Skip to main content
sharethis


สมัคร - อภิสิทธิ์ ยกมือไหว้กัน และรอยยิ้มของแม่ค้า ภาพนี้เผยแพร่ทาง pantip.com


27 มิ.ย. 51 - เวลา 11.15 น. กลุ่มส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการลงมติว่า เป็นการลงคะแนนที่เปิดเผยตรวจสอบได้ว่าส.ส.คนใด ลงมติอย่างไร ซึ่งภาพรวมก็ไม่ได้เกินความคาดหมายที่ส.ส.ลงมติเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของรัฐบาล อย่างไรก็ตามฝ่ายค้านเห็นว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกจากได้นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว รัฐบาลก็ควรเปิดใจกว้างในการนำไปพิจารณาเดินหน้าในการทำงาน โดยเฉพาะสิ่งที่เราพูดควรนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลากรในการทำงานบริหาร เพื่อความมีประสิทธิภาพสามารถแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนได้ ซึ่งส่วนตัวพอใจการทำหน้าที่ของสมาชิกพรรคในการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเชื่อว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลก็จะให้การยอมรับเช่นกัน


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะสร็จสิ้นไปแล้วแต่ในส่วนฝ่ายค้านยังเห็นควรดำเนินกระบวนการเรื่องเขาพระวิหารให้กรรมการมรดกโลกรับทราบความคิดเห็นของคนไทย ซึ่งครม.เองก็ควรแสดงเจตนาที่ชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้ตนไม่ทราบขั้นตอนที่ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ไปเจรจากับประเทศกัมพูชา จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ทราบรายละเอียดในการประชุมครม. เราทราบแต่เพียงเรื่องแผนที่หรือแผนผังหลังจากที่มีการตกลงกันไปแล้ว ซึ่งถ้าหากมติครม.เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต รมว.ต่างประเทศก็ควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงตามมติครม.ด้วย


นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนไทยและกัมพูชาเกิดความสับสนและมีความขัดแย้งกันในพื้นที่บริเวณเขาพระวิหารว่า มีสาเหตุเกิดจากความไม่โปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งการแก้ปัญหาควรทำให้คนบริเวณนั้นรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันบริหารร่วมกันโดยไม่กระทบปัญหาเขตแดนเรื่องก็จะจบ แต่หากฝ่ายกัมพูชายังมีการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวอย่างที่เห็น การลดความขัดแย้งก็เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม ตนจะทำ 2 เรื่องคือ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณีในกรณีการดำเนินงานของ รมว. ต่างประเทศอาจเข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา  190 และ ทำหนังสือถึงผู้แทนองค์การมรดกโลกชี้แจงความเห็นคนไทย


นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า แม้ฝ่ายค้านจะเป็นเสียงข้างน้อยและไม่มีการอภิปรายครั้งใดที่จะชนะได้ด้วยการลงคะแนน แต่ต้องตระหนักด้วยว่าเสียงข้างมากก็ไม่ใช่ว่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะการทำงานต้องฟังเสียงฝ่ายค้านและเสียงจากประชาชน ถ้าคิดว่าเสียงข้างมากทำอะไรก็ได้ ก็จะสร้างปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หวังว่าหลังจากอภิปรายแล้ว รัฐบาลจะนำไปปรับเปลี่ยนการบริหารซึ่งการปรับบางส่วนอาจสะเทือนตำแหน่งรัฐมนตรีและท่าทีที่เป็นปมปัญหาเรื่องการแทรกกระบวนการยุติธรรมที่โยงใยผู้มีอำนาจเดิม ทั้งนี้ เมื่อสภาฯลงมติแล้วเราต้องยอมรับเสียงข้างมากและต้องการให้นายกรัฐมนตรีใช้สภาให้เป็นประโยชน์นำสิ่งที่เราพูดเอาไปปรับปรุงการทำงาน ส่วนการลงคะแนนของส.ส.นั้นก็คงมีแรงกดดันแต่จะบอกว่าไม่มีอิสระก็คงไม่ได้เพราะต้องอาศัยความกล้าหาญเท่านั้น


 


*ที่มาภาพประกอบหน้าแรกจาก pantip.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net