Skip to main content
sharethis

(ฮ่องกง) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม สิบวันก่อนถึงวันเปิดการแข่งขันโอลิมปิกว่า รัฐบาลจีนไม่รักษาสัญญาที่กล่าวว่าจะพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศ และทรยศต่อหลักการของโอลิมปิก


 


"รัฐบาลจีนยังคงคุกคามและลงโทษผู้ที่เอ่ยถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับว่าเป็นการละเมิดต่อสัญญาที่ได้ให้ไว้เมื่อ 7 ปีก่อนที่จีนได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขัน" โรสแอน ไรฟ์ รองผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าวที่งานแถลงข่าวในฮ่องกง


 


"รัฐบาลจีนทำให้เจตจำนงของโอลิมปิกเสื่อมเสีย จีนต้องปล่อยนักเคลื่อนไหวโดยสันติที่โดนคุมขัง อนุญาตให้นักข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รายงานโดยอิสระ และมุ่งไปสู่การขจัดโทษประหารชีวิต"


 


รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล "นับถอยหลังสู่โอลิมปิก: สัญญาที่ถูกละเมิด" ("The Olympics Countdown: Broken Promises") ได้ประเมินการกระทำของรัฐบาลจีนใน 4 ด้านด้วยกันที่เกี่ยวกับเจตจำนงของโอลิมปิก คือ การคุกคามนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน การคุมขังโดยไม่มีการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรม การเซ็นเซอร์สื่อ และโทษประหารชีวิต


 


เอกสารดังกล่าวสรุปว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นเหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้วยังคงย่ำแย่ในขณะที่วันแข่งขันโอลิมปิกใกล้เข้ามาเรื่อยๆ รัฐบาลได้คุมขัง จำกัดบริเวณไว้ในบ้าน และบังคับย้ายบุคคลต่างๆที่รัฐมองว่าเป็นตัวอันตรายต่อภาพลักษณ์ของ "ความมั่นคง" และ "ความสามัคคี" ที่จีนต้องการแสดงให้โลกเห็นในระหว่างการเตรียมโอลิมปิก


 


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่านักเคลื่อนไหวและนักข่าวในประเทศที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจีนอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก


 


นายหู เจีย นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและนักเขียนยังคงถูกคุมขังในข้อหา "พยายามล้มล้างการปกครอง" โดยเขียนบทความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ นายหู เจียเป็นโรคตับเนื่องจากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่รัฐบาลจีนไม่ยอมให้ครอบครัวของเขาได้จัดจ่ายยาไปให้ในคุกแต่อย่างใด


 


นายชาค รอค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล(IOC) ได้กล่าวว่าการทูตเงียบๆของ IOC ได้นำไปสู่การปฏิรูปสิทธิมนุษยชนหลายประการ รวมทั้งกฎระเบียบใหม่ๆสำหรับสื่อต่างประเทศด้วย


 


"เรามีความยินดีต่อการยอมรับบทบาทเรื่องสิทธิมนุษยชนของ IOC แต่จากความเป็นจริงที่เห็น เรามีความประหลาดใจต่อความมั่นใจของ IOC ว่าสื่อต่างประเทศจะสามารถรายงานได้โดยอิสระและจะไม่มีการเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ต" โรสแอน ไรฟ์กล่าว "เมื่อรัฐบาลจีนละเมิดหลักการโอลิมปิกมากขึ้น พวกเขาจะต้องเอ่ยถึงมัน"


 


"นอกจากนี้ ผู้นำโลกทั้งหลายที่เข้าร่วมการแข่งขันต้องเอ่ยต่อสาธารณชนถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีน และเพื่อสนับสนุนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวจีน ความล้มเหลวในการกระทำดังกล่าวจะเท่ากับเป็นการส่งสารว่ารัฐบาลใดๆก็สามารถเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกได้แม้ว่าจะมีการปราบปรามและคุกคามเกิดขึ้นก็ตาม"


 


ทั้งนี้ รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สรุปว่า นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหลายรายยังคงถูกคุมขังอยู่ในคุกทั่วประเทศจีน รวมทั้งโดนกักบริเวณภายในบ้านด้วน คนอื่นๆยังคงถูกตำรวจจับตามองเพื่อไม่ให้พวกเขาก่อกวนโอลิมปิกได้ด้วยวิธีการใดๆ


 


รัฐบาลจีนได้ขยายให้มีการคุมขังมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้ "การดัดนิสัยโดยใช้แรงงาน" และ "การบังคับใช้ยารักษา" เพื่อเป็นการ "กวาดล้าง" กรุงปักกิ่งก่อนเริ่มโอลิมปิกและสร้างความมั่นใจว่าพวกนักเคลื่อนไหวจะไม่ออกมาทำการใดๆในช่วงการแข่งขัน


 


ระเบียบชั่วคราวเกี่ยวกับสื่อที่ควรจะได้ให้เสรีภาพแก่สื่อต่างประเทศในการรายงานนั้นยังไม่มีการนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของจีนได้รายงานว่ามีการแทรกแซงการนำเสนอข่าวทั้งหมด 260 รายงานนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ระเบียบดังกล่าวไม่ได้บังคับใช้กับนักข่าวชาวจีนซึ่งยังคงถูกกันไม่ให้เผยแพร่ข่าวที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นอันตราย


 


ยังคงมีการใช้โทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรม 68 ประเภท รวมทั้งอาชญากรรมที่ไม่รุนแรงอย่างเช่นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและที่เกี่ยวกับยาเสพติด แม้ว่าจำนวนการประหารชีวิตได้ลดลงตั้งแต่ศาลฎีกาได้มีกระบวนการทบทวน หากแต่รัฐบาลจีนก็ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขที่แท้จริง


 


หลิว จี นักเคลื่อนไหวจากชนบทถูกกักขังอยู่ในกรุงปักกิ่งและถูก "ดัดนิสัยโดยใช้แรงงาน" เป็นเวลา 18 เดือน ในจังหวัดเฮหลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งแหล่งข้อมูลแจ้งว่าเธอถูกทำร้ายร่างกายจากการที่ได้จัดให้ผู้คนเขียนจดหมายเรียกร้องให้ผู้นำประเทศมีการปฏิรูปการเมืองและกฎหมายรวมทั้งเลิกใช้การดัดนิสัยโดยใช้แรงงานด้วย


 


ในเดือนมิถุนายน 2551 ตำรวจได้กักขัง หวง ชี นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในมณฑลเสฉวนเนื่องจากสงสัยว่าเขา "ได้ความลับของรัฐมาโดยผิดกฎหมาย" หวงเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือครอบครัวของนักเรียนโรงเรียนประถมห้าคนในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น นักเรียนทั้งห้าคนเสียชีวิตเมื่อตึกโรงเรียนถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวนในเดือนพฤษภาคม


 


ในปี 2544 ที่จีนได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค2008 หวัง เหว่ย เลขาธิการคณะกรรมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกกรุงปักกิ่งกล่าวว่า "เราจะให้เสรีภาพแก่สื่ออย่างเต็มที่ในการรายงานข่าวเมื่อพวกเขามาถึงจีนแล้ว … เรามั่นใจว่าโอลิมปิกจะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและส่งเสริมสภาพสังคมโดนรวม รวมทั้งการศึกษา สุขภาพ และสิทธิมนุษยชน"


 


หมายเหตุ


รายงาน 18 หน้าเรื่อง "นับถอยหลังสู่โอลิมปิกจีน - สัญญาที่ถูกละเมิด" สามารถติดตามได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม เวลา 21.00 GMT:

http://www.amnesty.org/en/library/info/ASA17/089/2008/en

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net