Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน


 


คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.) เคยสรุปเหตุของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น


 


- ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับความยุติธรรมและเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ขณะเดียวกันทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนและประชาชนบางกลุ่มใช้ความรุนแรงต่อกันเพราะเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมพึ่งไม่ได้


 


- นโยบายของรัฐสับสนระหว่างแนวทางสันติวิธีกับการแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ โดยรัฐใช้ความรุนแรงเป็นหลัก ขาดเอกภาพในการทำงาน และมีช่องว่างในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ยิ่งกว่านั้นประชาชนในสามจังหวัดก็ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองพอสำหรับการใช้สันติวิธีในการต่อสู้ความไม่เป็นธรรมและเรียกร้องสิ่งที่ตนปรารถนา


 


- เด็กและเยาวชนในพื้นที่ไม่ได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้เข้าสู่ตลาดงานได้ และขาดดุลยภาพระหว่างการศึกษาสายสามัญกับสายศาสนา


 


- ชาวบ้านในท้องถิ่นเผชิญกับปมขัดแย้งภายใน ด้านหนึ่งชีวิตตามธรรมชาติของพวกเขากำลังถูกคุมคามโดยพลังทุนนิยม/วัตถุนิยมขนาดใหญ่ จนรู้สึกไม่อาจต่อต้านต่อรองได้ อีกด้านหนึ่งมีความแตกต่างระหว่างคนรุ่นเก่าที่ประสงค์จะดำเนินชีวิตเรียบง่ายของตนตามหลักศาสนาโดยไม่ปรารถนาจะต่อกรกับพลังจากภายนอก กับคนรุ่นใหม่ที่ถ้าไม่เปลี่ยนชีวิตวิญญาณให้คล้อยตามพลังที่คุกคามตน ก็ต่อต้านขัดขวางด้วยวิธีการต่างๆ


 


ปมปัญหาเหล่านี้ดำรงอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดูเหมือนเป็นความแตกต่างระหว่างชาวไทยมลายูมุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่กับชาวไทยพุทธที่เป็นคนกลุ่มน้อยในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทัศนะของการมีทหารในพื้นที่ การประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการควบคุมสถาบันการศึกษาปอเนาะ อาจเพราะอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มโดดเด่นขึ้น ยอมรับสถาบันวัฒนธรรมประเพณีร่วมกันน้อยลง บ้างก็ไม่เห็นความสำคัญของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมเอาเลย ในขณะที่บางฝ่ายก็เห็นเป็นปัญหาคุกคามรัฐหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทั้งที่ควรจะถือว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นพลังสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมการเมืองไทย


 


การเกิดเหตุรุนแรงทั้งหลายขึ้นนั้น ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าขณะนี้เป็นกลุ่มที่มีส่วนปฏิบัติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ โดยแบ่งกองกำลังออกเป็น 3 ส่วนคือ หนึ่งกองกำลังระดับคอมมานโด ทำหน้าที่ควบคุมทางยุทธวิธี สองกำลังระดับหน่วยจรยุทธขนาดเล็กประจำถิ่นหรือเป็นรู้จักกันในนาม RKK ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหลักในการก่อเหตุรุนแรงทั่วไป มีจำนวนระหว่าง 600 - 800 คน สามกำลังระดับก่อเหตุก่อกวน (เรียกว่า เปอร์มูดอ) มีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10,000 คน ทำการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 230 หมู่บ้าน ทำหน้าที่หาข่าวและก่อกวนรายวัน แต่ที่ยากในการจับกุมเพราะโครงสร้างองค์กรไม่ชัดเจน มีการทำงานในลักษณะเป็นหน่วยย่อยอิสระ (cells)


 


แต่ผู้เขียนมีทัศนะว่า ในเหตุการณ์ไม่น่าเป็นฝีมือของกลุ่มขบวนการเหล่านี้ทั้งหมด เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของคดีเหล่านี้ ยังระบุไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ก่อ ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่น้อยเห็นว่า สาเหตุของเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นจากการฉวยโอกาสแก้แค้นเรื่องส่วนตัว และกลุ่มฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์เพื่อแก้แค้นเจ้าหน้าที่มากกว่าจะเป็นเรื่องการเมืองของการแบ่งแยกดินแดนที่ฝ่ายรัฐเชื่อ


 


ไม่ว่าความรุนแรงจะเกิดมาจากผู้ใด กลุ่มใด แต่ตลอดระยะสี่ปี ปัญหาเหล่านี้ได้บั่นทอนขวัญและกำลังใจของประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลอบยิง วางระเบิด วางเพลิง หรือคาร์บอมบ์ครั้งล่าสุดที่สุคิริน จังหวัดนราธิวาส ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่เกิดความรุนแรงรอบใหม่ภายหลังเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นต้นมา (หากติดตามข่าวเหตุการณ์ภาคใต้จะพบว่าตลอดสี่ปี เกิดเหตุ "คาร์บอมบ์" มาแล้วราว 5 ครั้ง)[1]


 


ผลกระทบอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนโดยเฉพาะผู้บริสุทธิที่อยู่ตรงกลางคือความระแวงซึ่งกันและกันของคนในชุมชน ดังนั้นการลดความวาดระแวงและสร้างความไว้วางใจของคนในชุมชนเป็นสิ่งที่ท้าทายในการแก้ปัญหาสำหรับคนในพื้นที่และสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำให้บรรลุได้หากปราศจากการทำงานร่วมกันของคนหลายภาคส่วน


 


วันที่ 22 - 25 สิงหาคม 51 ผู้เขียนโชคดีได้เข้าร่วมโครงการประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการสร้างสันติสุขและการสร้างความมั่นใจในการทำงานชุมชนภายใต้สถานการณ์ขัดแย้งสำหรับบุคลากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดโครงการให้กับคนในพื้นที่ที่มาจากหลากหลายกลุ่มไม่จะเป็นผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนทั้งรัฐและเอกชน สตรี นักพัฒนา และเยาวชนจากมหาวิทยาลัย ภายใต้การควบคุมดูแลของ ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์และคณะ


 


ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้นำโครงการได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดโครงการครั้งนี้ว่า "ปัญหาและความรุนแรงได้บั่นทอนขวัญและกำลังใจของประชาชน ขณะเดียวกันได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาทั้งจากภาครัฐและองค์ต่างๆ เราจึงจัดการประชุมครั้งขึ้นเพื่อพัฒนากรอบแนวคิดเรื่องการสร้างความไว้วางใจในสถานการณ์ขัดแย้ง และเพื่อประเมินสถานการณ์ด้านความไว้วางใจ"


 


จากการประชุมแต่ละคนได้ถอดบทเรียนในสิ่งที่แต่ละคนได้ประสบจากการทำงานท่ามกลางความรุนแรงและความวาดระแวง ในขณะที่วิทยากรจากกรุงเทพได้นำเสนอกรณีตัวอย่างการแก้ปัญหาความหวาดระแวงระหว่างชาวมุสลิมและฮินดูในเมืองมุมใบประเทศอินเดียด้วยสันตวิธีด้วยวีดิทัศน์ โดยให้แต่ละคนได้วิพากษ์เพื่อปรับใช้ การสะท้อนความรู้สึก ซึ่งความคิดหลังชมภาพยนต์นั้น เป็น "การดึงปัญญา" จากความรู้สึกหรือความคิดที่ผู้เรียนสะท้อนออกมา


 


หลังจากนั้นมีการจำลองและแสดงบทบาทสมมุติเหตุการณ์ความหวาดระแวงจนนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นในสังคมของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม คู่ขัดแย้งต่างพยายามที่จะเรียกร้องให้ได้มาซึ่งความต้องการของตน โดยขาดการรับฟังเหตุและผลของอีกฝ่าย ขณะเดียวกันต่างฝ่ายต่างพยายามที่จะหาจุดบกพร่อง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมของอีกฝ่ายและสร้างแนวร่วม


 


การยืนกันระหว่าง 2 ฝ่ายที่เห็นแตกต่างกัน แต่ละฝ่ายได้เผชิญกับความกลัวอยู่ลึกๆ เช่น กลัวจะต้องสูญเสียอำนาจ กลัวการถูกทำร้าย ถูกจับกุม กลัวไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง กลัวความแตกต่างจากเรา ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้ที่จะเผชิญกับความกลัวเหล่านี้อย่างมีสติ เพื่อจะได้รับมือกับปัญหาให้ได้ หากผลของการเจรจาไม่ลงตัว ฝ่ายที่สามจึงมีความจำเป็นในการเข้ามีบทบาทเพื่อลดความขัดแย้ง


 


สำหรับบทบาทของฝ่ายที่สามควรปฏิบัติดังนี้


 


1. เข้าเป็นพยานความจริงเพื่อไม่ให้เกิดการครหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งขยายตัวไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์จริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เข้าใจบทบาทนี้ จึงขัดขวางการทำงานของฝ่ายที่สาม กลายเป็นข้อพิรุธว่า เหตุใดจึงพยายามปกป้องข้อเท็จจริงไม่ให้ปรากฏแก่สาธารณะ


 


2. พยายามเป็นตัวกลาง เจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง ซึ่งความเป็นจริงในพื้นที่ก็ยากเช่นกันที่จะเป็นผล เนื่องจากไม่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ


 


3. การปรากฏตัวของฝ่ายที่สามนั้นสามารถลดการกระทำความรุนแรงต่อกันระหว่างคู่ขัดแย้งได้


 


แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นอีกเมื่อมีฝ่ายที่สามปรากฏตัว ในความเป็นจริง การยุติความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน คู่ขัดแย้งต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน พูดคุยกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและสันติวิธี อันจะนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริง


 


ที่สำคัญที่สุดจากการสรุปการประชุมพบว่า การลดความระแวงและสร้างความไว้วางใจในชุมชนนั้นควรประกอบด้วย


 


หนึ่งความพร้อมของชุมชน สองการปรับกระบวนทัศน์ เปลี่ยนวิธีคิดและหาทางเลือกใหม่ สามสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ของชุมชนและวางแผนอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญสำหรับมุสลิม คือการขอพรความสำเร็จจากพระเจ้า


 


 






[1] ครั้งที่หนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2548 ที่ข้างโรงแรมมารีน่า ในเขต อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บถึง 49 คน
            ครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2551 ที่ลานจอดรถหน้าโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บกว่า 20 คน ในจำนวนนี้มีผู้สื่อข่าวเครือเนชั่นรวมอยู่ด้วย
            ครั้งที่สาม เกิดขึ้นวันเดียวกับที่หน้าโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี โดยคนร้ายขับรถระเบิดวนเวียนอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลาเพื่อหาช่องว่างเข้าไปจอดและกดจุดชนวน แต่เกิดผิดพลาด ระเบิดทำงาน


            ครั้งที่สี่ เป็นระเบิดกลางเมืองสุไหงโก-ลก ตรงข้ามกับโรงพัก เมื่อค่ำวันที่ 21 ส.ค.2551 แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ นายชาลี บุญสวัสดิ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐประจำจังหวัดนราธิวาส และบาดเจ็บอีก 30 คน
            ครั้งที่ห้า คือ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมาที่บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารเอนกประสงค์ตลาดกลางผลไม้ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ และผู้นำท้องถิ่น ได้รับบาดเจ็บถึง 70 คน (โปรดดูสถิติใน
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4207&Itemid=86)



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net