Skip to main content
sharethis




 


วันที่ 2 ส.ค. 51 เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ โดยการสนับสนุนของ เครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ได้จัดเวทีวิพากษ์ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ปี พ.ศ. ... ขึ้น ณ บ้านธารแก้ว ถ.ห้วยแก้ว ต.สุเทพ จ.เชียงใหม่


 


ในช่วงเช้ามีเวทีวิพากษ์ "ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ..." โดยมี ดร.จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ รองคณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ กรรมการเครือข่ายสื่อฯ และนายมนตรี อิ่มเอก เลขาธิการเครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนาเป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดยนายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)


 


ดร.จิรพร กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2551 มีผลบังคับใช้แทน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 ว่า แนวคิดปฏิรูปสื่อตั้งแต่ปี 2535 นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 40 เป็นมาตราแรกที่รองรับสิทธิการสื่อสารของภาคประชาชน เป็นที่มาของสื่ออย่างวิทยุชุมชน แต่ในขณะนี้ดูเหมือนสิทธิตรงนี้จะถูกริบคืน


 


ดร.จิรพร ตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงต้องแก้ พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งๆ ที่แต่เดิมเนื้อหา พ.ร.บ. เป็นตัวช่วยกำหนดที่มาขององค์กรอิสระ ที่มีสิทธิในการสรรหาตรวจสอบ เปรียบเสมือนองค์กรที่มีความเป็นธรรม มีหน้าที่จะมาแบ่งสมบัติให้ตกมาถึงประชาชนบ้าง "แต่กลุ่มอำนาจที่มีอยู่เดิมเหมือนคนที่มีสมบัติอยู่มาก แล้วพอจะถูกแบ่งก็ไม่ยอม เลยต้องหาทางเอาคืน"


 


ดร.จิรพร ขยายความว่า หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจคือกระทรวงกลาโหม เป็นกลุ่มที่ใช้อำนาจมาตั้งแต่ก่อนปี 2540 พอหลังจากการรัฐประหารปี 2549 ก็ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งในมาตรา 47 ระบุไว้ว่าให้องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่คือ กทช. และ กสช. รวมเป็นองค์กรเดียวกัน ทำให้ พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2551 ต้องแก้ให้สอดคล้องกับมาตรา 47 "ตรงนี้เขาอ้างว่าต้องแก้ พ.ร.บ. เพราะมันไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ถามหน่อยว่าใครล่ะที่แก้รัฐธรรมนูญ"


 


ในเรื่องความมีเงื่อนงำและมีวาระซ่อนเร้นของการแก้ พ.ร.บ. ดร.จิรพร ยังได้พูดอีกว่า ทางรัฐมีข้ออ้างว่า พ.ร.บ. ปี 2543 ใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากกระบวนการสรรหา กสช. ล่าช้า "...ซึ่งต้องถามว่าใครเป็นคนดำเนินกระบวนการสรรหา ภาครัฐหรือประชาชน ถ้าภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการสรรหา ใครควรจะเป็นคนผิด"


 


ดร. จิรพร กล่าวต่อว่า การแก้ พ.ร.บ. ครั้งนี้เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อภาคประชาชน เป็น พ.ร.บ. ที่สร้างอภิสิทธิ์แก่รัฐและนายทุน "กลุ่มรัฐ ทหาร ที่มีแล้วก็มีอยู่ต่อไป เอกชนที่ได้สัมปทานไปแล้ว ก็ได้ต่อไป"


 


ดร. จิรพร ยังได้วิพากษ์ร่าง พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2551 อีกว่า ในมาตรา 34 ที่ระบุว่าไม่ให้วิทยุชุมชนไปทับซ้อนกับคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิม ของ ทหาร รัฐ และเอกชน ยังทำให้การดำเนินการของวิทยุชุมชนสั่นคลอน, มีเนื้อหากันสิทธิภาคประชาชนออกไปจากการคัดเลือก กสช. ทำให้ไม่มีการตรวจสอบ การบังคับให้ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะทำให้องค์กรภาคประชาชนไม่มีทรัพยากรมากพอจะไปจดได้ เทียบกับบริษัทใหญ่ๆ เช่น ค่ายเพลง ที่จะพากันแยกย้ายไปจดได้, ขาดความเป็นกลาง เปิดโอกาสให้รัฐแทรกแซงได้ตลอดเวลา, มีการระบุให้คนที่ได้ใบอนุญาตมาแล้วสามารถให้คนอื่นเช่าได้ ทำให้เกิดกระบวนการของคนกลาง นอกจากนี้ยังมีการเปิดให้วิทยุชุมชนสามารถมีโฆษณาได้ และตรวจสอบรายได้ นำรายได้บางส่วนเข้า อบต. ซึ่งการมีโฆษณาเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักการของวิทยุชุมชน


 


ต่อมา ดร.จิรพร จึงได้เสนอว่า กระบวนการร่างกฏหมายที่ไม่เปิดให้ประชาชนรับรู้และแสดงความคิดเห็นและไม่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม จึงถึงเป็นการแสดงออกถึงความไม่จริงใจของรัฐในการออกกฏหมายรับรองสิทธิตรงนี้ ราวกับว่าไม่ต้องการแบ่งปันทรัพยากรคลื่นความถี่ "รัฐไทย ไม่ว่าจะในเครื่องแบบหรือนอกเครื่องแบบก็ล้วนมาพร้อมกับการใช้อำนาจ"


หลังจากนั้นในช่วงบ่าย จึงได้มีการร่วมระดมความคิดเห็นกันและออกแถลงการณ์ "ค้าน ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับผ่านการพิจารณาของ ครม. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551" โดยท้วงติงร่างกฏหมายดังกล่าว ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ขาดความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาล, เป็นกฏหมายที่คงอภิสิทธิ์ของรัฐและทุนอีกทั้งเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ, ลิดรอนสิทธิ์ในการสื่อสารของประชาชนและกระบวนการตรวจสอบสรรหา, ทำให้องค์กรอิสระต้องขึ้นตรงกับอำนาจรัฐและการเมือง ซึ่งขัดกับมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอว่า ให้ถอดถอนร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ออกจากวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และยุติจากการพิจารณาในทุกระดับ และจัดให้มีการยกร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่ หากยังเพิกเฉยทางองค์กรภาคประชาชนจะดำเนินการรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที


 



แถลงการณ์
ค้าน ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
ฉบับผ่านการพิจารณาของ ครม. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551


ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) กำลังรีบเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่ แทน พ.ร.บ. ฉบับปี 2543 โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551 และคาดว่าจะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนสิงหาคมนั้น


เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือและองค์กรภาคี ในฐานะองค์กรชุมชน ประชาชน ผู้ผลิตสื่อและบริโภคสื่อที่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของประชาชนและสาธารณะ ซึ่งเติบโตขึ้นท่ามกลางพลวัตแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และแนวคิดการปฏิรูปสื่อ ดังสะท้อนผ่านเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 ที่มุ่งหวังให้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หลุดพ้นจากการควบคุมและครอบงำโดยรัฐ เพื่อเป็นทรัพยากรส่วนรวมของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงกำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมาทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแล คือ กสช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยการจัดสรรและกำกับดูแลต้องคำนึงถึงเรื่องการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่นๆ โดยต้องมีกติกาการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม


อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ เห็นว่า ร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับผ่านการพิจารณาของ ครม. เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2551 นั้น บิดเบือนเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ของกฎหมายฉบับนี้อย่างสิ้นเชิง อีกทั้งกระบวนการร่างกฎหมายก็เร่งรีบ รวบรัด ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550 อีกด้วย


เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือและองค์กรที่มีชื่อตามท้ายเอกสาร จึงมีข้อสังเกตและข้อท้วงติงต่อร่างกฎหมาย ดังต่อไปนี้


1.  กระบวนการร่างกฎหมายไร้ซึ่งความโปร่งใส ขาดหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง แต่กลับเป็นไปอย่างเร่งรีบรวบรัด อันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 57 ที่บัญญัติไว้ว่า " ... การออกกฎหมายที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ ... "


2.  หลักการและเนื้อหาของร่างกฎหมายคงอภิสิทธิ์ของระบบรัฐและทุน ตลอดจนเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการ ด้วยการระบุในมาตรา 79 ให้หน่วยงานของรัฐที่เคยครอบครองคลื่นความถี่มีสิทธิที่จะใช้คลื่นความถี่นั้นต่อไป รวมถึงตัดทิ้งมาตรา 80 ของกฎหมายปี 2543 ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่ หรืออนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มเติม ในระหว่างที่การสรรหาและแต่งตั้งองค์กรอิสระยังไม่แล้วเสร็จ


3.  หลักการและเนื้อหาของร่างกฎหมายลิดรอนสิทธิในการสื่อสารของประชาชนที่เคยมีให้ลดน้อยลงกว่าเดิม โดยการตัดเนื้อหาของกฎหมายฉบับปี 2543 ที่ให้สิทธิภาคประชาชนในการได้ใช้คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และตัดการสนับสนุนสื่อภาคประชาชน รวมทั้งให้ยกเลิกสถานีวิทยุประจำจังหวัดและสถานีโทรทัศน์ระดับท้องถิ่น


4.  ลิดรอนสิทธิอำนาจของประชาชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการสรรหา กสช.


4.1 ลิดรอนสิทธิประชาชนในการมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อบุคคลเป็น กสช. โดยการกำหนดให้องค์กรเอกชนที่มีสิทธิเสนอชื่อ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ทั้งที่โดยธรรมชาติ องค์กรภาคประชาชนจะทำงานในลักษณะอาสาสมัครที่ไม่ใช่นิติบุคคล


4.2 ลิดรอนสิทธิประชาชนในการตรวจสอบกระบวนการสรรหา ประชาชนไม่สิทธิตรวจสอบรายชื่อองค์กรวิชาชีพ สถาบันอุดมศึกษา และองค์กรเอกชนที่มาลงทะเบียน ว่าเป็นกลุ่มทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ เพราะหากได้รับการจดทะเบียนแล้วให้เป็นอันใช้ได้ แม้ศาลจะวินิจฉัยในภายหลังว่าการจดทะเบียนนั้นเป็นไปการไม่ชอบ ก็จะไม่มีผลต่อการที่กระบวนการสรรหาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และไม่เป็นเหตุให้ต้องระงับหรือชะลอการเสนอชื่อคัดเลือก กสช.


5.  องค์กรอิสระตามร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีความเป็นอิสระ ต้องขึ้นตรงต่ออำนาจรัฐและการเมือง ซึ่งขัดกับบทบัญญัติมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กฎหมายเก่าระบุให้มีกระบวนการสรรหา ก่อนส่งให้วุฒิสภาพิจารณากลั่นกรองและคัดเลือกรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นองค์กรอิสระ แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้กลับระบุให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจรัฐและการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ


จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือและองค์กรที่มีชื่อตามท้ายเอกสารนี้ ขอคัดค้านร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่มาจากการผลักดันของกระทรวงไอซีที และมีข้อเสนอดังนี้


1. ให้กระทรวงไอซีที คณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร ถอดถอนร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ออกจากวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และยุติจากการพิจารณาในทุกระดับ


2. ให้กระทรวงไอซีที คณะรัฐมนตรี และส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการยกร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่ด้วยความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและเพียงพอ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550


หากองค์กรที่กล่าวมาข้างต้นเพิกเฉย ละเลยต่อสิทธิของภาคประชาชนในการใช้ทรัพยากรการสื่อสารอันเป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ องค์กรภาคประชาชนจะดำเนินการรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับปล้นคลื่นความถี่จากประชาชน


ด้วยจิตคารวะ


เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ
เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา
เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ
17
จังหวัด
สมาคมสืบสานตำนานปี่ซอ
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)


2 สิงหาคม 2551


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net