Skip to main content
sharethis


องอาจ เดชา : เรื่องและภาพ


 


 


 



 



 



 


"ตอนนี้ชาวบ้านขอเพียงอย่างเดียวว่า จะขออยู่ที่นี่โดยไม่ต้องระแวงว่าจะถูกจับอีกต่อไป ซึ่งทางป่าไม้กับทางอำเภอก็ออกมาพูดว่าจะไม่มีการจับกุมอีก..." นางคำ นายนวล หญิงดาระอั้ง (ปะหล่อง) บ้านปางแดงนอก 1 ใน 48 คนที่ถูกจับเมื่อปี 2547 ด้วยข้อหาบุกรุกป่า บอกเล่าให้ฟัง หลังจากที่มีการจัดพื้นที่และสร้างบ้านให้แก่ชาวบ้านปางแดง ภายใต้ "โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง" รับผิดชอบโดย คณะทำงานแก้ไขปัญหาบ้านปางแดงฯ ป่าไม้เป็นเจ้าภาพและโดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ภายใต้หลักการ "สังคมไม่ทอดทิ้งกัน" มีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบขั้นตอน ภายใต้กำกับดูแลของประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน ศจพ.และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  


 


นี่อาจถือได้ว่าเป็นโครงการใหม่ รูปแบบใหม่ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้ร่วมมือกันผลักดันโครงการนี้ โดยใช้วิธีการทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมป่าไม้ในระยะยาว 30 ปี ให้ชาวบ้านได้มีอาศัยอยู่อย่างเป็นธรรมและชอบธรรม


 


ในขณะที่ความคืบหน้าในการดำเนินการก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จไปแล้ว 26 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 93 หลังคาเรือน แต่ก็ต้องหยุดชะงักชั่วคราว เนื่องจากงบประมาณมีไม่เพียงพอ


 


"คือเราได้เงินจาก พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) ก้อนแรกเป็นค่าก่อสร้างหลังคาละ 30,000 บาท เป็นจำนวนทั้งหมด 93 หลังคาเรือน แต่งบมันไม่พอ เพราะคำนวณแล้วว่า ถ้าจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จนั้นจะต้องใช้งบประมาณ 50,000 บาทต่อหลังคาเรือน" นางคำ อธิบายให้ฟัง


 


ดังนั้น ด้วยงบประมาณจำนวนมากขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านมาถึงตอนนี้ ชาวบ้านจึงหวังและรอคอยว่าที่เหลือจะค่อยทยอยสร้าง หากได้งบจากการรับบริจาคจากคนในสังคมไทย


 


เมื่อสอบถามนางคำว่ามั่นใจหรือไม่ว่า เมื่อมีการทำสัญญาเช่าที่ดินจากรัฐแล้ว มีการปลูกบ้านอยู่ในพื้นที่แห่งนี้แล้วจะไม่ถูกจับอีกในอนาคต!?


 


"มั่นใจ เพราะฝ่ายรัฐเข้ามามีส่วนร่วมและเขารับปากว่าจะไม่จับอีก อีกทั้งยังมีข้อตกลงร่วมกันหลายๆ ด้าน เช่น มีการปักเขตชุมชน มีการปลูกป่าชุมชนให้ชาวบ้านจัดการและดูแลกันได้ มีการตั้งกฎระเบียบการให้ที่ดินที่อาศัยอยู่ทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่ส่วนรวมของทุกคนในหมู่บ้านที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ห้ามมีการซื้อขาย ถ้าเจ้าของบ้านรายใดย้ายออก ก็ต้องคืนที่ดินแปลงนั้นให้ส่วนรวมได้ใช้ประโยชน์ต่อไป และหมู่บ้านจะต้องปลอดยาเสพติด ใครเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะไม่อนุญาตให้เข้ามาใช้พื้นที่ชุมชนใหม่แห่งนี้"


 


เธอบอกอีกว่า นอกจากนั้น ยังมีข้อตกลงร่วมกันอีกว่า ห้ามเอาญาติใกล้เคียงมาอยู่เพิ่ม หากเอามาเพิ่ม เจ้าของบ้านกับญาติจะต้องถูกขับออกไปจากหมู่บ้าน แต่ถ้าคนในครอบครัวแต่งงานภายในชุมชน สามารถอยู่ได้ไม่มีปัญหา


 


 


 


 


 



 


 


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า "โครงการบ้านมั่นคงชนบทชุมชนบ้านปางแดง" กำลังเดินหน้าไปอย่างช้าๆ แต่เมื่อหันไปดูเรื่องคดีความ ก็ยังไม่จบ ชาวบ้านยังรอคำพิพากษาจากศาลอยู่ ว่าชะตากรรมที่พวกเขาไม่ได้ก่อนั้นจะลงเอยเช่นไร


 


นายสุมิตรชัย หัตถะศาล ผอ.ศูนย์พิทักษ์สิทธิและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น ได้บอกเล่าถึงความคืบหน้าของคดีปางแดงว่า ขณะนี้ศาลได้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ องค์กรทุกภาคส่วนได้เข้าไปร่วมกันแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ หลังจากนั้น จึงไปแถลงต่อศาลว่าเราได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานั้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต่อไปก็ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะพิจารณาพิพากษาออกมาอย่างไร



 


"ในแง่ของคดี เชื่อว่า หากชาวบ้านยอมรับสารภาพ ศาลก็คงลงโทษสถานเบากับชาวบ้าน ก็คงเหลือเพียงแค่การปรับ ซึ่งหากเอากรณีที่ชาวบ้านเคยติดคุกมาก่อนหน้า 1 เดือนแล้ว มาหักลบแทนค่าปรับก็หมดแล้ว"


 


นอกจากนั้น นายสุมิตรชัย ยังอธิบายถึงกรณีที่สังคมตั้งคำถามว่า ถ้าชาวบ้านยอมรับสารภาพว่าบุกรุกป่าจริง นั่นก็หมายความว่า ชาวบ้านแพ้คดีใช่หรือไม่ ?


 


"คือมาถึงตอนนี้เราไม่ได้มองเพียงแค่ว่า ชาวบ้านจะแพ้หรือชนะคดี แน่นอน ถ้ามองในแง่ของกฎหมายชาวบ้านอาจแพ้ แต่ถ้าเรามองในแง่นโยบายและการขับเคลื่อนเรียกร้องของชาวบ้านถือว่าชนะ เพราะชาวบ้านได้เข้าถึงสิทธิเรื่องที่อยู่อาศัย การตั้งถิ่นฐานอย่างถูกต้อง มีการสร้างบ้านหลังใหม่ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งตนเชื่อว่าคงไม่มีการถูกจับ เพราะโครงการดังกล่าว เป็นโครงการร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยรัฐเป็นเจ้าภาพ และล่าสุด เราได้ยื่นเรื่องถึงป่าไม้ถึงการใช้สิทธิในที่ดินผืนนั้น ซึ่งกำลังรอผลอยู่ว่าในอนาคต รัฐจะให้ชาวบ้านอยู่โดยให้เช่าหรือให้ สทก.หรือไม่อย่างไร" ผอ.ศูนย์พิทักษ์สิทธิและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น บอกย้ำถึงทิศทางของหมู่บ้านปางแดงทั้งในแง่กฎหมาย นโยบาย และการดำรงอยู่ทางชาติพันธุ์ของชาวปางแดงในอนาคต


 


 


 







 


"...นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนได้เข้าไปอยู่ในคำพิพากษาของศาล เพราะก่อนหน้านี้นั้นศาลไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน ดังกรณีที่ชาวบ้านปางแดง ซึ่งเป็นชนเผ่าในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกหลอกจากฝ่ายปกครองให้ลงมารับเอกสารที่อำเภอ แต่กลับถูกจับกุมในข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติ ในครั้งนั้นทนายความของผู้ถูกจับได้อ้างรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่าการจับกุมกรณีดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์ ตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้นได้ยกคำร้อง โดยอ้างทำนองว่า ศาลไม่ทราบเรื่องศักดิ์ศรีของมนุษย์ เพราะรัฐธรรมนูญใช้บังคับไม่ได้ หรืออะไรทำนองนั้น เป็นที่แปลกใจของผู้รู้กฎหมายโดยทั่วไป หรือในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2543 ไม่วินิจฉัยว่าการใส่ตรวนข้อเท้าแก่ผู้ต้องขังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์หรือไม่ เพราะผู้ต้องขังที่ร้องเรียนมานั้นได้ถูกส่งตัวกลับไปดำเนินคดียังต่างประเทศ ทำให้เหตุแห่งการวินิจฉัยได้หมดไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำการวินิจฉัยอีกต่อไป


 


การที่ศาลมีคำวินิจฉัยโดยอ้างถึงสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ หรือสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีนั้น น่าจะเป็น "ตุลาการภิวัฒน์" ในความหมายที่ถูกต้อง มิใช่กรณีที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้ให้อำนาจตุลาการเข้ามามีบทบาทในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น การเป็นคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะหน้าที่ดังกล่าวไม่ใช่บทบาทโดยตรงของตุลาการ


 


จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่น่าจะมีการผลักดันเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเพียงพอ โดยเรากำลังจะได้รัฐสภาที่มาจากตัวแทนประชาชนที่แท้จริงในไม่ช้านี้"


 


 


                                                                                                     ศราวุธ ประทุมราช 
                                บางตอนจากคอลัมน์: สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน:
"ตุลาการภิวัตน์" ที่แท้จริง


     9 ม.ค.2551--โลกวันนี้


 


 


 


……………...........


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


รายงาน: ปางแดง...ชาติพันธุ์ การดำรงอยู่ กับความหวังครั้งสุดท้าย !? (ตอน 1)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net