Skip to main content
sharethis

มติชนออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "วิกฤตเศรษฐกิจโลก : ทำไมจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่วิกฤตการเงิน แต่เป็นวิกฤตทางปัญญา" ผ่านระบบวีดีโอลิงค์ จากเมืองดูไบ ประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มายังสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในฮ่องกง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม เวลา 12.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ในเวลาเดียวกันมีการถ่ายทอดภาพและเสียงมายังสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย ที่อาคารมณียาด้วย นอกจากนี้ยังมีการแจกเอกสารปาฐกถาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยท้ายคำแปลภาษาไทย มีข้อความว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประธานมูลนิธิสร้างอนาคตที่ดีกว่า (The Building a Better Future Foundation) และอดีตนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดของประเทศไทย


 


00000


 


ฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้สถาบันการเงินล่มสลาย จนได้ลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นจากนักการเงินใช้จ่ายเงินเกินตัวอย่างไร้เหตุผล การกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินที่ไร้ประสิทธิภาพ และถ้าเราเชื่ออีกว่า การโยกย้ายผ่องถ่ายเงินไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ผมคิดว่าเรากำลังจะพลาดประเด็นที่สำคัญของปัญหาไปอย่างน่าเสียดาย



เราทราบกันดีว่าต้นเหตุของวิกฤตครั้งนี้ เกิดขึ้นชัดเจนตั้งแต่ปี 1997 โดยการโจมตีค่าเงินบาท และลุกลามกลายเป็น "วิกฤตการเงินของเอเชีย" ทุกประเทศในเอเชีย ยกเว้นเกาหลีเหนือได้ดำเนินนโยบายตาม "ฉันทามติแห่งวอชิงตัน" (Washington′s Mantra) ซึ่งแต่ละประเทศประสบความสำเร็จมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่ดูเหมือนว่าประเทศที่เดินตาม "ฉันทามติแห่งวอชิงตัน" อย่างเคร่งครัดในครั้งนั้น จะกลับกลายเป็นประเทศที่ได้ผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการเงินรอบใหม่ในครั้งนี้ 
 
"ฉันทามติแห่งวอชิงตัน" ที่ทุกประเทศท่องจำจนขึ้นใจ คือ คำว่า "ตลาดเสรี" (Free Markets) ตลาดที่เป็นอิสระจากการกำกับควบคุมดูแล และจะนำไปสู่ความมั่งคั่งอย่างไม่มีขีดจำกัด สำหรับคนทุกหมู่เหล่า
 


ผมเติบโตมาในประเทศที่ได้รับประโยชน์มหาศาล จากการยอมรับนโยบาย ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ยุคสงครามอินโดจีน ชนชั้นปกครองเชื่อว่า ประเทศจะประสบความสำเร็จและก้าวหน้าด้วยการเปิดประเทศ ทำตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับใครก็ตามที่ต้องการทำธุรกิจกับเรา โดยเฉพาะเมื่อมีข้อเสนอดี ๆ จาก 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่เวลานั้นเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก 
 


แนวความคิดจากต่างประเทศได้รับการยอมรับและนำไปปฏิบัติด้วยดี โดยไม่มีการตั้งคำถามว่า เราจะถูกกลืนเข้าไปในวังวนห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทาน ของสินค้าและบริการหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งระบบการเงินที่เราไม่สามารถตีตัวออกห่างได้ แม้ในยามที่เราประสบกับวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุด เราไม่สามารถมีปากเสียงที่จะไปต่อกรว่า ความเชื่อมโยงต่างๆ เหล่านี้ ถูกบงการมาอย่างไร เราต้องปล่อยไปตามกระแส หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นพวกชาตินิยมและจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ การพัฒนาทักษะจากจุดแข็งที่มีอยู่ของคนในประเทศ ถูกกล่าวหาว่าเป็นสิ่งเชื่องช้าล้าหลัง 
 


การหมุนเวียนของเงิน และความหลากหลายของตราสารทางการเงินที่ถูกสร้างขึ้นจากศูนย์กลางการเงินต่าง ๆ ของโลกนั้น เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณวันต่อวัน ความรุ่งเรืองและความถดถอยเป็นวัฏจักรของธรรมชาติ แต่จะเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ถ้าเกษตรกรและคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมของเราต้องเดือดร้อน โดยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาภายในประเทศ แต่วิกฤตกลับเกิดเพราะรัฐบาลในขณะนั้นไม่มีความรู้ รู้ไม่เท่าทันการไหลเวียนของตราสารทางการเงินในตลาดต่างประเทศที่อยู่ห่างไกลจากอีกซีกโลกหนึ่ง
 


วิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 ทำให้เราต้องกลับมาเริ่มต้นคิดใหม่ว่า เราจะสามารถก่อร่างสร้างตัวได้อย่างไร ในแนวทางที่มีเหตุมีผล ซึ่งจะทำให้เราสามารถควบคุมเศรษฐกิจ ให้ดำเนินไปในแบบอย่างที่เราอยากจะให้เป็นได้มากขึ้น ผลของการคิดอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ถูกร่างเป็นนโยบายของพรรคการเมือง ที่ผมก่อตั้งขึ้น ด้วยแนวความคิดหลัก ที่ต้องการให้คนไทยทั่วทั้งประเทศทุกพื้นที่ นำจุดเด่น จุดได้เปรียบ ของตนเองมาผลิตสินค้าและบริการออกไปขาย และแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพได้ในตลาดโลก ทั้งยังเสนอวิธีการช่วยเหลือและพัฒนาความได้เปรียบเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม
 


แนวความคิดนี้ ไม่เชื่อเรื่องการปิดประเทศ การปิดประเทศอาจเป็นไปได้ เพราะประเทศไทย เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ แต่เราเลือกที่จะไม่ถอนตัวจากเศรษฐกิจโลก แต่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น และเป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ผมมีความยินดีที่จะรายงานว่า หลายนโยบายที่ผมได้พัฒนาไว้ รัฐบาลต่อ ๆ มาของไทยเห็นด้วยและนำมาใช้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้บางครั้งจะถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็นอย่างอื่น แต่สาระสำคัญของนโยบายยังคงอยู่เหมือนเดิม



ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงวิกฤตการเงิน แต่เป็นวิกฤตทางปัญญาของโลก นาย โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ถ้าคุณไปถามผู้เชี่ยวชาญว่า จะแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้อย่างไร คำตอบที่คุณจะได้รับ น่าจะเป็นคำตอบว่า "ผมจนปัญญาจริง ๆ ครับ"


 


วิกฤติครั้งนี้เป็นวิกฤตทางปัญญาของโลก (Intellectual Crisis) ซึ่งเป็นผลจากการปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง และที่สำคัญที่สุดปฏิเสธที่จะคิดแก้ปัญหาจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy) 
 


ความสำเร็จของอเมริกาและญี่ปุ่น เกิดขึ้นจากการที่ประเทศทั้งสองเรียนรู้ความก้าวหน้าจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป รวมทั้งการพัฒนาทักษะความสามารถในการผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อตอบสนองความต้องการของโลก นวัตกรรมใหม่ถูกคิดค้นด้วยมันสมองและแรงงานที่มีคุณภาพ


 


แต่ในปัจจุบัน กลับไม่เป็นเช่นนั้น นักศึกษาที่ฉลาดที่สุด เก่งที่สุด ดีที่สุด เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และ ญี่ปุ่น ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กลับหลั่งไหลไปทำงานในธุรกิจบริการด้านการเงินการธนาคาร ดังนั้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่จึงถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่สัญญาว่า จะให้ผลตอบแทนสูงลิบลิ่วเท่านั้น และถ้าหากว่ามีใครกล้าตั้งคำถามว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะมีความยั่งยืนมั่นคงเพียงใด คนแหล่านั้นก็อาจจะถูกโจมตีได้ว่า เป็นพวกมีความคิดล้าหลังและเป็นพวกต่อต้านความเจริญก้าวหน้าของโลกยุคโลกาภิวัฒน์
 


วันนี้ไม่มีใครสามารถหมุนเวลาย้อนกลับ และถอนตัวจากเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ได้ สิ่งที่เศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ต้องการ คือ การถูกกำกับดูแลระดับโลก (Globalized Regulation) ซึ่งยังไม่มีประเทศใดกล้าที่จะพูดถึง เพราะการทำเช่นนั้น หมายถึงการท้าทายความเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของสหรัฐอเมริกา


 


คู่ค้าที่สำคัญอย่างประเทศจีน มีประสบการณ์มากมายในอดีต น่าจะมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในขณะนี้ได้ แต่ก็ยังไม่กล้าทำเช่นนั้น เพราะด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ไม่ต้องการแสดงให้เห็นว่า จีนอยากแข่งขัน และเป็นผู้นำของโลกแทนสหรัฐอเมริกา จีนต้องการคงบทบาทเป็นแค่เพียงผู้สนับสนุนที่ดีเท่านั้น 
 


ขณะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป กำลังหาทางแก้ปัญหาวิกฤตทางปัญญาอยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กำลังหาทางที่จะผลิตสินค้าและบริการอะไรสักอย่างที่ดีกว่า การสร้างตราสารทางการเงิน และเป็นความต้องการของตลาดโลกชิ้นใหม่ที่สำคัญ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่จีนและอินเดียไม่สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า


 


อะไรคือหนทางรอดของประเทศเล็ก ๆ ที่เหลืออยู่ในภูมิภาคเอเชีย ?
 


เราต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้ ด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่ ซึ่งไม่ด้อยไปกว่าใครทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ คนของเราได้รับการศึกษาที่ดีกว่าในอดีตมาก ประกอบกับคนงานของเราไม่ได้มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน เหมือนกับที่ชาวอเมริกันในอุตสาหกรรมรถยนต์และเหล็กได้รับมายาวนาน 


 


ดังนั้นเราจึงสามารถฝึกอบรมคนงานของเราใหม่ได้ไม่ยาก โดยไม่ต้องกลัวกับการต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้จัดการทั้งหลาย ที่หมดไฟในการทำงานและขาดแคลนความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ 
 


อุตสาหกรรมการเกษตรของเรา ก็ก้าวมาถึงขั้นที่สามารถปรับปรุงคุณภาพและความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายทั่วโลก อุตสาหกรรมระดับหมู่บ้านก็สามารถปรับให้อยู่ในรูปของอุตสาหกรรมขนาด กลางและขนาดเล็กคล้ายกับของประเทศอิตาลีที่สามารถเอาตัวรอดได้ในยาม วิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วน


 


ระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative Economy) ไม่จำเป็นที่จะต้องถูกผูกขาดเฉพาะชาวยุโรปเท่านั้น ระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ และจะต้องถูกพัฒนาอย่างจริงจัง จะเป็นทางออกที่สำคัญของประเทศในอนาคต จะเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ จะทำให้เกิดการสร้างงานที่มั่นคงและสังคมที่แข็งแรงในอนาคต
 


ทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมานี้เป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างมีเป้าหมายซึ่งสามารถทำได้ ทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ใช่สิ่งที่ไม่สำคัญแต่คงไม่มีประเทศใดใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ทั้งหมดไปกับการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพราะกลัวว่าประเทศจะประสบกับภาวะวิกฤตทางการเงิน


 


ด้วยเหตุนี้เองที่แนวทางในการพัฒนาตลาด "พันธบัตรเอเชีย" (Asia Bonds) ที่ผมเป็นผู้ริเริ่ม จึงมีบทบาทสำคัญ หากจีนและญี่ปุ่นยอมรับที่จะเป็นผู้นำในการนี้ ประกอบกับความร่วมมือของประเทศอื่น ๆ ที่มีทุนสำรองส่วนเกิน เราจะมีแหล่งเงินทุนสำหรับใช้พัฒนาเศรษฐกิจของเราในอนาคตได้อย่างมั่นใจ 
 


ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าประเทศในเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในโลกจะอยู่ได้อย่างมั่นคง โดยไม่คำนึงถึงประเด็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาล ซึ่งขณะเดียวกันเรายังต้องรักษาและยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ดังการศึกษาของ "อมาตยา เซน" (Amartya Sen) ที่แสดงให้เห็นว่า "ระบอบประชาธิปไตย เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยป้องกันปัญหาความอดอยาก" มีแต่การพัฒนาที่สมดุลที่คนจนและคนด้อยโอกาสไม่ถูกละเลยเท่านั้น ที่จะนำมาซึ่งเสถียรภาพในระยะยาว
 


เราจำเป็นต้องเรียนรู้ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ใช้นโยบายยืดหยุ่นและละเอียดอ่อน ในการปกครองประชาชนและการบริหารประเทศ จนประสบความสำเร็จอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้จีนกลายเป็นโรงงานของโลก ผลิตสินค้า ทำรายได้ และที่สำคัญมีเงินออมมากมายเพียงพอ ที่จะอุดหนุนการใช้จ่ายการบริโภคของประชาชนในประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้
 


จากวิกฤตครั้งนี้ ถึงเวลาแล้วที่จีนจะต้องใช้เงินออมที่มีอยู่ เป็นแหล่งทุน สำหรับการสร้างโอกาส สร้างความมั่งคั่ง ให้กับประชาชนของตน ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ทั่วทั้งประเทศทัดเทียมและดียิ่งขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะการทำเช่นนี้นอกจากจะช่วยลดแรงกดดันทางสังคมและการเมืองที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ยังช่วยลดแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาได้อีกด้วย
 


เราต่างรู้ดีว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้...ร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิดไว้มาก จนในที่สุดรัฐบาลอาจหนีไม่พ้น จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่กำลังล่มสลาย แต่รัฐบาลของเราต้องให้ความช่วยเหลืออย่างมีความซื่อสัตย์ทางปัญญา กล้าปฏิเสธความไม่ถูกต้อง หากจำเป็นต้องเข้าไปรับผิดชอบความเสียหายของธุรกิจใดๆ ก็ตาม ต้องทำอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รัฐบาลต้องกล้าที่จะประกาศว่า เงินภาษีของประชาชนที่รัฐบาลจะนำไปให้ความช่วยเหลือนั้นจะต้องไม่ถูกนำไปจ่ายเป็นค่าโบนัสให้กับบรรดาผู้บริหารทั้งหลายที่สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจนั้น
 


ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะไม่มีทางแก้ไขได้ ถ้านักเศรษฐศาสตร์ยังคิดว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้า ต้องพึ่งพาพลังเศรษฐกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ถึงวันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า ความสามารถในการชำระหนี้ต่างหากคือกุญแจสำคัญไม่ใช่เรื่องของขนาดเท่านั้น "ขนาด" จะมีบทบาทช่วยได้ ตราบเท่าที่ "ขนาด" และความสามารถในการชำระหนี้เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน 
 


ธุรกิจจะเติบโตได้ตราบเท่าที่มีความสามารถในการชำระหนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ย่อมเกิดจากความสามารถในการสร้างรายได้สุทธิ (Net Income) เงินออมจะมีประสิทธิภาพได้ ก็ต่อเมื่อเงินออมนั้นมาจากรายได้สุทธิเช่นกัน 
 


สมมติว่าเราสามารถคลี่คลายวิกฤตสถาบันการเงินของโลกได้แล้ว ธนาคารกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง เพราะได้รับการชดเชยและสนับสนุนจากรัฐบาล ธนาคารเหล่านั้นจะทำธุรกิจอะไร พวกเขาจะให้ใครกู้เงิน และจะให้เงินกู้เพื่อทำธุรกิจแบบเดิมๆ อีก...อย่างนั้นหรือ 
 


วันนี้ ท่าเรือสำคัญของโลกเต็มไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ที่อัดแน่นด้วยสินค้าที่ผลิตแบบเดียวกัน เหมือนกัน จำนวนมากมายมหาศาล เราจะผลิตสินค้าแบบนั้นเพิ่ม ขึ้น.....อีกหรือ คนงานจีนจะยังเดินหน้าผลิตรถยนต์เหมือนกับที่คนงานอเมริกันคงผลิตและขายไม่ออก....อีกหรือ
 


เราต้องยอมรับว่าสินค้ากำลังล้นตลาด การผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรม (Mass Production) มีขีดจำกัด เราจึงจำเป็นต้องสนับสนุนการสร้างรายได้แบบใหม่ด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่อาศัยความได้เปรียบจากสินทรัพย์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาแห่งชนชาติ และการผลิตด้วยทักษะแรงงาน ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างตลาดที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างท้องถิ่นที่คึกคักและมีชีวิตชีวา
 


วันนี้...จึงเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องพยายามค้นหาสินค้าและบริการเหล่านั้นให้พบ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านเงินทุนในทุกวิถีทาง เพื่อทำให้ธุรกิจเหล่านี้อยู่รอด เราจึงจะสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงและสังคมที่แข็งแรงได้ในระยะยาว
 


ผมเชื่อว่า อเมริกา มีพลังของภูมิปัญญาในหลากหลายแขนง ซึ่งสามารถสร้างสรรค์สินค้าและบริการอย่างมีคุณภาพสูง โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคากับใคร โลกกำลังต้องการพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ โลกกำลังต้องการเทคโนโลยีและบริการที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม 
 


อเมริกามีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และสามารถสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกยุคใหม่นี้อย่างไม่ยากเย็น เมื่อสหรัฐอเมริกา เริ่มที่จะใช้เทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเหล่านี้ ก็จะเป็นการบังคับให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียรวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในโลก ต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ 
 


สติปัญญาของชาวอเมริกัน สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ ให้เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อชาวอเมริกันเอง รวมทั้งต่อประเทศอื่นๆ ในโลก เพียงแต่ชาวอเมริกันต้องยอมรับว่า "โลกในอนาคตจะต้องไม่ถูกกำหนดจากวอลสตรีท ที่สำคัญสินค้าและบริการต้องมีความสัมพันธ์กับการจ้างงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และนำมาซึ่งรายได้สุทธิ (Net Income) ที่คุ้มค่ากับความตั้งใจที่ใส่ลงไป"
 


การสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy) มีความสำคัญอย่างยิ่ง การค้าตราสารทางการเงิน (Paper Trading) จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่ออยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสมเท่านั้น 
 


หากบรรดาผู้นำทางปัญญาในสหรัฐอเมริกา ยอมรับแนวคิดนี้ได้เร็วเท่าใด ผลดีที่จะเกิดขึ้นต่อเราทุกคนในโลกก็จะมีมากขึ้น...เท่านั้น





00000


 


ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า จะนำเอาเทปปาฐกถาของพ.ต.ท.ทักษิณ ดังกล่าวมาออกกาศทางสถานีโทรทัศน์ดีทีวี ในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม เวลา 20.30 น.และวันพุธที่ 18 มีนาคม เวลา 20.30 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net