Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผศ. ดร. ทวีศักดิ์ แตะกระโทก


ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน  (ศวปถ.)


มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)


 





จากสถิติอุบัติเหตุจราจรโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้ชัดว่ารถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงมาก โดยข้อมูลช่วงปี 2547-2550 พบว่ารถจักรยานยนต์มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 41 จากจำนวนอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมดแยกตามประเภทยานพาหนะ 


ทว่าก็ยังขาดความเข้าใจแท้จริงเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์ เพราะหากพิจารณาข่าวในสื่อต่างๆ ก็มักจะสะท้อนสภาพปัญหาด้านการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่รวดเร็วเป็นอันตรายของวัยรุ่นที่นิยมจับกลุ่มกันขับขี่แข่งขันกันบนถนนใหญ่ในเขตเมืองยามค่ำคืน


อย่างไรก็ตาม ปัญหาวัยรุ่นขับขี่รถจักรยานยนต์เร็วคงไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่เกิดอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์  อีกทั้งคนส่วนใหญ่ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ก็เป็นผู้ที่ขับขี่ที่ตัดสินใจเลือกใช้ความเร็วอย่างมีเหตุผล


ทั้งนี้ การเดินทางในแต่ละเที่ยวนั้นผู้เดินทางมีจุดมุ่งหมายหลัก 2 ประการ คือ ไปให้ถึงโดยเร็วที่สุดและปลอดภัยที่สุด โดยทั้ง 2 ประการนี้มีความสัมพันธ์กับความเร็วอย่างมาก เนื่องจากถ้ายานพาหนะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วก็จะทำให้ลดเวลาในการเดินทางลง แต่ก็จะส่งผลตรงข้ามทำให้การเดินทางครั้งนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น และยิ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้นถ้าความเร็วเพิ่มขึ้น  อันเนื่องมาจากระยะเวลาในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ลดลง และโมเมนตัมของยานพาหนะที่เพิ่มขึ้น


ความสำเร็จที่หมายถึงทันเวลาและปลอดภัย กับความล้มเหลวไปไม่ทันเวลา หรือไปไม่ถึงที่หมายนั้นเป็นการตัดสินใจของผู้ขับขี่ภายใต้สภาวการณ์ในขณะนั้นที่ผู้ขับขี่เห็นว่าสมเหตุสมผลโดยประเมินจากสภาพของผู้ขับขี่ สภาพของยานพาหนะ และสภาพแวดล้อมของถนน


ผู้ขับขี่ที่มีเหตุผลจึงต้องสามารถประเมินสภาพเหล่านี้ พร้อมกับปรับเลือกความเร็วที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดที่จะเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางได้ทันเวลาและปลอดภัย


การประเมินว่าผู้ขับขี่ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ที่มีเหตุผลหรือไม่ อาจประเมินได้จากความเร็วที่ผู้ขับขี่ผู้นั้นเลือกใช้ว่าน้อยกว่าความเร็วที่กำหนดไว้ตามกฎมายหรือไม่ เนื่องจากขีดจำกัดความเร็วตามกฎหมายมีไว้เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้รับทราบถึงความเร็วในการขับขี่สูงสุดซึ่งผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายเห็นว่าสมเหตุสมผลในการขับขี่และมีความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกกลุ่ม ณ ถนนสายนั้น หรือในเขตนั้นๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย


สำหรับขีดจำกัดความเร็วตามกฎหมายในรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่ในเขตเมืองหรือเขตเทศบาลในแต่ละประเทศ เช่น ออสเตรเลีย 50-60 กม./ชม., แคนาดา 50 กม./ชม., บราซิล 40-60 กม./ชม. อังกฤษ 50 กม./ชม. ญี่ปุ่น 40-60 กม./ชม. และไทย 80 กม./ชม.


ทั้งนี้ความเร็วตามกฎหมายสำหรับรถจักรยานยนต์ในเขตเมืองส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ประมาณ 40-60 กม./ชม. ยกเว้นประเทศไทยที่สูงมากถึง 80 กม./ชม.


จากข้อมูลงานวิจัยเรื่องการศึกษาอัตราความเร็วที่เหมาะสมสำหรับรถจักรยานยนต์ในเขตเทศบาลที่ทำการเก็บข้อมูลความเร็วรถจักรยานยนต์ในเขตเทศบาล 8 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลนอกเวลาเร่งด่วน และเก็บเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่วิ่งมาเดี่ยวๆ ไม่ถูกรบกวนจากยานพาหนะคันอื่น เพื่อจะสะท้อนความมีอิสระในการเลือกใช้ความเร็วตามที่ผู้ขับขี่ผู้นั้นเห็นว่าเหมาะสม พบว่ามีผู้ขับขี่เพียงร้อยละ 0.2 เท่านั้นที่เลือกใช้ความเร็วสูงกว่าความเร็วที่กฎหมายกำหนดไว้ ในขณะที่ร้อยละ 85 เลือกใช้ความเร็วน้อยกว่า 50 กม.ชม.


จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ที่มีเหตุผล สามารถเลือกใช้ความเร็วที่เหมาะสมทั้งด้านระยะเวลาการเดินทางและความปลอดภัยในการไปถึงที่หมายปลายทางได้ รวมถึงยังแสดงว่าความเร็วตามกฎหมายที่กำหนดไว้สำหรับรถจักรยานยนต์ในเขตเทศบาลของประเทศไทยนั้นกำหนดไว้ค่อนข้างสูง จนมีผู้ที่เลือกใช้ความเร็วดังกล่าวค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนความเร็วตามกฎหมายให้สอดคล้องกับการเลือกใช้ความเร็วของคนส่วนใหญ่คือ 50 กม./ชม. ซึ่งเป็นอัตราความเร็วใกล้เคียงที่กำหนดไว้ในประเทศอื่นๆ


กล่าวโดยสรุป ปัญหาการขับเร็วอาจจะเป็นสาเหตุต้นๆ ของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แต่ไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักสำหรับการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในเขตเมือง เนื่องจากผู้ขับขี่ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ที่มีเหตุผลสามารถเลือกใช้ความเร็วที่สะท้อนให้เห็นถึงความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง  ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อหาสาเหตุแท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุในรถจักรยานยนต์ในเขตเมืองต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net