Skip to main content
sharethis

 






ประภัสส์ ชูวิเชียร


 


เป็นนักศึกษาปริญญาเอกในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่นิยามตัวเองสั้นๆว่า เป็น "พลเรือนชั้นประทวน"  รักงานวิชาการที่เกี่ยวเรื่องเก่าๆ มักหาเวลาเดินทางด้วยสองขาและรางเหล็กตามไปดูสิ่งสวยงามในดินแดนไทย     


 


 


1 ท้องนาและชาวนาในฤดูปักดำ
ที่มา . www.phothoontour.com


 


 

"คนเริ่มทำนาจากบนที่สูงก่อน จึงค่อยๆมีพัฒนาการลงมาทำนาในที่ราบ..."


 


เสียงของเขายังคงเจื้อยแจ้วอยู่ไม่ขาดจังหวะ เพื่ออธิบายความเป็นมาในกรรมวิธีการผลิตข้าวเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ในอดีตหรือพัฒนาการในการ "ทำนา" ของผู้คนในดินแดนไทยนี้เอง


 


"มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงแรกๆอยู่อาศัยบนพื้นที่สูงเพื่อตอบสนองสังคมที่ไม่ผลิตอาหาร คือเข้าป่าล่าสัตว์เพียงอย่างเดียว แม้ต่อมามนุษย์จะรู้จักการเพาะปลูกพืชเป็นอาหารได้แล้วพักใหญ่ๆก็ยังคง อาศัยอยู่บนป่าเขาเป็นหลัก แม้การเกษตรกรรมก็ยังทำกันบนนั้น เรารู้ได้เพราะจากการขุดค้นที่ถ้ำผี แม่ฮ่องสอนพบเมล็ดพืชจำพวกน้ำเต้า ถั่ว พริกไทยที่มนุษย์นำมาเป็นอาหาร แล้วจำชื่อ "ถ้ำปุงฮุง" ในจังหวัดเดียวกันนี้ได้ไหมครับ ที่นั่นพบหลักฐานของข้าวเป็นครั้งแรกๆ ก็แสดงว่าคนในแถบนี้เริ่มการปลูกข้าวทำนาบนที่สูงมาก่อน"


 


"นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าการปลูกข้าวน่าจะแพร่หลายมาจากประเทศจีนก่อน แต่ก็มีร่องรอยหลายแห่ง เช่น ที่โนนนกทา ของแก่น และบ้านเชียง อุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีบนที่ราบของอีสานก็พบข้าวจากการขุดค้นมากมาย ดังนั้นการทำนาบนที่ราบลุ่มอย่างเป็นระบบที่เรารู้จักกันนี้คงจะมาตั้งแต่ราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว"


 


"แต่ในช่วงนั้นเขาคงจะยังไม่รู้จักการไถดำหรือสร้างนาให้เป็นขอบคันอย่างเป็นระเบียบหรอกนะครับ นักวิชาการเชื่อว่าการทำนาในช่วงนั้นคงจะใช้วิธีง่ายๆโดยหาพื้นที่ลุ่มที่น้ำขังแล้วหว่านเมล็ดข้าวลงไป ปล่อยให้ข้าวโตขึ้นตามบุญตามกรรม พอรวงข้าวโตได้ที่ก็เก็บเกี่ยวมาเท่านั้น ส่วนการทำนาที่ใช้การวางคันนานั้นน่าจะเริ่มขึ้นในสมัยประวัติศาสตร์ เพราะได้พบคันนาโบราณที่วางตัวเป็นตารางอยู่โดยรอบชุมชนโบราณหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ของภาคอีสานตอนล่าง"


 


"การทำนาต้องใช้น้ำเป็นสำคัญนะครับ สมัยโบราณเขาคงจะใช้น้ำจากธรรมชาติ คือน้ำฝนหรือน้ำที่ขังอยู่บนที่ลุ่มเพื่อการปลูกข้าว ต่อมาเมื่อการกสิกรรมพัฒนาเพราะความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะชุมชนขยายตัวจากเดิม ก็ต้องใช้การทดน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก การชลประทานในระยะแรกก็มีลักษณะที่เรียบง่าย เป็นไปตามธรรมชาติ คืออาจมีการดัดแปลงภูมิประเทศเล็กน้อย เช่นการขุดคูคลองหรือสร้างคันดินเพื่อบังคับทิศทางของน้ำให้ไหลมารวมอยู่ในที่ที่ต้องการ เรื่องการทดน้ำนี่ต้องยกให้กับคนในวัฒนธรรมเขมรเขา เพราะได้พบหลักฐานการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือ "บาราย" และก็คูคลองคันดินบังคับน้ำอยู่ทั่วไปในชุมชนโบราณที่มีวัฒนธรรมเขมรช่วงราว ๘๐๐ ถึง ๙๐๐ ปีมาแล้ว ทั้งในประเทศกัมพูชาและบางส่วนของดินแดนประเทศไทย"


 


"นักวิชาการบางคนเองก็ไม่เชื่อว่าการจัดการน้ำดังกล่าวในวัฒนธรรมเขมรจะเป็นไปเพื่อการกสิกรรม เพราะแหล่งน้ำส่วนใหญ่มักสร้างควบคู่ไปกับศาสนสถาน จึงอาจเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ร่วมกันในการอุปโภคบริโภค ไม่ใช่น้ำที่ผันไปใช้ทำนา แต่อย่างไรก็ดี ความเอาใจใส่ในการชลประทานเพื่อการกสิกรรมของรัฐนั้นยังปรากฏอยู่บ้างในสมัยอยุธยา เพราะมีจารึกฐานพระอิศวรสำริดพบที่เมืองกำแพงเพชร พ.ศ.๒๐๕๓ ระบุว่ามีการขุดลอกคลองเพื่อให้ประชาชน "ทำนาทางเหมืองทางฝาย" ได้อีกนอกเหนือไปจาก "ทำนาทางฟ้า"..."


 


"ทำนาทางเหมืองฝายคือการทำนาโดยใช้การทดน้ำ ส่วนทำนาทางฟ้าก็คือการทำนาแบบธรรมชาติที่ต้องรอให้ฝนตกลงมา จะได้มีน้ำทำนาไงครับ"


 


"เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ทำนานั้น คงจะเป็นแบบง่ายๆมาโดยตลอด คุณยังจำเคียวหินที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านบึงหญ้า สุโขทัยได้ไหมครับ ? เห็นได้ว่ารูปร่างแทบไม่ต่างจากเคียวที่ชาวนาทุกวันนี้ใช้กันเลย แล้วยังมีเครื่องมืออีกแบบ คือเครื่องมือนที่ทำจากสะเก็ดหินบางๆ คมๆ นักโบราณคดีเชื่อว่าอาจใช้สำหรับเก็บเกี่ยวข้าวแบบทีละรวง คล้ายๆกันกับที่ชาวนาทางภาคใต้ยังใช้ "แกระ" ซึ่งเป็นใบมีดขนาดเล็กในการเกี่ยวข้าวทีละรวงอยู่จนทุกวันนี้ ส่วนจำพวกคันไถ หรือผาลไถนานั้นยังไม่เคยพบหลักฐานชัดเจนเลย อาจเป็นเพราะทำด้วยไม้เสียเป็นส่วนใหญ่เลยผุกร่อนไม่เหลือไว้ให้เห็น"


 


"แล้วที่ลืมไม่ได้เลย คือ "ไอ้ทุย" คู่ชีพที่ชาวนาใช้เป็นสัตว์เลี้ยงทุ่นแรงในการไถนานั่นเอง  การใช้สัตว์จำพวกวัวหรือควายในการทำนาคงจะเริ่มเมื่อได้พัฒนาระบบการกสิกรรมให้ดีขึ้นเพื่อตอบสนองปริมาณความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ก็ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น และต้องใช้แรงงานมาตามไปด้วย ซึ่งแรงคนไถนาอย่างเดียวคงจะไม่ไหวแน่นอน ในการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบางแห่งในประเทศไทย เราพบโครงกระดูกของควายที่มีร่องรอยกีบเท้าที่น่าจะถูกใช้งานหนัก เช่นใช้ลากหรือไถนามาก่อนด้วย"


 


"แต่ก็ยังมีการทำนาอีกแบบนะครับที่ยังใช้แรงงานคนล้วนๆเลย คือการทำนาแบบแห้ง หรือการปลูกข้าวไร่บนที่สูง ซึ่งใช้พื้นที่ได้จำกัด แรงงานคนก็เพียงพอแล้ว การทำนาแบบนี้คือการใช้ไม้ปลายแหลมเจาะหลุมบนพื้นดินแล้วหยอดเมล็ดพันธุ์ข้างลงไป กลบหลุมแล้วอาศัยน้ำฝนหรือน้ำค้างให้ต้นข้าวเจริญเติบโตขึ้นเอง"


 



 2 การปลูกข้าวไร่ที่ใช้ไม้เจาะหลุมแล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไป
ที่มา www.ricethailand.com


"การปลูกข้าวแบบนาแห้งหรือข้าวไร่นี้ก็คงคล้ายกับการปลูกข้าวบนที่สูงที่ทำกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก และยังทำกันอยู่ทั่วไปในกลุ่มชนที่อยู่บนที่สูง เช่น ชาวกะเหรี่ยง ผลผลิตของข้าวที่ปลูกด้วยวิธีแบบนี้จะได้ในปริมาณไม่มาก ตอบสนองแก่ชุมชนที่มีขนาดเล็กๆ ดังนั้นนักวิชาการส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าการทำนาในที่ราบลุ่มซึ่งจะผลิตข้าวได้ในจำนวนที่มากขึ้นนั้นเป็นพื้นฐานให้แก่การเกิดบ้านเมืองระดับรัฐหรือแว่นแคว้นด้วย"  


 



3 การใช้ความยไถนา เป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งของการทำนาในสมัยโบราณทีใช้สัตว์ช่วยผ่อนแรง ซึงยังคงตกทอดมาถึงปัจจุบัน
ที่มา . www.siamscubadiving.com


 


"คุณรู้ใหมครับว่าแต่เดิมคนไทยเรากำหนดเวลาเป็นปีกันด้วยการทำนา เพราะเรามีคำโบราณที่ใช้เรียกปีหนึ่งๆว่า "เข้า" หรือข้าวนี่แหละ อย่างเช่นบอกว่า ฉันอายุยี่สิบเก้าเข้า แปลว่าฉันอายุยี่สิบเก้าปีนั่นเอง"


 


"ที่เรียกอย่างนั้นเพราะว่าการปลูกข้าวต้องอาศัยระยะเวลาตามฤดูกาลที่หมุนเวียนกันไป คือเริ่มไถหว่านตอนฝนแรก จากนั้นปล่อยให้ข้าวโตเองตามธรรมชาติ พอถึงต้นฤดูหนาวน้ำก็หลากมา เมื่อน้ำแห้งก็เข้าหน้าเก็บเกี่ยวพอดี เป็นอย่างนี้หมุนเวียนกันไปทุกๆปี แสดงว่าคนไทยเรายึดถืองานนาเป็นสำคัญจนนับเอาวันเวลารวมจากการเพาะปลูกข้าวเป็นปีๆไป"


 


"การกสิกรรมในในดินแดนไทยคงจะมีลักษณะที่เรียบง่ายมาโดยตลอด และคงเป็นกิจกรรมที่ดำเนินโดยราษฎรเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาครัฐอาจให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย เช่นการชลประทาน และเก็บผลประโยชน์จากราษฎรด้วยข้าวมาเป็นสำคัญถึงได้ปรากฏการออกเอกสารกัลปนา หรือการกำหนดพื้นที่ "นาหลวง" ที่เป็นที่ปลูกข้าวส่งให้แก่ราชสำนักโดยตรง"


 



4 การเก็บเกี่ยวข้าว ในบางท้องที่ยังคงใช้เครื่องมือง่ายๆอย่างเคียว ซึ่งแทบไม่แตกต่างจากในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน
ที่มา.www.siamscubadiving.com



 


"การปลูกข้าวลักษณะนี้ในเมืองไทยคงมีมาจนถึงสมัยรัชกาลที่สี่เป็นอย่างมาก พอขึ้นสมัยรัชกาลที่ห้า เราก็เริ่มมีนโยบายในการส่งออกผลผลิตทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าว รัฐบาลจึงต้องหันมาพัฒนาการทำนาให้ได้ผลผลิตเพิ่มพูนอย่างเป็นระบบมากขึ้น อย่างเช่นการขุดคลองรังสิตไงครับ คลองนี้ขุดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่รกร้างทางด้านเหนือของกรุงเทพให้เป็นพื้นที่ทำนา และส่งผลให้การทำนาเริ่มพัฒนาขึ้นกว่าเดิม เป็นต้นว่าการเริ่มใช้เครื่องจักรกลในการไถนา"


 


"เรียกได้ว่าข้าวที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ได้มาจากเทคโนโลยีที่แทบจะไม่แตกต่างไปจากที่บรรพบุรุษของเราคิดค้นเพื่อเพาะปลูกพืชชนิดนี้เลย เว้นเสียแต่การใช้เครื่องทุ่นแรงจักรกลในบางกระบวนการ รวมทั้งสารเคมีหลายต่อหลายอย่างที่ประเคนใส่ลงไปเพื่อบำรุงดินและกำจัดแมลงศัตรูพืช แต่ยังไงก็ตาม เราก็ยังกินข้าวกันเป็นอาหารหลัก และอาชีพทำนาก็คงอยู่กับคนไทยต่อไป ไม่ใช่เอาใครต่อใครมาปลูกข้าวให้เรากิน"


 


เรารู้ความเป็นมาของการ "ทำนา" กันอย่างคร่าวๆแล้ว ต่อไปลองมาดูสิว่าวิวัฒนาการของการกินข้าวของคนไทยเราเป็นอย่างไร ระหว่างข้าวเหนียวกับข้าวเจ้า เรากินข้าวอะไรกันมาก่อน ?


ติดตามต่อกันตอนต่อไปครับ


 


เรื่องราวที่ผ่านมา


รายงานชุด "ข้าว" ทางวัฒนธรรม [1] : "กินข้าว" กันมาเมื่อใหร่? ใครรู้บ้าง?


รายงานชุด "ข้าว" ทางวัฒนธรรม [2] : "ชาวนา" อาชีพหลักบรรพชนไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net