Skip to main content
sharethis





 


แม้ศิลปะจะเป็นสิ่งที่งดงามและบางครั้งก็ควรจะได้แสดงคุณค่าในตัวมันเองโดยไม่ต้องอาศัยศาสตร์แขนงอื่นมาตัดสิน แต่ขณะเดียวกันศิลปินหรือผู้ผลิตงานศิลปะก็ยังเป็นมนุษย์ที่ดำรงอยู่ในสังคมและต้องการปัจจัยต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต ต้นทุนต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายให้ทั้งกับปัจจัยเหล่านั้นและกับการทำงานศิลปะเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยต้นทุนเหล่านี้เป็นสื่งที่ศิลปินได้รับผ่านการอุปถัมภ์ต่าง ๆ ในงานเสวนาที่จัดขึ้น ณ หอศิลป์เชียงใหม่ ดร.เพ็ญสุภา สุขตะ ใจอินทร์ หรือ เพ็ญ ภัคตะ นักเขียน/นักวิชาการด้านศิลปะ จึงมาอภิปรายเกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์ในศิลปะตั้งแต่ยุคหินมาจนถึงยุคปัจจุบัน ว่าบริบททางสังคมมีส่วนเดี่ยวข้องกับทั้งศิลปินและตัวผู้อุปถัมภ์ศิลปะอย่างไร


 


 


เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 51 มูลนิธิที่นา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม


และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาเรื่อง "การเกิด-ดับของศิลปะวัฒนธรรมในสังคมไทย" ขึ้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในช่วงเวลา 13.00 น. การเสวนาได้ดำเนินมาถึงหัวข้อย่อยคือ "ผู้อุปถัมภ์เก่า-ผู้อุปถัมภ์ใหม่" โดยมี ดร.เพ็ญสุภา สุขตะ ใจอินทร์ (มีนามปากกาที่ใช้ในการเขียนวรรณกรรมว่า เพ็ญ ภัคตะ) กวีณี นักเขียน นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม และปัจจุบันเป็นภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดลำพูน ได้ออกมานำเสนอเรื่องการอุปถัมภ์สามแบบคือ อำนาจ , ศรัทธา และ ทุน ขณะเดียวกันก็พูดถึงแนวทางผู้อุปถัมภ์ใหม่คือการอุปถัมภ์ตัวเองของศิลปินเพื่อลดการแทรกแซง มีความเป็นอิสรีย์ (ผู้พูดบอกว่าเป็นสิ่งที่สูงส่งกว่าอิสระ) ขณะเดียวกันก็ลดการเชิดชูฮีโร่ และหันมามีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ในการแสดงงาน


 


เพ็ญสุภา  เริ่มต้นโดยเล่าว่าศิลปะมีมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric) โดยสมัยก่อนยังไม่มีเรื่องของการอุปถัมภ์ เพราะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ยังไม่มีเงือนไขที่ทำให้เกิดการอุปถัมภ์ มนุษย์สร้างงานศิลปะเพื่อพิธีกรรมล้วน ๆ ไม่มีใครสั่งให้ทำแม้กระทั่งพ่อมดหมอผี แต่เป็นการร่วมใจทำกันด้วยความกลัวอนาคต "คนเหล่านั้นยังเป็น Animism (นับถือผี) เมื่อไม่มีพุทธหรือพราห์มที่จะเป็นหลักยึดให้ก็จะเลอะ ๆ เลือน ๆ กลัวสิ่งไหนก็นับถือสิ่งนั้น เช่น กลัวงู เจองูกัด ก็วาดงู เจอนกมาหยิกจิกกินก็วาดนก มีเรือที่เป็นสัญลักษณ์ของการไปสู่โลกหน้า มีการบูชาเจ้าแม่ ฝนไม่ตกก็ทำไอคอนสตรีขึ้นมาตัดแขนขาแห่เหมือนนางแมว"


 


"งานศิลปะยุคนี้จึงสำคัญมากในการนำเสนอเพราะมันจะเป็นวัฒจักรวงจรกลับมาในยุคปัจจุบัน" เพ็ญสุภา กล่าว


 


เพ็ญสุภา เล่าต่อมาถึงยุคที่มีการอุปถัมภ์ยุคแรก คือยุคที่เริ่มมีตัวอักษรใช้ โดยกรอบการอุปถัมภ์มีอยู่สามวงจร สามระบบ คือ หนึ่ง กลุ่มที่อุปภัมถ์ด้วยอำนาจ , สอง อุปถัมภ์ด้วยศรัทธา , สาม อุปถัมภ์ด้วยทุน กลุ่มที่หนึ่งจะอุปถัมภ์ด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ เช่นกำแพงเมืองจีน สร้างขึ้นมาจากอำนาจไม่ใช่ความศรัทธา , โคลอสเซียม ของซีซ่าร์ , ปิรามิดอิยิปต์ ของพวกฟาโรต์ , แม้กระทั่งยุคนโปเลียนที่ไม่ถึงขั้นเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ศิลปะก็ยังทำขึ้นเพื่อตอบสนองอำนาจ มีตั้งแต่พวกวรมันมาจนถึงฮิตเลอร์ จอมพล ป. เป็นต้น


 


เพ็ญสุภา พูดถึงรูปแบบของศิลปะในยุคนี้ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับตัวศิลปินว่าเหมือนเป้นเจ้ากับ ไพร่ "สังเกตว่างานศิลปะในยุคที่ใช้อำนาจจะไม่ค่อยมีความงามแต่จะเป็นสเกลใหญ่เพราะผู้สร้างศิลปะกับผู้อุปถัมภ์จะมีความสัมพันธ์กันแบบชนชั้นปกครองกับแรงงานทาส หรือที่เรียกว่า เจ้ากับไพร่ คนที่เป็นไพร่สิ่งที่เขาได้รับก็คือการคุ้มครอง ความปลอดภัย"


 


"ศิลปะพวกนี้ทั้งหมดมาจากอำนาจ โดยอาจจะมีศรัทธาแฝงอยู่เล็กน้อย แต่ผู้สั่งให้ทำจะใช้อำนาจกดขี่ ศิลปินกลายเป็นผู้รับใช้ถูกสั่งให้ทำ ไม่ได้ศรัทธา ไม่ได้ว่าความงามคืออะไร ดูจากวัฒนธรรมเปอร์เซียน สุเมเรียน อัสสิเรียน จามปา และอีกหลายวัฒนธรรมในยุคนี้จะสะท้อนออกมาถึงความกดข่ม ผู้อุปถัมภ์ "สั่ง" ให้ศิลปินสร้างงานในนามของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) ไม่ว่าจะเป็นศิลปะขอม หรือบาบิโลน" เพ็ญสุภา กล่าว


 


นอกจากนี้ยังได้บอกอีกว่า การอุปถัมภ์เชิงอำนาจไม่สัมพันธ์กับเวลายังเป้นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังมีผู้นำที่อยากสร้างอำนาจของตนผ่านศิลปะ "ในยุคนี้ศิลปะจะทำหน้าที่กลายเป็นบริวาร เป็นผู้รับใช้ระบบเจ้าพ่ออุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นมารี อังตัวเน็ต พระเจ้าหลุยส์ที่ 14  อำนาจจะซ้อนเข้ามาโดยไม่เกี่ยวข้องกับมิติเวลา หลังจากยุคกรีกโรมัน ยังมาอยู่เรื่อย ๆ ยุคฮิตเลอร์ ตราบใดที่ผู้นำยังมีลักษณะเผด็จการ อยากสร้างอำนาจให้ตัวเองผ่านงานศิลปะ เขาจะเข้ามาอุปถัมภ์ แล้วศิลปินจะทำขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบาย"


 


จากนั้น เพ็ญสุภาจึงได้เล่าถึงกลุ่มที่สอง คือการอุปถัมภ์ด้วยศรัทธา ว่าเปลี่ยนจากความคิดเบ็ดเสร็จในการปกครองโดยเริ่มใช้ศาสนาเข้ามาแทนที่ ตั้งแต่ลัทธิบูชาแม่ บูชามหาเทวี หรือให้กษัตริย์เป็นสมมุติเทพ ทำให้เกิดศิลปะแนวศรัทธาจริตขึ้นมา


 


"ศรัทธาจะเป็นตัวเชื่อม แทนที่กษัตริย์จะสั่งให้ศิลปินทำงานแบบกำแพงเมืองจีน ดุดันขุดอะไรโต ๆ ก็จะหันมาทำแนว Icon (รูปเคารพ) แต่ขณะเดียวกัน ก็จะมีแฝงไว้ซึ่งความหลง ความงมงาย การประกาศตัว ศิลปะกลายเป็นเครื่องสะท้อนธรรมิกราชา ตัวอย่างคือ พระเจ้าอโศกมหาราช จันทรภาณุ ชัยวรมันที่ 7 จามเทวี อาทิตยราช อนิรุทธมหาราช รามคำแหง ดิโลกราช นิกายตันตระยาน ในตะวันตกก็จะมีสมัยโรมาเนสค์ โกธิก เพราะฉะนั้น พระมหากษัตริย์ก็เป็นผู้อุปถัมภ์ในเชิงศรัทธา"


 


ทางด้านรูปแบบ เพ็ญสุภาให้ข้อมูลว่า ศิลปะแนวนี้จะมีทั้งแข็งกระด้างสุดและวิจิตรสุด เช่น กอธิก ก็จะมียืนทื่ออยู่ในซุ้มทางเข้าประตูไร้ชีวิตชีวา ขณะเดียวกันก็พูดถึงบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับผู้อุปถัมภ์เชิงศรัทธาว่า ศิลปินก็คือผู้ที่ทำไปเพื่อบาทหลวง ทำไปเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ทำไปเพื่อพระแม่กาลี ความสัมพันธ์ก็เปลี่ยน เปลี่ยนจากเจ้าพ่อ มาเป็นพ่อพระ-แม่พระ ส่วนศิลปินกลายเป็นพวก Devote หรือ ผู้ภักดี ตัวอย่างเช่น ภายใต้การปกครองของชัยวรมันที่ 7 ซึ่งสั่งให้ทำงานศิลปะ หรือพระเจ้าอโศกมหาราช คำประกาศในศิลาจารึกหลาย ๆ หลัก เราจะเห็นนัยยะซ่อนเร้นอยู่ในเชิงอำนาจศรัทธา


 


"ศิลาจารึกแต่ละหลักจะขึ้นต้นเหมือนกันหมด เช่น "นางยวงสร้างวิหารทองคำให้ข้าในวัดนี้ แล้วหากใครเอาคนของข้าไปใช้ งานอย่างอื่นขอให้ลงน้ำก็ถูกจรเข้กัด เข้าป่าก็ให้โดนเสือขบ" เราจะเห็นว่ามันเป็นการทำบุญที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน"


 


เพ็ญสุภากล่าวว่าการอุปถัมภ์ด้วยอำนาจกับด้วยศรัทธามีความต่างกันคือเรื่องของอุดมคติ ในยุคที่ใช้อำนาจจะไม่มีอุดมคติ ขณะที่ยุคที่ใช้ศรัทธาจะมีอุดมคติเข้ามาแฝง แต่อาจจะเป็นความงมงายในศาสนาหรือในเรื่องอื่น ๆ  ถือว่าเขาต้องการหลุดพ้นในอะไรบางอย่าง


 


"สิ่งที่ผู้อุปถัมภ์ได้ เข้าไม่ได้อำนาจแต่เขาได้การสั่งสมบุญญาบารมี เขาต้องการยูโทเปีย  อยากจะไปหาพระศรีอารย์ มิเช่นนั้นในศิลาจารึกคงไม่เขียนว่า "บุญกุศลที่ได้ทำไว้ทั้งหลายขอให้ได้ไปสู่นิพพาน" "


 


ต่อมาเพ็ญสุภาจึงได้พูดถึงกลุ่มที่สาม คือ ผู้อุปถัมภ์ด้วยทุน ว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจหรือศรัทธามากนัก เริ่มเข้ามาในยุคจักรวรรดิ์ ยุคอาณานิคม จนมาถึงยุคประชาธิปไตย "ขอให้ลองเปรียบเทียบดูว่า หอไอเฟลจะสร้างได้อย่างไรถ้าผู้อุปถัมภ์ไม่มีเรื่องของทุนเข้ามา ถ้าเป็นยุคก่อนหน้านี้โดนตัดหัวแน่นอนหากมาสร้างอะไรแบบนี้"


 


"ในยุคก่อนหน้าอำนาจกับศรัทธาตีคู่มาตลอดจนมาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มมีการมาล่าอาณานิคมแถวโลกที่สาม แถบเอเชีย แถบอเมริกาใต้  ไม่ว่าจะเป็นยุคอิมเพรสชั่นนิส , กลุ่ม Art Nouveau , Neo-Classic ตอนปลาย ๆ เริ่มเข้ามาสู่เรื่องของทุน"


 


เพ็ญสุภาพูดถึงเป้าหมายการสร้างงานของศิลปินในการอุปถัมภ์แบบนี้ว่า ศิลปินสร้างภาพไม่ใช่เพราะศรัทธาพระเป็นเจ้า แต่เพราะสนใจเทคโนโลยี อุตสาหกรรม ติดตามความเคลื่อนไหวของวิทยาศาสตร์ จึงมีการเล่นเรื่องแสงสี มีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีความเป็นปัจเจกชน มีอัตตา มีตัวมีตน


 


"ไม่ได้ทำเพื่อศรัทธา เพื่อคิง เพื่อพระเป็นเจ้า แต่ฉันทำเพื่อความเป็นปัจเจก ศิลปะยุคนี้เป็นเครื่องวัดความทันสมัย และมีเรื่องของเสรีภาพเข้ามา ผู้อุปถัมภ์ศิลปะจะมีเรื่องของการจัดประกวด ให้คุณค่ามีการแข่งขัน ซื้อขาย เก็งกำไร มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์"


 


เพ็ญสุภายังบอกด้วยว่า ศิลปะในยุคนี้ทำขึ้นด้วยจุดประสงค์อีกอย่างหนึ่งคือ การปลดแอกมนุษย์ออกจากศาสนา เป็นยุคที่นักปรัชญาเริ่มมาคุยกันแล้วว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นศิลปะจะไม่อยู่ในกรอบของโบสท์คริสต์ หรือกรอบพระราชวัง เริ่มมี Gallery มี Collector (นักสะสม) ศิลปะเริ่มมีการใช้เอามาต่อรองกับอำนาจรัฐ มีสมาคมช่าง (Guild) ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุค Renaissance (ยุคฟื้นฟูวิทยาการ) มีการรวมกลุ่ม ไม่ได้ก้มหน้าก้มตาทำหัวปักหัวปำ มีการต่อรองได้


 


นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าการทำงานศิลปะจึงถือเป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างศิลปินกับผู้อุปถัมภ์ ผู้อุปถัมภ์ก็ได้ภาพลักษณ์ยกระดับฐานะทางสังคมศิลปินก็ได้รับค่าตอบแทน "...ศิลปะเป็นเครื่องย้อมใจให้ดูดีมีรสนิยม เพื่อความศิวิไลซ์ เริ่มข้ามชาติไร้พรมแดน เมื่อยุคทุนเป็นใหญ่ ทุนคือการจ้าง จึงมีการจ้างงานให้จัดแสดงใน Gallery"


 


รูปข้างบนนี้ (หน้าสามมุมขวาล่าง) คือ ศิลปินจากอิตาลีในยุคสมัย ร. 5 (อะไรรันโย ๆ สักอย่าง) เป็นศิลปินที่รัชกาลที่ 5 เขียนจดหมาย ให้รัฐบาลอิตาลี ขอให้คัดเลือกศิลปินมาให้สัก 10 คน มากินเงินเดือนในราชสำนัก เราจะเห็นว่า นี่คือการพลิกผันของการอุปถัมภ์ ในสมัยก่อน สมัยรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ยังเป็นเรื่องของอำนาจกับศรัทธาสลับกัน พอมาถึงปลายรัชกาลที่ 4 เริ่มตั้งแต่ขรัวอินโข่ง รับการเขียนรูปมาจากตะวันตก การอิมพอร์ทศิลปินมาอยู่ในพระราชสำนัก อาจารย์ศิลป์ พีระศรี มาสเก็ตซ์ภาพอาคารตะวันตก นี้คือความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องอำนาจและศรัทธา แต่เป็นเรื่องของรสนิยม ความศิวิไลซ์ ความอยู่รอด แต่ศิลปะก็ยังมีชั้นเชิง ผู้อุปถัมภ์ก็จะได้บุญญาธิการ ได้ความดูดี เหนือสิ่งอื่นใดเขาก็จะได้ภาพลักษณ์การยกระดับจากสังคม


 


เพ็ญสุภาชี้ให้เห็นว่า การอุปถัมภ์สามอย่างคือ อำนาจ , ศรัทธา , ทุน ก็จะวนอยู่อย่างนี้ ไม่ได้บอกว่ายุคไหนมาก่อนและจบก่อนกัน "บางยุคบางสมัยเราก็ไม่นึกว่า "อำนาจ" จะโผล่ขึ้นมา ในศตวรรษของเรามันก็ยังโผล่ขึ้นมา สั่งให้ทำเลยเบ็ดเสร็จ "ศรัทธา" ปรากฏการณ์ปีที่แล้ว จตุคามคืออะไร จริง ๆ แล้วจตุคามก็มีรูปแบบการอุปถัมภ์แบบพาณิชยศิลป์ประเภทหนึ่ง มีการออกแบบ ผลิต เก็งกำไร ซื้อ ๆ ขาย ๆ มีลักษณะทุน แต่มันก็ยังผลิกไปมาได้กับการอุปถัมภ์สามแบบ ทั้งหมดนี้คือผู้อุปถัมภ์ยุคเก่า"


 


ต่อมา เพ็ญสุภาจึงได้เริ่มพูดถึงผู้อุปถัมภ์ยุคใหม่ว่า ในยุคโพสท์โมเดิร์น หรือโมเดิร์นตอนปลาย ๆ ผู้คนเริ่มจะคิดถึงเสรีภาพที่แท้จริง ผู้อุปถัมภ์ใหม่จึงไม่อยากจะอิงสามกลุ่มเดิมอีกแล้ว ทั้งอำนาจ ศรัทธา และทุน ทั้งยังได้เทียบว่าการหลุดจากการอุปถัมภ์เดิมทั้งสามแบบทำให้เหมือนย้อนกลับไปเป็นแบบยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ไม่มีการอุปถัมภ์ แต่มีความแตกต่างตรงที่ไม่ได้ทำเพื่อความกลัวอนาคต


 


"ผู้อุปถัมภ์ยุคใหม่คือ คุณจะต้องอุปถัมภ์ตัวเอง ศิลปินไม่จำเป็นจะต้องไปของงบองค์กร วิธีการดำรงชีวิตของคุณคือการดำรงชีวิตอิสระ คล้ายกับได้หวนคืนสู่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ไม่มีทุน ฉันก็ไปขายก๋วยเตี๋ยว ไปเป็นยาม ก็ไปเก็บมะม่วงขาย แต่ก็มีความต่างกับประวัติศาสตร์คือ ก่อนประวัติศาสตร์ทำทุกอย่างเพราะความกลัวล่วงหน้า กลัวความไม่มั่นคง แต่ศิลปินสมัยใหม่ ไม่ได้กลัวอนาคตแบบนั้น ศิลปินปัจจุบันไม่เป็นเซนเตอร์ ไม่รวมศูนย์ มีการบูรณาการจาก Thing สู่ Everything"


 


นอกจากนี้เพ็ญสุภายังเชื่อว่า ศิลปะยุคใหม่จะทลายกำแพง สหศาสตร์ หรือสหสาขา ไร้สำนัก ศิลปกรไม่ได้เหนือกว่าเพาะช่างและไม่ได้เหนือกว่าข้างถนน บทบาทของผู้ดู-ผู้แสดง-ผู้อุปถัมภ์เป็นหนึ่งเดียว คือตัวศิลปินเองไม่ต้องผ่านระบบอุปถัมภ์ ไม่ว่าจะจากพระ จากเจ้า หรือพ่อค้า ศิลปินจะเป็น Curator ให้ตัวเอง "ฉันจะหอบงานของฉันไปหอศิลป์เจ้าฟ้า หรือจะหอบไปที่ไหนก็ได้ ไม่มีการพึ่งแกลเลอรี่ ไม่รีบเร่ง ไม่วิตกทุกข์ร้อน ไม่มีคิวให้ฉันก็จะแสดงข้างถนน"


 


ทางด้านรูปแบบ เพ็ญสุภา บอกว่า ศิลปินมีอิสระในการทำงานมากขึ้นจึงทำให้งานหลากหลาย มีการดัดแปลงให้ต่างไปจากขนบเดิม ๆ และมีลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องเป็นงานยิ่งใหญ่ "เมื่อศิลปินมาถึงจุดที่สู่อิสรีย์ เกิดความหลากหลาย ศิลปินไม่จำเป็นต้องเพนท์รูปอย่างเดียว เพนท์ ๆ ไปอาจเอาวรรณกรรมแทรก เล่นดนตรีไม่เพราะก็เอาเสียงจับ Mix กัน เมื่อคนเสพย์เขาจะรู้สึกถึงพลังชีวิตมากกว่ายุคก่อน ทั้ง ๆ ที่มันอาจดูไม่งาม ไม่ได้ไปถึงระดับมาสเตอร์พีซ แต่เราเห็นแล้วมันกระตุ้น ศิลปินเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป้นต้องเป็น Somebody เป้นยุคที่เราค่อย ๆ เคลื่อนเข้าสู่ความไร้ฮีโร่"


 


"มันก็คล้าย ๆ คำที่ว่า ทุกคนเป็นศิลปินคนละหนึ่งนาที ทุกคนเป็นศิลปินได้ หรือถึงขั้นไม่มีใครเป็นศิลปินเลยในโลกนี้ มันก็จะมีแอ๊บ ๆ เพี๊ยน ๆ ตั้งแต่พวกที่แบกะดิน อินดี้ ศิลปินข้างถนน ทำอะไรเป็น Public ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ต้องการสร้างตำนาน"


 


"ศิลปินก็จะไม่เดือดร้อน ไม่ต้องคิดถึงอนาคต นี่คือข้อใหญ่ใจความของยุคหลังสมัยใหม่"


 


ขณะเดียวกันเพ็ฐสุภาก็บอกว่าในยุคปัจจุบันยังมีผู้อุปถัมภ์เก่าแบบโบราณแอบแฝงอยู่ โดยมาในรูปแบบของรัฐ อบต. เทศบาล อบจ. สำนักงานวัฒนธรรม ซึ่งมีลักษณะการทำเพียงเพื่อตอบสนองรัฐธรรมนูญและลักษณะส่งเสริมทัศนะรักชาติ "สำนักงานร่วมสมัย จะต้องมีการประกาศรางวัลศิลปินแห่งชาติ จะต้องมีการประกาศรางวัลศิลปินแห่งชาติ ศิลปาธร ศิลปินดีเด่นแห่แหนกันไป ต้องจัดให้มีงบอันนี้สรงน้ำพระธาตุ อันนี้ต้องไปแข่งประกวดกระทง ที่ทำไปไม่ใช้เพราะกลุ่มอำนาจรัฐเหล่านี้ใจกว้าง แต่มันถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เรื่อง Good Governance คุณต้องโปร่งใส คุณต้องกระจายอำนาจ คุณต้องให้ความสำคัญกับท้องถิ่น เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดวัฒนธรรมศิลปะจัดตั้ง เพื่อความรักชาติ สนองเอกลักษณ์ความเป็นชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเอาเด็กมาประกวดหรือการให้ทำอะไรเป็นไทย ๆ ต้องฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี"


 


"พวกเหล่านี้ไม่เรียกว่าเป็นผู้อุปถัมภ์ใหม่ แต่ยังเป็นผู้อุปถัภม์เดิมคือยังเป็นทั้ง พระ-เจ้า-นายทุน รวมกัน แฝงมาในรูปงบที่กระจายไปสู่ 76 จังหวัด"


 


จากนั้นเพ็ญสุภาจึงได้ตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมเสวนาว่า เราจำเป็นต้องอุปถัมภ์ศิลปินกันหรือไม่ แล้วที่ผ่านมาศิลปินเคยได้รับการอุปถัมภ์กันจริงแค่ไหน


 


"ดูศิลปินแห่งชาติที่ได้เงินเดือนพวกนี้ได้รับการอุปถัมภ์ในเชิงอะไร แล้วศิลปินที่อยากจะมีชีวิตแบบอิสรีย์ (อิสระ) ในยุคปัจจุบันต่างก็จะต้องหอบแฟ้มผลงานไปหาที่แสดงงาน ไปหานายทุน สปอนเซอร์  เราเรียกว่าการอุปถัมภ์ไหมหรือว่ามันเป็นลักษณะของการค้า ๆ ขาย ๆ ยังชีพ"


 


เพ็ญสุภาแสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า รูปแบบการอุปถัมภ์ที่ผ่านมาของสังคมไทยยังไม่ไปถึงไหน เรายังคงต้องรอรัฐ ยังต้องขอความเอื้อเฟื้อจากทั้งรัฐและเอกชน จากนั้นจึงได้พูดถึงศิลปินที่ทำงานโดยอุปถัมภ์ตัวเองจำนวนหนึ่งซึ่งทำงานอื่น ๆ เช่นขายก๋วยเตี๋ยวหรือทำงานเป็นยามไปด้วยกับการทำงานศิลปะ "เขาไม่ต้องการที่จะเป็น The Great ไม่ต้องการมีชื่อ ตอนนี้ก็ยัง โนเนม แต่ชีวิตเขาเป็นศิลปินแท้ ไม่ต้องวิ่งหน้าร่นไปพึ่งพาใครมากมาย นี่คือการอุปถัมภ์ยุคใหม่คือค่อย ๆ อุปถัมภ์ตัวเอง ใครอยากให้ทุนก็ทำ ไม่ให้ทุนก็ไม่เดือดร้อน ไม่อยากจะมีชื่อเสียงในฐานะเซ็นเตอร์ ที่จะต้องไปรับใช้อำนาจ รับใช้ศรัทธา รับใช้รัฐ ฉันก็อยู่ของฉัน"


 


จากนั้นจึงมีการถามคำถามจากผู้ดำเนินการเสวนาและผู้เข้าร่วม มีการซักถามถึงเรื่องการเรียกร้องหอศิลป์ และการใช้พื้นที่ในหอศิลป์ที่มีอยู่ไปในทางที่ดูขัดแย้งกับเจตจำนงค์


 


ผู้ดำเนินการเสวนา : จากงานศิลปะเมื่อสองวันที่ผ่านมามีการเสนอเรื่องหอศิลป์ฯ แต่อย่างที่ได้เสนอมาว่าศิลปะยุคปัจจุบันไม่ค่อยจะเน้นไปที่หอศิลป์ Gallery หรือตัวสถาบันสักเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันเราก็เรียกร้องตัวหอศิลป์ ตัวสถาบันกันมากขึ้น คิดว่าจะอธิบาความสวนทางนี้ยังไง?


 


เพ็ญสุภา : ถ้าเราทำให้องค์กรสามารถอุปถัมภ์ศิลปะได้อย่างแม้จริงก็ควรจะมี แต่องค์กรก็ถูกวางกรอบด้วย อำนาจ-ศรัทธา-ทุน , อำนาจ-ศรัทธา-ทุน , อำนาจ-ศรัทธา-ทุน ดังนั้นเราจะไปหวังพึ่งหอศิลป์ของภาครัฐหรือเอกชนอย่างเดียว มันอยู่ไม่ได้ บางครั้งศิลปินไม่ง้อแล้ว เขาก็เล่นกันข้างถนน ตามร้านอาหารเล็ก ๆ ทุกมุมทุกหย่อมย่าน จึงไม่อยากให้เราฝากความหวัง ฝากกายใจเอาไว้กับหอศิลป์พิพิธพัณท์พวกนี้ ถ้ามีก็ดี แต่ถ้าไม่มีคิดว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นในยุคสมัยเราเท่าไหร่


 


การอุปถัมภ์มันไม่พ้นสี่ตัวนี้ บางทีเราไปอุปถัมภ์คน ช่วยคน เราต้องการบารมี แต่บางครั้งเราทำเพียว ๆ เลย อย่าถ้ามีสามล้อตกทุกข์ได้ยากมานั่งดูหน้าพิพิธพันธ์ บอกว่าให้ช่วยดูแลเขาหน่อย เราก็อาจจะมีการจัดอบรม จัดโครงการสามล้อผ่อรอบเวียง หรือเปลี่ยนซี่ล้อให้เขา นี่เป็นการอุปถัมภ์ซึ่งมาจากความรู้สึก เป็นอุดมคติที่อยากจะช่วย แล้วไม่ได้ทำแล้วเขาจะกลายเป็นศิลปะชิ้นเยี่ยมหรืออะไร ข้อจำกัดของพิพิธพันธ์เมืองไทยคือ เราเป็นพิพิธพันธ์เชิงโบราณคดี มีแต่หอศิลป์เจ้าฟ้าแห่งเดียว


 


พิพิธพันธ์ลำพูนก็พอมีเปิดพื้นที่ให้ศิลปะแบบร่วมสมัยบ้าง แต่บางทีก็ไม่สนใจเรื่องผู้เสพย์เท่าไหร่ อย่างลำพูนเป็นเมืองเล็ก ๆ ผู้คนก็ Local จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ เราถือว่าเปิดพื้นที่ให้ เราถือว่าสนับสนุน ไม่ใช่สนับสนุนตัวศิลปินแต่เป็นการสนับสนุนคนดูให้เสพย์งานที่ดีมากกว่าดูพระพุทธรูป นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ


 


ผู้ดำเนินการเสวนา : หอศิลป์เชียงใหม่ มีช่วงหนึ่งที่เปิดให้ชาวบ้านเข้ามาขายของ แล้วพยายามอธิบายว่าหอศิลป์เมืองไทยเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้าน โดยมีการพยายามอธิบายโดยใช้คำว่าหลังสมัยใหม่ ซึ่งจริง ๆ เมืองไทยยังไม่ไปถึงไหนเลย เพียงแต่มีการพยายามสร้างอำนาจอธิบายในความหมายนั้นให้เอง ?


 


เพ็ญสุภา : เมืองไทยถ้าเราเล่นกับมวลชนหมู่มาก จุดเริ่มมันจะเป็นเรื่องตลาดเรื่องปากท้อง เมื่อเคิดว่าเราเปิดหอศิลป์แล้วก็ได้ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเรียกว่าศิลปะแบบ Community แต่เราจะไม่ได้ชุมชนในระดับที่ Classic มันจะเป็นระบบจัดตั้ง เอากางเกงยีนส์โหล ๆ ซึ่งเราไปดูได้ที่บิ๊กซี มาโหล่หอศิลป์เป็นต้น มันก็เหมือนถนนคนเดินที่ถนนช้างสี จังหวัดลำพูนที่จุดประสงค์เดิมคือเป็นพื้นที่ให้กับของแปลก ๆ งานศิลปะ งานทำมือ ในที่สุดเราก็ไปเจอกางเกงยีนส์ ไปเจอของโหล ๆ


 


แต่ถ้าถามว่าระหว่างให้เรามีแบบนี้ กับการที่ในเมืองลำพูนไม่มีอะไรตรงนี้เลย อันไหนดีกว่า ... อยากให้เราค่อยเป็นค่อยไป กับการที่เราเอาคนมาปะทะสังสรรค์กัน ให้แหล่งที่จะให้เกิดศิลปะ คงจะให้เขาข้ามช็อตแบบพวกเราคงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาคงจะหนักไปทางวิถีชีวิตดาด ๆ ของเขาก่อน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งได้มวลชน ได้ปริมาณแล้วมันคงหยุดไม่ได้ เราก็ค่อยมาจำกัดว่าอันนี้เอาออกไป อันนี้ยังไม่ใช่ศิลปะที่แท้จริง ต้องค่อยเป็นค่อยไปไม่เช่นนั้นหอศิลป์จะเป็นเรื่องโดดเดี่ยว


 


การแยกคนจากหอศิลป์ จะกลายเป็นแบบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กันคนออกไปแล้วกลายเป็นอุทยานมรดกโลกมันไม่มีความหมาย ต่อให้คนเข้ามาอยู่อาจจะทำอะไรอิเหละเขะขะ เละ ๆ เทะ ๆ ตอนแรกก็ยอมไว้ก่อน


 


หลังเสร็จสิ้นการเสวนา เพ็ญสุภาก็ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเมื่อผู้สื่อข่าวได้ตั้งประเด็นว่า แม้ศิลปินบางส่วนจะพยายามอุปถัมภ์ตัวเองภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยการอุปถัมภ์หลายรูปแบบ พวกเขายังจะสามารถดำรงตัวตน ดำเนินวิถีทางเช่นนี้ได้ยั่งยืนขนาดไหนโดยไม่ถูกแทรกแซง ซึ่งทางเพ็ญสุภาก็ได้ยกตัวอย่างกรณีของศิลปินที่เคยอุถัมภ์ตัวเองอยู่อย่างอิสระ แต่ก็ต้องเข้าไปสู่กลไกของระบบด้วยหลายสาเหตุ ขณะเดียวกันก็ยกตัวอย่างการ "สนับสนุนแต่ไม่แทรกแซง" จากกรณีของนักเขียนวรรณกรรมต่างประเทศอย่าง เออร์เนส เฮมมิ่งเวย์


 


ประชาไท : เป็นไปได้ไหมว่าแม้ศิลปินจะพยายามจะออกมาทำงานแบบพึ่งตนเอง ไม่พึ่งพาระบบอุปถัมป์ แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะถูกระบบนี้แทรกแซงเพราะอย่างไรก็ตามระบบอุปถัมภ์ก็ยังคงอยู่?


 


เพ็ญสุภา : เป็นไปได้ ยกตัวอย่างวงจีวันเริ่มต้นมาเขาเพียวมาก ทำแบบแบกะดิน ทำเทปด้วยความบริสุทธิ์ แต่พอตอนหลังพวก อิ๊ด ฟุตบาธ มีช่องก็เขาแกรมมี่กันหมด แต่ก็ไม่มองว่าเขาผิด โอเคพวกเขาได้ตลาดที่กว้างขึ้น ถ้าไม่ดูรูปแบบนะ ถ้าเนื้อหาศิลปะเขายังชัวร์ ปัญหาก็คือเมื่อเราเข้าสู่วงจรวิถีผู้อุปถัมภ์โดยทุน เนื้อหาก็ถูกกำหนด เช่นอย่าไปแตะรัฐบาลนะ นี่ต้องทำอย่างนี้เขาชอบ ถูกจะถูกวางมาตรฐานมีเงื่อนไข ความเป็นอินดี้ ความนอกกรอบแบกับดินของเขาสูญเสียไป ไม่ว่าจะแอ็ด คาราบาว หรือใครก็ตามเริ่มต้นจากความงดงาม พอไปถึงระบบทุนอุปถัมภ์ก็จบเลย


 


ประชาไท : แล้วคิดว่าเรื่องนี้คิดว่าเป็นเพราะพวกเขาเข้าไปเอง หรือเป็นเพราะเขาไม่มีทางเลือก?


 


เพ็ญสุภา : เข้าไม่มีทางเลือกส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือเขาแสวงหา...ตราบที่ยังแสวงหาไม่ได้ อยู่แบบอินดี้ไปก่อนแล้วรอให้ได้เข้าไปในระบบก็มี บางทีที่เห็นว่างดงาม ๆ พวกเขาอาจจะแค่ยังไม่มีทางไป กับอีกแบบหนึ่งคือไม่ได้คิดที่จะไป แล้วก็ฝืนกระแสไม่ไหว มีทั้งสองแบบ


 


แต่มันก็มีแบบอยู่อย่างนี้จนแก่ก็มี ไม่ต้องการมีชื่อมีเสียง อยู่ริมถนน โนเนม เล่นดนตรีตามถนน ไม่มีอีโก้ก็มี ก็น่าสนใจ


 


ประชาไท : คิดว่ามีหนทางใดที่จะ ทำให้ระบบอุปถัมภ์เข้าไปแทรกแทรงศิลปินหรือไม่ เพราะหากเราเข้าไปสนับสนุนมันก็จะเป็นการอุปถัมภ์อีกแบบหนึ่งหรือเปล่า เราจะสามารถทำให้มีการสนับสนุนแต่ไม่ให้เกิดการแทรกแซงได้หรือไม่?


 


เพ็ญสุภา : ถ้าเข้าไปสนับสนุนก็เป็นการใช้ทุนอีก ยกระดับแลกเปลี่ยน สร้างภาพ ... เรื่องการสนับสนุนแต่ไม่แทรกแซง ถ้าเป็นที่เมืองนอก จะยกตัวอย่างเช่น เฮมมิ่งเวย์ เวลาจะเขียนหนังสือ ก็จะได้รับเงินก้อนหนึ่งก่อนแล้วไปทะเล เพื่อที่จะเขียน เฒ่าทะเล (The Old Man and The Sea) แต่ในเมืองไทยมันไม่มีว่าสำนักพิมพ์จะจ้างนักเขียนแบบเพียว ๆ แล้วก็เอาเถอะคุณเขียนอะไรฉันไม่แตกต้อง มีแต่ว่าเราต้องเขียนก่อนแล้วมาเสนอ เขียนมาแล้วก็โดนฉีกทิ้งลงตะกร้า


 


ในเรื่องวรรณกรรมกำลังสนใจว่า ตัวรางวัลที่ปัจจุบันไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่ซีไรต์ เราเริ่มมีรางวัลแว่นแก้ว รางวัลแว่นฟ้า รางวัลเซเว่น อวอร์ด ช่อการะเกด เงินอาจไม่มากนักแต่มันก็สร้างกำลังใจให้ศิลปิน กวี นักเขียน ระดับนึง ให้พอมีสถานะทางสังคม ให้พออยู่ได้ เพราะถ้าหากโนเนมอยู่เรื่อย ๆ มันก็เลี้ยงชีพไม่ได้ เขียนบทความลงมติชนเขาก็ไม่ให้ลงตราบใดที่ยังโนเนมอยู่ ยุคสมัยนี้ บก. ก็ไม่ได้มีคุณภาพ (ไม่ต้องกลัว ไม่ได้หมายถึงบก. ประชาไท :D ) บก. คือเปรียบได้กับ Curator ที่ว่าไม่มีคุณภาพคือใครมาก็ตั้งรับ ไม่สกรีน ไม่อะไร พวกเขาจะดูแค่เจ้าของงานนี้ได้รางวัลมาหรือยัง ได้มาแล้ว...ผ่าน ไม่ได้แอนตี้รางวัลนะ รางวัลเล็ก ๆ น้อย มันก็ช่วยให้เขามีที่อยู่ที่ยืนพอสมน้ำสมเนื้อ พอถึงจุด ๆ นึง มันก็จะไปเข้าระบบ


 


ระบบอำนาจมันไม่มีแล้ว ยกเว้นแต่ว่าขายตัว อยู่ ๆ ไปรับใช้ระบบนาซี ไปรับใช้ระบบทักษิโนมิกขึ้นมา ไม่เล่นดนตรีเพื่อพันธมิตร หรือเพื่อสมัคร อันนี้ถือว่าแย่ ก็ยังมองว่ารัฐเองไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรม เหมือนที่พูดถึง ศูนย์ปอมปีดู (Centre Pompidu ในประเทศฝรั่งเศส) มันชัด ว่าศิลปะไม่ได้แยกจากชีวิต รัฐบาลฝรั่งเศสมองว่าศิลปะกับชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อคุณกิน คุณแต่งเนื้อแต่งตัว คุณเต้น คุณเสพย์ศิลปะ แล้วคุณก็ออกมาเป็นวิถีชีวิต คุณก็เล่นสเก็ตบอร์ด ฟังคนผิวดำตีกลอง แต่ของเราเราเน้นศิลปะแต่ในเชิงเอนเตอร์เทนให้ แต่ไม่เน้นอินเทลเลกชวลให้ (เน้นเชิงให้ความบันเทิงแต่ไม่ส่งเสริมด้านสติปัญญา) บรรยากาศหน้าสยามพารากอนมีแต่เอนเตอร์เทนดาด ๆ แต่แนวความคิดเข้มข้นมันไม่มี เพราะฉะนั้นมันก็วูบมาแล้วผ่านไป วูบมาแล้วผ่านไป คนพวกนี้ผ่านมาสักพักหนึ่งมันพอใจแนวอินดี้ก็เขยิบไปชองแบบทุน พอกินอิ่มนอนหลับก็ไม่ได้คิดถึงอุดมคติแล้ว อันนี้อันตราย



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net