Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ 15 ตุลาคม 2551 - กรีนพีซจัดเวทีเสวนาโดยเชิญนักวิชาการด้านกฎหมายและตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมถกในประเด็น"บทเรียนคดีมะละกอจีเอ็มโอ สังคมไทยได้อะไร" สะท้อนข้อกังขาและความคลุมเครือของการจัดการปัญหาการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอในประเทศไทย เรียกร้องกรมวิชาการเกษตรให้เปิดเผยข้อมูลการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอเมื่อ 4 ปีก่อนที่ยังคงขาดความชัดเจน และเดินหน้าอุทธรณ์สู้คดีต่อหลังศาลปกครองยกฟ้อง


 


"ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่เกิดการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอเมื่อ 4 ปีก่อนจนกระทั่งปัจจุบันนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศไทย ไม่เคยให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชนถึงสาเหตุของการหลุดรอดและการจัดการกับปัญหาการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ รวมถึงมะละกอจีเอ็มโอจะนำความเสี่ยงหรือผลร้ายอะไรมาให้บ้าง แต่กลับโฆษณาชวนเชื่อถึงผลดีของจีเอ็มโอ ทั้งๆที่จีเอ็มโอเป็นสิ่งที่สาธารณชนไม่ยอมรับ" นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว


 


เมื่อปี 2547 กรีนพีซเปิดโปงกรณีมะละกอจีเอ็มโอหลังจากภาครัฐล้มเหลวในการจัดการมะละกอจีเอ็มโอจนเป็นเหตุให้มะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อนจากแปลงทดลองออกสู่สิ่งแวดล้อม และแพร่กระจายไปสู่แปลงเกษตรกร 2,600 รายทั่วประเทศ กรมวิชาการเกษตรจึงเบี่ยงเบนประเด็นโดยกล่าวหาอาสาสมัครกรีนพีซว่าบุกรุกสถานที่ราชการและฟ้องร้องต่อศาลให้ดำเนินคดีกับอาสาสมัครกรีนพีซ แต่ท้ายสุดศาลตัดสินว่ากรีนพีซไม่มีความผิด


 


ต่อมา กรีนพีซเป็นโจทย์ยื่นฟ้องกรมวิชาการเกษตรต่อศาลปกครอง เพื่อผลักดันให้กรมวิชาการเกษตรจัดการกับปัญหามะละกอจีเอ็มโอปนเปื้อน แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองยกฟ้องคดีดังกล่าว


 


"เราจึงเดินหน้าต่อไปด้วยการอุทธรณ์ เพราะต้องการให้กรมวิชาการเกษตรแสดงความรับผิดชอบ และลงไปตรวจสอบมะละกอจีเอ็มโอที่ปนเปื้อนซ้ำใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลการทำงานต่อสาธารณะเพื่อให้คนไทยมั่นใจว่า ไม่มีมะละกอจีเอ็มโอในประเทศอีกต่อไป" ณัฐวิภากล่าว


 


กรีนพีซรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศไทยปลอดจากจีเอ็มโอ กรีนพีซยืนยันว่าพืชจีเอ็มโอนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยและยังไม่ผ่านการพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง จีเอ็มโอเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ ปัจจุบันไม่มีการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ใดเลยที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพืชจีเอ็มโอปลอดภัยสำหรับการบริโภคของมนุษย์ นอกจากนี้ พืชจีเอ็มโอยังเป็นตัวการทำให้เกษตรกรรมถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีต่างๆจากบริษัทเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา จนท้ายที่สุดจะเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเกษตรกร


 


เมื่อปีก่อน กรมวิชาการเกษตรได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันหรือ MOU กับมหาวิทยาลัยคอร์แนลและบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์จากมะละกอจีเอ็มโอ


 


สิทธิบัตรของบริษัทเหล่านี้บ่อนทำลายสิทธิของเกษตรกรและเปลี่ยนแปลงรากฐานของการทำการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เอาไว้ปลูกใหม่ ในประเทศไทย มะละกอจีเอ็มโอ ไม่ใช่เพียงการคุกคามทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการทำลายสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนผู้ปลูกมะละกอไทยทั่วประเทศ สังคมไทยจึงควรจับตามอง และร่วมปกป้องอนาคตของมะละกอไทยให้ปลอดจากจีเอ็มโอ" ณัฐวิภากล่าวทิ้งท้าย


 


กรีนพีซ ทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net