Skip to main content
sharethis

สมาคมต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ (RSPCA) ของอังกฤษระบุว่า การเลี้ยงไก่ในไทยในหลายปัจจัย ทำให้ไก่ไทยมีคุณภาพดีกว่าไก่อังกฤษ เช่น พันธุ์ไก่, การเติบโต, พื้นที่เพาะเลี้ยง การพักผ่อนของไก่

 
4 พ.ย. 2553 - สมาคมต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ (RSPCA) ของอังกฤษระบุว่า ผู้บริโภคที่มีความเป็นห่วงในด้านสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อไก่ในอังกฤษ และควรหันมาบริโภคไก่นำเข้าจากไทยแทน
 
สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษระบุว่าองค์กร RSPCA ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านทารุณกรรมสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษออกมาบอกว่า คุณภาพของเนื้อไก่ที่นำเข้าจากผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างไทยและบราซิล มีมาตรฐานการผลิตสูงกว่าของอังกฤษเอง
 
ในวันเดียวกันนั้นเองทางองค์กรพิทักษ์สัตว์ก็เผยแพร่วิดิโอขั้นตอนการผลิตเนื้อไก่ "จากสายพานสู่การสังหาร" ซึ่งเป็นภาพของลูกเจี๊ยบเพศผู้ที่อุตสาหกรรมไข่ไก่คัดแยกออกมา โดยองค์กรมังสะวิรัส Viva! กล่าวว่า มีลูกเจี๊ยบราว 30-40 ล้านตัวต่อปี ที่ถูกสังหารด้วยการรมแก๊ส หรือโดยการโยนเข้าไปในเครื่องบดไฟฟ้า
 
RSPCA กล่าวอีกว่า การเลี้ยงไก่ในไทยให้พื้นที่กับไก่มากกว่า โดยไก่เลี้ยงของไทยจะมีเนื้อที่เพาะเลี้ยง 13 ตัวต่อตารางเมตร ขณะที่ในอังกฤษจะใช้เนื้อที่เพาะเลี้ยง 20 ตัวต่อตารางเมตร นอกจากนี้ไก่ไทยยังมีการเลี้ยงยืดอายุมากกว่าไก่อังกฤษคือให้มีอายุถึง 42 วัน เทียบกับไก่อังกฤษที่มีอายุเพียง 35 วัน นอกจากนี้ยังมีเลาให้ไก่ได้พักมากกว่า โดยจะให้อยู่ในความมืด 6 ชั่วโมง ขณะที่ในอังกฤษให้อยู่ในความมืด 4 ชั่วโมง
 
ดร.มาร์ค คูปเปอร์ นักวิทยาศาสตร์จาก RSPCA ได้ไปสำรวจฟาร์มเลี้ยงไก่ในไทยเมื่อปีที่แล้ว (2552) และในปีนี้ (2553) ก็ได้ไปสำรวจฟาร์มในบราซิล เขาให้สัมภาษณ์กับ The Independent ว่า มาตรฐานเนื้อไก่ในบราซิลมีบางด้านที่ดีกว่าด้วยซ้ำ และผู้บริโภคก็คิดผิดเรื่องที่ว่าไก่ในอังกฤษถูกเลี้ยงมาด้วยมาตรฐานที่ดีกว่าสัตว์ปีกราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงและอสังหาริมทรัพย์ถูกกว่า
 
"จากที่ผมพบเห็นมา ทำให้ควรประเมินในทางตรงกันข้ามคือไก่ที่มาจากไทยมีมาตรฐานที่ดีกว่าอุตสาหกรรมเนื้อไก่ที่คุณซื้อหากันที่นี่" ดร.คูปเปอร์ กล่าว
 
"บราซิลก็เช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่นี่มีหลากหลายคุณภาพ แต่ก็เป็นเรื่องผิดที่จะอนุมานว่าเนื้อไก่ที่ข้ามทะเลมาจากประเทศอย่างบราซิลหรือไทยอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน"
 
จากการไปสำรวจในไทยของ คูปเปอร์ เขาพบว่าสภาพความเป็นอยู่ของไก่ไทยดีกว่าไก่ของอังกฤษอย่างเห็นได้ชัด "พวกมันมีความแออัดน้อยมาก พวกเขามักจะเลี้ยงโดยอาศัยแสงธรรมชาติ ใช้ไก่พันธุ์ที่โตช้ากว่า และมีความปลอดภัยทางชีวภาพในอีกระดับหนึ่งเลย" ดร. คูปเปอร์กล่าว
 
ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เสาะหาแหล่งผลิตภัณฑ์ราคาถูกกว่าก็เริ่มนำเข้าเนื้อไก่เข้ามาในอังกฤษเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเนื้อไก่ของอังกฤษมีมูลค่าสูงขึ้นมากเป็น 10 เท่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จาก 36 ล้านปอนด์ (ราว 1,725 ล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ในปี 2539 เป็น 510 ล้านปอนด์ (ราว 24,433 ล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) เมื่อปี 2552
 
หากไม่นับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) แล้ว อังกฤษได้นำเข้าจากประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งเมื่อปีที่แล้วขายได้ราว 292 ล้านปอนด์ (ราว 13,990 ล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ขณะที่บราซิลได้ราว 30 ล้านปอนด์ (ราว 1,436 ล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) แต่ไก่ที่มีารบริโภคมากที่สุดก็ยังเป็นไก่ที่ผลิตเองในอังกฤษอยู่ดี
 
แม้ว่าฟาร์มอุตสาหกรรมของที่นี่จะถูกมองในแง่ลบจนทำให้คนหันไปบริโภคผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ออร์แกนนิก ผลิตภัณฑ์ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ และไก่ที่มีคุณภาพชีวิตดีกว่า เช่น ผลิตภัณฑ์จากไร่โอ๊คแฮมของ 'มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ส' แต่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในอังกฤษกว่าร้อยละ 80 ยังเป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มแออัดซึ่งจุสัตว์ปีกชนิดนี้ไว้ถึง 50,000 ตัว
 
ดร. คูปเปอร์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า "อุตสาหกรรมของอังกฤษมักจะบอกว่าเราไม่สามารถเลี้ยงไก่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ เนื่องจากพวกเขาถูกกดดันจากสินค้านำเข้า และสินค้านำเข้าก็มีคุณภาพแย่กว่ามาตรฐาน ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ไม่เป็นความจริงเลย"
 
ปีเตอร์ แบรดน็อค ผู้อำนวยการสภาปศุสัตว์ด้านสัตว์ปีกของอังกฤษบอกไม่เห็นด้วยกับมาร์ค คูปเปอร์ โดยเขาบอกว่าไก่เลี้ยงในประเทศไทยไม่ได้มีอัตราการเติบโตช้ากว่า แต่ที่พวกเขาต้องเลี้ยงให้โตช้ากว่าเพราะต้องการให้มันมีพื้นที่มากกว่าเนื่องจากมีการใช้ระบบระบายอากาศแบบธรรมชาติ และอุณหภูมิภายนอกก็ร้อน
 
แบรดน็อค ย้ำว่า "ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าไก่ของไทยคุณภาพแย่ แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามันดีกว่า"
 
RSPCA ยังได้สรุปข้อมูลเปรียบเทียบไก่ไทย-ไก่อังกฤษไว้ดังนี้
 
เนื้อที่:   ไก่อังกฤษใช้เนื้อที่เพาะเลี้ยง 20 ตัวต่อตารางเมตร ไก่ไทยใช้เนื้อที่เพาะเลี้ยง 14 ตัวต่อตารางเมตร
พันธุ์:     ไก่อังกฤษใช้พันธุ์โตเร็วเช่น Ross 308 ที่มีมวลช่วงตัวใหญ่กว่าขาจะรับน้ำหนักไหว ทำให้บางตัวพิการ ไก่ไทยมีลักษณะตามพันธุกรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะใช้ทำตลาดในอังกฤษโดยบอกว่าเป็น "พันธุ์โตช้า"
การพักผ่อน:    ไก่อังกฤษได้อยู่ในที่มืด 4 ชั่วโมงต่อคืน ไก่ไทยได้อยู่ในที่มืด 6 ชั่วโมงต่อคืน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net