Skip to main content
sharethis

 

15 พ.ค.56 เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน ออกแถลงการณ์กรณีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีของประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 12 พ.ค.56 ว่าประชาชนที่จะมาแสดงออกความคิดเห็นในช่วงการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เชียงใหม่นั้นเป็น “พวกขยะ”  โดยเรียกร้องให้ 1) ออกมาขอโทษต่อประชาชนโดยเร็ว   2) ลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ทันที เพราะพฤติกรรมลุแก่อำนาจเช่นนี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อการจัดการน้ำของบ้านเมือง   และ 3) หยุดการแสดงละครเป็นพญาเม็งราย อันเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนล้านนาโดยเด็ดขาด

 

=================

 

แถลงการณ์ เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

“จะจัดการน้ำประเทศไทยต้อง ปลอดนักการเมืองขยะ”

 

ตามที่นาย ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีของประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 12 พ.ค.56 ดังที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ว่าประชาชนที่จะมาแสดงออกความคิดเห็นในช่วงการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เชียงใหม่นั้นเป็น “พวกขยะ”    เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำต่างๆทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งเครือข่ายประชาชนด้านอื่นๆ อันประกอบด้วยชุมชนท้องถิ่น กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายต่างๆตามรายชื่อแนบท้าย ฟังแล้วรู้สึกหดหู่อย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทยที่มี “นักการเมืองขยะ” อย่างนี้บริหารประเทศ นักการเมืองที่ดูถูกประชาชนอย่างนี้จึงไม่ต่างอะไรไปจากเศษขยะทางสังคม    เรารู้สึกตกใจอย่างยิ่งที่รู้ว่ามีความคิดอย่างนี้อยู่ในหัวสมองของผู้ทำหน้าที่นำพาประเทศชาติ เพราะเราคิดอยู่เสมอว่าเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ได้ยกระดับสังคมและการเมืองไทยพัฒนาให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น “ความคิดขยะ” เช่นนี้น่าจะหมดไปจากสังคมไทยแล้ว

กรณีการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Water Summit) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ "ความมั่นคงด้านน้ำ: ภาวะผู้นำและพันธะผูกพัน" โดยมีเป้าหมายให้ผู้นำของแต่ละประเทศมาพบปะกันเพื่อส่งเสริมการเจรจา และสร้างความร่วมมือในภูมิภาคนั้น ทางภาคประชาชนรู้สึกดีใจที่ผู้นำเห็นความสำคัญต่อการจัดการน้ำ    เพราะความสูญเสียมหาศาลจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ได้แลกมาด้วยข้อสรุปอันมีค่าอย่างหนึ่งของสังคมว่า “รัฐหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่จะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและการสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน”

แต่พฤติกรรมของนักการเมืองที่เป็นผู้นำในการจัดการน้ำของประเทศไทยเช่นนี้ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างชัดเจนของการจัดการน้ำที่ผ่านมาและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต   นอกจากนี้มันยังชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาว่าอยู่ที่ผู้นำ คำพูดที่ออกมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการขาดภาวะของผู้ที่จะนำใครๆได้ นอกจากดูถูกแล้วยังมีการข่มขู่ประชาชนไม่ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นหากออกมาจะจับขังคุกให้หมด    ที่สำคัญไปกว่านั้นยังมีพฤติกรรมลบหลู่เหยียบย่ำสิ่งเคารพบูชาของคนล้านนาโดยการจะแสดงละครเป็นพญามังรายท้ารบกับเทวดาที่เวียงกุมกาม ทั้งยังขัดต่อภูมิปัญญาและจารีตประเพณีเพราะแม้แต่ “ผี” ประจำเหมืองฝายและแม่น้ำ ชาวบ้านก็ยังกราบไหว้และเลี้ยงผีฝายอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆประหลาดใจเป็นอย่างมากที่เห็นผู้นำในรัฐบาลหลายคนออกมาให้ข่าวอย่างใหญ่โตว่าจะมีการมาประท้วงในช่วงการประชุมดังกล่าว ทั้งที่ตำรวจสันติบาลและตำรวจท้องที่ในพื้นที่ต่างๆที่ลงหาข่าวกันอย่างมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงนี้ ต่างได้รับคำตอบที่ชัดเจนตรงกันว่าพวกเราไม่ได้มีแผนที่จะทำการประท้วงใดๆ  ไม่รู้ว่านี่เป็นการเต้าข่าวเพื่อเป็นข้ออ้างในการผลาญเงินงบประมาณประเทศร้อยกว่าล้านเพื่อรักษาความปลอดภัยในการประชุมครั้งนี้หรือเปล่า

ดังนั้นเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสานตามรายชื่อลงนามแนบท้ายขอเรียกร้องให้นายปลอดประสพ   1) ออกมาขอโทษต่อประชาชนโดยเร็ว   2) ลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ทันที เพราะพฤติกรรมลุแก่อำนาจเช่นนี้เป็นอันตรายร้ายแรงต่อการจัดการน้ำของบ้านเมือง   และ 3) หยุดการแสดงละครเป็นพญาเม็งราย อันเป็นการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนล้านนาโดยเด็ดขาด

 

เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์

เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือและภาคอีสาน

15 พฤษภาคม 2556

 

รายชื่อผู้ลงนามแถลงการณ์

  1. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
  2. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
  3. เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
  4. เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
  5. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
  6. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
  7. เครือข่ายทรัพยากรและสิ่่งแวดล้อมภาคอีสาน
  8. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
  9. ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง
  10. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
  11. คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv.จ.อุดรธานี
  12. กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง
  13. กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
  14. กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
  15. มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม
  16. เครือข่าย 19 เครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม
  17. สถาบันอ้อพญา
  18. คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่
  19. กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
  20. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่
  21. กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน หมู่บ้านแม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
  22. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา และ เชียงใหม่
  23. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
  24. สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล
  25. สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ (สกน.)
  26. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)
  27. เครือข่ายสลัม 4 ภาค
  28. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
  29. เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
  30. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)
  31. เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา
  32. เครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล
  33. กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 
  34. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
  35. กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่
  36. โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า
  37. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น
  38. กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
  39. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net