Skip to main content
sharethis

ไลลา มันโซร์ (ปัญญาชนคนข่าว)


เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อสันติภาพ ( คยนส.)


ที่มา : http://www.bungarayanews.com/news.php?id=285


 


 


 


 


ปมเงื่อนงำการตายของโต๊ะอีหม่ามบ้านกาหยี   ที่ยังไม่กระจ่างชัด


 


คำถามที่ยังไม่ได้รับคำตอบ คำสงสัยที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย อาจนำมาซึ่งความหวาดระแวงสงสัยและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐก็เป็นได้ หากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถให้ความกระจ่างชัดต่อเหตุการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่ตั้งคำถามและประชาสังคมกำลังสงสัย..........


 


เหตุเกิดในตอนเที่ยงของวันที่ 30 มกราคม 2552 วันที่ชาวบ้านได้ช่วยกันทำอาซูรอ และได้ทำการเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง ในช่วงเวลาตอนเที่ยงของวันศุกร์  ที่พี่น้องมุสลิมต้องทำการละหมาดใหญ่ร่วมกัน ณ หมู่บ้านกาหยี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี หน้ามัสยิดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่สายบุรี  


 


เมื่อนายอับดุลการิม ยูโซ๊ะ  อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกาหยี  วัย 46 ปี  ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในบ้านเลขที่ 167/1 ต.ตะลุบัน ไม่ไกลจากมัสยิดมากนัก ถูกถล่มด้วยอาวุธปืนที่ไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้  


 


ขณะที่โต๊ะอิหม่ามกำลังจอดรถจักรยานยนต์ด้านหน้ามัสยิด เพื่อขึ้นไปนำละหมาดวันศุกร์ คนจำนวนหนึ่งขับรถวิโก้สีขาวสี่ประตูมาจอดใกล้ๆ และคนในรถได้ใช้อาวุธปืนยิงและกระสุนปืนถูกลั่นไปยังบริเวณหน้าอกจำนวน 2 นัดตามด้วยบริเวณศีรษะอีก 2 นัดตามติดๆ แล้วรถยนต์คันดังกล่าวก็เยียบเครื่องแล่นหายไปอย่างไร้วี่แวว   และไม่สามารถหาคนผิดมาลงโทษได้


 


ผ่านไปไม่ถึง15 นาที เจ้าหน้าที่ทหารพร้อมตำรวจเดินทางมายังที่เกิดเหตุ พร้อมทั้งขอพาศพไปชันสูตรศพที่โรงพยาบาล แต่ได้รับการปฏิเสธจากญาติผู้เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ เพราะไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่และไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมที่จะให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขาได้


 


 



ฟาอีซะห์ สะแลแม


 


นางฟาอีซะห์ สะแลแม ภรรยาของโต๊ะอีหม่ามเล่าให้ฟังว่า ภรรยาโต๊ะอีหม่ามต้องรับภาระอุปการะเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพังด้วยการ ขายขนมหวานเล็กๆ น้อยๆ หน้าบ้านให้พอประทังชีวิตลูกๆ อีก 4  คนในช่วงเวลาที่โต๊ะอิหม่ามถูกควบคุมตัวในเรือนจำปัตตานี ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2550 ถึง 30  ตุลาคม 2551ในคดีความมั่นคงข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง และถูกคุมขังตลอดการพิจารณาคดี แต่สุดท้ายศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ 


 


พี่สาวโต๊ะอีหม่ามยังเล่าให้ฟังอีกว่า "หลังจากกระบวนยุติธรรมสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของโต๊ะอีหม่ามแล้ว ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมักจะมาค้นบ้านเพราะสงสัยว่าโต๊ะอีหม่ามน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราไม่เข้าใจว่าภาครัฐจะเอาอะไรกับพวกเราอีก ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมก็พิสูจน์แล้วว่าเราบริสุทธิ์ "


 


ตลอดระยะเวลา 3 เดือนหลังจากที่เขาได้รับอิสภาพ เจ้าหน้าที่ทำการค้นบ้านรวม 4 ครั้ง และทุกครั้งไม่มีการแสดงหมายค้นแต่อย่างใด ยกเว้นครั้งสุดท้ายและได้มีการนำแสดงเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง 


 


วันศุกร์ที่ 23 มกราคม 2551 เวลา 16.30 น. หนึ่งอาทิตย์ก่อนเกิดเหตุการณ์สลดใจเป็นครั้งสุดท้ายของการเข้าตรวจค้นบ้านเป้าหมายเพื่อค้นหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามข้อสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น  


 


เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยนาวิกโยธินพร้อมตำรวจ สภ. สายบุรี  เข้าทำการตรวจค้นบ้านของโต๊ะอีหม่าม  โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และสั่งให้ภรรยาเซ็นชื่อรับทราบการตรวจค้น   พร้อมทั้งกล่าวทิ้งท้ายว่า "อยู่ดีๆ  หน่อยนะ เพราะบางครั้งเราจำเป็นต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย" จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จากไปโดยไม่มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น


 


นางสาวยาวียะห์  (ไม่ขอเอ่ยนามสกุล)  หนึ่งในประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ ปัจจุบันเธอเป็นครูสอนศาสนาในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์ที่จะเอ่ยถึงสถาบันที่ตนสังกัด เป็นอีกหนึ่งเสียงที่เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของภาครัฐ เพราะโต๊ะอีหม่าม เป็นที่บุคคลที่เป็นที่รักของคนในพื้นที่แห่งนี้  อาจด้วยเหตุที่เขาเป็นคนที่ อัธยาศัยดี เสียสละ ตนเองยอมอดเพียงขอให้คนอื่นได้อิ่ม


 


" รู้สึกสลดใจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ที่ผ่านมาเราไม่เคยคาดหวังกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ไม่เคยคาดหวังกับกระบวนยุติธรรมที่ภาครัฐหยิบยื่นให้  เพราะที่ผ่านมา คำว่า  สังคมพหุวัฒนธรรม สันติวิธี สมานฉันท์ ความเป็นธรรมและสันติภาพที่ภาครัฐจะหยิบยื่นให้  มันก็เป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู  แต่ไม่เคยเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ สิ่งที่เราเรียกร้อง เราแค่อยากให้รู้ว่า ชาวบ้านมีสิทธิที่จะเรียกร้องและป่าวประกาศว่า  ตนเองกำลังทุกข์ร้อนและทรมานมากน้อยเพียงใด "   


 


เธอกล่าวอีกว่า รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ทำงานในพื้นที่  จะหึงและหวงคนในพื้นที่นี้มากเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะคนในพื้นที่แห่งนี้จะมีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีอะไรมักจะกระทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่เข้าใจว่าพวกเขารู้สึกไม่ดีต่อพวกเราเพราะเหตุผลใด จนบางครั้งเรารู้สึก ว่า ภาพแห่งความเป็นพี่น้อง ความร่วมมือและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในพื้นที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่พวกเขาหวาดระแวง ทำไมพวกเขาจึงตีตราว่าที่นี่  เป็นฐานของแนวร่วมผู้ปฏิบัติการก่อความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในมิติต่างๆ นานา


 


นอกจากนั้นเธอยังได้กล่าวถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า รัฐบาลชุดนี้จะกล่าวเสมอว่าจะเป็นรัฐบาลที่เน้นในเรื่องความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เราก็ขอให้ปฏิบัติตามสิ่งที่ตนเองพูดด้วย ถ้าเพียงพูดแต่ปาก แล้วทำไม่ได้อย่ามาพูดดีกว่า 


 


เหล่านี้  คือสิ่งที่นักศึกษาได้รับจากการลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียน


 


"สิ่งที่น่าแปลก คือ ทำไมถึงสกัดจับคนก่อเหตุไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทุกเส้นทางมีการตรวจค้นอย่างเข้มงวด   มีด่านทหารคอยตรวจตราความสงบเรียบร้อยทุก 100 เมตร  แต่ทำไมคนร้ายจึงสามารถลอยนวลอย่างไร้ร่องรอย"  เสียงที่เล็ดลอดออกมาจากปากชาวบ้านที่นักศึกษาได้พบปะพูดคุย


 


และคำถามเหล่านี้ ยังคงกังวานอยู่ในความคิดและความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่และประชาสังคมที่ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่กลับไม่มีการชี้แจงให้กระจ่างชัดแต่อย่างใด


 


หากเหตุการณ์ยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เชื่อว่าความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาครัฐคงจะไม่หลงเหลืออีกเลย ตราบใดที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษและไม่ให้ความกระจ่างชัดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net