Skip to main content
sharethis


"องอาจ เดชา"


 


เมื่อวันที่ 8 - 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ค่ายเยาวชนอนุรักษ์ดอยหลวง บ้านยางปู่โต๊ะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


กลุ่ม "สมัชชาเหมืองฝาย ลุ่มน้ำภาคเหนือ" ร่วม 200 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนจากลุ่มน้ำฝาง(อ.ฝาง,อ.ไชยปราการ,อ.แม่อาย),ลุ่มน้ำแม่งัด(อ.พร้าว),ลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน อ.เวียงแหง, ลุ่มน้ำแม่วาง,ลุ่มน้ำปิงส่วนที่ 2 อ.สารภี, ลุ่มน้ำลี้, ลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว, ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำอิง เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนกันถึงเรื่อง "สิทธิชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ในสถานการณ์ใหม่"


 



 


ซึ่งในวงสัมมนาในวันนั้น ตัวแทนชาวนาชาวไร่ และตัวแทนของแต่ละลุ่มน้ำในเขตภาคเหนือ ต่างได้หยิบเอกสารร่าง พ.ร.บ.น้ำ มาถกกันอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากว่าทุกคนเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขาโดยตรง หากร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ที่กำลังถูกผลักดันเข้าในสภา


 


แน่นอน เรื่องแบบนี้ ย่อมทำให้คนท้องถิ่นตระหนกตกใจเป็นธรรมดา เพราะถือว่าเป็นกฎหมายควบคุมการใช้น้ำทั้งระบบในประเทศ และคงสร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้าน ชาวไร่ชาวนา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 



 


 


นายนิคม พุทธา เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน กล่าวว่า การสัมมนาสมัชชาเหมืองฝายในครั้งนี้ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเกษตรกรรายย่อยที่เกี่ยวข้องกับเหมืองฝาย และทรัพยากรน้ำ โดยให้ทุกฝ่ายได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ตระหนักสิทธิของตัวเองในการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเพื่อให้พี่น้องชาวบ้านได้เข้าใจถึงสถานการณ์ เนื่องจากการจัดการเหมืองฝายไม่สามารถอยู่อย่างเดิม เนื่องจากสถานการณ์ภายนอกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เช่น การตัดไม้ในป่า มาทำฝาย ระบบการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่แต่เฉพาะการทำนา แต่มีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่เข้ามา ทำให้ใช้ประโยชน์จากน้ำมากขึ้น


 


"สาระสำคัญก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้องค์กรเหมืองฝาย เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการรับรองสิทธิกลุ่มเหมืองฝาย ทำอย่างไรที่จะให้องค์กรเหมืองฝายมีความเข้มแข็งมีสถานะในโครงสร้างการบริหารจัดการของรัฐ ของท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบ้านด้วย"


 


นายสุแก้ว ฟุงฟู ตัวแทนจากลุ่มน้ำลี้ จ.ลำพูน กล่าวว่า พวกเราเห็นความสำคัญในการจัดการลุ่มน้ำในระบบเหมืองฝาย  ทางคณะทำงานจึงมีแนวคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจะมีการรวมกลุ่มกันโดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญก็คือ ในขณะนี้กำลังมีปัญหาเกิดขึ้นมา เมื่อกรมทรัพยากรน้ำ จะเสนอให้มี พ.ร.บ.น้ำ


 


"ซึ่งน้ำไม่ได้เป็นของใคร คนใดคนหนึ่ง ไหลมาจากลำห้วย จากป่าจากดอย น้ำเป็นของหน้าหมู่ แต่ส่วนหนึ่งที่ผลักดันกันอยู่ คือทางรัฐบาลจะนำเอาน้ำไปเป็นกฎหมาย นี่คือปัญหา สมัชชาเหมืองฝายจึงรวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อจะบอกว่าไม่เห็นด้วยในการออกกฎหมายน้ำ" สุแก้ว ฟุงฟู ตัวแทนลุ่มน้ำลี้ บอกย้ำ


 


ตัวแทนลุ่มน้ำลี้ บอกอีกว่า จากสถานการณ์เราพอรู้ว่า กฎหมายน้ำฉบับนี้ จะดำเนินการโดยผ่านการกู้ยืมเงิน ผ่านธนาคาร ADB จากต่างประเทศ ที่รู้ว่าทรัพยากรฯในประเทศไทยเรามีมากตั้งแต่การทำนา ที่ต้องอาศัยน้ำในการทำนา จึงได้มีเงื่อนไขในการออกกฎหมายน้ำขึ้นมาควบคุมและจัดการ


           


นายสุทัศน์ ลือชัย จากเครือข่ายอนุรักษ์ป่าเวียงด้ง ลุ่มน้ำฝาง จ.เชียงใหม่ ก็ออกมาย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังเอื้อให้กับนายทุน ซึ่งจะกระทบต่อชาวนาโดยตรง


 


"เราสรุปได้เลยว่า มันขัดต่อรัฐธรรมนูญ การจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ขัดต่อจารีตประเพณี ภายใต้การทำงานของแก่เหมือง แก่ฝาย ขัดต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน นอกจากนั้นมันยังไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน จะไปให้สิทธิกับนายทุน คนเช่าที่ดิน เนื่องจากตอนนี้ชาวนาเริ่มให้คนเช่า หรือขายไปจำนวนมาก หากมีการออกใบอนุญาตที่สามารถโอนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนท้องถิ่นไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ หรือต่อไปหากมีการเอาโครงการใหญ่ๆเข้ามา ซึ่งจะทำให้มีการแย่งชิงน้ำไปจากชาวบ้านได้"


 



 


 



 


 


นายสมบูรณ์ บุญชู รองประธานเหมืองฝายพญาคำ ตัวแทนชาวบ้านจากลุ่มน้ำปิงตอนกลาง(ส่วนที่ 2 พื้นที่ อ.สารภี) กล่าวว่า จากการจัดประชุมชาวบ้านเพื่อถกกันถึงเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.น้ำ รวมไปถึงเรื่องการจัดการน้ำของชุมชน โดยคุยกันมาแล้วสองสามรอบ ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่า ชาวบ้านไม่เอากฎหมายน้ำ โดยดูจากผลกระทบที่จะเกิดกับกลุ่มชาวไร่ชาวนา โดยเฉพาะการตั้งมิเตอร์ในที่นา และการวัดปริมาณน้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งการทำเช่นนี้ เป็นการไม่ให้ความสนใจกลุ่มชาวไร่ชาวนาแต่อย่างใดเลย


 


นายชูโชค เจาะโด ตัวแทนชาวบ้านปว่าเก่อญอหมู่บ้านป่าตึงงาม จากลุ่มน้ำป๋าม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็ลุกขึ้นค้าน ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ว่า เป็นกฎหมายน้ำที่ไปเอื้อกับกลุ่มทุนไม่กี่คน แต่ชาวนา ชาวไร่ ยากจนอยู่แล้ว ยังมาเก็บภาษีอีก คนคิดอย่างนี้ คงไม่ใช่คนไทย และไม่ใช่เกษตรกรแล้ว


 


เช่นเดียวกับ นายวรเดช  กันทะ ตัวแทนชาวบ้านแม่อ้อ ต.แม่นะ อ.เชียงดาว ก็ลุกขึ้นค้านว่า กฎหมายน้ำกระทบจิตใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะหากกฎหมายน้ำออกมา ต่อไป น้ำทุกหยดจะมีค่ากับกลุ่มผู้มีอิทธิพล แต่ชาวนาจากเดิมเอาน้ำมาจากบนดอยมาใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต่อไปเราต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งผลกระทบที่มีต่อชาวบ้านเป็นอย่างไรบ้าง ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย น่าจะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่างด้วย


 


ในขณะที่ นายอนันต์  ตันติวงศ์  ผู้อำนวยการส่วนประสานการบริหารจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน(ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรภาค 1) กรมทรัพยากรน้ำ ได้กล่าวถึงที่มาของ ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ว่า เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำ การแย่งชิงน้ำ การใช้น้ำฟุ่มเฟือย การบุกรุกเสื่อมโทรมแหล่งน้ำ โดยจะเป็นการเอากฎหมายมารวมกันเพื่อใช้บังคับได้ เพื่อสร้างความเอกภาพในการดำเนินงาน เนื่องจากปัจจุบันมี 10 กว่าหน่วยงานที่ทำเรื่องน้ำ เพื่อรับรองหลักเกณฑ์ หลักการในการเข้าถึง, การควบคุม การใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มครอง ฟื้นฟู อนุรักษ์ เพื่อกระจายอำนาจการมีส่วนร่วมในลุ่มน้ำ การจัดตั้งองค์กรทุกระดับ 


 


"เป็นเจตนาฯ ที่ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมา เริ่มทำปี 2540 และปี 2545 มีการโอนภารกิจให้กรมทรัพยากรน้ำ มีการศึกษา รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ปี 2548 เสนอครม.แต่รายละเอียดไม่สนองตอบต่อหลักการมากเท่าไหร่ ในความคิดเห็นของชาวบ้าน เนื่องจากความคิดที่หลากหลาย กฎหมายที่เขียนไว้ จึงไปอยู่ในส่วนของการประกาศกระทรวง"


 


ตัวแทนกรมทรัพยากรน้ำ บอกว่า ในขณะนี้ ได้มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีทั้งของกรมน้ำ และสนช. เสนอเข้าไป ทั้งสองฉบับ ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการทั้งคู่ การพิจารณาในรายละเอียดสภาฯไม่ทัน จึงต้องตกไป


 


ด้านนายสวิง ตันอุด อดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวกับตัวแทนสมัชชาเหมืองฝาย ลุ่มน้ำภาคเหนือ ว่า เรื่องน้ำ พ.ร.บ.น้ำ ไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไป เพราะปัจจุบันมี 2 สภาฯ ทั้ง ส.ส.และส.ว.และยิ่งมาตราฯ ในการยื่นรายชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 ชื่อก็ยิ่งง่ายขึ้น ดังนั้น การร่างกฎหมาย หากมีการล่ารายชื่อเข้าไปประกอบ 1 ใน 3 คิดว่าจะเป็นโอกาส


 


"เพราะที่ผ่านมา กรรมาธิการมักจะมีการขาดประชุมบ่อย หากเราตั้งมั่น เราจะเข้าไปมีส่วนในการสร้างกฎหมายขึ้นมา ซึ่งเป็นการตั้งมั่นที่จะนำเอาความคิดของเราเข้าไปสู่กฎหมาย การจัดการน้ำ โดยใช้องค์กรเหมืองฝายเข้าไปจัดการน้ำ พร้อมกับรัฐอุดหนุนการจัดการน้ำเหมืองฝายดั้งเดิม เราเข้าไปสู้บางมาตราและใช้ 10,000 รายชื่อต่อรอง หรือหากเราไม่สู้ในชั้นนั้น อาจจะใช้ มาตรา 66,67 และไม่มีการแก้ไข เพราะเสี่ยงเกินไปในการลดอำนาจภาคประชาชน"


 


นายสวิง ยังเสนอทางออกอีกทาง คือนอกจากจะล่ารายชื่อเพื่อเข้าไปแก้ไขกฎหมายในสภาฯ แล้ว ยังสามารถต่อสู้ด้วยการออกกฎหมายท้องถิ่น โดยยกตัวอย่าง กรณี อบต.แม่ทา กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ที่ประกาศใช้ข้อบัญญัติตำบลในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการป่า โดยไม่อาศัย พ.ร.บ.ป่าชุมชนพร้อมกับยื่นศาลว่า อุทยานฯ ประกาศทับพื้นที่ป่าของชุมชน โดยใช้ข้อบัญญัติตำบลในการเข้าสู้ที่เกิดขึ้นมาจากภาคประชาชน


 


"หรือแม้กระทั่งกฎหมายน้ำ เช่น ลุ่มน้ำแม่วาง ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่วาง หลังจากนั้น ให้อบต.ทุก อบต.ในลุ่มน้ำแม่วาง ประกาศข้อบัญญัติตำบล หากมีหน่วยงานออกมาฟ้อง ก็จะกลายเป็นข้อบรรทัดฐานของการจัดการทั้งหมด ฉะนั้น เราไม่สู้ในสภา ก็ต้องสู้ในท้องถิ่น รวมไปถึงกฎหมายท้องถิ่น ที่สามารถล่ารายชื่อ เสนอเป็นข้อบัญญัติตำบลได้เช่นเดียวกัน 


 


อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า ล่าสุด รัฐบาลชุดนี้กำลังดันร่าง พ.ร.บ.น้ำ เข้าสู่สภา ในขณะที่ภาคประชาชน โดยการนำของกลุ่มสมัชชาเหมืองฝาย ก็ได้รวบรวมรายชื่อนับหมื่นชื่อเพื่อเข้าคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ไปพร้อมๆ กับขอให้มีการปรับแก้ตัวกฎหมายนี้โดยให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายอย่างแท้จริง


 






 


การเดินทางของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ


 


เมื่อย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ คือบ่วงกรรมจากวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างมหาศาล เพื่อนำมาพยุงฐานะทางการเงินและเศรษฐกิจการคลังของประเทศไม่ให้ล่มจม ซึ่งมาพร้อมกับเงื่อนไขการปรับโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบายมากมายในประเทศไทย เงื่อนไขหนึ่งของเงินที่ได้มาจากธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คือ รัฐบาลไทยต้องสร้างกลไกของภาครัฐในการควบคุมการใช้น้ำของเกษตรกร


 


นั่นคือที่มาของการเสนอร่าง "พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ" เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการจัดสรรน้ำและเก็บค่าน้ำจากเกษตรกร จากแนวคิดการปรับโครงสร้างทางกฎหมายและความพยายามที่จะเก็บค่าน้ำจากเกษตรกร ด้วยการมองวิธีใช้น้ำของเกษตรกรว่า ไม่เกิดผลกำไรและสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จึงจะแบ่งประเภทการใช้น้ำเป็น 3 ประเภท กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำ และติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำ (มิเตอร์) ในไร่นาของชาวบ้านเกษตรกร ให้เกิดการเก็บเงินค่าน้ำตามที่เกษตรกรใช้ไปกับพืชผลทางการเกษตรในแต่ละฤดูกาล


 


ตามเงื่อนไขดังกล่าวที่รัฐบาลหลายสมัยพยายามผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ทำให้เกิดการคัดค้านการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ของกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง การคัดค้านที่เข้มข้นมากที่สุดคือ เมื่อครั้งที่มีการประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เมื่อพฤษภาคม 2542 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และการผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำของภาครัฐยังไม่ได้ยุติแต่อย่างใดจนมาถึงปัจจุบันนี้


 


ในภาคของเกษตรกรทั่วประเทศตระหนักดีว่า หากพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำเกิดขึ้นจริง จะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงินให้กับเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะทำลายการใช้น้ำในรูปแบบจารีตประเพณีท้องถิ่น และที่สำคัญจะเปลี่ยนสถานะของน้ำจากเดิมเป็นสมบัติสาธารณะ ให้กลายเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรทั่วประเทศได้ประกาศคัดค้านไม่เอาพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำโดยเด็ดขาด


 


 


 






 


กะเทาะเปลือกเอดีบี: คู่มือเพื่อความเข้าใจธนาคารพัฒนาเอเชีย


 


คู่มือฉบับนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในตัวสถาบันและกิจการต่าง ๆ ของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี และเข้าใจถึงเหตุผลสำคัญว่าเพราะเหตุใดกลุ่มภาคประชาสังคมจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันการดำเนินงานของเอดีบี คู่มือฉบับนี้ยังเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักกิจกรรมที่ติดตามการทำงานของเอดีบี โดยจะอธิบายถึงโครงสร้างของเอดีบี บริการด้านต่าง ๆ ที่เอดีบีให้แก่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ และยังช่วยแยกแยะให้เห็นกรอบนโยบายของเอดีบี และช่องทางการใช้กลไกในการตรวจสอบความชอบธรรมละความรับผิดชอบของเอดีบีด้วย


อ่านต่อที่นี่ (1.7 MB)                                                          http://www.terraper.org/what_new_view.php?id=3


ที่มา : มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ


 


 


 


....................................................


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


ชำแหละ พ.ร.บ.น้ำ ผลประโยชน์ใคร?


เมื่อน้ำมีราคา เมื่อนามีมิเตอร์ หาก "พ.ร.บ.น้ำ" ผ่าน


รายงาน : ฟังเสียงเกษตรกร "หากในน้ำมีราคา ในนามีรัฐคอยควบคุม"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net