Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปลจาก


Christine Ahn and GRAIN, "Food Safety on the Butcher's Block" (Washington, DC: Foreign Policy In Focus, April 18, 2008).


Web location:
http://fpif.org/fpiftxt/5158


เมื่อวันที่ 11 เมษายน ศกนี้ ศูนย์ควบคุมโรค (CDC) ของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับความพยายามระดับชาติที่จะปรับปรุงความปลอดภัยของอาหารในสหรัฐอเมริกา โดยมีข้อสรุปว่า "ไม่บรรลุเป้าหมายใดที่ตั้งไว้เลยใน ค.ศ. 2007" ตามรายงานของ CDC ทุก ๆ ปี มีชาวอเมริกัน 76 ล้านคน หรือหนึ่งในสี่ ที่เกิดอาการอาหารเป็นพิษ เชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ อี.โคลี (E. coli) ซึ่งเป็นผลพวงของระบบธุรกิจปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจร่วมกันว่า ปัญหานี้เกิดจากอาหารที่นำเข้ามาจากนอกประเทศ เช่น จากจีนหรือเม็กซิโก ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว อาหารที่ผลิตในสหรัฐฯ นั่นแหละคือตัวปัญหา


แทนที่จะกวาดบ้านตัวเองให้สะอาดเสียก่อน อุตสาหกรรมเนื้อของอเมริกากลับผลักความรับผิดชอบให้แก่ผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่รวมถึงในประเทศที่สหรัฐฯ ส่งออกเนื้อไปขายด้วย  สหรัฐอเมริกาใช้ข้อตกลงการค้าทวิภาคีบีบบังคับกลุ่มประเทศที่อ่อนแอกว่าให้ยอมรับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารตามแบบของตน โดยใช้เป็นเครื่องมือขยายอำนาจการควบคุมตลาดให้ตกอยู่ในกำมือของบรรษัทสัญชาติสหรัฐฯ ประเทศเกาหลีใต้ตกเป็นเหยื่อรายล่าสุด


ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007 สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ  ซึ่งตอนนี้กำลังรอการให้สัตยาบันในสมัชชาแห่งชาติของสาธารณรัฐเกาหลี (ROK) และสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการเจรจาครั้งนี้ก็คือ เกาหลีใต้ต้องยกเลิกการสั่งห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 หลังจากตรวจพบลูกวัวในสหรัฐฯ ที่มีเชื้อวัวบ้า เพื่อให้การเจรจาเอฟทีเอเดินหน้าต่อไป อดีตประธานาธิบดีโรมูฮุนของเกาหลีใต้ยอมยกเลิกการสั่งห้ามเป็นบางส่วน โดยอนุญาตให้เนื้อวัวไร้กระดูกและเนื้อสัตว์ที่อายุต่ำกว่า 30 เดือนเข้าถึงตลาดเกาหลีได้ อย่างไรก็ตาม เนื้อวัวสหรัฐฯ ที่ขนส่งมาสู่เกาหลีใต้หลังจากนั้นถูกกักไว้และถูกส่งคืน เพราะมีเศษกระดูกติดมาด้วย รวมทั้งเนื้อวัวอีกรอบหนึ่งที่ขนส่งมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วก็เผชิญชะตากรรมเดียวกัน เพราะมีกระดูกสันหลังทั้งชิ้นติดมา


ในเกาหลีใต้ การค้นพบข้างต้น บวกกับความไร้มาตรฐานในระยะหลัง เช่น การเจอหนูในผักแช่แข็งที่ส่งมาจากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งการเผยแพร่วิดีโอที่แสดงถึงการทำร้ายวัวที่ล้มแล้วในโรงฆ่าสัตว์ของบริษัทเวตส์แลนด์/ฮอลล์มาร์กมีท จนส่งผลให้บริษัทต้องยอมเรียกคืนเนื้อวัวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ยิ่งตอกย้ำความวิตกในหมู่สาธารณชนชาวเกาหลี ปัญหานี้น่าจะสร้างความยุ่งยากแก่กลุ่มล้อบบี้ที่สนับสนุนเอฟทีเอ ในเมื่อประธานคณะกรรมาธิการการเงินของวุฒิสภา นายแม็กซ์ บอคัส (เดโมแครต-มอนตานา) บอกว่า เขาจะไม่ยอมแม้แต่พิจารณาข้อตกลงเอฟทีเอ ตราบที่เกาหลีใต้ยังไม่ยอมยกเลิกการสั่งห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ กระนั้นก็ตาม อุตสาหกรรมเนื้อของสหรัฐฯ และพันธมิตรในรัฐบาลบุชกำลังขะมักเขม้นกับการล้อบบี้เกาหลีใต้ทุกวิถีทางให้ยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าว


"มีผลประโยชน์อยู่มากมายในตลาดนี้ที่ถูกเก็บกดไว้" ผู้ช่วยผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ นางเวนดี คัตเลอร์กล่าวถึงบรรษัทเนื้อวัวของสหรัฐฯ ถึงแม้ประธานาธิบดีสายอนุรักษ์นิยมคนใหม่ของเกาหลีใต้ นายลีเมียงบัก ไปเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อกลางเดือนที่แล้ว เพื่อยืนยันว่าเกาหลีใต้ยังยึดมั่นในเอฟทีเอและการเป็นพันธมิตรระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ แต่เขาก็อาจไม่มีเสียงสนับสนุนในสมัชชาแห่งชาติ ROK มากพอที่จะยกเลิกกฎหมายคุ้มครองสุขภาพภายในประเทศของเกาหลี เพียงเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผลประโยชน์ของภาคธุรกิจสหรัฐฯ


 


บริบทของเนื้อวัว


สงครามที่อุตสาหกรรมเนื้อวัวสหรัฐฯ กำลังโจมตีผู้บริโภคชาวเกาหลี เป็นส่วนหนึ่งของวาระการโจมตีด้านความปลอดภัยของอาหารที่บรรษัทสหรัฐฯ กำลังรุกคืบหน้าผ่านช่องทางข้อตกลงทวิภาคี ยุทธศาสตร์นี้มีรหัสที่ใช้คำอย่างเช่น "พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์" "ความเทียบเท่า" (equivalence) และ "การปรับมาตรฐานให้เป็นหนึ่งเดียว" (harmonization) ประเทศมหาอำนาจกำลังใช้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีมาบีบให้กลุ่มประเทศที่อ่อนแอกว่าต้องยอมรับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารตามแบบของตน และขยายการควบคุมตลาดให้อยู่ในเงื้อมมือบรรษัท


ในการเจรจากับเกาหลี สหรัฐอเมริกายืนกรานว่า ข้อตกลงการค้าเสรีไม่มีทางเป็นไปได้ หากเกาหลีใต้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับความปลอดภัยของอาหารนำเข้าที่ใช้กับเนื้อวัว สหรัฐฯ ต้องการบีบให้เกาหลีใต้ยอมรับการตรวจเนื้อวัวของสหรัฐฯ ว่ามีมาตรฐานเทียบเท่ากับของเกาหลีใต้เอง และเปิดตลาดให้เนื้อวัวนำเข้าราคาถูกจากสหรัฐอเมริกา  ชาวเกาหลีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง  การสำรวจความคิดเห็นเมื่อไม่นานมานี้พบว่า แม่บ้านชาวเกาหลีถึง 87% เชื่อว่า เนื้อวัวอเมริกัน "ไม่ปลอดภัย"  ชาวเกาหลีไม่เพียงต้องการปกป้องเกษตรกรท้องถิ่นของตน  ซึ่งหากมีการบังคับใช้เอฟทีเอเมื่อไร  พวกเขาจะต้องเผชิญการแข่งขันจากเนื้อวัวสหรัฐฯ ที่ได้รับทุนอุดหนุนจากรัฐบาลและไม่มีกำแพงภาษีมาขวางกั้น  นอกจากนี้ ชาวเกาหลียังมีเหตุผลไม่น้อยที่จะรู้สึกวิตกต่อความปลอดภัยของเนื้อจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะปัญหาเชื้อโรค BSE หรือเชื้อวัวบ้า


เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ ประเทศ เกาหลีใต้สั่งห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด หลังจากตรวจพบเชื้อ BSE ในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 2003  นับแต่นั้นมา สหรัฐอเมริกาพยายามอย่างหนักที่จะเจาะเข้าสู่ตลาดเนื้อวัวส่งออกอันมีค่ามหาศาลในเกาหลีใต้และประเทศอื่น ๆ อีกครั้ง โดยอาศัยกระบวนการสองด้านควบคู่กันไป นั่นคือ กำหนดนิยามระบบตรวจสอบเชื้อ BSE ของตัวเองขึ้นมา พร้อม ๆ กับหาทางบีบให้ทั่วทั้งโลกต้องยอมรับว่าระบบนี้มีความปลอดภัย  เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือแก่รัฐบาลในตลาดใหญ่ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ให้มั่นใจในระบบควบคุมเชื้อ BSE ของตน  สหรัฐฯ จึงพยายามหาแรงสนับสนุนจากที่อื่น โดยเฉพาะจากองค์การอนามัยสัตว์โลก (World Animal Health Organization--OIE) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานอนามัยสัตว์ระหว่างประเทศ ซึ่ง WTO ให้การรับรอง


ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ดำเนินการกับ OIE คือ หาทางเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติที่ใช้กับการค้าเนื้อสัตว์จากประเทศที่มีเชื้อ BSE ระบาด เพื่อให้สถานะของประเทศผู้ส่งออกไม่ต้องตั้งอยู่บนการมีเชื้อ BSE ระบาดในประเทศหรือไม่ แต่ตั้งอยู่บน "การประเมินความเสี่ยงทางวิทยาศาสตร์" ของระบบป้องกันแทน กล่าวคือ ประเทศนั้น ๆ มีระบบป้องกันอย่างไรบ้างในการป้องกันไม่ให้เชื้อ BSE เข้าไปอยู่ในเนื้อวัวส่งออก สหรัฐอเมริกาผลักดันกระบวนการนี้ไปพร้อม ๆ กันใน ค.ศ. 2003 โดยสร้างสถานะใหม่ของประเทศที่มี "ความเสี่ยงต่ำสุด" ในการส่งออกสินค้าไปสู่สหรัฐฯ  หลังจากนั้น สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ OIE มีมติออกมาใน ค.ศ. 2005 โดยนำมาใช้ใน ค.ศ. 2006 ในมตินี้ การจำแนกประเทศผู้ส่งออกเนื้อวัว จากเดิมที่เคยมี 5 ประเภท ถูกลดลงเหลือ 3 ประเภท และปรับชื่อเรียกใหม่เป็น "มีความเสี่ยงของเชื้อ BSE ที่ละเว้นได้" "มีความเสี่ยงของเชื้อ BSE ที่ควบคุมได้" และ "มีความเสี่ยงของเชื้อ BSE ที่ระบุแน่ชัดไม่ได้" ยิ่งกว่านั้น เมื่อก่อน OIE สามารถวินิจฉัยชี้ขาดได้เพียงอย่างเดียวว่า ประเทศหนึ่ง ๆ ปลอดเชื้อ BSE หรือไม่ แต่ตอนนี้ OIE สามารถชี้ขาดได้ด้วยว่า ประเทศนั้น ๆ ควรจัดอยู่ในประเภท "ความเสี่ยงที่ควบคุมได้" หรือไม่ ซึ่งเท่ากับอำนวยความสะดวกอย่างมากให้ประเทศนั้น ๆ สามารถส่งออกได้  ในสมัยประชุมใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2007 ที่กรุงปารีส ขณะที่ชาวเกาหลีชุมนุมประท้วงอยู่ตามท้องถนน OIE ก็ประกาศรายชื่อประเทศที่จัดอยู่ใน "ความเสี่ยงที่ควบคุมได้" เป็นครั้งแรก ไม่น่าแปลกใจเลยที่สหรัฐอเมริกาอยู่ในรายชื่อดังกล่าว


สหรัฐอเมริกาใช้คำวินิจฉัยจาก OIE มาผลักดันการเปิดตลาดแก่เนื้อวัวสหรัฐฯ ทันที "เราจะใช้มติสากลนี้มากระตุ้นให้ประเทศคู่ค้าของเราเปิดตลาดนำเข้าแก่ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และเนื้อวัวของสหรัฐฯ อย่างเต็มอัตราอีกครั้ง" ไมค์ โจฮันส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ กล่าว "เราจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่า ประเทศต่าง ๆ จะรีบดำเนินการปรับกฎข้อบังคับให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล"


ถึงแม้มติของ OIE ไม่มีทางบังคับให้เกาหลีเปลี่ยนแปลงระเบียบข้อบังคับของตน แต่เกาหลีใต้ก็เผชิญแรงเสียดทานจากการเจรจาเอฟทีเออีกโสดหนึ่ง  ในที่สุด เกาหลีใต้ก็ยอมเปิดตลาดอีกครั้งโดยมีข้อกำหนดเป็นเงื่อนไข ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของ OIE นั่นคือ เนื้อวัวต้องปลอดจากชิ้นส่วนที่มีความเสี่ยงตามที่ระบุไว้ เช่น เศษกระดูก เป็นต้น  เมื่อเจ้าหน้าที่เกาหลีตรวจพบเศษกระดูกในเนื้อวัวสหรัฐฯ สามล็อตแรกที่ส่งมา (รวมทั้งตรวจพบไดออกซินเกินระดับที่ยอมรับได้ในล็อตที่สาม) เกาหลีใต้จึงไม่ยอมรับเนื้อที่ส่งมา  จากนั้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007 เกาหลีใต้ตัดสินใจระงับใบอนุญาตส่งออกทั้งหมดที่ให้แก่บริษัทซัพพลายเออร์สหรัฐฯ หลังจากผลิตภัณฑ์เนื้อวัวสองล็อตที่มีแหล่งผลิตต้นทางจากบริษัทคาร์กิลล์และไทสันถูกนำส่งมาเกาหลีใต้โดยไม่มีใบรับรองการกักกันโรค  แทนที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัทเนื้อวัวสหรัฐฯ ซึ่งมีวอชิงตันหนุนหลัง กลับยืนกรานให้เกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานเกี่ยวกับเศษกระดูกและยอมให้เนื้อวัวสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดแต่โดยดี ไม่ว่าจะติดเศษกระดูกไปด้วยก็ตาม  มิฉะนั้น จะไม่มีข้อตกลงเอฟทีเออีก


เนื้อวัวกับการค้าเสรี


มีอีกหลายประเทศที่จำใจยอมสละสิทธิ์ในการสั่งห้ามนำเข้าเนื้อจากสหรัฐฯ การสั่งห้ามนี้เกิดขึ้น ไม่เพียงเพราะความวิตกเกี่ยวกับเชื้อ BSE ในเนื้อวัว แต่ไม่ไว้ใจความปลอดภัยของอาหารและอนามัยสัตว์ในกระบวนการทั้งหมดของอุตสาหกรรมเนื้อในสหรัฐฯ อุตสาหกรรมเนื้อของสหรัฐฯ พยายามยืนกรานเสมอมาว่า เอฟทีเอไม่ใช่แค่การลดกำแพงภาษีลง แต่ต้องยกเลิกสิทธิของประเทศต่าง ๆ ในอันที่จะมีนิยามมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยของพืชและสัตว์ (Sanitary and Phytosanitary Standards: SPS) ของตัวเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันให้เนื้อจากสหรัฐฯ เข้าถึงตลาดได้อย่างแน่นอน  บริษัทเนื้อสัตว์ปีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ ค่อนข้างแข็งกร้าวในประเด็นนี้เป็นพิเศษ เพราะสำหรับบริษัทกลุ่มนี้ การส่งออกมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง เนื่องจากภายในประเทศสหรัฐฯ มีความต้องการเฉพาะเนื้ออกขาวเป็นหลัก จึงทำให้มีเนื้อน่องไก่ (เนื้อดำ) เหลือเป็นจำนวนมากและเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ


แต่ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ไม่ยอมรับเนื้อน่องไก่นี้ เนื่องจากวิตกเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารและอนามัยของสัตว์ เช่น สารตกค้างที่เป็นฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ อีกทั้งบริษัทสหรัฐฯ ยังตัดราคาผู้ผลิตท้องถิ่นด้วยราคาที่ต่ำอย่างไร้เหตุผล  ดังนั้น บริษัทผลิตเนื้อสัตว์ปีกอย่างไทสันและคาร์กิลล์จึงมองว่า การเจรจาเอฟทีเอน่าจะเป็นเครื่องมือช่วยง้างเปิดตลาด โดยอาศัยทั้งการลดหรือยกเลิกกำแพงภาษี พร้อม ๆ กับมัดมือประเทศต่าง ๆ ให้ยอมรับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารที่สหรัฐฯ เป็นผู้กำหนด


ข้อตกลงเอฟทีเอกับโมรอกโคถือเป็นตัวอย่างเบื้องต้น  โมรอกโคยอมลดกำแพงภาษีลงขนานใหญ่ จากนั้นก็ตกลงยอมรับใบรับรองสินค้าส่งออกจากผู้ตรวจของสหรัฐฯ "โดยถือเป็นวิธีการรับรองการปฏิบัติตามมาตรฐานเกี่ยวกับฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะและสารตกค้างอื่น ๆ" สำหรับเนื้อวัวและเนื้อสัตว์ปีก  รายต่อมาคือปานามา ภายใต้ข้อตกลง SPS ที่เป็นส่วนแยกต่างหากภายในข้อตกลงเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา  ปานามาตกลงยอมรับว่าการตรวจสอบเนื้อและระบบการคัดเนื้อของสหรัฐฯ มีความเทียบเท่ากับประเทศของตน เท่ากับยอมให้เนื้อวัวส่งออกของสหรัฐฯ ทั้งหมดที่สอดคล้องกับมาตรฐานของ OIE สามารถเข้าถึงตลาดได้  ตลอดจนยกเลิกการใช้ใบรับรองการนำเข้าและเงื่อนไขการออกใบอนุญาตที่เข้มงวดที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้


ข้อตกลง CAFTA ซึ่งค่อย ๆ เปิดตลาดกลุ่มประเทศอเมริกากลางให้แก่เนื้อน่องไก่จากสหรัฐฯ ที่นำเข้าโดยไม่ต้องมีกำแพงภาษี เป็นชัยชนะสำคัญอีกครั้งของกลุ่มบริษัทเนื้อสัตว์ปีกอเมริกัน  บริษัทเนื้อไก่ในอเมริกากลางเติบโตขึ้นมาภายใต้การปกป้องทางการค้าและมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่เข้มแข็ง  สหรัฐอเมริกาตระหนักดีเป็นพิเศษว่า การลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรดังที่ตกลงไว้ภายใต้เอฟทีเอ อาจกระตุ้นให้เกิด "ความเคลื่อนไหวในหมู่ผู้ผลิตเนื้อไก่ในอเมริกากลาง ที่พยายามขัดขวางการเข้ามาของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกจากสหรัฐฯ โดยอาศัยอุปสรรคทางการค้าที่เป็นประเด็นเชิงเทคนิคด้านอนามัยสัตว์"


ความไม่พอใจในประเด็น SPS เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ปีกส่วนใหญ่เกิดจากฝ่ายสหรัฐอเมริกา นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่  ประเทศเอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัสและคอสตาริกามีนโยบายไม่ยอมรับเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลา (Salmonella) อย่างเด็ดขาดมานานแล้ว ซึ่งเท่ากับการสั่งห้ามนำเข้าเนื้อไก่ดิบจากสหรัฐอเมริกาโดยปริยายนั่นเอง เนื่องจากเชื้อซัลโมเนลลาระบาดในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของสหรัฐฯ  ฮอนดูรัสยังมีนโยบายเข้มงวดเกี่ยวกับเชื้อไข้หวัดนกที่สร้างความไม่พอใจแก่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ปีกของสหรัฐฯ ด้วย  ฝ่ายอเมริกันมักโวยวายว่า มาตรการเหล่านี้กำหนด "ตามอำเภอใจ" และไม่ได้ตั้งอยู่บนวิทยาศาสตร์  แต่ถึงจะโวยวายแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ผลิตเนื้อสัตว์ปีกพอแก่การบริโภคในประเทศ  ทว่าการเจรจาเอฟทีเออาจทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป  สหรัฐอเมริกาก่อตั้งกลุ่มทำงานคู่ขนานเกี่ยวกับประเด็น SPS เพื่อ "ใช้แรงผลักดันจากการเจรจาทางการค้ามาหนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบ SPS ของประเทศต่าง ๆ ที่ไม่เต็มใจเปลี่ยนเอง"  ด้วยการใช้กลุ่มทำงานนี้ ทุกประเทศในกลุ่มอเมริกากลางจึงตกลง "ยอมรับว่า ระบบตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารของสหรัฐฯ มีความเทียบเท่ากับของตน  ซึ่งเท่ากับยกเลิกความจำเป็นในการตรวจสอบทีละโรงงานอีก"


เอฟทีเอสหรัฐฯ-เปรูถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมเนื้อไก่  ดังที่ ซารา ลิลีเกรน รองประธานฝ่ายรัฐบาลสัมพันธ์ของบริษัทไทสันฟูดส์ กล่าวว่า นี่เป็น "การเปิดตลาดสินค้าเนื้อไก่ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีการเจรจามาในข้อตกลงการค้าเสรี"  ไทสันและบริษัทเนื้อไก่อื่น ๆ ของสหรัฐฯ ได้การเข้าถึงตลาดปลอดกำแพงภาษีสำหรับเนื้อน่องไก่ รวมทั้งเปรูพร้อมที่จะยอมรับระบบกำหนดสถานะเชื้อโรคและระบบตรวจสอบโรงเชือดและโรงแปรรูปเนื้อไก่ของสหรัฐฯ ด้วย


"ในอดีต เนื้อไก่ที่สหรัฐฯ ส่งออกไปเปรูมักถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมของเปรูขัดขวางไว้ ด้วยเหตุผลว่าผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ มีเชื้อไข้หวัดนก เชื้อไข้นิวคาสเซิล หรือแม้กระทั่งเชื้อซัลโมเนลลา" ลิลีเกรนแห่งบริษัทไทสันกล่าว  "สัญญาณที่ดีในตอนนี้คือ การที่เปรูยอมรับที่จะเคารพการตัดสินของเจ้าหน้าที่ควบคุมอนามัยสัตว์ของสหรัฐฯ  ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า อุตสาหกรรมสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์ทันทีจากเงื่อนไขการเข้าถึงตลาดในข้อตกลงนี้ และผลประโยชน์ดังกล่าวจะไม่ถูกขัดขวางด้วยการใช้อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่กำแพงภาษี โดยมาในรูปของเงื่อนไข SPS ที่คลุมเครือ"


ด้วยเหตุนี้ เปรูและประเทศอื่น ๆ ที่ลงนามในข้อตกลงแบบเดียวกัน จำต้องยอมรับการที่สหรัฐฯ ส่งเนื้อคุณภาพต่ำเข้ามาทุ่มตลาด  ผลกระทบจะเกิดขึ้นรุนแรงทันทีต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้ผลิตรายย่อย  คงมีบริษัทท้องถิ่นไม่กี่แห่งที่เอาตัวรอดได้ ด้วยการควบรวมกิจการและขยายการดำเนินงานออกไปต่างประเทศ เช่น กลุ่มผลิตเนื้อไก่ Multi Inversiones ของกัวเตมาลา ซึ่งขยายกิจการเข้าไปในบราซิลและประเทศเพื่อนบ้าน  ถึงแม้เอฟทีเออาจช่วยให้ผู้ผลิตเนื้อไก่ท้องถิ่นเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ได้บ้าง  แต่ในทางปฏิบัติ ระบบตรวจสอบของสหรัฐฯ มักอนุญาตเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดเท่านั้น  มีโรงงานเนื้อไก่เพียง 3 แห่งที่ได้ใบรับรองให้ส่งออกไปสู่สหรัฐฯ นั่นคือ 1 โรงในชิลี 2 โรงในคอสตาริกา ในขณะที่เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส กัวเตมาลาและโมรอกโค ไม่ได้รับใบอนุญาตเลย  ส่วนโรงงานเนื้อไก่ในเม็กซิโก ผู้ผลิตเนื้อไก่รายใหญ่ที่ตั้งอยู่ติดกับตลาดสหรัฐฯ แท้ ๆ กลับได้เพียงใบยินยอมให้ส่งออกเนื้อไก่แปรรูปที่เชือดภายใต้การตรวจสอบของหน่วยงานรัฐบาลกลางสหรัฐฯ  พร้อม ๆ กันนี้ บริษัทเนื้อไก่รายใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ตามติดเข้าไปในตลาดที่เข้าถึงได้ใหม่ ด้วยการซื้อกิจการของผู้ผลิตท้องถิ่นและผนวกเข้าไปในสายโซ่การผลิตข้ามชาติของตน  ดังที่คาร์กิลล์เพิ่งทำด้วยการเทคโอเวอร์บริษัทเนื้อไก่รายใหญ่สองรายในฮอนดูรัสและนิการากัว


อาหารจีเอ็มโอก็มาด้วย


การโจมตีมาตรฐานความปลอดภัยอาหารของเกาหลีใต้ด้วยเอฟทีเอของรัฐบาลบุช ไม่ได้จำกัดแค่เนื้อวัว  การที่กรุงโซลขอผ่อนผันกฎเกณฑ์ต้นกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกสิ่งทอไปสหรัฐฯ นั้น เกาหลีใต้ต้องยอมแลกด้วยการลดมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพภายในประเทศลง  ข้อตกลงนี้ลงนามนอกรอบในการเจรจาเอฟทีเอสหรัฐฯ-เกาหลีใต้รอบสุดท้ายเมื่อปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 2007 โดยมีชื่อเรียกว่า "บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร" ระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้  องค์การอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพในวอชิงตันออกมาโห่ร้องทันทีว่า นี่เป็นการทะลวงกรอบครั้งยิ่งใหญ่  แต่ชาวเกาหลีตอบรับข้อตกลงนี้ด้วยความประหลาดใจ และก่อให้เกิดปฏิกิริยาโกรธแค้นทั้งในเวทีการเมือง สื่อมวลชนและตามท้องถนน


ข้อตกลงเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรของสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ มีข้อผูกมัดให้เกาหลีต้องจำกัดการประเมินความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอที่นำเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อาหารสัตว์ หรือกระบวนการนำไปใช้ "ตามเจตนาที่ตั้งไว้" กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเกษตรกรท้องถิ่นนำเมล็ดข้าวโพดจีเอ็มโอจากสหรัฐอเมริกาไปหว่านเพาะ ทั้ง ๆ ที่ข้าวโพดนั้นวางขายเพื่อการบริโภค บริษัทสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบการจำหน่ายเมล็ดข้าวโพดย่อมปลอดพ้นจากความรับผิดใด ๆ  วิธีการเช่นนี้แหละที่ทำให้พันธุ์ข้าวโพดพื้นเมืองของเม็กซิโกเกิดการปนเปื้อน  นอกจากนี้ ข้อตกลงยังผูกมัดให้เกาหลีต้องปฏิบัติตามกฎหมายการติดป้ายฉลากจีเอ็มโอในลักษณะที่ "คาดการณ์ได้"  เงื่อนไขที่คล้าย ๆ กันนี้ในข้อตกลงเอฟทีเอเกือบทุกฉบับของสหรัฐอเมริกา มักมีคำเรียกให้ไขว้เขวไปว่า นี่เป็นประเด็นของ "ความโปร่งใส" แต่แท้ที่จริงแล้ว มันทำให้วอชิงตันมีสิทธิ์เข้าไปก้าวก่ายการตัดสินใจเชิงนโยบายในกรุงโซลต่างหาก  ในประการสุดท้าย หากเกาหลีจะปฏิบัติตามพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพของสหประชาชาติ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ยอมลงนาม เกาหลีจำต้องยอมรับเงื่อนไขในข้อตกลงทวิภาคีที่ทำไว้กับวอชิงตัน ในกรณีนี้ เช่นเดียวกับในข้อตกลงเอฟทีเอที่สหรัฐฯ ทำกับประเทศอื่น ๆ  สหรัฐอเมริกาได้รับการยกเว้นจากข้อบังคับในการแสดงเอกสารหลักฐานสำหรับนำพืชจีเอ็มโอเข้าไปในเกาหลี


หมึกที่ลงนามในข้อตกลงยังไม่ทันแห้งสนิท พืชจีเอ็มโออเมริกันก็เริ่มทะลวงเข้าไปในแหล่งอาหารของเกาหลีแล้ว  ที่ผ่านมา กฎหมายจีเอ็มโอของเกาหลี โดยเฉพาะกฎเกณฑ์ในการติดป้ายฉลาก ช่วยสกัดอาหารนำเข้าจีเอ็มโอให้พ้นจากแหล่งอาหารในประเทศอย่างได้ผล ยกเว้นที่มีใช้บ้างในอาหารสัตว์ น้ำมันถั่วเหลืองและซีอิ๊ว (ผลิตภัณฑ์สองประเภทหลังนี้ได้รับการยกเว้นจากข้อบังคับการติดป้ายฉลาก เพราะเชื่อว่าโปรตีนจีเอ็มโอถูกขจัดออกไปในกระบวนการผลิต) แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 หลังจากลงนามในข้อตกลงเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรได้ไม่ถึงปี และหลังจากเกาหลีให้สัตยาบันและนำพิธีสารความปลอดภัยทางชีวภาพมาใช้เพียงสามเดือน สมาคมอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวโพดของเกาหลีก็สั่งซื้อข้าวโพดจีเอ็มโอจากสหรัฐฯ ถึง 697,000 เมตริกตัน โดยจะมีการขนส่งระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม ค.ศ. 2008  นี่จะเป็นการนำเข้าข้าวโพดจีเอ็มโอเพื่อนำมาใช้เป็นอาหารคนครั้งแรกของเกาหลี นับตั้งแต่ใช้กฎหมายติดป้ายฉลากจีเอ็มโอใน ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา  ในทำนองเดียวกัน สินค้าจีเอ็มโอที่นำเข้าโดยได้รับความยินยอมจากรัฐบาลก็พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯ  ในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 2008 มีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (living modified organisms--LMOs) ถึง 58 ชนิดที่นำเข้ามาเพื่อเป็นอาหารสัตว์หรืออาหารคนในเกาหลี  อีกหนึ่งเดือนต่อมา จำนวนเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า กล่าวคือ มี LMOs ถึง 102 ชนิดที่ได้รับอนุญาตนำเข้า โดย 70% มาจากบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ (มอนซานโต ดูปองท์ และดาวเคมิคัล)


เกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศแรกที่ยอมสละสิทธิอธิปไตยในการควบคุมอาหารเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเป็นผลมาจากแรงกดดันของบรรษัทอเมริกันในการเจรจาทวิภาคี  อินเดียและจีนก็ต้องยอมผ่อนปรนข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าจีเอ็มโอ หลังจาก "หารือ" ทวิภาคีกับสหรัฐฯ  ประเทศไทยยอมผ่อนปรนกฎหมายบังคับติดป้ายฉลากสินค้าจีเอ็มโออย่างเข้มงวดใน พ.ศ. 2547 เมื่อสหรัฐอเมริกาเตือนว่า กฎหมายนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาเอฟทีเอ  เมื่อไม่นานมานี้ บรรษัทอเมริกันเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้ข้อเสนอเอฟทีเอบีบให้ประเทศไทยยอมอนุญาตให้ทดลองปลูกจีเอ็มโอในไร่นา  มาเลเซียก็ตกอยู่ในสภาพคล้าย ๆ กัน  บรรษัทอเมริกันต้องการให้รัฐบาลมาเลเซียยกเลิกการพิจารณาบังคับติดป้ายฉลากสินค้าจีเอ็มโอ โดยถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการลงนามข้อตกลงเอฟทีเอสหรัฐฯ-มาเลเซีย


การต่อสู้เพื่ออธิปไตยทางอาหาร


การใช้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีมาก่อกวนมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร เพื่ออวยประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอาหารโลกที่กำลังควบรวมกิจการอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว กลายเป็นประเด็นที่ก่อความวิตกไม่น้อย และยิ่งน่าวิตกมากขึ้นในสถานการณ์ที่โลกกำลังมีวิกฤตการณ์ทางอาหารร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ  สำหรับคนส่วนใหญ่ ความปลอดภัยของอาหารควรเกี่ยวข้องกับสุขภาพเท่า ๆ กับสิทธิทางวัฒนธรรม  แต่การกำหนดนโยบายถูกช่วงชิงไปแล้ว  เมื่อกำแพงภาษีและโควตาถูกลดทอนลงเรื่อย ๆ ภายใต้คาถาการค้าเสรี  ความปลอดภัยของอาหารก็ยิ่งกลายเป็นเครื่องมือโจมตีสำหรับประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ซึ่งไม่ได้ต้องการแค่การเข้าถึงตลาดสำหรับสินค้าส่งออกเท่านั้น แต่ต้องการลดการแข่งขันจากสินค้านำเข้าด้วย (เมื่อไม่มีกำแพงภาษีและโควตาแล้ว)


สมาชิก WTO ทุกประเทศต้องปฏิบัติตามหลักการความเทียบเท่าระหว่างมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารของประเทศต่าง ๆ  ทว่าความเทียบเท่านี้ไม่ได้หมายถึงการปรับมาตรฐานของทุกประเทศให้สูงขึ้นเหมือน ๆ กัน  มันหมายถึงการต้องทำให้มาตรฐานของทุกประเทศเท่าเทียมกับมาตรฐานของประเทศมหาอำนาจ  ซึ่งส่วนใหญ่มักหมายถึงการปรับมาตรฐานให้เหลือแค่บรรทัดฐานต่ำสุดเหมือน ๆ กันหมด  ข้อตกลงเอฟทีเอสหรัฐฯ-เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในประเด็นนี้


น่าเสียดายที่ต้องกล่าวว่า ความปลอดภัยของอาหารกลายเป็นเบี้ยต่อรองในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ของฝ่ายบรรษัท  นี่คือความท้าทายสำคัญเบื้องหน้าขบวนการอธิปไตยทางอาหาร  นอกจากการคว่ำบาตรและการเรียกคืนสินค้าที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวแล้ว การตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารกลับไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนคนธรรมดา  ไม่ได้อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้วยซ้ำ  ในปัจจุบัน ความปลอดภัยของอาหารถูกกำหนดจากห้องประชุมของบรรษัทและการเจรจาทางการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ  บางที บทเรียนที่ได้จากประสบการณ์การต่อสู้กับเอฟทีเอในหลาย ๆ ประเทศ อาจช่วยนำเราไปสู่การรณรงค์ที่เข้มแข็งกว่าเดิม เพื่อทวงคืนอำนาจในการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร โดยถือเป็นประเด็นหนึ่งในสงครามใหญ่เพื่อชิงอธิปไตยทางอาหารที่แท้จริงกลับคืนมา


 


Christine Ahn นอกจากเขียนบทความให้ Foreign Policy In Focus และเป็นนักวิเคราะห์นโยบายของ Korea Policy Institute แล้ว เขายังเป็นสมาชิกคนหนึ่งขององค์กร Korean Americans for Fair Trade


GRAIN (http://www.grain.org/)  เป็นองค์กรเอกชนสากลที่มีเจ้าหน้าที่ 13 คนอยู่ใน 9 ประเทศที่กระจายอยู่ทั้ง 5 ทวีป  GRAIN ส่งเสริมการจัดการและการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีหลักการพื้นฐานว่า ประชาชนต้องมีอำนาจควบคุมแหล่งพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น  GRAIN มีการประสานงานกับ www.bilaterals.org และมีส่วนร่วมในการผลิตเว็บไซท์ www.fightingftas.org.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net