันก็คงจะยันกันไปเรื่อยๆ ปล่อยให้กระบวนการทางการเมืองเป็นไปตามพลังที่เป็นจริง  ถ้าสู้กันในระบบพันธมิตรฯ  ก็สู้พลังประชาชนไม่ได้  พันธมิตรฯ  สู้ได้ก็ด้วยการดึงการเมืองนอกระบบมาเป็นตัวช่วยตลอด   แต่จะหนุนไปได้อีกนานแค่ไหน"


 



การต่อสู้ของประชาชนควรจะตั้งความหวังแค่ไหน   ถ้ายังไงเราก็จะได้ผู้นำโมเดลทักษิณ


 



"ประชาชนต้องรวมตัวให้เหนียวแน่นเหมือนอย่างปี2549 แต่อย่ารับการแทรกแซงของสถาบันนอกระบบการเมือง การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ  ถ้าไม่ใช้อุดมการณ์หลัก  และไม่ยอมรับการแทรกแซงของทหาร   ไม่ใช่เรื่องที่มีปัญหาอะไรเลย   ประชาชนตื่นตัว   ตั้งคำถามกับนักการเมือง   เป็นเรื่องที่ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว  ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพันธมิตรฯ  ไปใช้อุดมการณ์หลักเข้ามาเล่นงานฝ่ายตรงข้าม  ใช้วิธีนอกระบบ   ใช้ทหาร  ใช้การปล่อยข่าว   มันทำให้ขบวนการประชาชนเสียไปหมด"


 



ชนชั้นกลางต้องยอมรับประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง


 



"อาจจะไม่ใช่ยอมรับประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง   แต่ต้องบอกว่ายอมรับประชาธิปไตยจากคนที่มีการศึกษาน้อยกว่าเรา  โง่กว่าเรา  จนกว่าเรา  ซึ่งคนชั้นกลางทำใจยอมรับได้ยาก   มันเป็นอคติที่มีในโลกสมัยใหม่ตลอด  คนอังกฤษจำนวนมากก็รับไม่ได้ที่กรรมกรมีสิทธิ์ vote  เท่าตัวเอง   แต่ว่าหลายประเทศคนที่มีอคติแบบนี้ไม่กลายเป็นสร้างสถาบันทางการเมืองขึ้นมา บ้านเราอคติของคนชั้นกลางกับชนชั้นสูง    มันถูกแปรสภาพเป็นสถาบันทางการเมือง เช่น  กกต.,  ตุลาการรัฐธรรมนูญ   แล้วไปยุบพรรคการเมือง   อันนี้ผิด-อันตราย".



0 0 0


 


สุภิญญา  กลางณรงค์


 



"ตึงทั้งสองฝ่าย"


 



"เราเป็นใคร เราก็เป็นแค่คนคนหนึ่งซึ่งลุกขึ้นมาพูดกับสังคมแล้วมีสื่อยอมรับ การที่เราพูดอะไรไปมันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงไปในทางใดทางหนึ่ง  โดยเฉพาะทางที่แย่  เราก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเหมือนกันนะ"


 



"สถานการณ์ที่ยากขึ้นไปขณะนี้ก็เพราะ 19 ก.ย. อย่างที่หนังสือพิมพ์  The  Economist  เขียนไว้ว่า  การรัฐประหารเหมือนสงคราม พอมันเกิดขึ้นแล้วไม่รู้จะจบอย่างไร  คือตอนทำคิดว่าจำเป็นต้องทำ  เหมือนสงครามอิรัก  พอทำไปสักพักเริ่มเรียนรู้ว่าไม่ใช่คำตอบ  มันผิดพลาด  แต่ไม่รู้จะจบอย่างไร  ผลกระทบสืบเนื่องมาเรื่อยๆ หาทางแก้บางทีก็ยิ่งจะหนัก  จะกลับมายอมรับผิดก็อาจจะสายไปแล้ว  มันก็ต้องลากไปจนถึงที่สุด"


 



"การเมืองพอเกิดรัฐประหาร กระบวนการมันถูกตัดตอน มีการแก้รัฐธรรมนูญ  เกิดกระบวนการต่างๆ นานา พอมีการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตย  เขากลับมา  ก็พยายามให้เป็นเหมือนเดิมก่อนรัฐประหาร แต่คนก็มอง มันก็ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร จะว่าเขาไม่มีสิทธิ์ทำหรือทำเพื่อตัวเอง  ถ้ามองอีกมุมหนึ่งเขาต้องเป็นอย่างนี้ก็เพราะการรัฐประหารใช่ไหม แม้เราจะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันดีหรือไม่ดีอย่างไร  แต่กระบวนการแก้ปัญหามันถูกตัดตอน  ฉะนั้นพอกลับมาเขาก็มีสิทธิ์ตั้งกระบวนการแก้ไข"


 



"การแก้ปัญหาตอนนี้คือแก้การเมืองไทยมากกว่ารัฐธรรมนูญโดยตัวมันเอง พลังประชาชนต้องการแก้เพื่อแก้ปัญหาเขา  แต่เรามองว่าเราต้องพยายามเสนอเพื่อแก้ปัญหาทางเมืองมากกว่า"


 



"รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อจำกัดทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ นี่เรายังไม่ได้มองว่าพรรคการเมืองดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ถ้าเราเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เราก็ต้องเชื่อมั่นในรัฐสภาและพรรคการเมืองแต่ตอนนี้สิ่งที่พันธมิตรทำหรือสิ่งที่ขบวนการต่อต้านทักษิณทำ มันไม่ใช่แค่พยายามล้มล้างระบอบทักษิณเท่านั้น แต่มันทำให้เกิดความไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาด้วย  ซึ่งเป็นอันตรายที่สุด  เพราะคนถูกพูดทุกวันว่าไม่เชื่อในระบอบรัฐสภา พรรคการเมืองมันแย่มันเลว  เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะอยู่กันอย่างไร"


 



"เพราะฉะนั้นทางของพันธมิตรฯ  ที่จะไม่ยอมให้แก้เลยก็ตึงเกินไป เกิดการเผชิญหน้ากันชัดเจนว่าที่เป็นผลพวงจาก  19  ก.ย.มันถูกแล้ว  มันต้องเดินไปตามนี้  แต่เสียงส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่อาจจะบอกว่ามันไม่ใช่ พรรคการมืองที่เข้าไปเขาก็มีสิทธิ์จะแก้  แต่อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม  และก็อาจจะตึงกันทั้ง  2  ฝ่าย"


 



"การเมืองไทยไม่เคยมีรัฐบาลที่แข็งแกร่งแบบไทยรักไทยมาก่อน ไม่เคยมีนายกฯ  แบบคุณทักษิณมาก่อน มีความเป็นผู้นำสูง คนรักมาก มีลักษณะพิเศษหลายๆ  อย่างซึ่งท้าทาย  มันก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลต่อคนหลายกลุ่ม  กลัวว่าอำนาจจะบานปลายจนคุมไม่อยู่  เลยต้องคานด้วยการรัฐประหาร  ขณะเดียวกันก็ต้องสะกดไม่ให้กลับมาอีก ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าความกลัวตรงนี้มันเป็นจินตนาการที่จริงหรือเกินจริง  ถ้ามันเกินจริงก็จะทำให้เราต้องยอมสละทุกอย่างเพื่อทำอะไรก็ได้เพื่อไม่ให้สิ่งนั้นกลับมา  ไม่ว่าเราจะเสียอะไรไปก็ตาม  มันก็อาจจะไม่คุ้ม  ฉะนั้นทางออกของกลุ่มนักวิชาการ  เอ็นจีโอ  ที่ไม่อยากจะไปเข้าขั้วใดขั้วหนึ่ง ไม่ใช่รังเกียจ แต่มองว่าถ้ามันตึงกันทั้ง 2  ฝ่าย  ก็จะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา  ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็จะถดถอย คนในสังคมก็จะแตกแยก และกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยที่แท้จริงก็อาจจะไม่เกิด จะเกิดแค่การใช้อารมณ์ความรู้สึกโน้มน้าวกันเท่านั้นเอง  แต่กระบวนการเรียนรู้ด้วยเหตุผลไม่เกิด"


 



"เพราะฉะนั้นข้อเสนอการร่างรัฐธรรมนูญแบบมี  ส.ส.ร. มันก็เป็นกระบวนการมากกว่า  เพราะสุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะออกมาอย่างไร มันไม่น่าจะหนีจาก 2540  2550  มาก  การเลือกตั้งแบบไหนอาจจะไม่ใช่หัวใจของรัฐธรรมนูญก็ได้  เพียงแต่กระบวนการความเชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญต่างหาก"


 



"กระบวนการที่จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นอีกครั้งหนึ่ง เหมือนที่ประชาชนเคยเชื่อมั่นรัฐธรรมนูญปี  2540  จะเรียกกลับมาได้อย่างไร  ชาวบ้านที่ถือรัฐธรรมนูญเล่มเล็กๆ  ไปยื่นให้ตำรวจให้ผู้ว่าฯ  ดู  อย่างมั่นใจจะกลับมาได้อย่างไร มันไม่เกิดกับรัฐธรรมนูญ 2550  แต่มันเกิดกับปี  2540  ตรงนี้ต่างหากคือคุณค่าของรัฐธรรมนูญ  คนในสังคมรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ  รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ  เอาไว้อ้างได้ เอาไว้ต่อสู้ได้  เอาไว้เป็นหลักพิงได้  แต่  2550  ไม่เป็นอย่างนั้นสำหรับประชาชน  กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับทักษิณ  เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองการเลือกตั้ง  ขณะเดียวกันฝ่ายพลังประชาชนเข้ามาก็จะเปลี่ยน ออกแบบโฉมหน้าการเลือกตั้ง  โดยสารัตถะที่เคยเป็นเครื่องมือของประชาชนมันหายไปเลย"


 



"เรามองว่าตรงนี้ต่างหากที่จะเรียกบรรยากาศกลับคืนมาได้อย่างไร แม้เราเชื่อว่ากระบวนการ  ส.ส.ร.อาจจะไม่มีชีวิตชีวาเหมือนปี 2540 แต่มันก็น่าจะค่อยๆ ดึงบรรยากาศของสังคมที่พูดคุยกันกลับมา สร้างความมีส่วนร่วม สร้างความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย เราคิดว่ากระบวนการสำคัญกว่าเป้าหมาย"



"สองฝ่ายเขามีเป้าหมายชัดเจน  เป้าหมายของเราก็มี  คือกระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตย  มันเป็นนามธรรม  ไม่รู้เมื่อไหร่จะเกิด  แต่กระบวนการที่ค่อยๆ  สร้างความเชื่อมั่น  และให้คนหันหน้ามาคุยกันต่างหาก  ที่มันควรจะเกิด"


 



"ทั้ง 2  ฝ่ายฮึ่มๆ  กัน  และก็บอกว่าต้องไปทางใดทางหนึ่ง  แสดงว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการ สู้กันให้ชนะเหมือนในสงคราม มันก็ตายกันไป การเมืองไม่ใช่สงคราม ถ้าเรามองมันเป็นสงคราม  สู้กันเอาแพ้เอาชนะก็ต้องมีคนบาดเจ็บล้มตาย  แล้วมันไม่ได้แก้อะไร  ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ ไม่เห็นจะด้องลุกขึ้นมาฟาดฟันหรือว่าต้องฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง  หลายประเทศเขาเห็นไม่ตรงกันแต่เขาก็อยู่ด้วยกัน เราก็คิดว่าบรรยากาศแบบนี้มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในห้วงที่มันเหมือนรอบ  2  กำลังจะเกิดขึ้น"


 



มันมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงไหม


 



"ไม่อยากคิดอย่างนั้น ถ้าทุกคนพูดว่าจะเกิดกลียุคเดี๋ยวมันก็จะเกิดจริงๆ เลยคิดว่ามันต้องไม่เกิด มันต้องมีทางออก เราต้องบอกว่าไม่เห็นจำเป็นต้องเกิดเลย มันมีทางอื่นถมเถไป คือถ้าเรามีสงครามกลางเมืองอย่างประเทศอื่น หรือมีอะไรที่ขัดแย้งแรงๆ ก็ว่าไปอย่าง  นี่มันเป็นแค่ความขัดแย้งทางการเมืองเองนะเว้นแต่คนจะตีความว่ามันจะนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรงในอนาคต มีนัยสำคัญที่หลายคนจินตนาการ ว่ามันอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมไทย มันก็อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้  แต่ถ้าวันนี้เป็นแค่เราชอบพรรคนี้ไม่ชอบพรรคนี้  เราก็ควรจะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา  ถ้ามองเป็นเรื่องใหญ่ถึงกับต้องทำสงครามต้องกวาดล้างกันก็เป็นเรื่องไม่ดี"


 



"พันธมิตรมีสิทธิชุมนุมไป ไม่แปลก เขาก็มีสิทธิกดดันรัฐบาลซึ่งก็ถูกแล้ว  ระบอบประชาธิปไตยถ้าเรากลัวรัฐบาลไหนจะเริ่มมีอำนาจมาก มันมีฝ่ายค้านมาคอยคานดุล ก็ถูกแล้ว เพียงแต่บทเรียนความผิดพลาดในอดีตก็คือการเรียกร้องให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแก้ปัญหา ที่คนวิจารณ์ก็ต้องฟัง  และก็ต้องระวังทำอย่างไรจะไม่ให้กลับไปสู่วงจรนี้อีก ยังเชื่อในทฤษฎีว่าถ้าเถียงกันไปโดยไม่ก้าวล้ำเส้น  ในวันหนึ่งคน 2 ฝ่ายมันก็เหนื่อยแล้วต้องหาทางออกร่วมกัน  ที่พอใจทั้ง  2  ฝ่าย  ไม่ใช่ประนีประนอมแบบฮั้วกันนะ  แต่มันต้องหาทางที่สังคมจะไปข้างหน้าแล้วยอมรับร่วมกัน แต่จากสังคมเรายังไม่มีความอดทนอดกลั้นพอ  พอเถียงกันเข้าด้ายเข้าเข็ม  ก็ใช้ทางลัดแล้ว  ทีนี้ก็ต้องเริ่มกันใหม่"


 



"เถียงกันยังไม่ทันสุกงอม แล้วรัฐประหารขึ้นมา  ความรุนแรงขึ้นมา  มันก็ตัดตอนกระบวนการเติบโตหรือวุฒิภาวะของสังคมไทย ลองเถียงกันสักปีสองปีสิ โดยไม่ใช้กำลัง  ไม่ใช้อาวุธ  จะเหนื่อยกันไหม  เถียงจนเบื่อ ต้องหาหางออกว่าจะเป็นอย่างไร  หรือผู้มีอำนาจถูกวิจารณ์มากๆ  ก็ต้องกร่อนบ้างละ  เขาก็ต้องปรับตัว คงไม่มาดื้อแพ่งหรือแสดงอภิสิทธิ์ไต้ตลอดไปหรอก ถ้าสังคมเรียนรู้มากขึ้น  เรายังมองในแง่นั้นอยู่  เพราะเราก็สร้างปีศาจคุณทักษิณมาเยอะเหมือนกันโดยที่เราไม่รู้ว่าจริงๆ  แล้วมันเยอะขนาดนั้นหรือเปล่าต้องตั้งสตินิดหนึ่ง ถ้าเราจินตนาการไปในทางที่ไม่ถูกต้องมันก็ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด  แล้วก็จะนำพาสังคมผิดพลาดด้วย"


 



ตอนนี้ทั้งสองฝ่ายไม่ลดราวาศอก  ข้อเรียกร้องเร่งเร้ากันและกัน


 



"ตรงนี้แหละที่น่ากังวล ตัวเองก็เคยร่วมกับพันธมิตรฯ  ในรอบแรก  ตอนนั้นยังไม่เกิดรัฐประหาร  ยังไม่ทันได้เข้าใจอะไรมาก แต่อยู่ในสนามการเมือง  ก็มีการปลุกเร้า  เหมือนลงสนามแล้วก็ต้องสู้กันให้ถึงที่สุด เหมือนมียุทธวิธีต้องแก้เกมกันตลอดเวลา แต่วันนี้พอเวลาผ่านไปเราเห็นอะไรมากขึ้น ก็รู้สึกว่าบางทีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันไม่ใช่ทำสงครามที่ต้องประหัตประหาร ที่ต้องมีเส้นตาย การกำหนดเส้นตายคือจุดของความผิดพลาด เพราะเหมือนกับเราแพ้ไม่ได้ เราจะไม่ยอมถอย ถ้ามันกลับมาอีกมันก็จะเป็นอย่างนั้นอีก คือพุ่งเป้าว่าเราแพ้ไม่ได้ ถอยไม่ได้ มันก็ต้องชน ชนแล้วสังคมก็เจ็บปวด  แล้วจะทำอย่างไร  ฝ่ายไหนจะต้องถอย  ถ้าตอบตรงไปตรงมาสุดท้ายก็ต้องอดทนและยอมกันและกัน"


 



"กระแสทางเลือกที่ 3 ที่ 4 ขึ้นมาก็พอจะช่วยได้  แต่มันต้องมีเสียงที่ดังมากพอ  ที่จะมาเสนอทางออกแบบนี้ให้คนได้ตั้งสติ  ลำพังนักวิชาการหรือว่าเอ็นจีโอไม่กี่คนก็อาจจะไม่สามารถคัดง้างขั้ว  2  ขั้วได้ บทบาทสื่อน่าจะเป็นบทบาทที่สำคัญ ซึ่งสื่อเองก็เป็นสื่อการเมืองมากขึ้น ทีนี้ทำอย่างไรสื่อจะสร้างบรรยากาศให้เกิดการหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่ต้องล้มล้างกันไป  ก็จะช่วยสร้างฉันทามติตรงนี้ด้วย  สื่อได้พยายามทำหน้าที่ตรงนี้มากแค่ไหน หรือสื่อก็ได้กระโจนลงไปในสนามรบ  และก็เหมือนอยากจะเฝ้าดูความขัดแย้งว่ามันจะไปทางไหนด้วย"


 



สื่อโดดไปหมดแล้ว


 



"ถ้าสื่อมีวาระของตัวเองก็อาจจะทำให้โหมไฟรุนแรงขึ้น ทำอย่างไรสื่อจะทำหน้าที่ต่อสังคมว่านี่ไม่ใช่สงครามนะ นี่คือการหาทางออกทางการเมือง ถ้าสังคมเรายังเชื่อมั่นในเสรีประชาธิปไตยมันก็ต้องยอมอดทนเจ็บปวดกันบ้าง ฝ่ายพันธมิตรก็อาจจะต้องให้เกียรติพรรคพลังประชาชนบ้างระดับหนึ่ง  อย่างน้อยเขาก็มาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่ยอมรับเลย  ก็ถามว่าเราจะอยู่กับการเมืองอย่างไร  จะไม่เอาประชาธิปไตยใช่ไหม หรือเราจะดันให้อีกพรรคมาเป็นรัฐบาลก่อนแล้วถึงจะเชื่อ ถ้ายิ่งพยายามทำอย่างนั้นมากๆ มันจะยิ่งฝืนใจคน จะต้องพยายามทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการกดดันขับไล่  ไปจนถึงกระบวนการตุลาการภิวัตน์ ถ้ามันทำให้คนรู้สึกว่าทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้คนต้องไปเลือกอีกพรรคหนึ่ง  และให้อีกพรรคหนึ่งเป็นรัฐบาลให้ได้ ผลก็จะตรงกันข้ามนะ คนยิ่งกลับไปอีกแบบหนึ่ง มันจะลดทอนบรรยากาศตรงนั้นได้อย่างไร"


 



"คือทุกวันนี้พันธมิตรฯ  หรือใครก็ตามที่พยายามจะค้านพรรคพลังประชาชน เขาก็ยืนยันว่าไม่ได้ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย แต่หลายๆ อย่างที่ทำมาก็ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่าเหมือนพยายามทำให้อีกฝ่ายหนึ่งขึ้นมาเป็นรัฐบาลให้ได้  ซึ่งตรงนี้จะทำให้คนยิ่งต่อต้าน  และจะทำให้ความขัดแย้งมันลึกขึ้นไปอีก  เราต้องใจเย็นนิดหนึ่ง  รัฐบาลที่ไม่ดีมันก็ต้องเสื่อมถอยไปเอง  เราก็เฝ้าดูไม่ต้องยิ่งไปกัดกร่อนให้มันจมดินหรอก ถ้าเราทำอย่างนั้นไม่ใช่แค่พรรคการเมืองที่จมดิน  แต่ระบอบรัฐสภาจะจมดินไปด้วย  เราไม่มีทางได้เติบโตในรอบ 75 ปีนี้  ดังนั้นแทนที่พันธมิตรฯ  จะตึงมาก  ก็อาจจะต้องพิจารณาข้อเสนอของนักวิชาการ และกระบวนการมี  ส.ส.ร.ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด สามารถสร้างวาระและกระบวนการได้หลายอย่าง"


 



ไม่ชอบแต่ยอมรับ


 



ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว  อารมณ์ของสองฝ่ายอาจจะรุนแรงกว่าก่อน  19  ก.ย.เสียอีก  ฝ่ายพลังประชาชนก็มีอารมณ์แค้น  ฝ่ายพันธมิตรฯ  และคนชั้นกลางก็อารมณ์ค้าง  คือหวังว่ารัฐประหารจะกวาดล้างการเมืองเลว  แต่ได้หมักได้เหลิมมาแทน


 


"มันเหมือนบูมเมอแรง กลับมาย้อนปักตัวเอง เลยต้องดิ้นไปอีกรอบ เพื่อให้แก้ปัญหาตรงนี้ได้  แต่ยิ่งดิ้นๆ มันอาจจะยิ่งเจ็บหนักกว่าเดิมก็ได้  ทำอย่างไรที่จะลดอารมณ์ความรู้สึก  ลดอคติ  ลดการให้ข้อมูลในเชิงโน้มน้าวให้เกิดความเกลียดชัง  ใช้เหตุผลคุยกันให้มากขึ้น  มันจะทำได้ไหม"


 



คนชั้นกลางติดใจเลือกทางลัดไปแล้ว แต่ผิดหวังอารมณ์ค้าง


 



"ทุกคนก็จะบ่นอย่างนั้น รู้สึกว่าอะไรก็ได้แล้ว การพูดเรื่องรัฐประหารเป็นเรื่องปกติ  จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้วันนี้ก็ไม่เป็นไรแล้ว  บรรยากาศแบบนี้มันก็ทำให้เรากังวลเหมือนกันว่ามันจะไปยังไงต่อ"


 



คิดว่ามีแนวโน้มรัฐประหารใช่ไหม


 



"ก็คงมีเพราะแม้เราจะไม่อยากให้เกิดแต่มันมีกระแสเรียกร้องและทุกคนก็พูดเรื่องนี้กันเหมือนกับเป็นเรื่องปกติ จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้หรืออาจจะไม่เกิด เราจะทำอย่างไรให้เป็นสิ่งที่มันไม่ควรเกิด สังคมจะสร้างตรงนี้ร่วมกันได้อย่างไร เหมือนการรัฐประหารที่ผ่านมาแม้จะมีข้อผิดพลาดจริงๆ บางส่วน  แต่เราก็ยังไม่ได้สรุปบทเรียนอย่างเป็นทางการ และก็ดูเหมือนคนที่ทำรัฐประหารเองก็ไม่ได้ถูกสังคมตำหนิอะไร พอไม่สร้างมาตรฐานให้เห็นว่าการรัฐประหารมันผิดพลาด หรือว่าไม่มีการให้บทเรียน มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก"


 



แต่พรรคพลังประชาชนก็ไม่คิดจะประนีประนอมกับพลังทางสังคม


 



"เขาก็เชื่อว่าเขามี 12 ล้าน เราเองก็ต้องยอมรับอย่างขมขื่นเหมือนกันนะ อะไรล่ะที่ทำให้เสียงเขามั่นคงขนาดนั้น  ในสถานการณ์ที่ถูกบล็อก  เสียงของประชาชนบอกอะไรบางอย่างหรือเปล่า  เราก็ขนลุกนะ แม้เราจะไม่เห็นด้วย  แต่ก็แสดงว่ามันเป็นอะไรของสังคมไทยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  พรรคที่ถูกรัฐประหาร คนชั้นกลาง  สื่อวิพากษ์วิจารณ์  มีกฎอัยการศึกขัดขวางทุกทาง  แต่ก็ยังหลุดมาได้  12  ล้าน  และเลือกใหม่ก็น่าจะยังอยู่เป็นพื้น  โจทย์นี้ทำให้เราเองก็ต้องอึ้งเหมือนกัน"


 



"แสดงว่าการเมืองในระบอบไทยรักไทย  มันสะท้อนบางอย่างในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงพอสมควร  สิ่งที่ไทยรักไทยและคุณทักษิณสร้างความเชื่อมั่นให้กับคน 12 ล้านคน  เราก็พูดกันเยอะแล้ว  เรื่องประชานิยม เรื่องนั้นเรื่องนี้  แต่ความจริงมันอาจจะลึกกว่านี้  มีอะไรบางอย่างที่เกี่ยวพันเชื่อมโยงในอำนาจ  ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ลึกๆ แล้วฝ่ายอนุรักษนิยมกลัวที่สุด และสะท้อนออกมาในการเคลื่อนไหวต่างๆ  แต่ละกลุ่มที่พยายามจะขัดขวางกระบวนการของรัฐบาลนี้"


 



"แต่มันก็ต้องตีโจทย์กันให้แตกว่าเราไม่พร้อมหรือที่จะเผชิญกับสิ่งนั้นในที่สุดถ้าเสียงของประชาชนตัดสินว่าเขาอยากจะเห็นอย่างนี้ แล้วส่วนที่ไม่เห็นด้วยเราจะอยู่กับเขาอย่างไร  เราจะทำใจยอมรับเสียงของประชาชนอย่างไร มันก็เป็นเรื่องที่ขัดแย้งในตัวเราเอง เพราะเราก็เห็นพฤติกรรมของนักการเมือง เราก็รู้ว่าเราทำใจไม่ได้ แต่มันคือเสียงมหาชน มันเป็นโจทย์ของเราเหมือนกันว่าจะหาทางออกอย่างไร  และเราจะอยู่อย่างไรในสังคมที่มีคนคิดไม่เหมือนกับเรามากกว่าครึ่ง เราจะละเลยเสียงของเขาเหล่านั้นหรือ"


 



"มันอาจจะเป็นสัญญาณบอกว่าเขาก็อยากจะมีส่วนกำหนดสังคมบ้างนะ ไม่ใช่แค่คนชั้นกลางและนักวิชาการ หรือผู้มีความรู้ ที่จะมาบอกว่าเมืองไทยควรมีทิศทางอย่างไร ซึ่งกลายเป็นว่าค่อนข้างจะมีความเป็นอนุรักษนิยมมากกว่าคนที่มีการศึกษาน้อยเสียอีก มันคงเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทยในอนาคตข้างหน้า  แต่ไม่ได้คิดว่าการเมืองจะนำไปสู่การแตกหัก  คนที่จะทำให้มันแตกหักก็คือคนที่กลัวนั่นแหละ  และก็ไปพยายามที่จะสกัดกั้น  แต่ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมชาติ  เมืองไทยก็จะเป็นอย่างนี้แหละ  ก็จะไปของมันได้ อำนาจมันก็คานดุลกันตลอด"


 


"แต่สังคมไทยการเมืองมันมีสิ่งที่เราพูดไม่ได้อยู่เหมือนกัน ถ้าเป็นจิ๊กซอว์มันก็หายไป ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างสมบูรณ์แบบว่าจะมีปัจจัยอะไรบ้างเพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็ทำให้การเมืองไทยหาสมดุลได้ยากเพราะมักจะมีจิ๊กซอว์บางตัวหายไปเสมอๆ ในการวิเคราะห์ ในการตัดสินใจการเคลื่อนไหว แม้กระทั่งในการคุยกันในสังคม  จิ๊กซอว์มันไม่ครบ  พอเราต้องชั่งน้ำหนักอะไรบางอย่าง  การตัดสินใจมันคลาดเคลื่อนได้ มันมีการเมืองที่มองไม่เห็นเยอะเหมือนกัน  การเมืองที่ฮึ่มๆ  เถียงกันจะเป็นจะตาย แต่หลังฉากก็มีขบวนการต่อรองเจรจา อะไรแบบนี้  ซึ่งประชาชนตาดำๆ  ไม่รู้  เพราะฉะนั้นการตัดสินใจจะเคลื่อนไหว  จะเชียร์อะไร  ก็ทำให้คนเบื่อหน่าย"


 


"อย่างรัฐประหารคนก็หลวมตัวไปเชียร์  พอเชียร์ไปเชียร์มา  เอ๊ะมันเหมือนปราสาททราย  ฝ่ายพันธมิตรฯ  ซึ่งเป็นเชียร์ลีดเดอร์ก็ต้องรักษาไว้ ทั้งที่ฝ่ายที่ทำรัฐประหารเขาอาจจะไปอยู่เงียบๆ แล้ว ตัวเองขนาดตามการเมืองก็ไม่ได้เข้าใจความซับซ้อนมาก ชาวบ้านเขาก็คงเริ่มเบื่อหน่าย  กับอีกกลุ่มหนึ่งที่  active  มาก in  มาก  คนที่กลางๆ  มีวุฒิภาวะ  เปิดกว้าง  และอยากจะเปลี่ยนแปลง  กลุ่มนี้ก็เลยจะหายไป  เลยไม่สนใจดีกว่า  มันเลยขาดพลังในการเปลี่ยนแปลงในทางที่จะสร้างสรรค์"



 


ร่วมก็เป๋พังก็แย่


 



"ก็ไม่รู้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เอาเฉพาะนักวิชาการ  สื่อ  เอ็นจีโอ  มันก็มีเสียงที่หายเงียบไป  รอดูสถานการณ์ ให้ฟัดกันก่อนดีกว่า มาเคลื่อนไหวมาทำงานตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์ หลายกลุ่มที่ทำงานเชิงนโยบาย จะตัดสินใจเข้าร่วมกับพันธมิตรฯ  ก็ยังลังเล  ไม่ร่วม  จะมาผลักดันวาระอะไรต่างๆ  ก็ดูเหมือนไม่มีพลัง กระจัดกระจายแยกกันอยู่ มันก็ทำให้เรื่องของชาวบ้าน  ประชาชนจริงๆ  ก็ตกขอบเหมือนกัน  ข้อเสียของการต่อสู้กันในเรื่องการเมืองระดับชาติมันทำให้พื้นที่สาธารณะถูกละเลย เรื่องของคนตัวเล็กๆ  น้อยๆ  พื้นที่ข่าวก็ไม่ค่อยมี ปัญหาของประชาชน  คนจนก็ยังมีเหมือนเดิม  ปัญหาสังคมยังมีเหมือนเดิม  แต่ไม่มีพื้นที่ให้เพราะว่าใจจดใจจ่อกับเรื่องการเมืองเฉพาะหน้า"


 


"คนที่อยู่ตรงกลางเมื่อก่อนก็คงพอมี พอหลังรัฐประหารทุกคนตัวแสบตัวร้อนกันไปหมด ทุกคนมีแผลกันไปหมด  เหมือนเป๋กันไปหมด  แทบจะเหลือน้อยมากที่จะมาประสานทุกฝ่ายได้  ที่จะได้รับการยอมรับจากทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยอมรับ อีกฝ่ายบอกไม่ได้  ฝ่ายนี้ทำลายประชาธิปไตย  อีกฝ่ายบอกว่าไม่ใช่  ฝ่ายนี้รับใช้ทักษิณ มันก็มีกระบวนการเอาป้ายไปปักกันเยอะ ทุกคนเลยมีป้ายแขวนกันคนละป้ายสองป้าย  นักวิชาการที่ออกมาค้านรัฐประหารก็ถูกมองว่ารับใช้ไทยรักไทย หรือว่าคนที่เข้าไปทำงานในช่วง  คมช.เขาก็ไม่ได้ไปทั้งตัวทั้งใจ  เขาก็ยังรักษาจุดยืนบางอย่าง"


 


"มันมีบรรยากาศตรงนี้อยู่ ซึ่งเป็นความแปลกๆของสังคมไทยเหมือนกันเราเป็นสังคมที่ขาดความมั่นใจในตัวเองหรืออย่างไร  ถ้าเราคิดเห็นไม่เหมือนกันแล้วเราจะคุยกันไม่ได้  ต้องเป็นศัตรูกัน  เหมือนวุฒิภาวะไม่ค่อยเกิด"


 


"การเมืองในภาคประชาสังคมในตอนนี้ค่อนข้างแรง ไม่สามารถคุยกันได้ หรือเชื่อมจุดเหมือนสงวนจุดต่างกันได้ เพราะ 19  ก.ย.ถูกมองไปแล้วว่าคนละขั้ว  การเมืองถูกดึงให้ไปเหมือนสมัยก่อนที่ต้องมีค่าย ในภาคประชาชนมันกลายเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่แค่ความเห็นทางการเมืองแล้ว เราจะข้ามภาวะแบบนี้ไปได้ยังไง  และก็มีอารมณ์กันน้อยลง"


 


เราจะไปโทษชาวบ้านได้ยังไง  ในเมื่อนักวิชาการเอ็นจีโอก็ยังฟัดกัน


 



"ฟัดกันแบบไม่สามารถจะมองหน้ากันได้บรรยากาศการใช้ถ้อยคำก็รุนแรงในหลายๆ เรื่อง  หลายๆ เวที  แต่เขาอาจจะมองว่านั่นคือการตรวจสอบกันและกัน  เราอาจจะเป็นสังคมที่เล่นฟุตบอลเป็นทีมไม่ได้จริงๆ ก็ได้ มีความเป็นปัจเจกสูง ถึงทำให้ไทยรักไทยและคุณทักษิณประสบความสำเร็จ  เขาสามารถรวบ power  ได้  เขาสามารถคุมได้  สังคมไทยมันเป็นปัจเจกมาก  มันอาจจะเป็นความงดงามก็ได้นะ ในเอ็นจีโอก็ไม่มีใครเป็นผู้นำเดี่ยวได้ ทุกคนต่างมีโลกของตัวเอง พรรคการเมืองที่ผ่านมาก็อาจจะเป็นอย่างนั้นด้วย แต่ไทยรักไทยทำไมเขาถึงรวบอำนาจการตัดสินใจได้ขนาดนั้น มันแสดงว่าคุณทักษิณเขามีบารมีความเป็นผู้นำสูงจริงๆ  คนไทยขาดผู้นำแบบนี้  ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีนะ  ถ้าปล่อยมากไปก็จะอันตราย แต่เราจะหาจุดกึ่งกลางได้อย่างไรที่เราจะสร้างผู้นำที่อาจจะสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์  ขณะเดียวกันก็ต้องมีกติกาที่ไม่ให้เขาเหลิงอำนาจ  ซึ่งที่ผ่านมามันล้มเหลว   การมีรัฐประหาร มันก็ต้องประลองกันใหม่ แต่ในภาคประชาสังคมเราคงไม่เชื่อกันและกันมั้ง  ต่างคนต่างมีโลกของเราพันธมิตรฯ  เคยทำได้ตอนก่อนรัฐประหาร แต่พอรัฐประหารทุกคนเลยกระจัดกระจาย ตอนนี้ทุกคนก็พยายามอีก  แต่พลังมันก็ไม่เท่าก่อน  19  ก.ย.  ก็แหยงๆ  เพราะมีบทเรียนมาแล้ว"


 



ภาคประชาสังคมตอนนี้ที่เข้าร่วมพันธมิตรฯ  ก็มีน้อย


 


"น้อยแล้ว ตอนนี้คนที่เป็นหลักก็คือ ครป. แต่เครือข่ายต่างจังหวัดที่เป็นเครือข่ายประชาสังคม  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ก็ไม่มีมติที่จะเข้าร่วม  หรือเครือข่ายชาวบ้านต่างๆ  ก็ไม่ได้เข้าร่วม องค์กรอื่นก็ยังลังเล กลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ได้บอกว่ามีพลังนักหนาหรอก  แต่ว่าอย่างน้อยก็เป็นกลุ่มก้อนของเอ็นจีโอที่สร้างการต่อรองในเรื่องต่างๆ กับรัฐบาลได้พอสมควร บางคนอาจจะเข้าไปเป็นปัจเจกบุคคล แต่ในนามองค์กรยังลังเลอยู่ว่าจะเอาอย่างไรดี เพราะแม้ทุกคนจะรับไม่ได้กับพฤติกรรมของรัฐบาล แต่ทุกคนก็หวาดระแวงว่าถ้ามันกลับไปสู่วังวนเดิมๆ  อีก  มันก็สร้างผลกระทบในเชิงลบระยะยาวมากกว่า"


 


พูดง่ายๆ  คือกลัวว่าพันธมิตรฯ  จะนำไปสู่รัฐประหารอีกรอบ


 



"ใช่"


 



ดูเหมือนเขาชงลูกอย่างนั้น



"และดูเหมือนคราวนี้จะรวบรัดกว่าเดิมด้วยรอบที่แล้วยังมีกระบวนการพอสมควร เริ่มจากเมืองไทยรายสัปดาห์ ปูพื้นมาก่อน และตอนนั้นที่เอ็นจีโอเข้าไปมีเงื่อนไขว่าต้องไม่เอาเรื่องนั้นเรื่องนี้กับคุณสนธิ ตอนหลังก็ปรับกันไป ใช้เวลา 5-6  เดือนก็กลืนไปตามวาระของทางโน้น  แต่ตอนนี้มันมียกแรกไปแล้ว  และยกสองอาจจะเร่งให้เข้มข้นขึ้นเพราะฝ่ายนั้นเขาก็จะว่า  3  วาระรวดเหมือนกัน"


 


"แต่ก็ไม่รู้ว่าอารมณ์คนตอนนี้จะแรงพอไหมสำหรับพันธมิตรฯ  ถ้าไม่แรงก็ดีจะได้ไม่เกิดการเผชิญหน้า  แต่มันก็อาจจะทำให้พรรคพลังประชาชนเขาได้ใจ เพราะมองว่าจุดอ่อนอยู่ตรงนี้แหละ ถ้าพันธมิตรฯ  ถูกมองว่าเป็นตัวแทนเป็นสัญลักษณ์ที่เข้มแข็งที่สุดของขบวนการต่อต้านพรรคพลังประชาชน ถ้าเขาสามารถดิสเครดิตหรือแสดงให้เห็นว่าพันธมิตรฯ  ไม่มีน้ำหนักมากพอ มันก็ทำให้รัฐบาลตีปีกเลย  เพราะเขาถือว่านี่คือที่สุดแล้ว ซึ่งความจริงไม่ใช่ มันยังมีพลังเงียบ  มีกลุ่มต่างๆ  แต่เขาก็จะเมินเฉยเพราะการประเมินกำลังเขาจะเทไปที่พันธมิตรฯ  ในมุมหนึ่งมันเป็นการลดความสำคัญลดอำนาจของประชาชนในส่วนอื่น  แม้กระทั่ง 12 ล้านเสียงที่เลือกมาเขาก็อาจจะอยากลุกขึ้นมาคัดค้านในบางเรื่อง แต่เนื่องจากพันธมิตรฯ  อาสาเป็นเจ้าภาพเสียแล้วในขบวนการตรวจสอบรัฐบาลนี้  พอเจ้าภาพไม่แข็งแรงพอ  เขาก็อาจจะยิ่งไม่กลัวเลย  ก็ทำอะไรตามใจชอบ"


 


"ในมุมหนึ่งก็ทำให้ฝ่ายที่ไม่เข้าข้างพันธมิตรฯ  ก็อ่อนแอไปด้วย จะไม่มีพลัง ถ้าเขาสามารถหยุดพันธมิตรฯ  ได้ พลังประชาชนก็ไปฉลุย ในทางกลับกันถ้าบีบให้ฝ่ายนี้ไปร่วมกับพันธมิตรฯ ถ้าฝ่ายนี้จะสู้ มันก็ต้องยอมพันธมิตรฯ  อีก"


 


โดยเธอบอกว่านี่คืออันตรายที่พันธมิตรฯ  ยึดความเป็นภาคประชาชนไปครอง "ถ้าพังส่วนอื่นก็พังไปด้วย  ซึ่งความจริงมันมีพลังส่วนอื่นทำงานอยู่"


 



กล้ารับผิดชอบ


 



"มันสู้กันระหว่างการเมืองในสภากับนอกสภา สังคมไทยจึงก้าวไม่พ้น เพราะพันธมิตรฯ  เองก็ไม่พร้อมจะแปลงร่างเป็นพรรคการเมือง มันเลยสู้กัน 2 ระบบ  สู้กันว่าจะเอาประชาธิปไตยแบบรัฐสภา  หรือไม่เอา เหมือนที่เราถูกวิจารณ์จากนักวิชาการหลายคนว่าเอ็นจีโอภาคประชาชนก็ตั้งตัวเป็นเทวดา  อ้างตัวเป็นภาคประชาชน ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การเมืองภาคประชาชนแบบนี้มันทำให้ถูกมีเครดิตได้ไงในรอบ 10  กว่าปีที่ผ่านมา  ก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ  มันเป็นเพราะสื่อหรือเปล่าที่ยกย่องหรือชูเป็นตัวละคร หรือเพราะคนชั้นกลางในสังคมไทยมีอิทธิพลบทบาทจริงๆ เลยทำให้เอ็นจีโอมีบทบาทมาก  คนอย่างสุริยะใสหรือหลายๆ คนทำไมมีเครดิตที่จะพูดกับสังคมได้มาก  หลายคนบอกว่าแบบนี้อาจจะดีก็ได้  สร้างการเมืองที่ถ่วงดุล แต่มันก็อาจจะทำให้การเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาง่อนแง่นๆ   คือมันเหมือนสู้กันคนละระนาบ ฟากนี้ก็อ้างความชอบธรรมในสภา ฟากนี้ก็อ้างภาคประชาชน  เถียงกันไปเถียงกันมาไม่เป็นไร แต่มันทำให้ความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาจมดิ่งไปด้วย  เราไม่เคยมีความเชื่อนักการเมืองว่ามันดี  พันธมิตรฯ  เองก็คงไม่อยากตั้งพรรคไปสู้  แล้วเราจะเอายังไง"


 



ก็เป็นประชาธิปไตยที่คนชั้นกลางคอยล้มรัฐบาล


 



"อาจจะเป็นนิรันดร์กาลเลยก็ได้ คนชั้นกลางอาจจะสะท้อนความคิดอะไรบางอย่าง เราอาจจะกลัว เราไม่เชื่อมั่นในอำนาจของเรา เราไม่ยินยอมให้สามัญชนธรรมดามีอำนาจกว่าเรา  อย่างคุณทักษิณเขาจะเก่งแค่ไหนถ้าเริ่มมีอำนาจมากเราก็จะเริ่มรับไม่ได้ คุณทักษิณเขามีข้ออ่อนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแต่ก็ไม่แน่นะ  อย่างอิตาลีตอนนี้แบร์ลุสโกนีก็กลับมาเป็นนายกฯ  แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มีคดีในศาล คนก็เลือก เพราะอะไร  ชะตากรรมคุณทักษิณก็ต้องดูว่าจะเป็นแบบแบร์ลุสโกนีหรือฟูจิโมริ ที่ศาลตัดสินคดีแรกไป 6  ปี  การที่พันธมิตรฯ  ค้านขนาดนั้นเพราะกลัวว่าคุณทักษิณจะกลับมาผงาดทางการเมือง  ซึ่งก็เป็นเรื่องเถียงกันไม่จบ ก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยไม่เคยมีใครทำได้ที่จะสร้างความเชื่อมั่น การเมืองไทยที่ผ่านมาไม่เคยมีใครบุคลิกแบบนี้  ก็ยอมรับว่าคุณทักษิณเขาก็มีความพิเศษเฉพาะตัวเขา"


 


"ทุกคนต่างมีความชอบธรรมในการอ้าง พลังประชาชนมีความชอบธรรมมากกว่าในทางประชาธิปไตยเพราะเขาผ่านการเลือกตั้ง พันธมิตรฯ  อ้างความเป็นภาคประชาชนมันกว้าง  มันก็ใครก็ไม่รู้  ในที่สุดก็ต้องมีคนไม่เห็นด้วยกับพันธมิตรฯ ต้องลุกขึ้นมาวิจารณ์พันธมิตรฯ มุมหนึ่งก็ทำให้พันธมิตรฯ  ไม่เข้มแข็งพอที่จะสร้างข้อต่อรองได้  ยกเว้นใช้ทางลัดอีก"


 


"พันธมิตรฯ  เขาก็ปฏิเสธตลอดว่าเขาไม่ได้สนับสนุนรัฐประหาร เพียงแต่ว่าสิ่งที่พันธมิตรฯ  ทำ ตัวเองก็ร่วมด้วยก็ยอมรับ ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ  เกือบทุกคืน  แม้เราจะพูดในเวทีว่าเราไม่ได้เรียกร้องให้รัฐประหาร  แต่เราก็ยอมรับว่าทุกๆ  ขณะของวาทกรรมการเคลื่อนไหวตอนนั้น  มันก็นำไปสู่ตรงนั้นจริงๆ"



"เราต้องทบทวนความผิดพลาดด้วยเราเป็นใคร เราก็เป็นแค่คนคนหนึ่งซึ่งลุกขึ้นมาพูดกับสังคมแล้วมีสื่อยอมรับการที่เราพูดอะไรไปมันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงไปในทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะทางที่แย่ เราก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยเหมือนกันนะ นักการเมืองทำผิดเขาก็ต้องรับผิดชอบ  ถูกดำเนินคดี บริหารประเทศผิดพลาดก็ต้องยุบสภา แต่เอ็นจีโออย่างเราบางทีเสนอความคิดอะไรกับสังคมไป  แล้วมันเป็นอย่างนั้น แล้วมันไม่ดี  เราไม่ต้องรับผิดชอบอะไร  นอกจากรู้สึกผิด  และก็ยังทำงานต่อไป  ได้รับการยอมรับ"


 


"เพราะฉะนั้นเสียงที่มีพลังของคนชั้นกลางที่มีสิทธิ์ลุกขึ้นมาพูดกับสื่อ และชี้นำสังคมได้ เราก็ต้องตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอๆ เหมือนกัน  บางทีมันก็เป็นความรับผิดชอบของเราเหมือนกัน  มันก็เลยทำให้เราระวังมากขึ้น และคิดว่าคงจะสงวนที่จะไม่ร่วมกับพันธมิตรฯ แต่ส่วนหนึ่งก็ยังเคารพบทบาทและความตั้งใจเขาอยู่เพราะเชื่อว่าสังคมก็ต้องมีการคานดุล รัฐบาลที่มีอำนาจก็ต้องมีฝ่ายค้านตรวจสอบ  เพียงแต่ว่าวาทกรรม วิธีการของฝ่ายที่ตรวจสอบก็ต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าเราเป๋ไปแล้วมันจะทำให้สังคมเป๋ไปและคืนกลับมายาก"


 



เราแย้งว่าคนเข้าร่วมพันธมิตรฯ  ก็มีความบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะช่วงแรกก่อนจะมีมาตรา  7  ทำไมต้องรู้สึกผิด


 


"ไม่ใช่แค่มาตรา 7  ช่วงนั้นมีการเดินไปกองทัพ  เรียกร้องให้ทหารลุกขึ้นมาแสดงท่าที  ตอนนั้นมันดูเหมือนเป็นยุทธวิธี เหมือนสร้างข่าว แต่มันก็มีนัย  ทำไมต้องไปยื่นหนังสือให้ที่โน่นที่นี่  ตอนนั้นตัวเองก็ไม่ทันได้คิดเพราะอยู่ในงานเคลื่อนไหวเอ็นจีโอก็ไปยื่นหนังสือให้เป็นข่าว แต่มาคิดอีกมีมันมีนัย  แสดงว่าเราอยากให้เขาเข้ามาทำอะไร และเขามาทำจริงๆ แล้วเราก็บอกว่าไม่เห็นด้วย  แต่เราไปส่งเทียบเชิญแล้ว พอเชิญแล้วเขาก็มา มาแล้วก็ไป  และก็ทิ้งอะไรไว้  เราต้องเก็บกันต่อ  มันก็ทำให้คนชั้นกลางส่วนหนึ่งที่ไม่ร่วมพันธมิตรฯ  งงกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 19  ก.ย.  เหมือนเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น  เราก็ถูกวิจารณ์เยอะ  ในหมู่เพื่อนพ้อง  แต่ก็เป็นบทเรียนที่ต้องระวังมากขึ้นในการทำงานการเมืองต่อจากนี้ไป"


 


…….


ที่มา:


http://www.thaipost.net


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net