Skip to main content
sharethis

ผู้เชี่ยวชาญด้าน SMEs ย้ำ กลุ่มธุรกิจ SMEs ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ความไม่สงบทางการเมือง และเหตุการณ์ภัยพิบัติ วันที่ 8 เมษายน 2554 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนาเรื่อง “สถานการณ์โลกเปลี่ยนไป SMEs ต้องจัดการกับความเปลี่ยนแปลง” การเสวนาครั้งนี้เน้นไปที่ประเด็นเรื่อง “กลยุทธ์การจัดการการเปลี่ยนแปลง” (Change Management) สำหรับกลุ่มธุรกิจระดับ SMEs เพื่อรับมือกับสถานการณ์โลกที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ ความไม่สงบทางการเมือง และเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆที่ส่งผลกระทบไปยังทั่วโลก การเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นำเสวนาโดย ดร. สิทธิพร ดาดาษ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ SMEs ร่วมเสวนาโดย ดร. อรพรรณ คงมาลัย และ วิภา ดาวมณี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิกฤติการณ์โลกส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็กมากกว่า วิภา ดาวมณี กล่าวเปิดเสวนาโดยเท้าความถึงสถานการณ์โลกในช่วงที่ผ่านมา วิภากล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โลกต้องเจอกับวิกฤติมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องภัยพิบัติที่เพิ่งจะเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น เธอเห็นว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจนถึงขั้นล้มมากนัก แต่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SMEs กลับเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า และรัฐก็ให้ความสำคัญเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนธุรกิจกลุ่มขนาดเล็กอย่าง SMEs รัฐจะไม่เข้าไปช่วยอุ้มหากแต่ต้องเป็นผู้ดิ้นรนด้วยตัวเอง เธอกล่าวต่อไปอีกว่าอุทกภัยในปัจจุบันเป็นเรื่องของภัยพิบัติค่อนข้างมาก และกลุ่มธุรกิจก็มีเพียงน้อยรายที่จะทำประกันภัยในเรื่องความเสียหายซึ่งเกิดจากภัยพิบัติ ดร. อรพรรณ คงมาลัย กล่าวต่อจากประเด็นของวิภาว่า สภาพสถานการณ์ปัจจุบันทำให้การประกอบธุรกิจค่อนข้างยุ่งยาก เธอกล่าวไล่ลำดับถึงสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมาโดยเริ่มจากเรื่องการเมืองในตะวันออกกลาง ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น และ สถานการณ์น้ำท่วมทางภาคใต้ของไทย เธอตั้งคำถามฝากไปยัง ดร.สิทธิพร ดาดาษ ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจ SMEs ภาครัฐต้องดำเนินการก้าวไปอีกขั้น และต้องพัฒนาเรื่องระบบขนส่ง ดร. สิทธิพร ดาดาษ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจ SMEs เห็นว่าสถานการณ์โลกปัจจุบันต้องเผชิญหน้ากับเรื่องสำคัญ 5 ประเด็น คือ ภัยธรรมชาติ การเมือง การก่อการร้าย การค้าเสรี และโลกาภิวัตน์ ตนเห็นว่าสถานการณ์ที่ญี่ปุ่นนั้น แม้ว่าจะสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ก็จริง แต่กลุ่มธุรกิจในญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว โดยต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สำหรับเรื่องการค้าเสรีของไทยนั้น สิทธิพรเห็นว่าต้องเปิดทัศนะให้กว้าง เขากล่าวว่าไทยดำเนินนโยบายเปิดการค้ากับต่างประเทศโดยใช้เรื่อง “แรงงาน” และ “สินค้าราคาถูก” มาเป็นจุดขายตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกเปรมฯจนกระทั่งปัจจุบัน สิทธิพรมองว่าวิธีการแบบนี้ใช้ไม่ได้สำหรับโลกปัจจุบันที่มีประเทศใหม่ๆกำลังเปิดการค้า และประเทศเหล่านี้ก็เอาเรื่องแรงงานมาเป็นจุดขายเช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่ประเทศเปิดใหม่เหล่านี้ได้เปรียบกว่าในเรื่องตัวเลขค่าแรงที่ต่ำกว่า เช่น ประเทศเวียดนาม สิทธิพรเห็นว่าไทยพร้อมมานานแล้วที่จะก้าวไปอีกขั้น เขาเล่าว่า “แอฟริกาซื้อข้าวไทยเข้าไปเป็นจำนวนมาก แต่เราไม่เคยรู้เพราะเค้าซื้อจากพ่อค้าคนกลางในอิตาลีที่ซื้อข้าวไทยแล้วไปบวกกำไรอีกต่อหนึ่ง” ปัญหาตรงนี้สิทธิพรเห็นว่าเกิดจากเรื่องระบบการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ (Logistics) ที่ยังไม่สมบูรณ์พร้อม จึงทำให้พ่อค้าชาติอื่นสามารถหาประโยชน์จากสินค้าไทยได้ เขาเห็นว่าการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นประเด็นสำคัญที่ไทยควรดำเนินการปรับปรุงเสียที เพราะไทยเองก็ได้เปรียบกว่าคนอื่นตรงที่เป็นประเทศที่มีสินค้าพร้อม สิทธิพรกล่าวว่า “ไทยควรกลับมาคิดได้แล้วว่าอะไรที่เราเป็นต่อเค้าแล้วเรายังไม่ได้ทำ” เขาย้ำว่าปัจจุบันความได้เปรียบไม่ได้อยู่ที่เรื่องค่าแรงเท่านั้นหากแต่เป็นเรื่องการพัฒนา มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเราเป็นผู้เสียเปรียบ สิทธิพรยังกล่าวเปรียบเทียบอีกว่า ธุรกิจภาคเอกชนในเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งเพราะเริ่มต้นจากภาครัฐที่สร้างความเข้มแข็งก่อน ผู้ประกอบการต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤติ สิทธิพรกล่าวถึงกระบวนการที่กลุ่มธุรกิจ SMEs ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤติ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเด็น คือ ต้องรู้เท่าทัน มีการเตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องควบคุมหรือลดระดับความเสียหาย ต้องประคองให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ และต้องกลับสู่สถานการณ์เดิมให้เร็วที่สุด ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน SMEs ท่านนี้เห็นว่า ผู้ประกอบการต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้จากสังคมภายนอก ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ต้องมีวิสัยทัศน์ และมองการไกล สิทธิพรกล่าวต่อไปอีกว่า “ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยง ต้องวิเคราะห์ว่าจะเจออุปสรรคอะไร และต้องมองต่อไปอีกว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างไร และจะมีวิธีการแก้ไขหรือดำเนินการต่ออย่างไร” เขาย้ำว่าผู้ประกอบการต้องกำหนดแผนกลยุทธ์การจัดการให้พร้อม และต้องมีการปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ สิทธิพรมองว่าธุรกิจ SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก และมีอำนาจการต่อรองต่ำ เขาเห็นว่าต้องทำโครงสร้างให้ยืดหยุ่น คล่องตัว ไม่ซับซ้อน ไม่เรื่องมาก และต้องรวดเร็ว เพราะภาคธุรกิจระดับนี้ไม่ได้มีแบรนด์ที่ดึงดูดลูกค้าได้เหมือนกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ การจัดการต่างๆจึงต้องอาศัย “ความยืดหยุ่น” และ “รวดเร็ว” เป็นจุดสำคัญในการดึงดูดลูกค้า สิทธิพรมองต่อไปอีกว่าผู้ประกอบการต้องมีความเป็นผู้นำ ทันต่อเหตุการณ์ และต้องตัดสินใจในการดำเนินการต่างๆภายใต้ความกดดันให้ได้ สิทธิพรทิ้งท้ายประเด็นในการเสวนาครั้งนี้ว่า “การบริหารต้องมีการเปลี่ยนแปลง” ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และต้องให้ลูกน้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สิทธิพรย้ำว่าผู้ประกอบการต้องพร้อมอำนวยความสะดวกเพื่อให้อีกฝ่ายสามารถปรับตัวได้เช่นกัน พร้อมทั้งทิ้งท้ายนิยามสำคัญของการสร้างธุรกิจ SMEs ว่า ต้อง “เกิดง่าย-ตายช้า”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net