Skip to main content
sharethis

วันนี้ (7 มิ.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย แถลงข่าวที่โรงแรมเดิสัน เวลา 10.00น. โดยนายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนจำนวนมากและชาวต่างชาติรู้สึกว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น เท่าที่ฟังจากหลายฝ่ายมีความรู้สึกว่าเมื่อไหร่ปัญหาการเมืองจะจบลงเสียที ตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจเหมือนหลายประเทศทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาทางการเมืองควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ต้องแก้ปัญหา 2 อย่างพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม ตนคงไม่เสนอความเห็นทางด้านเศรษฐกิจซึ่งต้องมีการหารือกันมากขึ้น รับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะทำให้ประคับประคองกันได้พอสมควร


นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นต่อเนื่องมานับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 จากความไม่มั่นคงในระบอบประชาธิปไตย มีการเคลื่อนไหวไปสู่การล้มรัฐบาลด้วยการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ จากนั้นมีการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้คณะรัฐประหาร ทำให้เราได้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ระบบรัฐสภาระบบการเมืองอ่อนแอ ในที่สุดจะได้รัฐบาลที่อ่อนแอและไม่มีประสิทธิภาพซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 นี้กำลังส่งผลกระทบตามลำดับ ทำให้สภาพการเมืองเป็นไปตามที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการ ตนจึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ขณะนี้มีกระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเหตุผลที่เป็นรายละเอียด แต่ทิศทางหลักมีความขัดแย้งตรงกันข้ามกันระหว่างทิศทางที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย และทิศทางที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจนำพาการเคลื่อนไหวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้ประเทศถอยหลัง


"ล่าสุดมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ล้มรัฐบาลให้ได้ ทำให้หลายฝ่ายไม่เข้าใจว่าจะล้มได้อย่างไรและผู้ที่จะมาแทนรัฐบาลปัจจุบันจะมาด้วยวิธีการใด ส่งผลให้เป็นปัญหาที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและคนที่ค้าขายทำมาหากิน นักวิเคราะห์ให้ความสนใจปัญหาวิกฤตของไทยที่ค่อนข้างรุนแรง เหตุเพราะคนวิตกว่าจะมีการรัฐประหาร ผู้นำทางทหารคิดอย่างไร สะท้อนรัฐบาลประชาธิปไตยที่ไม่มั่นคง" นายจาตุรนต์กล่าว


นายจาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาวิกฤติการเมืองขั้นต้นต้องจำกัดความเสียหาย โดยทุกฝ่ายน่าจะหารือและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่บริหารประเทศโดยสามารถตรวจสอบและควบคุมได้ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ให้มีความเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้นได้ ไม่ควรปิดกั้น แต่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่คิดแตกต่างกันก็ต้องแก้ไขในระบบในกติกาที่มีอยู่ ขอย้ำว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการนอกระบบ ด้วยการรัฐประหารหรือใช้กำลังเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอะไร สังคมไทยก็ไม่มีข้ออ้างให้เกิดการรัฐประหาร ถ้าทุกฝ่ายพร้อมใจกันพูด จะจำกัดวิกฤติทางการเมือง อย่างน้อยก็เป็นประชาธิปไตยแน่นอน ไม่ใช่ย้อนหลังกลับไป


"ผู้นำทหารควรพูดว่าทำรัฐประหารแล้วจะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ใช่บอกว่าถ้าประชาชนเรียกร้องก็อาจจะทำรัฐประหารได้ บางคนพูดแล้วว่าจะไม่ทำรัฐประหาร แต่ถ้าประสานเสียงพร้อมเพรียงว่ารัฐประหารแล้วเกิดความหายนะ พูดให้ตรงกันว่ายึดอำนาจมีแต่เสียหายย่อยยับ ควรพูดให้ตรงกันไม่ใช่ก้ำกึ่งให้คนต้องตีความ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ ไม่ทำให้ต่างประเทศมองว่าสังคมไทยอ่อนไหวไม่มั่นคง" นายจาตุรนต์กล่าวและว่า ที่ผ่านมาหลายคนพูดชัดเจนว่าจะไม่มีการรัฐประหาร แต่บางคนยังพูดอย่างก้ำกึ่งระบุเงื่อนไขว่า ไม่แน่นอนอาจมีการรัฐประหารเกิดขึ้นได้ ทำให้นักวิเคราะห์จากต่างประเทศเห็นความไม่แน่นอน ตนจึงมีข้อเสนอว่าแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องประคับประคองป้องกันไม่ให้แตกแยกไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพ ถ้าแก้ปัญหาประชาชนได้จริงต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ก็ชะลอการแก้รัฐธรรมนูญหากมีการทำประชามติ สภาตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาซึ่งเป็นข้อดี แต่ถ้าเลิกแก้รัฐธรรมนูญไปเลยเมืองไทยก็ไม่พ้นวิกฤต อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นก็ไม่ใช่คณะที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องไปโยงกับการทำประชามติ ซึ่งตนยังไม่ทราบสาระสำคัญของเนื้อหาที่จะให้ประชาชนลงประชามติซึ่งจำเป็นต้องให้มีความชัดเจน เพื่อให้คนที่จะแก้รัฐธรรมนูญมีทิศทางหลักทำต่อไป


นายจาตุรนต์ กล่าวถึงการแก้รัฐธรรมนูญว่า ควรแก้ประเด็นสำคัญที่สุด การจะแก้ให้เสร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย การเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกลุ่มที่เล็กย่อมไม่สำเร็จ ต้องมีการหารือกับพรรคแกนนำ พรรคร่วมรัฐบาล องค์กรประชาธิปไตย นักวิชาการ รับฟังความคิดเห็นประชาชนซึ่งต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะมีผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า มีผลบ้างเพราะเนื้อหาหลักของการเคลื่อนไหวคือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ล่าสุดกลายเป็นการล้มรัฐบาล ประเด็นใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเสียทีเดียว อย่างไรก็ตาม ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากมีจุดยืนที่ไม่ตรงกัน และไม่หารือกันก็จะกลายเป็นจุดอ่อน ทั้งนี้ตนไม่เห็นด้วยที่ชะลอการแก้ไขโดยระบุว่าป้องกันกระแสต้าน เพราะทำให้สังคมไทยไม่ได้เรียนรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีอย่างไร กว่าจะรู้ก็เกิดความเสียหายไปมากและก็มาสรุปว่าเป็นเพราะมีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย


"การแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องเกิดจากหลายฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหา รัฐบาลก็ต้องช่วยแก้ปัญหา แต่ไม่สามารถทำได้ในเวลานี้เพราะพันธมิตรฯ มีความร่วมมือจากคนจำนวนหนึ่งจำนวนมาก ถ้าสลายการชุมนุม ก็นำไปสู่ความรุนแรง แม้ฝ่ายพันธมิตรฯ จะทำผิดกฎหมายและละเมิดเสรีภาพคนอื่นอยู่" นายจาตุรนต์กล่าวและว่า ต้องขอร้องพันธมิตรว่าอย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อนเรื่องการสัญจร ตนเห็นว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ ไม่ใช่ปัญหาที่หนักหนา ยกเว้นทำให้การจราจรติดขัด แม่ค้าขายของไม่ได้ ดูรวมๆ ไม่น่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ ถ้ามีการชุมนุมยืดเยื้อหรือมีการใช้กำลังซึ่งจะสะเทือนต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ต้องใช้เหตุผลพูดจากัน อย่างไรก็ตาม อยากให้หลายฝ่ายต้องช่วยกันให้ความเห็นเรื่องนี้ด้วยว่า พันธมิตรฯ มีจุดประสงค์อะไรกันแน่ อยากให้เกิดผลอะไรมีเหตุผลหรือไม่ ถ้าหลายฝ่ายระบุว่าพันธมิตรฯ ไม่มีเหตุผล ก็ต้องถอยเพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่า การเคลื่อนไหวไม่มีประโยชน์


นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรฯ ที่จะเป็นเหตุผลว่ารัฐบาลใช้ความรุนแรงต่อประชาชน นี่คือแผนตื้นๆ ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรทำตามความต้องการของพันธมิตรฯ แต่รัฐบาลก็ต้องป้องกันความเสียหาย เช่น ผู้ชุมนุมอาจบุกทำเนียบทำให้ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้


กรณีนายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุว่ารัฐบาลยังไม่ยอมถอยในประเด็นใหญ่ที่ต้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่มีการแทรกแซง นายจาตุรนต์ กล่าวว่า พันธมิตรฯ มีสิทธิที่จะเรียกร้องถ้าเห็นแบบนั้น แต่กระบวนการยุติธรรมจาก คตส.และอัยการ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และศาลก็ไม่มีใครแทรกแซงได้ ถ้าบอกข้อเรียกร้องบางอย่างเป็นความเห็นวิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่ถ้าจะล้มรัฐบาลแล้วถือว่าเป็นชัยชนะ ก็จะทำให้คนวิตกว่าจะเหมือนเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549


ต่อคำถามถึงการประชุมกันของวิปรัฐบาลในเรื่องการจัดการออกเสียงประชามติ นายจาตุรนต์กล่าวว่า การทำประชามติหรือไม่เป็นเรื่องของ ครม. ไม่ใช่เรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นไม่ใช่วิปรัฐบาลประชุมกันแล้วจะบังคับรัฐบาลได้


เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สว.บางส่วนเป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงได้ประโยชน์จากเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ โดยได้เป็น สว. แบบสรรหา ตนจึงเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่มี สว. ต่อต้านคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการดีเบทเรื่องรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ ก็มีฝ่ายที่บอกว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ได้ยากเพราะคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญนี้ไม่อยากให้แก้


"ที่รัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการลงประชามติเพราะคนจำนวนมากอยากให้มีการเลือกตั้ง และพรรคแกนนำรัฐบาลก็เคยประกาศไว้แล้วว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเท่ากับรัฐบาลได้ฉันทามติเสียงข้างมาก มีเหตุผลอันชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าแก้อย่างไรไม่ใช่ทำไปโดยไม่ฟังเสียงใคร" นายจาตุรนต์ กล่าว


ภายหลังการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองที่จะได้กลับมาเล่นการเมืองในฐานะเป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์ 1 ใน 111 คนหรือไม่ นายจาตุรนต์ ยิ้มพร้อมกล่าวว่า หากจะแก้ไขให้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยกลับมาเล่นการเมืองได้จริงๆ เพียงแต่แก้กฎหมายก็ได้ ไม่ต้องถึงขนาดแก้ไขรัฐธรรมนูญ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net