Skip to main content
sharethis


8 มี.ค.52  จากกรณีศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษที่มาบตาพุด จังหวัดระยองและมีคำพิพากษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จ่ายค่าชดเชยผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแก่ชาวบ้านแม่เมาะนั้น

 


นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของ กฟผ. ขนาด 4,000 เมกกะวัตต์กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ชาวบ้านในจังหวัดประจวบฯจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะพื้นที่จังหวัดประจวบฯ ถูกรัฐบาลและสภาพัฒน์ กำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก  และ กฟผ.จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งกำลังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ศึกษาตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก ซึ่งถือว่าเดินตามรอยมาบตาพุดและแม่เมาะไปติดๆ


 


"เราเห็นกันแล้วว่า กลไกการควบคุม ดูแล ป้องกัน บังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นจริง ทุกโรงงานอุตสาหกรรม  ทุกโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ผ่านการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก่อนสร้างกันทั้งหมด มีคณะกรรมการไตรภาคี มีกลไกการติดตามตรวจสอบมลพิษ แต่ทั้งสิ่งแวดล้อมและชีวิตคนก็ยังได้รับผลกระทบจากมลพิษขั้นรุนแรงมาก"  


 


แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กล่าวต่อว่ายิ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พยายามยื้อเวลาประกาศเขตควบคุมมลพิษในมาบตาพุดออกไปมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกลไกในการควบคุมมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม มากขึ้นเท่านั้น


 


ยิ่งกรมควบคุมมลพิษมาประกาศว่ามีการใช้เงินเป็นหลายหมื่นล้านในการดูแลมลพิษที่มาบตาพุดไปแล้ว นั่นก็ยิ่งทำให้เรารู้ว่าไม่ประสบความสำเร็จในการควบคุมมลพิษอย่างแท้จริง


 


ยิ่งเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรม แสดงความเห็นแก่ตัวห่วงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองโดยไร้ซึ่งการคำนึงถึงมนุษยธรรม  ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม  นั่นเท่ากับยิ่งปลุกกระแสการต่อต้านการเปิดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ๆทั่วประเทศ  และการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ยิ่งสร้างความน่าตกใจ เพราะค่าชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านที่เสียหายจากมลพิษ ราคาถูกจนน่าใจหาย


 


เธอกล่าวด้วยว่า นี่เป็นการพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า อุตสาหกรรม ชุมชน ท่องเที่ยว  อยู่ร่วมกันไม่ได้ ตราบใดที่รัฐบาลยังแก้ไขปัญหามลพิษที่มาบตาพุดไม่ได้  ก็ไม่สมควรเปิดพื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่เพราะนั่นเท่ากับกระจายมลพิษออกไป


 


"ขณะนี้การป้องกันมลพิษที่ดีที่สุดในประเทศไทย  คือไม่ให้สร้าง เพราะสร้างไปแล้วก็คุมมลพิษไม่ได้จริง และสุดท้ายคนรับกรรมก็คือชาวบ้านที่อยู่รอบๆ" สุรีรัตน์กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net