Skip to main content
sharethis

อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป :  เตือนความเสี่ยงความขัดแย้งในไทย ควรพิจารณาความช่วยเหลือจากเพื่อนนานาชาติ ซึ่งแม้แต่ประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าก็เคยตอบรับความช่วยเหลือเช่นนี้

0 0 0

กรุงเทพฯ/บรัสเซลส์, 30 เมษายน 2553: ระบบการเมืองของไทยกำลังชะงักงันและดูเหมือนว่ารัฐบาลจะไม่สามารถฉุดรังสถานการณ์ซึ่งกำลังขยายไปสู่ความขัดแย้งที่กว้างขวางมากขึ้น การเผชิญหน้ากันบนท้องถนนในกรุงเทพฯ ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงรุนแรงมากขึ้นและอาจจะนำไปสู่สภาวะสงครามกลางเมือง ความแตกแยกที่เกิดขึ้นภายในประเทศอาจต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากบุคคลที่เป็นกลางจากภายนอก  ประเทศไทยควรจะพิจารณาความช่วยเหลือจากเพื่อนนานาชาติเพื่อป้องกันมิให้ความรุนแรงขยายตัวออกไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้แต่ประเทศประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าก็เคยตอบรับความช่วยเหลือเช่นนี้

สถานการณ์ในพื้นที่
นับถึงขณะนี้ มีผู้ที่เสียชีวิตจากการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า “กลุ่มคนเสื้อแดง” อย่างน้อย 26 คน ตัวเลขนี้อาจจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหากกองทัพดำเนินการสลายกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมกันอย่างที่ใจกลางกรุงเทพฯ กลุ่มคนเสื้อแดงเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาในทันทีและจัดการเลือกตั้ง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องและมอบให้ทหารเข้าจัดการกับการชุมนุม

กรุงเทพฯ อยู่ในสภาวะตึงเครียด กลุ่มคนเสื้อแดงได้ทำให้กิจกรรมในย่านศูนย์กลางธุรกิจของเมืองหลวงที่เคยคึกคักต้องหยุดมาหลายสัปดาห์แล้ว ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นต้องย้ายออกเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงต่อการตกอยู่ท่ามกลางการปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุมซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของพวกเขาเพียงไม่กี่เมตร มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หลายสิบครั้งโดยกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย  และหลายคนก็รอคอยให้ทหารดำเนินการเคลื่อนย้ายคนเสื้อแดงออกจากถนน

ความพยายามในการเจรจาที่ดำเนินการภายในประเทศล้มเหลว   กลุ่มภาคประชาสังคมได้พยายามประสานการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ประท้วงแต่ว่าไม่สามารถตกลงกันเรื่องกรอบเวลาในการยุบสภาได้ กลุ่มคนเสื้อแดงได้เสนอ 30 วัน แต่ว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ยื่นข้อเสนอเก้าเดือน  รอยแยกระหว่างกลุ่มชนชั้นนำอันประกอบไปด้วยผู้นำอาวุโสที่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์ นายทหารที่มีอำนาจและกลุ่มผู้สนับสนุนชนชั้นกลาง กับกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งหลายคนในนั้นเป็นผู้สนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ห่างออกจากกันมากขึ้น

ในขณะที่บางคนกล่าวโทษนายทักษิณว่าอยู่เบื้องหลังการเผชิญหน้าครั้งนี้ การประท้วงได้ก้าวไปไกลกว่าการควบคุมของเขา คนไทยจำนวนมากเกิดความรู้สึกผิดหวังกับกลุ่มชนชั้นนำเพราะพวกเขาถูกกีดกันจากประโยชน์ที่เกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลายทศวรรษที่ผ่านมาและไม่พอใจกับการโค่นล้มรัฐบาลที่คนจนในชนบทเลือกมา อาจเป็นความจริงที่คนไทยหลายคนยากที่จะยอมรับว่า ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีความรุนแรงซึ่งมีประวัติศาสตร์ของต่อสู้กับระหว่างขบวนการกบฎกับรัฐบาลซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงการปกครองระบอบเผด็จการ ถ้าหากรัฐบาลเข้าสลายการชุมนุม มีความเป็นไปได้ว่าความรุนแรงในกรุงเทพฯ จะขยายตัวออกไป

วิกฤตการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่าหกทศวรรษ พระมหากษัตริย์อาจจะไม่อยู่ในสถานะที่จะเข้าช่วยจัดการแก้ไขความขัดแย้งได้ หรือถึงแม้พระองค์มีพระราชประสงค์ วิกฤตในครั้งนี้ก็มีความซับซ้อนกว่าในครั้งก่อนๆ ที่พระองค์ทรงเข้าแก้ไข   และหากไม่สำเร็จ ก็อาจจะมีผลต่อสถานภาพและบารมีของสถาบันกษัตริย์

รัฐบาลควรตระหนักว่าการปราบปรามอย่างรุนแรงจะเป็นสิ่งที่ทำลายพวกเขาเองและอาจทำให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น แกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงเองก็ต้องยอมรับว่า การท้าทายยั่วยุและการใช้ความรุนแรง มีแต่จะทำลายการเรียกร้องประชาธิปไตยของพวกเขาและความชอบธรรมของขบวนการต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

ควรมีการดำเนินการอะไร
สิ่งที่ควรจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ:

  • การจัดตั้งกลุ่มประสานงานระดับสูงที่นำโดยผู้นำที่ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติ (a high-level facilitation group of international figures)   นายโจเซ รามอส ฮอร์ตา ประธานาธิบดีติมอร์ ตะวันออก ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ ด้วยความริเริ่มของท่านเอง ซึ่งท่านอาจจะได้ร่วมกับบุคคลอื่นๆ โดยอาจพิจารณาคัดเลือกจากผู้นำในกลุ่ม The Elders* หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีประสบการณ์และความคุ้นเคยเกี่ยวกับประเทศไทย

  • กลุ่มดังกล่าวนี้ ซึ่งควรจะทำงานร่วมกับผู้นำของไทยที่ได้รับการยอมรับ ควรผลักดันให้รัฐบาลและกลุ่มคนเสื้อแดงดำเนินการเพื่อหยุดความรุนแรง เช่น รัฐบาลควรจะหยุดปฏิบัติการทางการทหาร และกลุ่มคนเสื้อแดงก็ควรจะจำกัดพื้นที่การชุมนุมให้เล็กลงเพื่อคงไว้เป็นเพียงสัญลักษณ์การต่อสู้แต่ไม่ขัดขวางการดำเนินชีวิตของประชาชนในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ควรจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (a national unity committee) โดยคัดเลือกจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ

  • คณะกรรมการชุดนี้ควรดำเนินการเพื่อริเริ่มการเจรจา โดยมีกลุ่มผู้นำในระดับนานาชาติให้การช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อแสวงหาข้อตกลงในการตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (an interim government of national unity) เพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง กระบวนการการนี้อาจมีการถกเถียงขัดแย้งกัน และไม่ควรจะรีบเร่งจัดการเลือกตั้งอย่างที่เรียกร้อง นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวนี้จะต้องคัดเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  แต่ว่ารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ควรจะมาจากบุคคลที่ได้รับการเคารพเชื่อถือและเป็นกลางซึ่งมาจากกลุ่มคนหลากหลายสาขา

  • คณะกรรมการนี้ควรจะดำเนินการจัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อแสวงหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์การปะทะเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับรัฐบาลบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในครั้งนี้

เมื่อสามารถควบคุมวิกฤตได้แล้วและหลักแห่งกฎหมายได้กลับคืนมาสู่สังคมไทย การเจรจาในทางการเมืองจะได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร และอาจจะต้องการกระบวนการสร้างความเชื่อมั่น  รวมถึงการระบุถึงความรับผิดชอบของทั้งสองฝ่ายในเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น  เราจำเป็นจะต้องนำการเมืองกลับไปสู่เวทีรัฐสภา ชิวิตทางการเมืองของคนไทยจะต้องเริ่มต้นอีกครั้งด้วยการเลือกตั้งครั้งใหม่  และอาจจะหมายรวมถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่ฉบับที่ร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของทหาร

 

-----------------------------------------------------------------------------

The Elders เป็นกลุ่มอิสระที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้นำโลกซึ่งนำโดย นายเนลสัน มันเดลา นักต่อสู้สิทธิคนผิวดำในประเทศแอฟริกาใต้ ผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้นำในกลุ่มนี้ทำงานร่วมกันเพื่อนำประสบการณ์ของพวกเขามาใช้ในการสนับสนุนการสร้างสันติภาพ การแก้ไขปัญหาความทุกข์ทรมานของมนุษยชาติและส่งเสริมประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติ   ในปัจจุบัน The Elders มีสมาชิกทั้งหมดสิบท่าน ซึ่งรวมถึง นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และมีอีกสองท่านเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ คือ นางออง ซาน ซูจี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และนายเนลสัน มันเดลา ในช่วงที่ผ่านมา The Elders ได้เข้าไปมีบทบาทในประเทศซิมบับเว ซูดาน ไซปรัส พม่าและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ดูต้นฉบับแถลงการณ์ภาษาอังกฤษได้ที่  www.crisisgroup.org.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net