Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 13.00 น.วานนี้ (28 เม.ย.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดแถลงข่าว "สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค 2550-2551" เนื่องในโอกาส วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย 30 เม.ย.51 ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข ระบุปี 2551 กรณีร้องเรียนปัญหาประกันภัยมาแรง รองปัญหาหนี้สินที่ครองแชมป์มาตั้งแต่ปี 2550


นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการดำเนินงานของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนในพื้นที่ 42 จังหวัด เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคในพื้นที่ของจังหวัดตนเองและจังหวัดใกล้เคียง สรุปสถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ตั้งแต่ 1 ม.ค.50 - 21 เม.ย.51 แบ่งตามกลุ่มปัญหา 10 หมวดหมู่


การร้องเรียนปี 2550 มีผู้ร้องเรียน 2,382 ราย กลุ่มปัญหาหนี้ อาทิ หนี้บัตรเครดิตและสิ้นเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งหนี้นอกระบบ มีการร้องเรียนสูงสุด 1,957 ราย คิดเป็นร้อยละ 82 ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมดในปี 50 รองลงมาคือ กลุ่มปัญหาคุณภาพบริการ 200 ราย กลุ่มปัญหามาตรฐานผลิตภัณฑ์ 77 ราย และกลุ่มปัญหาประกันภัย 61 ราย


กลุ่มปัญหาอื่นๆ อีกคิดเป็นร้อยละ 3.7 แบ่งแยกได้ดังนี้ อสังหาริมทรัพย์ 30 ราย โทรคมนาคม 22 ราย สาธารณสุข 19 ราย สาธารณูปโภค 8 ราย สิ่งแวดล้อม 5 ราย และปัญหาครอบครอบครัว 3 ราย


ส่วนในปี 2551 เก็บสถิติตั้งแต่เดือนมกราคมถึงวันที่ 21 เม.ย.51 ซึ่งระยะเวลาเพียง 4 เดือน มีผู้ร้องเรียนรวมแล้วทั้งสิ้น 1,246 ราย เพิ่มขึ้นจากสถิติการร้องเรียนในปี 2550 กว่าเท่าตัว โดยกลุ่มปัญหาเรื่องหนี้ยังคงมีการร้องเรียนสูงสุด 918 ราย และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ร้องเรียนอย่างไม่หยุดยั้ง รองลงมาคือ กลุ่มปัญหาประกันภัย 148 ราย และกลุ่มปัญหาคุณภาพและบริการ 75 ราย


อย่างไรก็ตาม นางสาวสารี กล่าวต่อว่าในปีนี้มีการกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยเตรียมเสนอกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ 40 และรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 61 เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน และ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจาการบริการสาธารณสุข เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ป่วย ลดการฟ้องร้องกับแพทย์ในสถานะของบุคคล และยกระดับมาตรฐานการให้บริการด้านสาธารณสุข


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปีนี้กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ผลักดันให้มีการผ่านกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ความรับผิดชอบอันเกิดจากความเสียหายของสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ.2552 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เริ่มบังคับใช้เดือน ส.ค.ปีนี้ ซึ่งคาดการว่าจะเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมจากกระบวนการศาลได้มากขึ้น


ทั้งนี้ การดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนอกจากการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนซึ่งเป็นส่วนงานกลุ่มผู้บริโภคที่แบ่งตามพื้นที่ ยังมีส่วนงานกลุ่มผู้บริโภคในลักษณะกลุ่มปัญหาซึ่งแบ่งเป็น 8 กลุ่มคือ กลุ่มคนคอนโด กลุ่มผู้เสียหายจากการเคหะฯ กลุ่มเครือข่ายผู้เสียหายจากบริการสุขภาพ กลุ่มหนี้นอกระบบ กลุ่มชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กลุ่มโรคไต กลุ่มโรคหัวใจ และกลุ่มโรคมะเร็ง


นอกจากนี้ผลักดันให้เกิดกลุ้มนักกฎหมายเพื่อผู้บริโภคขึ้นมา โดยทำงานในรูปแบบศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ทำหน้าที่ช่วยเหลือด้นคดีและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net