Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี


 


ทุกๆ ครั้งที่รถแล่นผ่านพามา ไล ไล เด็กผู้หญิงอายุประมาณ 12 ปี จะยื่นมือออกไปพร้อมทั้งตะเบ็งเสียงดังว่า "ขออาหารให้หนูหน่อยค่ะ" ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 19 แล้วที่ไล ไลและน้องสาวต้องมาใช้ชีวิตเป็นขอทานอยู่บนถนนแห่งนี้ เมื่อพายุไซโคลนนาร์กิสไม่ได้เพียงแค่ฆ่าพ่อของเธอเท่านั้น แต่ยังทำลายครอบครัวของเธอ ทำลายแม่ ทำลายบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในเมืองโบกาเลย์อีกด้วย


 


ไล ไล บอกว่า "หนูไม่ต้องการให้ใครมาเห็นอกเห็นใจหรือสงสารหนู ถ้าอยากให้หนูมีชีวิตรอดต่อไป โปรดให้ข้าวและน้ำหนูกินทุกวันๆ ด้วยเถิดค่ะ สิ่งที่หนูเสียใจ คือ เมื่อหนูได้ยินเด็กคนอื่นๆ พูดกันว่าเดือนหน้าก็จะกลับไปเรียนหนังสืออีกครั้งหนึ่ง แต่สำหรับหนู หนูไม่มีโรงเรียนแล้ว หนูต้องหาอาหารให้พอกินในแต่ละวันๆ เท่านั้น"


 


เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลพม่าได้ประกาศว่าทุกโรงเรียนในพม่าจะเปิดเรียนในวันที่ 2 มิถุนายน 2551 ยกเว้นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุด โรงเรียนจะยังปิดต่อเนื่องไปจนกว่าจะมีการซ่อมแซมเสร็จ จากรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟให้ข้อมูลว่า มีโรงเรียนกว่า 3,000 แห่งที่ถูกทำลายจากพายุไซโคลนนาร์กิส และมีเด็กอีกกว่า 500,000 คนที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้


 


ไล ไล เล่าทั้งน้ำตาต่อว่า "ปีที่แล้วพ่อพึ่งจะพาหนูไปที่ย่างกุ้งเพื่อซื้อหนังสือเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ"


 


ระหว่างที่เธอกำลังเล่าให้ฟัง มือข้างหนึ่งของเธอก็เอื้อมไปแตะที่หน้าผากของน้องสาวเพื่อดูว่าอุณหภูมิในร่างกายลดลงหรือยัง เนื่องจากระหว่างเกิดพายุไซโคลนและหลังจากนั้นฝนได้ตกลงมาอยู่ตลอดเวลา ทำให้น้องของเธอเป็นไข้สูง แต่เธอก็ไม่แน่ใจว่าน้องเป็นแค่ไข้ธรรมดาหรือไข้เลือดออก "พวกเราต้องตากฝนกันตลอด ในที่พักซึ่งเป็นเพิงพลาสติกที่ถูกสร้างขึ้นง่ายๆ ไม่สามารถคุ้มกันฝนหรือกันยุงได้แม้แต่น้อย ที่นี่มียุงเยอะมากๆ"


 


บางคืนไล ไลก็ฝันว่าความตายได้มาพรากพ่อของเธอไปแล้ว หลายครั้งเธอสะดุ้งตื่นขึ้นมาและเอาแต่ร้องไห้สะอึกสะอื้น ส่วนแม่ของเธอก็เอาแต่ร้องไห้และพูดถึงแต่พ่อที่ตายไป แม่ไม่สามารถทำอะไรได้แม้แต่น้อย


 


"บางครั้งหนูรู้สึกว่าตัวเองต้องต่อสู้มากกว่าเด็กผู้หญิงรุ่นเดียวกัน หนูต้องพยายามอย่างมากเพื่อจะได้อาหารมาประทังชีวิตในแต่ละวันๆ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ประสบภัยจำนวนมากต่างรีบวิ่งไปที่เฮลิคอปเตอร์ที่ร่อนลงมาจอดที่นี่ พวกเขาต่างแย่งกันวิ่งไปรับอาหาร หนูถูกผลักจนล้มลงส่วนน้องหนูถูกใครก็ไม่รู้เหยียบลงไปที่ตัว ในที่สุดก็ไม่มีใครได้อาหารแม้แต่คนเดียว เฮลิคอปเตอร์เพียงแค่มาจอดเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นเท่านั้น"


 


เมื่อเราถามถึงความคาดหวังในอนาคต เธอได้แต่ทำหน้าบึ้งและบอกเพียงว่า "ชีวิตหนูต้องเดินไปที่ถนนทุกวัน รอตั้งแต่เช้าจรดเย็นเพื่อขออาหารแค่นั้นแหล่ะค่ะ"


 


หลังจากภัยพิบัตินาร์กิส ไล ไล และเด็กๆ อีกจำนวนมากต่างก็ต้องเผชิญกับภาวการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องความอดอยาก เป็นความโชคดีที่น้องของไล ไล มีแค่อาการไข้ขึ้นสูง มีเด็กอีกหลายคนต้องเผชิญกับโรคบิด ท้องร่วง อหิวาต์เนื่องจากต้องไปดื่มน้ำจากในแอ่งน้ำที่สกปรก หรือโรคปวดบวมจากการต้องตากฝน โรคมาเลเรียจากยุงที่ชุกชุมในแถบนั้น


 


ถึงแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะระบุว่าจะจัดสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำอิระวดีขึ้นมา เพื่อเลี้ยงดูและให้ความช่วยเหลือเด็กที่สูญเสียผู้ปกครอง โดยสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าจะก่อตั้งขึ้นที่เมืองเปียะโปนและเมืองลาบุตตา อย่างไรก็ตามรัฐบาลพม่าไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการประเมินยอดเด็กกำพร้าที่รอดชีวิตจากไซโคลนนาร์กิสครั้งนี้ อีกทั้งไม่ได้เปิดเผยว่าจะสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าจำนวนกี่แห่ง


 


แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าเด็กเหล่านี้จะได้รับการดูแลอย่างดี เพราะที่ผ่านมาก่อนหน้าที่จะเกิดภัยพิบัติไซโคลนนาร์กิส ยูนิเซฟระบุว่าเด็กๆในพม่าก็ต้องเผชิญกับสภาพที่ยากลำบากอยู่แล้ว โดยมีอัตราทารกเสียชีวิต 76 คนในจำนวน 1,000 คน นอกจากนั้นหนึ่งในสามของเด็กในพม่ายังขาดโภชนาการที่ดี อย่างน้อยกว่า 30,000 คน มีปัญหาทุโภชนาการอย่างรุนแรง รวมทั้งการนำเด็กไปอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กยังเป็นการพรากเด็กไปจากครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่เด็กคุ้นเคย ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสภาพจิตใจเด็กตามมาในอนาคต


 


ยิ่งไปกว่านั้นในเดือนหน้าจะเริ่มเข้าช่วงฤดูมรสุม ในพื้นที่แถบนี้ฝนจะตกอยู่ตลอดเวลา ยิ่งจะทำให้เด็กๆต้องเผชิญปัญหามากขึ้น ฝนที่ตกลงมาจะกลายเป็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง เนื่องจากน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงโดยเฉพาะในแม่น้ำอิระวดี ทำให้ห้องน้ำที่ถูกสร้างขึ้นมาจะไม่สามารถรองรับของเสียจากการขับถ่ายได้อีกต่อไป ของเสียที่ถูกขับถ่ายออกมาจะเอ่อล้นออกไปยังแอ่งน้ำและแม่น้ำ ยิ่งจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้ออหิวาต์ และนำมาซึ่งสถานการณ์ด้านสุขภาพที่ย่ำแย่ลงไปกว่าเดิมอีก


 


สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อสถานการณ์ด้านสุขภาพของเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการเผยแพร่ออกไป การช่วยเหลือที่ทันท่วงทีก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ รัฐบาลทหารพม่าเอาแต่เพียงป่าวประกาศถึงเพียงแต่แง่มุมดีๆในการจัดการภัยพิบัติ รัฐบาลไม่เคยพาองค์กรต่างๆไปดูถึงความเลวร้ายที่แท้จริง ความหวาดกลัวต่างชาติที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในยิ่งทำให้สถานการณ์สุขภาพเด็กเลวร้ายลงไปกว่าเดิม องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่าจนบัดนี้ยังคงไม่สามารถเห็นปัญหาสาธารณสุขที่ชัดเจนเพราะรัฐบาลจำกัดการเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหมู่บ้านห่างไกลที่เข้าถึงได้เฉพาะทางน้ำเท่านั้นและยังคงถูกตัดขาดตั้งแต่ไซโคลนถล่มเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน


 


……………………………..


ข้อมูลชีวิตไล ไล นำมาจากสำนักข่าว IRRAWADDY


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net