Skip to main content
sharethis






หมายเหตุ : สัมภาษณ์พิเศษ "บทบาทจอร์จ ดับเบิลยู บุช กับไทย-กัมพูชาว่าด้วยข้อพิพากษาเขาพระวิหาร" โดย ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โดยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 6 ส.ค. 2551


 


บุชมาเยือนประเทศไทยมีนัยสำคัญอะไรหรือไม่ต่อกรณีข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา


ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ : การเดินทางมาไทยของบุชเป็นการแวะประเทศที่เคยเป็นฐานทัพของสหรัฐในภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับการเยือนประเทศเกาหลีใต้และประเทศฟิลิปินส์ แต่ในอีกแง่หนึ่งเป็นการเดินทางมาจัดระเบียบโลก


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา หากบุชพูดถึงคำพิพาษาศาลโลกเมื่อปี 2505 ก็อาจมีความหมายโดยนัยว่าไทยจะต้องถอนกำลังทหารออกจากอาณาบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ซึ่งอาจรวมถึงบริเวณที่ประเทศไทยวางกำลังทหารใกล้ปราสาทพระวิหารในขณะนี้ด้วย เพราะนอกจากมีคำพิพากษาศาลโลก ข้อที่ว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาแล้ว ยังมีข้อที่บอกว่าประเทศไทยมีพันธะที่ต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจผู้เฝ้ารักษาหรือดูแล ซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา


 


ท่าทีของบุชที่มีต่อไทย


ผศ.ดร.ธำรงศักศิ์ : คาดว่าในครั้งนี้บุชจะมีท่าทีเช่นเดียวกับจอห์น เอฟ.เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ทำกับประเทศไทยเมื่อ 46 ปีก่อน หลังจากที่ที่ศาลโลกพิพากษากรณีปราสาทพระวิหารเพราะสหรัฐอเมริกาจะเล่นบทบาทยืนยันหลักการนิติรัฐของโลกที่สนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตย


 


แม้ประธานาธิบดีสหรัฐจะเปลี่ยนตัวบุคคล แต่คณะที่ปรึกษาของสหรัฐอเมริกาจะคิดเสมอว่าสหรัฐอเมริกาเคยดำเนินการและจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากการดำเนินนโยบายของสหรัฐอเมริกามีการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างละเอียด มีการบันทึกคำพูดที่จอห์น เอฟ. เคนเนดี พูดผ่านทูตไทยประจำสหรัฐ มายังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีของไทยในปี 2505 ซึ่งรัฐบาลไทยขณะนั้นใช้เวลาอย่างน้อย 20 วัน ตัดสินใจว่าจะรบด้วยกำลังหรือปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก โดยสถานการณ์ในประเทศภายใต้บรรยากาศกฎอัยการศึกของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ได้ดำเนินการให้มีการประท้วงทุกจุดในประเทศเพื่อสนับสนุนรัฐบาลซึ่งบอกว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย และไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลโลก เพราะไม่ยุติธรรม แต่ภายหลังรัฐบาลก็ให้หยุดประท้วง และปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลโลก


 


วิธีการกดดันไทยในอดีตและแนวโน้มในปัจจุบันเหมือนหรือแตกต่างหรือไม่


ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ : เราไม่ทราบว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขณะนั้นแสดงท่าทีทางวาจาอย่างไร แต่เขาได้ตัดสินใจเชิงนโยบายในการถอนทหารนาวิกโยธินทั้งหมดออกจากไทย ไปอยู่ที่เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เท่ากับกดดันให้ไทยยอมรับคำพิพากษาศาลโลก เพราะนาวิกโยธินที่สหรัฐส่งมานั้นเป็นไปเพื่อแก้วิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฝ่ายขวาของลาวและคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ โดยครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่สหรัฐส่งนาวิกโยธินกว่าหมื่นคนเข้ามาในไทย เพื่อแสดงความปกป้องไทยและต่อต้านคอมมิวนิสต์ พร้อมกับเพิ่มงบประมาณทางการทหารและเศรษฐกิจให้ไทยอย่างมาก เมื่อรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ประกาศยอมรับคำพิพากษาศาลโลกอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ให้ความหมายการยอมรับนั้นว่า เป็นการช่วยขยายการยอมรับหลักนิติรัฐของโลก


 


ส่วนมาตราการในปัจจุบัน ประเทศมหาอำนาจจะกดดันประเทศใดได้ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจหรือไม่ สำหรับกรณีประเทศไทยนั้นสหรัฐอาจใช้มาตรการกดดันไทยตามลำดับ ประกอบด้วย 1.ตัดความช่วยเหลือทางการทหาร 2.ตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่ไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกามาตลอด 6 ทศวรรษ 3.ตัดสิทธิพิเศษทางการค้า หรือจีเอสพี 4.อาจกดดันด้วยการใช้กำลัง กรณีไทยท้าทายต่อองค์การสหประชาชาติ


 


แล้วบทบาทสหรัฐต่อประเทศอื่นกรณีความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างประเทศเป็นอย่างไร


ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ : ล่าสุดสหรัฐไปจัดการความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นกรณีการแย่งชิงเกาะหนึ่ง ที่เกาหลีใต้เรียกว่า "ด็อกโต" ขณะที่ญี่ปุ่นเรียกเกาะนั้นว่า "ทาเคชิมา" ในตอนแรกสหรัฐยืนยันความขัดแย้งว่า เป็นดินแดนที่ยังไม่มีการกำหนดอำนาจอธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน ก่อนบุชไปเยือนเกาหลีใต้ บุชประกาศว่าสหรัฐประกาศให้เกาะดังกล่าวเป็นดินแดนในอาณัติของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นวิธีที่สหรัฐให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนเกาหลีใต้ในกรณีพิพาทด้านดินแดนส่วนญี่ปุ่นจะยอมรับหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 


เป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐอเมริกาอาจแสดงท่าทีสนับสนุนไทยกรณีเขาพระวิหาร


ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ : ไม่อาจแปลความหมายว่าการมาเยือนเป็นการสนับสนุนไทย เพราะบุชมีเป้าหมายหลักในการเดินทางไปประเทศจีนเป็นวิธีการของมหาอำนาจที่จะแสดงตัวในแต่ละประเทศที่แวะเวียนไม่เกินประเทศละ 1-2 วัน ไม่มากไปกว่านี้ เป็นพิธีการเดินทางมาตะวันออกไกล ซึ่งมีเป้าหมายใหญ่ที่ใดที่หนึ่ง แต่ระหว่างทางแวะเวียนมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กันอย่างน้อย 8 ทศวรรษ อีกทั้งในสายตาของสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การมาเยือนไทยครั้งนี้สัมพันธ์ต่อการกระชับมิตรถาวรด้วยเหตุผลในทาง "ภูมิรัฐศาสตร์"


 


สหรัฐไม่อาจแสดงท่าทีในการสนับสนุนไทย ในกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารและอาณาบริเวณใกล้เคียง เพราะปัญหาจบสิ้นลงที่ศาลโลกและไม่มีการอุทธรณ์ต่อไปแล้ว แต่ปัญหาที่ยังคงอยู่คือ คำพิพากษาศาลโลกข้อที่ว่าบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชานั้นจะตีความว่าอาณาเขตบริเวณแค่ไหนอย่างไร เพราะไม่ได้หมายความเพียงซากปรักหักพัง อย่างไรก็ตาม หากไทยปฏิเสธคำพิพากษา ศาลโลกจะกลายเป็นตัวอย่างประเทศแรกในการปฏิเสธหลักนิติรัฐของโลก และประเทศอื่นที่มีปัญหาเดียวกันก็จะปฏิเสธหลักนิติรัฐของโลกเช่นเดียวกัน


 


หมายความว่าสหรัฐจะสนับสนุนกัมพูชา


ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ : เขาไม่ได้สนับสนุนกัมพูชา แต่ต้องการแสดงท่าทีของมหาอำนาจของโลกที่ปกป้องระเบียบโลกเอาไว้ บุชอาจจะกล่าวถึงอาเซียนในฐานะองค์การความร่วมมือด้านสันติภาพ และการพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐจะเน้นย้ำว่าไทยคือผู้นำและผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียน ดังนั้นไทยพึงที่จะรักษาองค์การนี้ไว้ให้มีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งความหมายที่ซ่อนอยู่ในวิธีคิดแบบนี้คือ นับแต่เดือนนี้เป็นต้นไปอีกหนึ่งปีครึ่ง ผู้เป็นประธานอาเซียนคือไทย และเลขาธิการอาเซียนคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งเป็นคนไทย


 


ดังนั้นข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ย่อมสะท้อนว่า กัมพูชาอาจมีความระแวงได้ว่าตนเองจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเวทีอาเซียนเหมือนกับกรณีที่ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี คือประเทศเวียดนาม ทำให้ไทยระแวงว่าตนเองจะไม่ได้รับความเป็นธรรม หากกัมพูชานำเรื่องเข้าสู่ยูเอ็นเอสซี เพราะเวียดนามมีความสัมพันธ์อันดีกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในจุดนี้บุชอาจเน้นย้ำว่าไทยจะสามารถรักษาความเป็นกลางได้อย่างไร


 


นโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งก่อน-หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ


ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ : ถ้าเราดูเป้าหมายในการปรากฏตัวของบุชเขาต้องการเน้นท่าทีกดดันรัฐบาลทหารพม่าเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเรื่องปัญหาประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยธรรม ในด้านหนึ่งบุชและภรรยาแสดงบทบาทเพื่อกดดันประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ว่า แม้ใครเข้ามารับตำแหน่งก็ไม่สามารถละเลยประเด็นปัญหาในประเทศพม่าได้


 


ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า อีกครึ่งปีข้างหน้า บุชและภรรยาจะแสดงบทบาทประชาธิปไตยในพม่า และจะเห็นได้ว่าภรรยาของบุชแสดงความสนใจค่ายอพยพคนกลุ่มน้อยที่ชายแดนไทย-พม่าอยู่ในขณะนี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net